Culture

จากวันวานสู่ปัจจุบัน 7 ปีบนเส้นทางความสำเร็จของ ‘เด็กเซาะกราว’ ที่ ‘ต่อ สิทธิชัย’ ปลุกปั้นเองกับมือ

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 คงไม่มีใครในประเทศไทยที่ไม่เคยเห็นวิดีโอเด็กน้อยลิปซิงค์เพลง ‘ตัดพ้อ’ ของ ‘โก๊ะ นิพนธ์’ ด้วยสีหน้าท่าทางจัดเต็มจนสร้างเสียงหัวเราะไปทั่วโลกโซเชียลฯ แต่ความแมสยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เมื่อมีเพื่อนๆ มาร่วมฟอร์มทีมจนเกิดเป็น ‘เด็กเซาะกราว’ อันเป็นที่รู้จักจากการคัฟเวอร์ MV เพลงของ ‘แบล็คพิงค์’ (BLACKPINK) ได้อย่างสร้างสรรค์ในเซตติ้งบ้านนา ใครจะไปเชื่อว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมือเด็ก ม.6 คนหนึ่ง ‘ต่อ – สิทธิชัย รักพินิจ’ ที่ปัจจุบันเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ ตากล้อง นักตัดต่อ และผู้จัดการเพียงหนึ่งเดียวของทีม

ตั้งแต่วันที่คลิปแรกได้มีการเผยแพร่ออกไป นับเป็นเวลา 7 ปีกว่าแล้วที่เด็กเซาะกราวได้คอยผลิตคอนเทนต์คุณภาพมาสู่สายตาชาวเน็ต แถมยังขยายทีมเรื่อยๆ จนมีความหลากหลาย เข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย ความน่าสนใจนี้เองที่ดึงดูดให้เราเข้าหาเบื้องหลังความสำเร็จอย่างคุณต่อ นั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปถึงวันแรกที่เป็นไวรัล จนวันนี้ที่ชื่อของเด็กเซาะกราวอยู่ในกระแสทุกครั้งของการคัมแบค

จากเด็กมัธยมฯ ปลาย น้องสาว หลาน เด็กข้างบ้าน สู่ ‘เด็กเซาะกราว’

ในช่วงเริ่มแรกของบทสนทนา คุณต่อเล่าให้เราฟังว่าเขาเป็นเพียงคนหนึ่งที่ชื่นชอบการถ่ายคลิปของน้องๆ เพื่อนๆ มาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนหน่วยความจำโทรศัพท์เต็มไปด้วยคลิปวิดีโอมากมาย และเมื่อความบังเอิญรวมกับความสดใสของเด็กๆ พาให้หนึ่งในวิดีโอเหล่านั้นกระจายว่อน เด็กเซาะกราวก็ได้ถือกำเนิด

“ผมเริ่มทำเด็กเซาะกราวมาตั้งแต่ช่วง ม.6 ตอนก่อนเรียนจบ อยู่ดีๆ ก็ได้ทำขึ้นมา เพราะอัดคลิปน้อง ‘มอมแมม’ เด็กบ้านข้างๆ ลิปซิงค์เพลงเล่น ตอนนั้นน้องอยู่แค่ ป.2 เป็นคนดื้อๆ มึนๆ คาแรคเตอร์น้องเป็นคนตลกครับ เวลาเปิดเพลงอะไรก็จะเต้นให้คนอื่นเขาดู ผมก็เลยอัดคลิปที่น้องลิปซิงค์เพลง ‘ตัดพ้อ’ ซึ่งกำลังดังในช่วงนั้น โดยมี ‘กุ้งเต้น’ น้องสาวแท้ๆ ของผมมาบีตบ็อกซ์ด้วย ร้องๆ เล่นๆ แล้วมันดันดังขึ้นมา เพราะผมเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว แล้วมีเพจดังมาแชร์หรือเอาคลิปไปลง มีคนติดตามเพิ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเลยครับ จากนั้นผมก็เริ่มทำคลิปต่อมาเรื่อยๆ มีน้อง ‘กวาง’ หลานสาวที่เป็นลูกของคุณลุงเข้ามาตีกลอง (ขัน) ส่วนน้อง ‘ส้ม’ ที่บ้านอยู่ติดกันมาเป็นมือกีตาร์ให้ สลับตำแหน่งกันไปมาครับ ถ่ายกันเล่นๆ ไม่มีการแคสติ้งคนเข้ามาหรืออะไรเลย”

https://www.youtube.com/shorts/IuiyDKYGDS4

“จนมาถึงจุดหนึ่งที่มีผู้ติดตามหลักแสนคน ก็มีคนคอมเมนต์แนะนำให้ผมทำเพจให้น้องๆ ไปเลย จะได้ติดตามง่ายๆ ผมก็เลยเปิดโดยตั้งชื่อแบบไวๆ ว่า ‘เด็กเซาะกราว’ ที่มีคำว่า ‘เด็ก’ ขึ้นต้นเพราะอยากให้ชื่อมันมีความเด็กเล็กเด็กน้อย ส่วน ‘เซาะกราว’ มาจากภาษากัมพูชาที่แปลว่า ‘บ้านนอก’ ซึ่งเมื่อช่วง 7-8 ปีที่แล้ว คำนี้ฮิตมาก แถมจังหวัดสระแก้วที่พวกเราอยู่ก็เป็นเขตชายแดน ใกล้กับกัมพูชา ทำให้ได้ยินภาษานี้เป็นประจำ ก็เลยดึงเอาคำนี้มาตั้งชื่อครับ ผมว่าน่ารักดี”

ไม่ใช่แค่ยอดผู้ติดตามและการเติบโตของน้องทุกคนที่พวกเราได้เห็นผ่านวิดีโอต่างๆ ช่วงระหว่างทางนั้นคุณต่อเองก็ได้พัฒนาไปด้วยเช่นเดียวกัน ในแง่ของประสบการณ์และฝีมือด้านการตัดต่อ จากที่เคยใช้เพียงแค่แอปฯ ตัดวิดีโอแถมฟรีกับตัวเครื่อง พอได้ทำเด็กเซาะกราวก็ลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ เริ่มเรียนรู้ด้านการตัดต่อจากยูทูป ฝึกใช้โปรแกรมที่มีความละเอียดขึ้น และขัดเกลาฝีมือเรื่อยๆ แต่แล้วชีวิตในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อก็ต้องเลือก ระหว่างการเรียนกับความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ

”พอทำได้สักพักผมก็ต้องเข้ามหา’ลัย ตอนนั้นสอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษาที่มหาลัยศรีนครินทรวิโรฒครับ เพราะพ่อแม่อยากให้เป็นครู เป็นข้าราชการตามประสาคนต่างจังหวัด แต่พอถึงเวลาที่จะต้องไปจริงๆ แล้ว ผมคิดหนักมากเลยว่าเราจะไปจริงๆ เหรอ ถ้าเลิกทำตอนนี้ก็เสียดายมากเลยนะ ตอนปิดเทอมจะได้กลับมาถ่ายใหม่หรือเปล่า แล้วจะคุ้มไหมถ้าทำต่อ กังวลหลายอย่างเลยครับ เพราะสำหรับผม การทำเด็กเซาะกราวไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้ว มันเป็นอะไรที่อยากทำให้สำเร็จ สุดท้ายผมก็ขอที่บ้านซิ่วไปเรียนต่อสายนิเทศฯ จะได้นำมาพัฒนาตรงนี้ ซึ่งแม่ก็ให้แบบง่ายๆ เลยครับ คงเพราะเขาเห็นว่าเราทำเงินจากตรงนี้ได้ และอีกอย่างคือตอนนั้นถูกเชิญไปออกข่าวโทรทัศน์เยอะมาก ผมก็เลยได้ซิ่ว ซึ่งในระยะ 1 ปีที่อยู่บ้านนั่นแหละครับ คือช่วงที่เด็กเซาะกราวคัฟเวอร์เพลงเกาหลี”

https://www.youtube.com/watch?v=NxWrPah_m3U

ถึงจุดที่ดังระดับอินเตอร์ เมื่อคัฟเวอร์เป็น BLACKPINK

“ส่วนตัวผมชอบฟังเพลงเกาหลีอยู่แล้วครับ อย่างวง Girl’s Generation หรือ Super Junior แล้วก็ตามวงใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ พอเด็กเซาะกราวเริ่มดังขึ้นมาได้ ผมก็อยากให้น้องๆ ลองลิปซิงค์เพลงเกาหลีดูบ้างครับ ด้วยความเป็นติ่งเกาหลีนี่แหละ แล้วก็อยากให้ผู้ติดตามได้ดูอะไรใหม่ๆ ด้วย บังเอิญกับช่วงที่ ‘แบล็คพิงค์’ เดบิวต์ และน้องๆ มีกัน 4 คนพอดี ก็เลยลองให้ลิปซิงค์เพลง ‘Playing With Fire’ แล้วตัดต่อเทียบแบบช็อตต่อช็อตดู จากที่มีคนรู้จักพอประมาณแล้วก็เริ่มดังขึ้นไปอีก ได้ออกข่าวต่างประเทศอย่าง Koreaboo หรือ SBS ของเกาหลีด้วยครับ”

การทำงานของเด็กเซาะกราวในช่วงวัยเยาว์และเริ่มเติบโตเป็นสาว

ระยะเวลา 7 ปีก็ถือว่ายาวนานมากพอที่เด็กตัวเล็กๆ จะเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นกันได้ เราจึงถามคุณต่อถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นระหว่างนั้น ซึ่งก็ถือว่ามีอยู่มากมายเลยทีเดียว แต่สิ่งหลักๆ ที่เขาสังเกตได้คือความสามารถของน้องๆ และตัวเขาเองที่รู้จักกับการปล่อยวาง หลังจากรับมือกับความกดดันอันมาพร้อมชื่อเสียง

“ผมพยายามบอกตัวเองเสมอว่าอย่าเครียด ให้ทำแบบปล่อยใจ เพราะว่าถ้าคิดเยอะหรือจริงจังมากเกินไปก็จะออกมาไม่ดี คนดูก็สังเกตได้ครับ เมื่อก่อนผมติดนิสัยถ่ายแล้วถ่ายอีก ถ่ายจนกว่าจะได้ช็อตที่พอใจ ทั้งที่ความจริงมันได้ตั้งแต่เทคแรกแล้ว แต่ตอนนี้ก็ทำเท่าที่ได้ครับ ไม่กดดัน ไม่เสียเวลาทั้งเราทั้งน้อง เด็กๆ เริ่มโตเป็นสาวกันแล้วด้วย ต้องให้เขาใช้เวลากับเพื่อนๆ บ้าง”

“สมัยที่น้องๆ ยังอยู่ชั้นประถมฯ ผมภาวนาทุกครั้งเวลาที่แบล็คพิงค์ออกเพลงใหม่ ขอให้ช็อตที่ต้องลิปซิงค์ไม่ยาว เดี๋ยวจะลำบากน้องต้องมาจำเนื้อร้อง (อมยิ้ม) มันยากมากนะครับ สำหรับเด็ก ป.1-2 ที่ต้องแสดงสีหน้า ใส่อินเนอร์ ทำท่าทางตามให้เป๊ะ บางทีผมยังปวดหัวแทนน้องเลย ต้องให้เขากลับไปท่องมาก่อนสักวันสองวันครับ มีเหมือนกันที่ต้องถ่ายซ้ำหลายสิบเทค หรือทั้งวันถ่ายได้ประมาณ 3 ช็อต เทียบกับใน MV เพลงก็ได้แค่ 2-4 วินาทีเองนะครับ ทำให้เมื่อก่อนจะใช้เวลาสัก 2-3 เดือนสำหรับคลิปยาว อย่างเร็วเลยก็ 1 เดือน มันนานเพราะต้องรอน้องๆ ว่างถ่ายในวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย แต่พอโตๆ กันแล้วก็มีความคล่องมากขึ้น ล่าสุดใช้เวลาแค่ 11 วันเองครับ ผมดีใจมากเลย”

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นเด็กก็มักจะมีเรื่องราวที่ทั้งน่าขบขันและชวนปวดหัวไปพร้อมๆ กัน ในความทรงจำที่คุณต่อมีกับเด็กเซาะกราวในช่วงวัยกระเตาะเองก็เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านั้น

“ตอนเด็กก็จะมีช่วงที่งอแงพอสมควรครับ ทะเลาะกัน ร้องไห้ก็มี แต่พอโตแล้วก็เลิกกันไปเอง มีบ้างที่เขาจะอยากออกไปเล่นกับเพื่อนกันมากกว่า แต่ก็เข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่คืออะไร มันสร้างงาน สร้างอนาคตให้กับเขาได้ เวลาได้เงินผมก็เอามาแบ่งกับน้องๆ ทุกคนตลอด หรือต่อให้คัฟเวอร์เพลงติดลิขสิทธิ์แล้วไม่ได้เงิน ผมก็ให้เหมือนกัน เพราะมันคือการทำงานครับ”

พัฒนาการของเด็กๆ ที่ยังคงไม่หยุดลง

“ถ้าเทียบกับตอนเด็ก ทุกคนมีความคล่องแคล่วแล้วก็รู้งานกันมากขึ้นเยอะเลยครับ เมื่อก่อนทุกคนยกเว้นน้องมอมแมมจะมีความขี้อาย เขินกล้อง แต่ตอนนี้อินเนอร์ได้กันหมดเลยครับ ตัวจริงก็ยังขี้อายอยู่นะ เวลามีรายการอะไรมาถ่ายทำหรือสัมภาษณ์ แค่ช่วงอัดคลิปกันนี่แหละครับ ที่ความเขินอายมันลดลงเยอะ แถมเดี๋ยวนี้มีการทำการบ้าน ดูคลิป แกะท่ากันมาก่อน จำอะไรๆ ได้ดีขึ้น ผมไม่ค่อยต้องสอนแล้ว บางครั้งก็ช่วยผมเช็กด้วยว่าทำท่าถูกหรือเปล่า ทำให้การทำงานง่ายแล้วก็เร็วขึ้นเยอะครับ”

กว่าจะออกมาเป็น 1 คลิปให้ทุกคนได้ดู

“ปกติแล้วจะใช้เวลาน้อยมากครับ แต่ถ้าเป็นคลิปแบล็คพิงค์ อย่างล่าสุดเพลง ‘Pink Venom’ ก็ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งผมใช้เวลาคิดอยู่ 2-3 วันว่าต้องใช้พร็อพอะไร ถ่ายทำที่ไหน จะทำชุดยังไง พอคิดได้คร่าวๆ แล้วก็นัดถ่ายวันต่อไปเลยครับ ถ้าน้องๆ ว่างกัน บางครั้งพอถ่ายมาได้แต่ละช็อตแล้ว ผมเอามาตัดต่อภายในคืนวันที่ถ่าย มันก็เลยจะเป็นการถ่ายและตัดต่อไปพร้อมๆ กัน เพราะถ้ารอถ่ายให้หมดแล้วเอามาตัดทีเดียวก็จะยาก ด้วยความที่รายละเอียดมันเยอะมากครับ แถมบางครั้งตัดชุดกับเตรียมพร็อพตอนเช้า ถ่ายทำตอนเย็นเลยก็มี ทำอะไรหลายๆ อย่างควบคู่กันไปครับ เหนื่อยแต่ก็งานเสร็จไวเหมือนกัน”

https://www.youtube.com/watch?v=jcazzJEyRLs

คลิปที่ถ่ายทำแล้วชอบมากที่สุด

“ถ้าถามถึงคลิปที่ทำแล้วสนุกที่สุดก็คงจะเป็นคลิปแรก เพลง ‘Playing With Fire’ ครับ เพราะไม่มีความเครียดอะไรเลย ไม่เหมือนคลิปหลังๆ ที่ตัวผมจะใจร้อน อยากเห็นคลิปตอนที่เสร็จแล้วเร็วๆ แต่ถ้าชอบมากที่สุดก็คงเป็น ‘Kill This Love’ ครับ ชอบมากๆ เพราะตอนนั้นวัยกำลังน่ารักเลย แล้วก็จำได้ว่าทำชุดออกมาเยอะมากสำหรับคลิปนั้นคลิปเดียว ใช้เวลานานมาก มีขั้นตอนในการคิดเยอะ โชคดีที่ออกมาแล้วผลตอบรับดี แล้วก็น่าจะเป็นคลิปที่ยอดวิวสูงที่สุดด้วย”

https://www.youtube.com/watch?v=Ipntv6LsHUA

อุปสรรคในการทำงานที่พยายามก้าวผ่าน

“มีหลายครั้งที่ผมคิดคอนเทนต์ไม่ค่อยออกครับ เมื่อก่อนอาจจะไม่ได้คิดอะไรเยอะ คิดแค่ว่าถ่ายคลิปแบล็คพิงค์ปีละครั้งสองครั้งก็พอแล้ว แต่พอมาทำเต็มตัวก็คิดว่าต้องทำอะไรให้เยอะกว่านี้ ปล่อยให้คลิปแบล็คพิงค์เป็นจุดขายไป แต่ต้องทำอย่างอื่นเพิ่มเพื่อให้มีคอนเทนต์ใหม่ๆ ขึ้นมาด้วยครับ ตรงจุดนี้แหละที่ยาก มีหลายครั้งที่ผมไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ก็พายายมาถ่ายภาพนิ่งเล่น แต่ถ้าถ่ายอะไรซ้ำๆ หรือบ่อยจนเกินไปก็กลัวคนดูเบื่อ ผมเลยจะพยายามหาคอนเทนต์ใหม่มาเรื่อยๆ ครับ”

นอกจากเรื่องของไอเดียสร้างสรรค์ที่ต้องใช้เวลาในการคิดแล้ว ยังมีอีกเรื่องที่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้หากมีชื่อเสียงขึ้นมา นั่นก็คือคอมเมนต์​แง่ลบทางโซเชียลมีเดีย แม้แต่กับเด็กเซาะกราวเองก็มีบ้างที่ต้องเผชิญกับสิ่งนี้

“บางครั้งก็เจอคอมเมนต์ไม่ดีบ้างเหมือนกันครับ บางอันบุลลี่แรงมาก อย่างเช่น “อีบ้านนอก อีดำ” “น่าเกลียด เอามาเทียบได้ยังไง” หรือ “เพจขยะนี่มาอีกละ” ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ ผมก็เลยปล่อยไป ไม่เอาเรื่องอะไรครับ ลบหรือบล็อกไปก็พอแล้ว นอกจากนั้นก็จะเป็นการแซวเล่น ขำๆ จากแฟนคลับของวงที่เราคัฟเวอร์กันซะมากกว่า”

ความหวังที่อยากให้น้องทุกคนเติบโตอย่างดีและได้ทำในสิ่งที่รัก

“ผมคอยถามน้องๆ อยู่ตลอดว่าโตไปอยากทำอะไร โดยเฉพาะกับคนที่โตที่สุดครับ เขาจะได้อ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหา’ลัยทัน แต่กับคนที่อายุน้อยๆ จะยังมองเห็นภาพอนาคตไม่ค่อยชัด มันคงเป็นปัญหาของต่างจังหวัดที่โรงเรียนไม่ได้ผลักดันหรือแนะแนวเด็กให้ได้เปิดโลกกว้าง เด็กๆ ก็จะรู้จักกันแค่ไม่กี่อาชีพครับ ผมเลยอยากให้น้องได้เข้าไปในสังคมที่กว้างขึ้น ในเมืองใหญ่ หรือที่ๆ มีการแข่งขันสูงๆ เพราะเขาอยู่ต่างจังหวัดกันมาทั้งชีวิตแล้ว ถ้าไปที่อื่นบ้างก็จะได้เปิดหูเปิดตา จากประสบการณ์ของผม การได้ไปอยู่ในเมืองใหญ่สักพักมันทำให้เติบโตขึ้นจริงๆ ก็เลยจะพูดให้เขาฟังกันตลอดว่าในเมืองมีอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าชีวิตต่างจังหวัดไม่ดีนะครับ ผมแค่อยากให้เขาได้เจออะไรใหม่ๆ จะได้ค้นหาตัวเองด้วย ยังไงก็อยากให้เขาไปได้ดีครับ”

สิ่งที่อยากทำกันต่อไปในอนาคต

“เราอยากทำอะไรที่อยู่ในทางเดิมแล้วก็ทางใหม่ ในที่นี้หมายถึงว่ายังอยากทำคอนเทนต์แนวเดิม แต่ทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ และปั้นเด็กกลุ่มใหม่ ทั้งวงเด็กผู้ชายและผู้หญิง เร็วๆ นี้ก็ว่าจะคัฟเวอร์เพลงของวง ‘(G)I-DLE’ บ้างครับ ผมอยากให้เด็กเซาะกราวเติบโตมากขึ้น ให้คนจำได้ว่าเด็กเซาะกราวไม่ใช่แค่เพจเล็กๆ เราโตตามอายุน้อง แล้วก็อยู่มาตั้งเกือบสิบปี แถมมีคอนเทนต์หลากหลาย ไม่ได้ทำแค่ลิปซิงค์เพลงครับ ทีเซอร์หนังหรือซีรีส์ก็มี หวังว่าในอนาคตจะทำบริษัทเด็กเซาะกราวที่ยิ่งใหญ่ได้ครับ”

ติดตาม ‘เด็กเซาะกราว’ ได้ที่

YouTube: DEKSORKRAO เด็กเซาะกราว

Tiktok: deksorkrao_official

Facebook: Deksorkrao เด็กเซาะกราว

Instagram: deksorkrao

Twitter: deksorkrao