ชวนรู้จัก “มิลค์ วรรณผ่อง” ดีกรีแชมป์โลกโดรนเรซซิ่ง 2 สมัย

หากย้อนกลับไปเมื่อตอนอายุ 9 ขวบ พวกเราจะทำอะไรกันอยู่บ้าง ดูการ์ตูน วิ่งไล่จับ หรือแอบหลับในห้องเรียน? แต่สำหรับ มิลค์ - วรรรญา วรรณผ่อง เด็กหญิงหน้านิ่ง พูดน้อยคนนี้ ได้ทำสิ่งที่มากไปกว่านั้น เพราะเลือกต่อยอดสิ่งที่ชอบสู่เส้นทางนักกีฬาตั้งแต่อายุยังน้อย จนทำให้คว้าแชมป์โลกโดรนเรซซิ่งรายการ FAI WORLD DRONE RACING CHAMPIONSHIP ที่ประเทศจีน มาได้ถึง 2 สมัยซ้อน (2018 - 2019) ซึ่งทั้งหมดนี้มีแรงสนับสนุนหลักมาจากพ่อ อาวุธ วรรณผ่อง นั่นเอง

โดรนเรซซิ่งคือสิ่งที่ชอบ

มิลค์: ชอบที่มันมีความเร็ว สนุก เล่นไม่กี่ครั้งก็ชอบเลย

พ่อ: ตอนเล่นเฮลิคอปเตอร์บังคับเราจะมองเครื่องและบังคับจากระยะไกล แต่โดรนเรซซิ่งต้องใส่แว่นขณะบังคับ เหมือนเราขึ้นไปนั่งอยู่บนเครื่องเลย

หลังจากเล่นโดรนได้ 2 เดือนก็เริ่มไปแข่งรายการแรกในชีวิต คือ FPV Racing Open 2016 จบอันดับ 8 เป็นโอกาสให้พัฒนาฝีมือตัวเองมาเรื่อยๆ จนได้แชมป์รายการในประเทศไทยมาตลอด 2 ปี และก้าวออกไปคว้ารางวัลในต่างประเทศมากขึ้น ช่วงนั้นสร้างความฮือฮามาก เพราะเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่ไปแข่งขันในระดับนานาชาติ และเมื่อผลงานดีต่อเนื่อง สมาคมกีฬาทางอากาศและการบินแห่งประเทศไทยฯ ก็ให้การสนับสนุนในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย ทำให้น้องมีโอกาสไปคว้าแชมป์โลกจากประเทศจีน 2 สมัยซ้อนมาครองได้สำเร็จ 

“เมื่อก่อนต้องไปแข่งรวมกับผู้ชาย พอมีการแบ่งรุ่นขึ้นมาเลยทำให้เราได้เปรียบมาก เพราะเวลาซ้อมกับผู้ชายเราจะเกาะท้ายเขามาอันดับ 1 ใน 5 ตลอด”

ซ้อมไว้อย่าให้ขาด

แม้ว่าช่วงนี้จะยังไม่มีรายการแข่งขันอะไรเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่มิลค์ก็ยังคงซ้อมตามตารางที่พ่อกำหนดไว้ให้ทุกวัน ทั้งการออกตัวและจับเวลาเหมือนแข่งจริง เพื่อรักษาระดับฝีมือเอาไว้ เพราะการแข่งขันโดรนเรซซิ่งจะวัดผู้ชนะจากคนที่ถึงเส้นชัยก่อน ดังนั้นนักกีฬาต้องพัฒนาฝีมือให้เร็วและแม่นยำอยู่เสมอ ถ้าหยุดซ้อมก็เสี่ยงจะโดนแซงหน้า

กว่า “ลูก” จะเป็นแชมป์

ในขณะที่มิลค์ทำหน้าที่ของตัวเอง คนที่เตรียมพร้อมทุกอย่างไว้ให้ก็คือพ่อ ยอมทำงานตัวเองครึ่งวัน อีกครึ่งวันจะอยู่กับโดรน เพื่อช่วยให้นักกีฬามีเวลาซ้อมมากที่สุด อย่างเรื่องอุปกรณ์ก็จะไม่ให้น้องมานั่งประกอบเองเลย แต่จะสอนว่าแต่ละส่วนมีหน้าที่อะไรให้พอรู้หลักการทำงาน ส่วนการเตรียมสถานที่ซ้อม พ่อได้ประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าไว้ใช้เองด้วย นอกจากนั้นเส้นทางการเป็นแชมป์ของสองพ่อลูกก็ไม่ได้ราบรื่นมากนัก เพราะเมื่อก่อนต้องพากันร่อนเร่ไปในทุกที่ที่มีพื้นที่ว่างเพื่อขอเข้าไปซ้อม พอซ้อมเสร็จก็ต้องจัดเก็บสถานที่ให้เหมือนเดิม ไม่เคยมีที่ซ้อมแน่นอน แต่ตอนนี้มีผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนสถานที่มาให้แล้ว ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่ง

“ถ้าลูกชอบ เราก็ต้องปรับตัวให้ทัน โดรนเรซซิ่งยากกว่าเฮลิคอปเตอร์ตรงที่ต้องเข้าไปเล่นกับระบบคอมพิวเตอร์ ต้องรู้จักปรับจูนเข้าหามัน ซึ่งก่อนหน้านั้นผมแทบไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเลย เพิ่งมาเรียนรู้กับการที่ลูกเล่นกีฬานี่แหละ ใช้เวลาศึกษานานเป็นปีๆ กว่าจะรู้ลึกลงไป”

สร้างความสำเร็จ

บ้านวรรณผ่องแชร์เทคนิคในการสร้างความความสำเร็จว่า ตัวนักกีฬาต้องมีวินัย แบ่งเวลาให้เป็นว่าเวลาไหนควรทำอะไร อย่าปล่อยเวลาว่างให้เปล่าประโยชน์ และหมั่นอดทนฝึกฝน ส่วนผู้ปกครองก็ต้องทำให้ลูกรู้สึกสนุกกับการซ้อม อย่าบังคับหรือตำหนิ เพราะเด็กจะเครียด พยายามอยู่กันแบบเพื่อนแล้วลูกจะกล้าพูดด้วยทุกอย่าง และพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นได้

ปรับจูนความคิด

“กว่าจะมาถึงขนาดนี้เราไม่ได้ชนะไปซะทุกรายการหรอก เวลาไม่ได้รางวัลเรื่องเสียใจมันมีอยู่แล้ว เพราะเราต้องนั่งเครื่องบินข้ามน้ำข้ามทะเลไปแข่งขัน อย่างน้อยก็หวังที่จะได้สักโพเดียม แต่ถ้าไม่ได้ พ่อก็จะบอกน้องว่าไม่เป็นไร นี่คือประสบการณ์ที่ดีที่จะทำให้เรารู้ว่าต้องทำอะไรต่อไป”

ผลักดันโดรนเรซซิ่งไทย

นอกจากจะสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมานานหลายปีแล้ว มิลค์และพ่อยังไม่ลืมที่จะผลักดันเด็กๆ ในประเทศให้ก้าวหน้าไปพร้อมกันด้วย โดยเข้าไปจุดประกายให้หลายฝ่ายเห็นความสำคัญของการจัดแข่งขันกีฬาโดรนเรซซิ่งอย่างจริงจัง เพื่อให้นักกีฬาไทยได้มีเวทีแสดงฝีมือมากขึ้น ซึ่งงานนี้พ่อได้ลงทุนไปอบรมผู้ฝึกสอนมาแล้ว และเตรียมเป็นผู้จัดงานในเร็วๆ นี้

“ผมอยากเห็นวงการนี้เจริญเติบโตขึ้น ปีหน้าถ้าโควิดซา ยังไงก็ต้องจัดการแข่งขันแล้ว เพราะต่างประเทศอย่างจีนหรือยุโรปเขาฝึกซ้อมกันทุกวัน และมีการแข่งขันภายในอยู่ตลอด ซึ่งบ้านเราควรมีบ้าง เพราะการแข่งขันกันเองภายในมันเหมือนฝึกกันเองไปในตัว ทำให้นักกีฬาหน้าใหม่มีโอกาสได้แข่งขันในสนามจริง ดีกว่าซ้อมในสวนในไร่ แบบนั้นมันไม่ได้ประโยชน์”

ติดตามและชมฝีมือการบังคับโดรนเรซซิ่งที่น่าทึ่งของมิลค์ ได้ที่ MILK FPV

Youtube: MILK FPV