"เราต้องหัดพูดอย่ายอมถ้าเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ต้องเริ่มจากที่ตัวเรา"
คือวัตถุประสงค์หลักของ diet_asava สื่อ(เกือบ)กลาง ที่เกิดขึ้นมาในเมื่อวันที่ 1 เมษายน (วันเอพริลฟูลเดย์โลกและวันเลิกทาสไทย) ด้วยชื่อล้อกับ diet_prada สื่อต่างประเทศที่แฉร์เรื่องราวมืดๆ ในโลกแฟชั่นออกมาในที่สว่างและเป็นพื้นที่เมาท์มอยแลกเปลี่ยนอย่างเสรีกัน ไดอาคือสื่อที่เชื่อสนับสนุน การนำเรื่องหลังไมค์ออกมาพูดหน้าไมค์ เชื่อว่าแฟชั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ และ การต่อสู้เพื่อความเหลื่อมล้ำเป็นหน้าที่ของทุกคนไม่มากก็น้อย บทความนี้ได้มีโอกาสชวนไดอามาสนทนากันเรื่อง 'ด้านที่ไม่สวยของโลกแฟชั่น’
*ก่อนให้บทสัมภาษณ์นี้ ไดอาแจ้งกับเราว่า อย่างแรกต้องบอกก่อนว่านี่คือความคิดเห็นส่วนตัวไม่ได้พูดแทนวงการแฟชั่นในภาพรวม เป็นแค่เสียงเสียงเดียวและไม่ได้พูดแทนชาวไดอา คำตอบอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ได้อาอยากพูดทั้งหมดแต่ด้วยความจำเป็นที่จะต้องสงวนความเป็นส่วนตัว เลยขอตอบเป็นข้อๆ คิดว่าคงจะดีกว่าถ้าได้คุยกันแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นถ้าประเทศสามารถทำให้เราสามารถพูดกันได้อย่างเสรี
คู่มือการใช้งานไดอา manifesto 10 ข้อ
ว่าด้วยเรื่อง: ใครใครก็เป็นไดเอทอาสาว่าได้ - Who who can all be - ตั้งแต่ไดอาได้กำเนิดขึ้นมา กลุ่มคนในโลกแฟชั่นต่างก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก มันเริ่มจากเป็นสื่อเมาท์มอยแล้วก็ค่อยๆ ขยับไปคอลเอาท์สื่อแฟชั่น คอลเอาท์การเมือง คอลเอาท์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาในโลกแฟชั่น และส่งเสียงให้คนที่เจอปัญหาในโลกแฟชั่นได้มาเล่าเรื่องผ่านไดอา
ด้วยระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน ไดอาก็สร้างผลกระทบที่ทำให้คนในวงการแฟชั่นสั่นสะเทือนจนได้มีการเคลื่อนไหวในโลกแฟชั่นเพื่อตามหาว่า ‘diet_asava คือใคร’ ผ่านห้องสนทนาใน clubhouse ที่คนในวงการแฟชั่นหลายคนมาสนทนากัน แต่สรุปแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่า ไดอาคือใคร หลังจากนั้นไม่นานไดอาก็ได้ออกมาเผยแพร่ คู่มือใช้งานไดอา (manifesto) เพื่อแนะนำว่า ทุกคนคือไดเอทอาสาว่า ไดอาคือสื่อ(เกือบกลาง) ที่ส่งเสียงนิรนามที่เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำหลังไมค์ออกมาหน้าไมค์ที่ทุกคนเล่าได้
ด้านที่ไม่สวยงามของวงการแฟชั่นไทยคืออะไร
คำตอบของไดอาคือ ด้านที่ไม่สวยงามของแฟชั่นก็คือความสวยงาม และลงลึกต่อว่าจริงๆ แล้วแฟชั่นนั้นอาจไม่ได้ลึกซึ้งอย่างที่หลายๆ คนคิด
"ขอตอบสั้นสั้นว่าด้านที่ไม่สวยงามที่สุดของวงการแฟชั่นก็คือความสวยงาม เป็นอุตสาหกรรมที่เห็นแก่ตัวและไม่อยู่ในโลกความเป็นจริงที่สุด ในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเลวร้ายที่สุดอย่างเช่นสงครามโลกถ้าย้อนกลับไป วงการแฟชั่นก็ยังคงนำเสนอเสื้อผ้าให้อยู่ในระบบและบริบท ที่ทำให้ผู้เสพเชื่อว่ามันเป็นสิ่งสำคัญได้ เช่น นิวลุคของดิออร์ ทั้งทั้งที่ไม่ไกลจากกรุงปารีสมีคนล้มตายและกำลังรบกันอยู่"
"มองอย่างคนอคติก็อาจจะมองได้ว่าวงการแฟชั่นทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา แต่ไดอาคิดว่า ถ้าเราจะตัดสินใจบูชาในความงามแล้ว ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าคุณสมบัติที่จะได้มาซึ่งสิ่งเรานั้นล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับหลักศีลธรรม เพราะความงามมันช่างตื้นเขินซะเหลือเกิน"
"แต่ก็นั่นแหละ มันคือความสวยงามในความไม่สวยงาม เพราะถ้าขาดคนกลุ่มนี้เราก็จะใช้ชีวิต อยู่บนความเป็นจริงเสียจนขาดความฝัน เพราะตามทฤษฎีแล้วการมีความฝันทำให้เราไม่เป็นบ้า แฟชั่นสามารถเป็นเครื่องมือให้เราหลุดไป ไม่ต้องประเชิญกับโลกความเป็นจริงได้บ้างเป็นครั้งคราวหรือบางคนก็ใช้แฟชั่นเป็นสันดานแล้วแยกไม่ออกว่าอะไรคือความฝันอะไรคือความจริง"
ยาขมที่ต้องกลืนถ้าอยากอยู่ในวงการแฟชั่นไทยคืออะไร
“ก่อนอื่น ถ้าไม่เลวพออยู่ก็วงการแฟชั่นไม่ได้ ที่พูดแบบนี้เพราะว่าไดอาเชื่อว่าความเลวสำคัญพอๆ กับความดี คนดีที่ไหนจะมานั่งบอกเธอว่า เธอต้องมีสิ่งนั้น เธอต้องมีสิ่งนี้ สิ่งนี้มันเชย เธอต้องซื้อสิ่งนั้น ฉันจะอวยสิ่งนี้ พูดอยู่ได้ทุกเดือนในหน้าปก อ้างว่า new hope อ้างว่า new beginnings มาเป็นสิบๆ ปี ตลก!”
“แฟชั่นไม่ได้มียาขมให้กิน แต่ต้องรู้ว่าแฟชั่นเกิดมาเพื่ออะไร ไดอาขอแนะนำว่าอย่าไปจริงจังกับมันมาก แฟชั่นมันเป็นวงการบันเทิงเกิดมาเพื่อมอมเมา มันงมงายกว่าวงการอื่น มันจึงต้องบริโภคอย่างมีสติและรู้เท่าทัน ยกตัวอย่างง่ายๆ วงการภาพยนตร์พวกเขายังมีรางวัลออสการ์ วงการดนตรีเขายังมีรางวัลแกรมมี่ วงการวิทยาศาสตร์เค้าก็มีรางวัลโนเบล แล้ววงการแฟชั่นมีอะไรกับเค้าบ้าง”
“วงการแฟชั่น ไม่ใช่ว่าไม่อยากมีแต่ด้วยคุณสมบัติทั้งต้นทั้งหมดที่กล่าวมามันไม่สามารถทำให้วงการทำให้คนมาเห็นคุณค่ามากกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่ที่ฉาบฉวยและอวยกันเอง เรื่องที่เล่านี้ก็ไม่ได้ไม่ได้ดูถูก อาจจะฟังดูโหดร้าย แต่ถ้าเรายอมรับในความแตกต่างในบทบาทและหน้าที่เราก็จะมองสิ่งนี้ว่ามันคือส่วนหนึ่งของสังคม”
“ถ้าไม่ไหวก็แค่ออกมา แฟชั่นไม่ใช่ที่สุดของชีวิต ไม่เชื่อลองกลับไปดู The Devil Wears Prada ไดอารักทุกตัวละคร เพราะมันสะท้อนว่า ทุกคนเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และไดอาเคารพการตัดสินใจของทุกคน สู้กับตัวเองก็เหนื่อยแล้ว อย่าไปสู้กับคนอื่นหรือกับวงการเลย จงหาจุดที่เราสบายใจในบริบทอื่น ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ ไดอาก็เช่นกัน”
สุดท้ายคิดว่าอะไรคือทางออกให้วงการแฟชั่นไทยมันดีขึ้น
“มันไม่มีทางออกเพราะมันไม่เคยดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะวงการไหนๆ มันก็เลวทั้งนั้นอยู่ที่ว่าเลวมากเลวน้อยแค่นั้นเอง ไม่อยากให้พุ่งประเด็นไปที่ความดีจนลืมไปว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของแฟชั่นมันไม่ได้ถูกสร้างเพื่อความดีงามแต่กลับไปที่ความงามแค่นั้น ดีขึ้นไม่ได้แปลว่าดีแล้ว เพราะในความเป็นจริงพอมันดีมากก็จะน่าเบื่อ ความย้อนแย้งของวงการแฟชั่นแบบนี้นี่เองที่ทำให้มันมีเสน่ห์”
คำตอบของไดอาได้ขมวดปมสรุปว่า แฟชั่นมันไม่ใช่วงการที่สวยงามหรือดีเลิศซะทั้งหมดตั้งแต่ต้น อย่าอินกับมันเกิน มันเป็นความบันเทิง ต้องรู้เท่าทัน แยกแยะฝันออกจากความจริง อย่าลอยหนีปัญหามากจนเกินไปและพึ่งบริโภคมันอย่างมีสติ
อย่างไรก็ตาม ไดอาก็ได้ฝากทิ้งท้ายว่า อุปสรรคยากสุดที่ทำให้วงการแฟชั่น วงการอื่นๆ พัฒนายากก็ยังเป็นผลกระทบที่มาจากการเมือง นี่คือปัญหาที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ทุกคนในทุกวงการต้องออกมาสู้เพื่อตนเอง
“ปล. ที่พูดมาทั้งหมดไม่ได้เฉพาะเจาะจงวงการแฟชั่นไทยแต่พูดอุตสาหกรรมแฟชั่นโดยรวมในโลก สิ่งเดียวที่ไดอาคิดว่า เป็นสิ่งที่ยากที่สุด และเป็นอุปสรรคในการพัฒนาก็คือการเมืองและมาตรา 112 ที่กระทบทุกวงการ ถ้าประเทศสามารถก้าวผ่านสิ่งนี้ไปได้ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีไดอาอีกต่อไป”
ติดตามและส่องด้านที่ไม่สวยของวงการแฟชั่นได้ที่ diet_asava