วิ่งเทรลสนามน่านเส้นทางธรรมชาติ กับจ็อบ ธนพงษ์

หลังจากโควิด-19 การวิ่งเทรลเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นักวิ่งหลายคนโหยหา และได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะกระแสของคนรักสุขภาพ และเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับผู้ที่่ต้องการเปิดประสบการณ์วิ่งใหม่ๆ ท่ามกลางธรรมชาติ นอกสวนสาธารณะ หลีกหนีความวุ่นวายในสังคมเมือง เหมือนเป็นการไปชาร์ตพลัง

วิ่งเทรล คือ กิจกรรมการวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ เป็นเส้นทางที่เราไม่มีทางรู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้า น้ำตก หรือลำธาร มีอุปสรรคแค่ไหนบ้าง แน่นอนว่ามีทั้งปีนป่ายและพื้นผิวที่ขรุขระ แต่ละที่ที่จัดงานขึ้นมีเส้นทางไม่เหมือนกัน มีการระบุเส้นทางวิ่งไว้ให้แล้ว ซึ่งก็ต้องวิ่งไปตามทิศทางที่กำหนดไม่ควรออกจากนอกเส้นทาง  มีหลายระยะให้เลือกตั้งแต่น้อยๆ (10 — 40 km) ไปจนถึงระยะอัลตร้า (50 — 200km) มีการกำหนดเวลาเพื่อการแข่งขัน โดยมีระยะทางบวกกับความชัน (gain) เป็นองค์ประกอบ ซึ่งการวิ่งเทรลเต็มไปด้วยความสนุก ท้าทาย ที่ต้องอาศัยความอึด อดทนกับความเหนื่อยล้า ดังนั้นจะต้องมีการฝึกซ้อมและมีร่างกายที่สมบูรณ์เป็นอย่างดี

หากพูดถึงสนามเทรลที่ได้รับความนิยมในไทย คงมีชื่อ ‘Ultra-Trail Nan100’ ปี 2020 หรือ ‘UTN100’ ขึ้นมาเป็นงานแรกๆ ที่นักวิ่งพูดถึงความสวยงามและความท้าทาย ทำให้เราได้พบกับนักวิ่งเทรลแชมป์เปี้ยน จ็อบ-ธนพงษ์ จันทร์กระจ่าง บาริสต้าชาวเชียงใหมวัย 29 ปี เจ้าของร้านกาแฟ "nuan cafe” อยู่ในคูเมือง จ.เชียงใหม่  และเจ้าของสถิติ 13:32:49 ชั่วโมง เวลาที่ดีที่สุดของงาน Ultra-Trail Nan100 2020 แชมป์เพียงคนเดียวที่จบก่อนพระอาทิตย์ตกดิน

“ผมเคยได้นั่งรอเชียร์พี่ๆ ที่วิ่ง 100 km หลังเส้นชัย มันเลยจุดประกายให้เด็กคนนึง มีความฝันลางๆ ที่อยากจะวิ่ง 100 km ที่นี่ดูบ้าง” คือภาพจำประทับใจ เมื่อ 3 ปีที่แล้วที่จ็อบเคยมาลงแข่ง UTN ระยะ 50 km

หลังจากพลาดงาน UTN 2019 เพราะติดแข่ง IJEN TRAIL RUNNING ที่อินโดนีเซีย จ็อบกลับมาร่วมแข่งใน UTN100 2020 ปีนี้อีกครั้ง โดยเขาเลือกลงแข่งสนามวิ่งให้น้อยลง ซ้อมให้เยอะขึ้น เป็นเวลาประมาณ 4 เดือนก่อนแข่ง จ็อบเน้นไปที่การซ้อมทางราบเพื่อพัฒนาระบบพลังงาน และเวทเทรนนิ่งเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงซ้อมวิ่งขึ้น-ลงเขาที่ชันๆ แบบต่อเนื่อง ให้ร่างกายคุ้นชินกับสภาพสนาม เพราะถือคติ "ซ้อมให้เหมือนแข่ง แข่งให้เหมือนซ้อม” เพื่อให้พร้อมสำหรับ UTN100 ที่เป็น RACE A สนามเดียวของปีนี้ของจ็อบ  

“ทุกอย่าง มันมี Timing ของมันครับ ลึกๆ ผมเชื่ออย่างนั้น ในเมื่อผมที่มีความต้องการอยากจะมาวิ่งสนามนี้อีกซักครั้งในระยะ 100km บวกกับทางแบรนด์ Hoka (สปอนเซอร์) ที่เปรียบเสมือนครอบครัวอีกครอบครัวของผม ยกกันมาทั้งบ้านขนาดนี้ ผมคงไม่ต้องลังเลอะไร” 

สนามน่านมีความท้าท้ายอยู่ที่ "เขา" ที่มีหลายลูก ซ้อนกันไปมา ไม่รู้จบ อวดความสวยงามของวิวทิวทัศน์พร้อมกับยอดเขาที่สูงชันตลอดเส้นทางวิ่ง “อากาศที่ร้อนสุดๆ ที่ตีนเขา แต่กลับเย็นสบายที่ยอดเขา” จ็อบเล่าถึงช่วงที่ยากสำหรับการแข่งขันในสนาม UTN100 ว่ามีอยู่ 2 ช่วง 

"ช่วงแรก" คือ ช่วง A2 > WS2 ครับ หรือช่วงที่ไต่จาก บ้านผาเวียงขึ้นไป กม.28 ช่วงนั้นถ้าจำไม่ผิด ระยะไต่สะสมราวๆ 1000+ เมตร ครับ แล้วเป็นช่วง Jungle ทางวิ่งค่อนข้างยาก เป็น Single Track ลาดเอียงบวกกับดินลื่นๆ. จ็อบล้มจ้ำเบ้าไปครั้งนึง ได้ยินเสียงแคล็ก! ใจหายวูบ เล่าปนขำ นึกว่าจะเสียไม้โพลไปแล้ว อ่อ! เสียงกิ่งไม้ และบางช่วงก็จะเป็นทุ่งข้าวโพดบนไหล่เขา มองไปก็แอบเสียวไป พอขึ้นมาถึง WS2 ได้นี่โล่งใจไปเปราะหนึ่งครับ หลังจากนั้นก็วิ่งลงยาวๆ ไปบ่อเกลือ 

ต่อจากนั้นก็มาเจอด่านสุดท้ายสำหรับสนามนี้ "ช่วงที่สอง" คือการไต่จากบ่อเกลือ ขึ้นมายอดดอยภูคา หรือจุดชมวิว 1715 ซึ่งนอกจากความเหนื่อยที่ต้องวิ่งบนถนนลาดยาง ที่มีความลาดเอียง 9 - 10% แล้วก็ยังมีแดดที่ยังร้อนระอุ ในเวลาเที่ยงตรงส่องลงมากลางหัวแบบไม่มีอะไรมากั้น ในช่วงนั้นกว่าจะผ่านไปได้แต่ละกิโล ช่างยาวนานเหลือเกิน โชคดีที่มีนักท่องเที่ยวที่ขับรถขึ้น-ลง ดอยภูคา คอยให้กำลังใจอย่างไม่ขาดสาย ทำให้มีแรงวิ่งขึ้นเยอะ

หลังจากขึ้นถึงยอดดอยภูคารอบที่สอง ระยะทางที่เหลือ เป็นลงเขายาวๆ เป็นช่วงเวลา "Happy Meal" สำหรับตัวเขา เพราะได้ผ่านช่วงที่ยากที่สุดมาแล้ว ที่เหลือก็แค่วิ่งไปเรื่อยๆ เก็บเกี่ยวบรรยากาศและให้กำลังใจเพื่อนนักวิ่งระหว่างทาง

สิ่งที่ทำให้จ็อบวิ่งได้ไม่หยุด นอกจากกล้ามเนื้อที่ฝึกฝนมาอย่างดีแล้ว เรื่องจิตใจก็สำคัญมากสำหรับการวิ่งระยะไกล โดยเฉพาะอัลตร้าเทรล ไม่มีอะไรจะดีไปกว่ากำลังใจที่มีให้กันจากคนแปลกหน้า ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว ชาวบ้าน หรือนักวิ่งด้วยกันเอง แค่คำพูดไม่กี่คำ "สู้ๆ ครับ" "เยี่ยมมาก" ในจังหวะที่ร่างกายเหนื่อยล้า อ่อนแรงสุดขีด มันเปลี่ยนมาเป็นพลังงานที่ทำให้เราก้าวเท้าไปข้างหน้าได้อย่างไม่หยุดยั้ง จนบางครั้งที่ได้ยินก็อดน้ำตาซึมไม่ได้ "ขอบคุณ" พี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ ทุกคนที่มีส่วนร่วมในสนาม UTN100 ขอบคุณที่ทำสนามเทรลดีๆ ให้นักวิ่งได้วิ่งกันด้วย 

หลังเสร็จรอบการแข่งขัน จ็อบรับหน้าที่เจ้าของกิจการเปิดร้านกาแฟทุกวัน 7 วันต่อสัปดาห์ และก็คงยังต้องซ้อมวิ่ง 6-7 วันต่อสัปดาห์ ของทุกวันไปด้วยกัน 

คิดว่าเรา Balance การทำงานกับการซ้อมได้อย่างไร? 

  “คำว่า "Balance" มันยากสำหรับผม ขึ้นอยู่ที่ว่าช่วงไหนเราจะปรับตาชั่งของเรายังไงมากกว่า ตอนนี้ผมไม่ใช่นักกีฬาอาชีพครับ ยังคงต้องทำงาน หาสตางค์เพื่อ Support ตัวเองในการวิ่งหรือการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะทั้งมิติของการวิ่งก็ดีการทำงานก็ดี มันมี "Timing" ของมันครับ บางช่วงที่งานเยอะ เราก็วิ่งน้อยลง บางช่วงที่งานเริ่มเบา เราก็มีเวลาซ้อมวิ่งได้เยอะขึ้น”

สุดท้ายแล้วสำคัญที่สุดคือ "คนในครอบครัว" เพราะครอบครัวของจ็อบเข้าใจและส่งเสริม ทำให้จ็อบได้ทำตามฝัน ฝันเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ของเด็กหนุ่มที่อีกไม่กี่เดือน จะก้าวเข้าเลข 3 แล้ว คืออยากเป็น นักวิ่งอัลตร้าเทรล คนหนึ่งที่จะวิ่งไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าคุณอยากออกกำลังกาย ให้ออกมาวิ่ง แต่ถ้าคุณอยากพบโลกใหม่ ให้ลองมา “วิ่งอัลตร้าเทรล”

จ็อบมีความสุขมากทุกครั้งเวลาได้เล่าเรื่องราว ประสบการณ์ สถานที่ต่างๆ ที่เคยไปวิ่งมา และยิ่งมีความสุขขึ้นไปอีก เมื่อเริ่มเห็นเพื่อน พี่ น้องที่รู้จัก คนในครอบครัวเริ่มหันมาออกกำลังกาย หันมาวิ่งเทรลกัน

อีกมุมมองหนึ่งของจ็อบ ที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม และชุมชนในพื้นที่บนดอย มองว่านักวิ่งเทรลมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนได้ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นทั้งช่วงซ้อมหรือในสนามแข่ง ช่วยกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ชุมชน อย่างเช่น หมู่บ้านขุ่นช้างเคี่ยนที่จ็อบซ้อมวิ่งอยู่ประจำ ตั้งแต่หลายปีที่แล้ว ได้มีร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้านมีรายได้จากนักวิ่ง ที่ซ้อมวิ่งอยู่เป็นประจำ เกิดการพัฒนาของชุมชนตามไปด้วย แต่ก็ต้องแลกมากับความสงบของหมู่บ้านที่ลดน้อยลง รวมไปถึงขยะที่เพิ่มมากขึ้นตามทาง ซึ่งถ้าจะมีเรื่องอะไรที่จ็อบพอช่วยได้บ้าง ก็คงจะช่วยรณรงค์ให้นักวิ่งเทรลไม่ทิ้งขยะตามทางเทรล หรือช่วยเก็บขยะเล็กๆ น้อยๆ เวลาไปซ้อมบ้าง และเลี่ยงการไปซ้อมช่วงกลางคืนที่เป็นช่วงเวลาหลับพักผ่อนของชาวบ้านในชุมชน