ยานยนต์ยุคใหม่เครื่องเล็กลง (Downsizing) โดนใจผู้ใช้จริงหรือ?

เทรนด์ยุคใหม่...เครื่องไซส์เล็ก แต่กำลังไม่เล็ก!

โลก ถือเป็นสรรพสิ่งที่มีการเคลื่อนไหวอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่บนโลก ล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะกาลในแต่ละยุคสมัย จนเป็นที่มาของคำว่า “วิวัฒนาการ” ไม่เว้นแม้แต่โลกยานยนต์ที่เรียกได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ภาพลักษณ์เดิมๆ เทรนด์การพัฒนาเดิมๆ ที่เราเห็นในไม่กี่ปีก่อน แทบไม่มีให้เห็นแล้วในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องยนต์ ที่คำว่า Downsizing มีบทบาทมากอย่างปฏิเสธไม่ได้

Downsizing หากแปลกันแบบตรงตัว ก็คือ การลดขนาดลง ซึ่งสำหรับเทรนด์ที่คนใช้รถใช้ถนนนิยมในยุคก่อนๆ โดยเฉพาะกับผู้บริโภคชาวไทยที่ต้องเน้น “เล่นใหญ่” ไว้ก่อน ก็มักจะชื่นชอบเครื่องยนต์ที่มี ซีซี. สูงๆ ด้วยความเชื่อที่ว่า เครื่องยิ่งใหญ่ก็ยิ่งให้พละกำลังมาก สามารถตอบสนองต่อการสัมผัสคันเร่งได้อย่างรุนแรงและรวดเร็ว ต่างกับรถ ซีซี. น้อย ที่เน้นใช้สอยประหยัด สำหรับคนเบี้ยน้อยหอยน้อย ที่ไม่ได้เน้นเรื่องของสมรรถนะเป็นตัวชูโรง แต่ก็อย่างที่บอกครับ ว่ากระแสโลกล้วนเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทุกสรรพสิ่งได้รับการพัฒนาให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น เทคโนโลยีของเครื่องยนต์ก็เช่นกัน ยุคนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้แล้วว่า เครื่องยนต์บล็อคใหม่ๆ แม้จะมาใน ซีซี. ที่ไม่สูงมากนัก แต่กลับให้สมรรถนะที่เกินความคาดหมายไปไกล ด้วยเหตุผลเรื่องความประหยัด รวมถึงการปล่อยมลพิษที่น้อยลง ซึ่งก็สอดคล้องกับทิศทางของโลกแบบไม่ต้องใช้จินตนาการที่ไกลตัวมากนัก

Eco Car กับแรงม้าระดับ 100 ตัว จากขุมพลัง 1.0 ลิตร

งานนี้ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น รถ Eco Car ยุคแรกเริ่ม ขุมพลัง 1.2 ลิตร ให้แรงม้าในระดับแตะ 90 ตัว คนใช้รถใช้ถนนอย่างเราๆ ก็รู้สึกว่าสมน้ำสมเนื้อแล้ว แต่ในยุคปัจจุบัน เครื่องยนต์หลายค่ายถูกอัพเกรดขึ้นไป แม้จะมาในความจุเพียง 1.0 ลิตร แต่ให้แรงม้าทะลุ 100 ตัว แบบสบายๆ ไม่เว้นแม้รถระดับ D Segment หรือที่เรานิมเรียกกันแบบติดปากว่า ซีดานระดับผู้บริหาร ที่แต่ก่อนใช้เครื่องยนต์ระดับ 2.4 ลิตร แต่ในปัจจุบันกลับใช้เครื่องยนต์ความจุเพียง 1.5 ลิตร ที่ให้สมรรถนะไม่ได้ลดน้อยถอยลง 

เครื่อง “พันห้า” สมัยนี้ กับ “ซีดานระดับผู้บริหาร” จัดการได้อยู่หมัด

ซึ่งข้อดีของการใช้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กลงคือ ในคอนดิชั่นการใช้งานปกติ ย่อมส่งผลให้อัตราสิ้นเปลือง และการปล่อยมลพิษต่ำลงด้วยเช่นกัน แล้วทำไม...เขาถึงทำแบบนั้นได้ล่ะ ทำไมเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กลง แต่กลับให้กำลังที่สูงกว่า แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องของไสยศาสตร์ แต่หากเป็นการอัพพื้นฐานด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ตัวช่วย”

เทอร์โบชาร์จ หัวใจหลักแห่งการสร้างพละกำลัง เพื่อชดเชยความจุที่เสียไป
เทอร์โบชาร์จ หัวใจหลักแห่งการสร้างพละกำลัง เพื่อชดเชยความจุที่เสียไป

เทอร์โบชาร์จ หัวใจหลักแห่งการสร้างพละกำลัง เพื่อชดเชยความจุที่เสียไป

สำหรับ ตัวช่วย ที่ว่านั้น มีมาให้เห็นกันในหลากหลายรูปแบบ เช่น บางค่ายเน้นการใช้ระบบอัดอากาศที่เรียกว่า เทอร์โบ เป็นส่วนประกอบ แต่สำหรับบางค่ายที่เน้นความลึกล้ำไปอีกขั้น อาจมาในรูปแบบของมอเตอร์ไฟฟ้า ที่ช่วยสร้างพละกำลังในการขับเคลื่อนได้อีกทางหนึ่ง ซึ่ง 2 รูปแบบนี้ แม้จะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีจุดประสงค์เป็นหนึ่งเดียว นั่นก็คือ การเพิ่มพละกำลังในการขับเคลื่อน ช่วยให้เครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กลง สามรถแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ภายใต้เงื่อนไขในเรื่ององค์ประกอบต่างๆ ภายในเครื่องยนต์ที่ต้องได้รับการอัพเกรด เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น เทคโนโลยีวาล์วแปรผัน, การใช้ระบบจ่ายเชื้อเพลิงตรงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ รวมถึงเพื่อรองรับกับพละกำลังที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

มอเตอร์ไฟฟ้า หรือ ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ รถไฮบริด ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังในการขับเคลื่อน
มอเตอร์ไฟฟ้า หรือ ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ รถไฮบริด ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังในการขับเคลื่อน

มอเตอร์ไฟฟ้า หรือ ที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ รถไฮบริด ก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยเพิ่มกำลังในการขับเคลื่อน

Downsizing นับว่าเป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนอยากให้ผู้ใช้ยุคนี้ เปิดใจรับกับสิ่งใหม่ๆ เผื่อในอนาคตข้างหน้า เราจะได้เห็นอะไรที่พัฒนาไปได้ไกลกว่าที่เห็นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเราเคยคิดหรือรู้สึกกันไปเองว่า เครื่องใหญ่...ยังไงก็แรงกว่า ! แต่ในยุค 2020 นั้น กลายเป็นว่า เครื่องที่ขนาดเล็กลง สามารถรีดขีดจำกัดออกมาได้อย่างที่เราไม่เคยจินตนาการ ซึ่งต้องยอมรับในสิ่งที่เรียกว่า วิวัฒนาการ ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำสิ่งที่ (เคยคิดว่า) มิอาจเป็นไปได้ ให้เป็นจริง จนสามารถสัมผัสและเข้าถึงได้ใกล้กว่าที่คาดจริงๆ