จาก "ประเทศกููมี" สู่เพลง "ปฏิรูป" แร็ปภาคต่อสุดเข้มข้นของประเด็นทางการเมืองและสังคมสุดร้อนแรงที่ไม่มีใครแซงพวกเขาเหล่านี้ RAP AGAINST DICTATORSHIP หรือ RAD ผู้อยู่เบื้องหลังเพลงสะท้อนปัญหาสังคมและการเมืองไทยได้โดนใจหลายๆ คน พวกเขาสามารถหยิบยกปัญหา ประเด็นทางการเมืองและสังคม รวมทั้งแสดงจุดยืนทางด้านความคิดได้อย่างชัดเจน กับยอดวิวทั้ง 2 เพลงดังที่ถล่มทลายเกือบพุ่งทะลุร้อยล้านวิวเข้าไปแล้ว!
นับว่าพวกเขาเป็นแร็ปเปอร์การเมืองที่มีความชัดเจนในการสะท้อนมุมมองและตัวตน ผ่านท่อนแร็ปต่างๆ ร้อยเรียงเรื่องราวได้อย่างตรงไปตรงมา ล่าสุด...แม้ว่าเอ็มวี "ปฏิรูป" จะถูกแบน แต่ก็ยังมีมวลชนกลุ่มหนึ่งให้การสนับสนุนและทำให้เอ็มวีนี้ ขับเคลื่อนบนโลกโซเชี่ยลต่อไป
EQ รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมาก ที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับแร็ปเปอร์ทั้ง 7 คน ที่เผยโฉมหน้าให้พวกเราได้ทำความรู้จักพวกเขาและ RAD กันมากยิ่งขึ้น!
จุดเริ่มต้นการทำเพลงของแต่ละคน?
Numba9: ผมเริ่มฟังเพลงแร็ปมาตั้งแต่ประถม รู้สึกชอบและประทับใจ เริ่มได้เข้ามาทำตอนประมาณ ม.4 จนมาถึงช่วงมหาวิทยาลัยก็เจอพวกพี่ๆ เขา
Protozua: ผมชอบดนตรี แต่ไม่ได้ชอบจริงจัง เล่นเครื่องดนตรีไม่เก่ง แต่แร็ปเป็นดนตรีที่พวกเราสามารถสนุุกกับมันได้ เลยเริ่มจากดนตรีแร็ป
Skanbombomb: ผมไม่ได้ชอบดนตรีแร็ป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับแร็ปเลย แต่อยู่ในวงเพราะทำมิวสิควิดีโอให้ และเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ให้ เลยได้ขึ้นไปบนเวทีด้วย สนุกดี
Hockhacker: ผมเพิ่งแร็ปได้ประมาณ 5 ปี ชอบวงจากต่างประเทศอย่าง Linkin Park และเพิ่งมาหัดแต่งเพลงแร็พจากการเห็น community เห็นซัวแข่ง เห็นน้องๆ หลายคน ซึ่งตอนนั้นผมก็เริ่มแร็พ เริ่มทำ และเริ่มสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่แรกแล้ว ก็เลยมาทางนี้
Jacoboi: เป็นคนชอบฟังเพลงตั้งแต่เด็กแล้วครับ ฟังค่อนข้างหลากหลาย แต่ช่วงแรกๆ ที่เริ่มหัดเล่นดนตรีคือเล่นเมทัลมาก่อน เล่นเพราะความชอบมันง่ายต่อการตั้งวงสำหรับเด็กมัธยม ก็เลยเถิดมาจนได้ทำเพลงออกอัลบั้มค่ายอาร์เอส และก็ทำมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ผมหันมาทางแร็ปจริงๆ คือช่วงเล่นสเก็ตบอร์ด ได้ไปรู้จักเพื่อนที่เล่นสเก็ตบอร์ดและทำกราฟฟิตี้ ได้ hangout และเริ่มรู้จักพวกแร็ปเปอร์ สังคม HIP HOP
3฿one: ผมชอบศิลปะ เริ่มจากการเล่นดนตรี หาวิธีการสร้างศิลปะของตัวเอง โดยเริ่มจากการเล่นดนตรีไทย ซึ่งดนตรีไทยไม่ได้ตอบโจทย์ผมเท่าไหร่ ผมก็พยายามหาวิธีนอกกรอบกับมัน ทำให้ผมได้มาเจอกับแร็ป เพราะแร็ปสามารถพาผมสร้างศิลปะที่ผมคิดในหัวได้ ทำให้ผมคิดภาพออกมาและสื่อสารกับคนเข้าใจ เลยเริ่มแร็ปช่วง ม.5 มาถึงวันนี้ก็ประมาณ 5 ปีแล้วครับ
Dif Kids: แร็ปมันเหมือนการเติมเต็มบางอย่างที่เราไม่เคยพูดครับ เพลงแร็ปสามารถสื่อสาร message บางอย่างที่ทำให้ความเป็นตัวตนข้างในเราเล่าออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก เรื่องการเมือง เพลงแร็ปสามารถพา message ในใจของเราออกไปได้
เสรีภาพในการ "วิจารณ์การเมือง" ของศิลปินสมัยก่อนกับสมัยนี้?
Protozua: ไม่เหมือนกัน เพราะสมัยก่อนคนที่เป็นศิลปินต้องดังมากๆ แล้วกลายเป็นว่าชีวิตทุกส่วนของเขา เงินทุกส่วนที่เขาใช้มาจากสิ่งนี้สิ่งเดียว เพราะมันมีความกลัวขึงไว้อยู่ เขาเลยทำอะไรไม่ได้ คนที่ดังไปแล้ว ยากมากที่จะอยู่ดีๆ แล้วแบบ เฮ้ย...กูไม่กลัวแล้วที่จะขาดรายได้ แต่สมัยนี้มนุษย์ที่เป็นศิลปินถูกสังคมทำให้เขาต้องทำหลายอย่าง เพราะเป็นศิลปินอย่างเดียวมันไม่รอด พอรายได้มันมาจากหลายทาง ความกลัวมันเลยเบาบางลง พอก็รู้ว่าถ้ามาทำอย่างนี้จะไม่มีงานนะ เราก็บอกเขาว่าเรามีรายได้หลายทาง ในทางกลับกันเวลาเราออกมาวิจารณ์ หรือทำอะไรเกี่ยวกับการเมือง เราไปเจอคนอื่นซึ่งเขาก็ทำงานอื่นเหมือนกัน ทุกคนไม่ได้เงินจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องเลี้ยงชีพด้วยอย่างอื่น ในยุคนี้ผมว่าเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ เพราะว่าเงื่อนไขมันต่างกัน
Jacoboi เล่าถึงตอนเป็นศิลปินสังกัดอาร์เอส
Jacoboi: ผมว่าแทบจะไม่ได้เกี่ยวกันเลยครับ ถ้าเราไม่รับศิลปินที่เคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคม ณ ตอนนั้นก็คงเป็น "ศิลกิน" เต้นกินรำกินไปไม่มีอะไรสร้างสรรค์ แม้แต่ผลงานผมเองผมก็ไม่ได้ชอบ ผมออกไปทางอี๋ด้วยซ้ำไป แต่เราก็พยายามที่จะ Push เพลงพวกนี้ออกมาในอัลบั้มเรา มันก็ถูกตัดทิ้งหมด มันก็จะเหลือเพลงที่เขาว่าขาย มันก็ดูจับต้องอะไรไม่ค่อยได้
ตั้งแต่ออกอัลบั้มกับอาร์เอส ผมทำเพลงที่ค่อนข้างมาทางนี้อยู่แล้ว แต่พูดในเชิงแสดงทัศนคติของเราที่มีต่อสังคมครับ ช่วงนั้นการเมืองมันเริ่มแรงพอดี แล้วเราก็สนใจเรื่องนี้มาก แต่ไม่ได้มีความรู้มาก ผมเลยเลิกทำเพลงและลาออกจากอาร์เอส คือตอนนั้น ผมขยับจากศิลปินไปอยู่เบื้องหลัง เป็นโปรดิวเซอร์เป็นนักแต่งเพลง ผมก็ขอลาออกด้วยเหตุผลคืออยากไปเรียนหนังสือ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้เรียนหนังสือด้วยนะ คือเราต้องทำงาน หาเงิน ใช้ชีวิต พอความสนใจเพิ่มขึ้นก็อยากไปเรียน อยากไปม็อบ ไปดูว่าผู้คคนเขาคิดเขาทำอะไรกัน โยกชีวิตทางดนตรีออกมาสนใจในแง่ของวิชาการและการเคลื่อนไหวของสังคม พอกลับมาทำเพลง สองอย่างนี้ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเราแล้ว
มุมมองทางด้านการเมืองและสังคมมีพัฒนาการที่เป็นจุดปลี่ยนอย่างไร?
Protozua: ผมว่าจุดเปลี่ยนของผมและหลายคน มันเกิดจากที่เขาเริ่มแรกได้รับข้อมูลชุดใหม่ คือตอนเราเป็นเด็ก เราก็เป็นเด็กเนิร์ดตั้งใจเรียน เรารับรู้สังคมประเทศผ่านการศึกษาในห้องเรียนที่อยู่ในหนังสือ และเขา Limit ข้อมูลหรือความจริงเอาไว้ ยุคนั้นอินเทอร์เน็ตมันไม่แรง พอยุคหลังๆ ข้อมูลบางอย่างมันอยู่ในอินเทอร์เน็ตแล้ว เร็วขึ้น ไปไวขึ้น อย่างตัวผมเองก่อนหน้านั้นไม่เคยพูดถึงเรื่องการเมืองเลย เพราะไม่รู้ เราสังเกตได้แค่จากการดูทีวีดูข่าว ซึ่งก็ถูกกรองไปเยอะ
จุดแรกของผมคือ จุดที่เพื่อนตื่นเต้นยินดี ผมพิมพ์ในกรุ๊ปว่าผมจะไปสน.บางเขน ตอนที่ทนายอานนท์โดนจับ คือก่อนหน้านั้นเราเป็นตัวนิ่งๆ เวลาแร็ปคือ เพื่อนออกหน้าอยู่แล้วเราอยู่ด้านหลัง ถ่ายเอ็มวีประเทศกูมีก็ปิดหน้า เพราะไม่รู้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้น แต่พอทนายอานนท์โดนจับทั้งที่พูดดีๆ แล้วเขาโดนย้ายมาสน.บางเขนมันใกล้บ้าน ก็เลยบอกใครจะมาบ้างมันใกล้บ้าน เพื่อนเราใช้คำว่า "เส้นศีลธรรม" กว่าที่จะเริ่มออกจากบ้านมาเพราะการชุมนุม การทำอะไรพวกนี้มันต้องเสียเงินและลงทุน จนเราเริ่มทำสิ่งนั้นได้ก็ต่อเมื่อความรู้สึกเรามันถึงขีด เช่น ออกมาด้วยความโกรธ ผิดหวัง เศร้า อึดอัด อย่างของผมคือ คับข้องใจ อ้าวทำไมโดนจับ พูดดีๆ นะเนี่ย
เมาท์เรื่องการทำงานร่วมกันหน่อย
Jacoboi: เราตั้งคอนเซปท์ขึ้นมาก่อน ก็ดูว่าคอนเซปท์นั้นใครเป็นคนคิด พอเราคุยกันว่าเอาใครมาร้องบ้าง ก็เอาคอนเซปท์นี้มาขาย คุยรวมกัน แล้วนัดเขียน
Hockhacker: คือปกติแร็ปมันจะเป็นการแยกกันเขียนจากคอนเซปท์ครับ แล้วเอามากรอง มาอัดรวมกันแล้วตัดทอน ช่วยกันโปรดิวส์ว่าอันนี้เหมาะไม่เหมาะ ต้องแก้อะไรบ้าง ก็ผ่านการแก้ไข รอบสองรอบก็จะออกมาเป็น 1 เพลงครับ
แล้วหัวข้อในการทำเพลงล่ะ?
Hockhacker: เรื่องการเมืองมันฟุ้งขึ้นเรื่อยๆ อย่างตอนประเทศกูมีก็แบบหนึ่ง ตอนปฏิรูปก็แบบหนึ่ง ประเทศกูมีเกิดจากสิ่งที่ปูที่วางทางสังคมอยู่แล้ว อย่างปฏิรูปมาจากความรู้สึกของม็อบล้วนๆ จากข่าวแต่ละวัน จากสถานการณ์ ซึ่งพวกคีย์เวิร์ดมันอยู่ในสื่อ อยู่ในทีวี อยู่ที่คนใช้กันอยู่แล้ว
ประสบการณ์ “Hockhacker ตอนถูกควบคุมตัว”
Hockhacker: ทำให้เรียนรู้ว่าขั้นตอนทางกฎหมายมีอะไรบ้าง โดนจับแล้วต้องไปไหน ทำอะไร ปั้มลายนิ้วมือแล้วเรื่องจะไปถึงศาลได้ยังไง แล้วศาลทำอะไรได้บ้าง หลังจากนั้นคือเรื่องของขั้นตอนทางกระบวนการยุติธรรม เราเข้าไปเรียนรู้ตรงนั้น เพื่อศึกษาป้องกันตัวเอง หรือวางกลยุทธในการเคลื่อนไหวในครั้งต่อไป เพื่อไม่ให้ไปเสียเวลากับอะไรแบบนี้อีก รวมถึงไปอ่านข้อกฎหมายเพิ่มเติมว่าเราต้องไปทำอะไร เราต้องรอบคอบกับเนื้อเพลงที่เราจะแต่งมากขึ้น
ผมไม่รู้ว่าวันที่ผมโดนจับเขาคุยอะไรกันบ้าง แต่จริงๆ มันมีหลายคน อย่าง Jacoboiโดนหนักโดนหมายจับ ผมโดนหมายเรียก Numba9 โดนหมายเรียก และน้องไม่ได้อยู่ในแก๊งค์ตอนแรก นี่คือคนที่ซวยที่สุดในทีมเพราะผมชวนไปช่วยร้องเฉยๆ แล้วโดนจับ โดนหมายเรียกจากตำรวจด้วย
เพื่อนๆ รำลึกถึงตอน Numba9 ได้หมายเรียก
Jacoboi: วันนั้นชุมนุมครั้งแรก 18 กรกฎาคมเขาก็เชิญเราไป ก็มีแค่ผมกับ Hockhacker ที่ว่างไป เสร็จแล้วเราก็ขึ้นไปเล่น เราก็รู้ว่าเครื่องเสียงมันไม่ได้เลย มันยังดิบๆ เปิดเพลงร้องไม่รอดแน่ๆ เลยร้องปากเปล่าดีกว่า สองคนมันดูหงอยๆ พอดีน้อง Numba9 มาดูเรา แล้วผมรู้จักเพราะอยู่แถวนั้น
Numba9: คือวันนั้น ผมรู้ว่าพี่ Hockhacker จะมาครับ แล้วอยู่แถวบ้าน ผมมีความเด็กถิ่นอ่ะพี่ (หัวเราะ) เราสามารถพาออกได้หนีได้
Protozua: น้องบอกว่าผมมีมอไซค์พี่ เดี๋ยวผมพาซอกแซก (หัวเราะ)
Numba9: พี่ Hockhacker บอกว่า ช่วยอย่างนั้นไม่เป็นไร ช่วยขึ้นเวทีดีกว่า
Jacoboi: ตอนนั้นต้องเปิดเนื้อในโทรศัพท์ร้องเลย เพราะไม่เคยซ้อมมา แล้วก็ดูเนื้อในโทรศัพท์ แล้วไม่ได้แนะนำตัวอะไรด้วย น้องก็ขึ้นไปยืนช่วยร้องเฉยๆ เข้าใจว่าความซวยน่าจะมาจาก Facebook พอภาพข่าวลงเพื่อนๆ ก็มาแทกกันเยอะ
Skanbombomb: คือการออดิชั่นเข้าวง (หัวเราะ)
Protozua: คือยังไง ไม่ได้จะเข้าวงแร็ปเก่ง แต่ต้องโดนจับงั้นเหรอ
Hockhacker: ผลงานหลังออดิชั่นคืออะไร คือ ขึ้นปกเพลงปฏิรูป เป็นแกนนำ (หัวเราะ)
ตอน Numba9 ได้หมายเรียกรู้สึกยังไง?
Numba9: ตอนแรกมันเป็นฟิลความสุขแบบตื้นตันใจ นี่คือความรู้สึกก่อนขึ้นเวทีครับ (หัวเราะ) พอหมายมาปุ๊บทุกอย่างเปลี่ยนครับผมลกเลย (หัวเราะ) มันลุกลี้ลุกลน จะโดนจับวันไหนวะ ชีวิตนี้ยังไม่เคยโดนหมายเลย ยังไม่เคยโดนตำรวจทำอะไรเลย ที่บ้านนี่เครียดมาก แม่ผมนี่พูดนายแม่ขอเถอะ แม่เป็นห่วงมาก อย่าไปเลย ซึ่งผมโดนคุกคามทางอ้อม เขาพยายามคุกคามเราตลอดเวลา คือตอนนี้มันเป็นฟิลโกรธมากกว่าที่จะเศร้าเสียใจ เพราะตีนผมเหมือนเหยียบคุกข้างหนึ่งแล้ว!
ม็อบเมื่อก่อน กับ ม็อบปัจจุบัน เหมือนหรือต่างกัน?
Jacoboi: ต่างมากเลยครับ ผมรู้สึกว่ามีผู้จัดที่หลากหลาย ไม่ได้มีการผูกขาดขบวนการใดขบวนการหนึ่ง ไม่ได้มองว่าผิดหรือถูกนะครับ อย่างถ้าให้มองพันธมิตร หรือ นปช. ก็จะมีแกนอันหลักอันเดียว และทุกคนก็ต้องไปตามขบวนนี้เหมือนหมด มันมีกลุ่มนำที่พร้อมจะขึ้นมาจัดงานหลายกลุ่ม และมันทำให้ความคิดมีความหลากหลาย แล้วกระจาย ให้คนที่มีรสนิยมแบบต่างๆ เข้าไปร่วมได้ในหลายประเด็น บางทีมันมีประเด็นรายวัน แต่กลุ่มเดียวมันอาจจะทำได้ไม่หมด พอมีหลายกลุ่ม มันก็เหมือนแบ่งหน้าที่กัน แล้วเข้าไปทำประเด็นนั้นประเด็นนี้ ผมเล่นโชว์เกือบทุกม็อบ ผมไม่รู้เลยว่างานนี้ใครจัด รู้แค่ว่า ข้อเรียกร้องของการชุมนุมตรงกับความคิดของเราหรืออุดมการณ์เรา
Hockhacker: บางงานจะมีข้อเรียกร้องชัดเจนจากม็อบใหญ่ แต่บางงานก็จะย่อยไปเลย เคยไปที่โคราชก็จะวาไรตี้มาก มี feminism เรียกร้องประชาธิปไตยมาเป็นย่อยๆ ไปอีก บางงานก็ไม่ได้เป็นประเด็นเรียกร้องสักเท่าไหร่ เป็นการพร้อมแสดงพลัง อย่าง อักษะ กลุ่มเสื้อแดง เราไปกันหมด มันค่อนข้างหลากหลายมาก คือทุกคนที่ไปมันสามารถไปร่วมกับคนอื่นได้เรื่อยๆ
คนที่มาม็อบต่างกันไหม?
Jacoboi: ผมว่า มีทั้งต่างกับไม่ต่างครับ คือเมื่อก่อนมีความเป็นชาวบ้านมากกว่านี้ ในขณะที่กลุ่มที่เป็นชาวบ้านเขาก็ไม่ได้หายไปไหนนะ เขาก็ยังเข้ามาร่วมและแอคทีฟกว่าเดิม เขาจัดตั้งกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ
Dif Kids: มีเรื่องการแสดงออกครับ อย่างสมัยนี้การแสดงออกมันไม่ได้มีแค่การปราศรัย มันมีการแสดงออกทางด้านศิลปะ รู้สึกว่าเป็นม็อบที่มีความครีเอทมากขึ้น
Hockhacker: กลุ่มสเก็ต เขาก็มาเล่นสเก็ตในงานประท้วง เขาไม่ต้องขึ้นพูดก็ได้ แต่เขามีพื้นที่ของเขาในการประท้วง ความหลากหลายมันเยอะขึ้น เหมือนเป็นพื้นที่แสดงออกให้ทุกคนออกเสียงกันมากขึ้น
ทำไมถึงเลือกการชุมนุมคณะราษฎร์เป็นที่ถ่ายทำมิวสิควีดิโอ?
Skanbombomb: ไอเดียจริงๆ คือเราอยากจะถ่ายเอ็มวีตัวนี้ในม็อบ แต่วันนั้นคิวมันได้พอดี และเราจะปล่อยเพลงนี้ในงาน Mob Fest ซึ่งมันอีกประมาณ 6-7 วันข้างหน้า
Hockhacker: ตอนแรกเราทำเพลงนี้ reference มันเป็นฟิลแบบเพลงม็อบชวนโยกความฮึกเหิม ซึ่งตอนนั้นมันยังไม่มีใครประกาศม็อบ และก็มี Connect มาว่า วันที่ 14 พ.ย. กลุ่ม Mob Fest จะจัดงาน ซึ่งเราก็ยังไม่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ต้องเร่งทำให้มันเสร็จ แล้ววันนั้นเหมือนมันมีเรื่องอะไรไม่รู้ที่ทำให้คนเหมือนนัดกันพอดี แล้วพี่บอม (Skanbombomb) ก็วางทีมโปรดักส์ชั่นลงไป
Skanbombomb: จังหวะมันได้ ด้วยไอเดียที่ผมเลือกถ่ายเอ็มวีในม็อบเพราะว่า เราอยากเชียร์คนที่มาม็อบด้วย เราอยากนำเสนอเหตุการณ์จริง คือผมว่าเอ็มวีมันเป็นสื่อที่แมสทั่วโลกที่ดูเข้าใจ ผมไม่อยากให้ดูแค่ในข่าวเพราะบางทีคนต่างประเทศมันจะดูเข้าใจง่ายกว่า ผมอยากจะนำเสนอเหตุการณ์จริงว่าประเทศเรามันเกิดอะไรขึ้น เลยใช้ภาพทั้งในม็อบ ทั�