"เธอจะไปกับฉัน...ไปด้วยกันรึเปล่า" หลายคนคงคุ้นหูท่อนฮุคเพลงนี้ของวง Armchair เป็นอย่างดี พีระพล ลีละเศรษฐกุล หรือ จ้อ มือเบสวงนี้ เขาคือ "นักกีฬาเซิร์ฟในคราบนักดนตรี" ที่อยู่ในแวดวงกีฬาเซิร์ฟสุดเอ็กซ์ตรีมมายาวนานกว่า 10 ปี จนพลิกผันกลายเป็น "ครูสอนเซิร์ฟ" ในที่สุด!
เริ่มต้นเล่นเซิร์ฟ
สำหรับคนเริ่มต้นเล่นเซิร์ฟอย่างแรกที่ต้องมาก่อนคือร่างกายต้องแข็งแรง โดยเฉพาะร่างกายช่วงบนไหล่ แขน และ หลังส่วนล่าง บั้นเอว เพราะเล่นเซิร์ฟต้องใช้การพายและว่ายน้ำ จากนั้นพอยืนตัวได้ต้องใช้ทักษะการทรงตัวที่ดี สำหรับจ้ออุปกรณ์ Safety สำหรับการเซิร์ฟอันดับหนึ่งคือ สายรัดขา (Leash)
“ผมว่าสำคัญสุด เพราะเคยเจอคลื่นใหญ่ประทะกับสายรัดเก่ามันขาดทันที! นั่นคือความซวยมากๆ บอร์ดก็หลุดเข้าฝั่ง แล้วเรานอนอยู่กลางทะเล แล้วคลื่นมันใหญ่ บางทีติดกระแสน้ำ มันพาเราออกไปไกล ต้องตะโกนเรียกเพื่อน ส่วนบอร์ดถ้ามีเงินค่อยหาซื้อเป็นของตัวเอง ลองเล่นหลายๆ ตัว จนกว่าจะเจอบอร์ดที่ชอบแล้วค่อยซื้อ เพราะความชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราต้องหาบอร์ดตัวที่ใช่ Safety Surf ครับ ความปลอดภัยอันดับแรก ผมเลยให้ความสำคัญกับสายรัดขามากกว่า"
ครูสอนเซิร์ฟ (จำเป็น!)
จ้อเริ่มเล่นเซิร์ฟกับครูสอนคนแรกที่ป่าตอง ชื่อพี่เดย์เป็นคนจังหวัดภูเก็ต อดีตแชมป์เอเชียรุ่นมาสเตอร์ 2 สมัย พอเรียนเรื่อยๆ อยู่วันหนึ่งนักเรียนมาเรียนเล่นเซิร์ฟเยอะมาก จนจ้อไปช่วยอาสาดันบอร์ดให้นักเรียนของพี่เดย์ ตั้งแต่ตอนนั้นทำให้เริ่มสนใจอยากสอนและดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นคนมาเล่นเริ่มยืนบนบอร์ดได้ “เรารู้สึกดีใจไปกับเขาและมันก็สนุกเวลาที่รู้ว่ามีคนเล่นเซิร์ฟเพิ่มขึ้นมา ตอนนี้ก็ 2 ปีแล้วครับที่สอนเซิร์ฟ"
เริ่มต้นการสอนเซิร์ฟในขณะที่เรียนเซิร์ฟไปด้วย การได้เรียนรู้ไปพร้อมการสอนทำให้จ้อสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเซิร์ฟมือไหม่ได้อย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น ‘ครูจ้อ’ สอนเซิร์ฟให้นักเรียนอีกหลายๆ คน
"(การสอนเซิร์ฟ) สนุกมาก! เหมือนสอนคนเขียนหนังสือ มันเป็น Step 1..2..3..4 โดยเราจะสอนเขาบนบกก่อน สอนวิธีและหลักการ การขึ้นไปยืนบนนั้น ต้องยืนส่วนไหนของบอร์ด เวลานอนพายยังไง มีสอนในสระว่ายน้ำเพื่อปรับให้ผู้เรียนบาลานซ์และนอนบนเบาะได้ พายได้ เราจะค่อย ๆ เก็บรายละเอียดผู้เรียนทีละส่วน จากนั้นจึงค่อยพาไปลงทะเลจริง ๆ เราก็จะเริ่มให้เขาพาย โดยเราจะทำหน้าที่ช่วยดันบอร์ดจากด้านหลังเพื่อให้บอร์ดมันไหลไปกับคลื่น ถ้าเขาเริ่มยืนได้แล้ว เราอาจจะไม่ต้องดันบอร์ดให้เขาและปล่อยให้เขาพายไปเอง ให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง"
รับมือกับนักเรียนที่หลากหลาย ตั้งแต่ Gen-Z ถึง Gen-B
บรรดานักเรียนของจ้อมีหลายช่วงวัยตั้งแต่เด็กอายุ 9 ขวบไปจนถึงอายุ 50 กว่าปี มีทักษะการเล่นกีฬาที่แตกต่างกัน ซึ่งครูจ้อจะคอยให้กำลังใจ คอยสอนและดูแลเพื่อนักเรียนจะได้พัฒนาทักษะการเล่นอย่างใกล้ชิด
"เราต้องเช็คประวัติก่อน ว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเล่นกีฬาไหม เราต้องรู้ความคาดหวังในการมาเรียนของเขา เพราะบางคนอยากมาลองเฉยๆ แต่บางคนก็ตั้งใจจะมาเรียนจริงจัง อย่างคนที่ไม่เคยมีทักษะ เราก็จะบอกเขาตรงๆ ว่า มันจะลำบากในการใช้กล้ามเนื้อ แต่เราก็จะมีเทสให้เขาลองทำดู แต่ก็มีบางคนที่มาเรียนแล้วและเล่นไม่ได้จริงๆ เขาก็ออกตัวเองเลยว่าไม่เป็นไร เราจะพยายามให้กำลังใจและให้เขาเต็มที่กับมัน"
เล่นเซิร์ฟต้องเอาชนะตัวเอง
สำหรับการเล่นเซิร์ฟ ความกล้าและการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ จ้อแนะนำว่าต้องยอมรับตัวเองก่อนว่าอยู่จุดไหน ค่อยฝึกพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ จากเริ่มเล่นได้แล้วค่อยมาฝึกท่าต่างๆ จนเก่งขึ้นเอง ทุกอย่างเหมือนการเอาชนะตัวเองนั่นเอง “บางอย่างเราข้ามขั้นไม่ได้ เราต้องค่อย ๆ ฝึกไปก่อน ฝึกจนถึงในระดับที่เราสามารถเล่นได้แล้ว ฝึกเล่นท่าต่างๆ ฝึกจนคุมบอร์ดได้ ฝึกซ้อมเยอะๆ ไม่ใช่เห็นคนอื่นเล่นเก่งแล้วไม่กล้าเล่น กลัวคนอื่นมองว่าเล่นไม่เก่ง แบบนั้นมันจะไม่พัฒนา"
Surfing is Culture
เซิร์ฟคือวัฒนธรรม คือไลฟ์สไตล์ ไม่ใช่กีฬาล้วน ๆ จับต้องได้ง่ายกว่า มันมีเสน่ห์ของมัน กลุ่มคนเล่นเซิร์ฟอยู่รวมกันเป็นสังคมที่ได้เรียนรู้กันและกัน มีทัศนคติและมุมมองใหม่ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน “เหมือนเราสอนเซิร์ฟเขา เขาก็สอนการใช้ชีวิตเรา เราได้จากนักเรียน คนที่เล่นเซิร์ฟรอบข้าง และจากครูคนอื่น ๆ เราแลกเปลี่ยนทัศนคติหลาย ๆ อย่าง มันทำให้เราไม่ปิดกั้นตัวเอง สามารถเปิดใจยอมรับอะไรใหม่ๆ ได้"
นักดนตรี กับ นักเล่นเซิร์ฟ ความแตกต่างที่เหมือนกัน
ความเหมือนของนักดนตรีและนักเล่นเซิร์ฟสำหรับจ้อ คือการฝึกซ้อม ทักษะพื้นฐานเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเล่นเครื่องดนตรีและการเล่นเซิร์ฟ เพราะฉะนั้นการฝึกซ้อมบ่อยครั้งจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อพัฒนาการเล่นที่ดีของเหล่านักดนตรีและนักเล่นเซิร์ฟ นอกจากนี้ ความนิยมการเล่นเซิร์ฟของไทยเริ่มเป็นกระแสขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งถ้าเทียบกับต่างประเทศที่ความนิยมเล่นเซิร์ฟมีมานานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของเมืองหรือเกาะนั้นไปเลย สำหรับจ้อสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกลัวว่าสักวันนึงการเล่นเซิร์ฟจะไม่เป็นที่นิยม “เพราะมันคือวงจรของกีฬา สุดท้ายจะเหลือแต่คนที่ยังชอบ และเล่นอยู่ ในขณะเดียวกันจำนวนคนเล่นมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่มาแล้วก็ไปเยอะมาก (หัวเราะ) ในขณะเดียวกันคนที่ยังเล่นอยู่และยาวนานมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อย”
ทิ้งท้าย Surf กีฬาที่ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด!
"มันไม่ใช่สิ่งที่เราคอนโทรลได้ มันสอนให้เรารู้จักความผิดหวัง บางทีไปเล่นคลื่นไม่มา บางทีเจอคลื่นดี ๆ แต่มีคนตัดหน้าแย่งเราเล่น พอคลื่นมันดีมันก็ดีทั้งวัน แต่บางทีพายุมาหรือคลื่นใหญ่ บางทีก็ได้เลือด จมน้ำ บาดเจ็บ อุบัติเหตุมีหมด มันสอนให้เราไม่ประมาท เซิร์ฟคือกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ต้องเล่นกับธรรมชาติ และถ้าพลาดไปนิดหนึ่งหรือเราตัดสินใจผิดพลาด มันฆ่าเราได้เลยนะ! บางทีเราไม่เป็นไร แต่คนอื่นเจ็บตัว มันทำให้เรามองอะไรกว้างขึ้น คิดเยอะขึ้น"
"เซิร์ฟมันเป็นเรื่องของดวง เพราะคลื่นมันไม่เหมือนกันทุกวัน บางวันคลื่นดี บางวันคลื่นแย่ บางทีต้องรอนานมากกว่าคลื่นดี ๆ จะมา มันทำให้เราเข้าใจโลก เข้าใจธรรมชาติ ไม่คาดหวังอะไรมากมาย"
จ้อบอกว่า "เซิร์ฟมันคือความสุข" แล้วความสุขของคุณล่ะ...คืออะไร? สุขที่ได้เข้าใจ สุขที่ไม่ต้องคาดหวัง ซึ่งอาจมีอีกร้อยแปดพันเก้าเหตุผลที่เป็นความสุขของแต่ละคน ใช้ชีวิตให้เต็มที่ หาประสบการณ์ดีๆ เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และต่อยอดชีวิตในแบบที่เป็นคุณ ใครจะไปรู้บางที.. คุณอาจจะเป็น.................. ก็เป็นได้!
จงเติมคำในช่องว่างตามสะดวก : )