โควิดไม่ได้ทำให้โลกดนตรีขาดสีสัน เมื่อเหล่าศิลปินแนวดนตรีทดลอง (Experimental Music) ของไทยมารวมตัวกันส่งเสียงดนตรีของพวกเขาไปสู่หูผู้ฟังทั่วเอเชีย กับโครงการ “A fly enters. Immense breath of the SEA”
นี่คือการเชื่อมโยงศิลปินที่อยู่ในซีนดนตรีแนวทดลองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และ ไต้หวัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก The Culture Taiwan Foundation ที่ร่วมมือกับ OCAC (Open Contemporary Art Center)
“A fly enters. Immense breath of the SEA” ได้แรงบันดาลใจมาจากบทกลอนของ Victor Hugo ซึ่งตีความจากเสียงดนตรีที่คลุมเครือของ Michel Chion นักแต่งเพลง แนวทดลอง ออกมาเป็นเรื่องราวของเสียงที่มีชั้นเชิง และใช้อธิบายภาษาและเหตุการณ์ต่างๆ อย่างในช่วงของการระบาดของ Covid-19 ที่ทุกอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ รวมไปถึงข้อจำกัดอีกมากมาย แม้ว่าเราทุกคนไม่สามารถข้ามมหาสมุทรหรือท้องทะเลได้ (SEA ที่แปลว่าทะเล) แต่คลื่นเสียงดนตรีไม่มีอะไรมาจำกัด เพราะฉะนั้น SEA ในที่นี้จึงหมายถึง Community of South East Asia ที่จะเชื่อม
โยงอดีต อนาคต รวมไปถึงจุดเริ่มต้นของความร่วมมืออันดีระหว่างไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศไทยถูกรับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดผลงานของงานนี้ โดยตัวแทนคือ “TEMPO” Website Electronic ของเมืองไทยที่คลุกคลีอยู่ในวงการดนตรี Electronic มากว่า 10 ปี TEMPO เป็นทั้งเว็บไซต์ และนักจัด Event ที่ดูแลโดย บิว ผกาวดี ดีช่วย Event Organizer, Event Producer, เจ้าของบริษัทเครื่องเสียง, นักเขียนอิสระ และดีเจ ที่หลายคนรู้จักเธอในชื่อ WINKIEB ดีเจสาวกับดนตรีดุดันเพียงหนึ่งเดียวในเมืองไทย, และปอนด์ กฤษฎา วดีศิริศักดิ์ Dj, Composer, Music Producer, Creative Director, Head of A&R ของค่ายยักษ์ใหญ่ และอีกมากมายที่เกี่ยวกับงานดนตรี Electronic Music จะต้องมีชื่อเขาคนนี้ร่วมอยู่แทบจะทุกงาน
และแน่นอนว่าการร่วมงานในครั้งนี้ ประเทศไต้หวันเจาะจงให้ TEMPO เป็นผู้ดูและเลือกศิลปินไทยเจ๋งๆ ให้กับโครงการ การร่วมงานในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดประตูอีกหนึ่งบานให้กับศิลปิน Experimental Music ของเมืองไทยเป็นที่รู้จักในเอเชียมากยิ่งขึ้น และด้วยประสบการณ์ และศักยภาพของทีมงานในเมืองไทย เรามั่นใจได้เลยว่างานนี้ต้องออกมาเจ๋งแน่นอน
“โจทย์ของการร่วมงานในครั้งนี้คือ How pandemic shape your sound? เราเลยมาตีโจทย์ว่าอยากให้ภาพ และดนตรีออกมาในทางไหน จึงคิดไปถึงช่วงกักตัวว่า โอเคเราไม่สามารถออกไปไหนได้ ตอนนั้นในหัวคือหลายความคิดตีกันมั่วไปหมด ทั้งต่างจังหวัด ในป่า บนเขา แต่มันก็ไม่มีอะไรที่สื่อถึงช่วงการกักตัวได้เลย”
“แต่ไหนๆ การกักตัวก็คือการอยู่บ้าน แล้วทำไมเราไม่เล่าเรื่องราวการกักตัวผ่านดนตรี ที่ถูกเล่นในบ้าน ในสถานที่ของเราเองละ เลยกลายมาเป็นว่าเราตั้งให้การกักตัวคือการอยู่ในบ้าน ในพื้นที่ของคุณเอง และเราเลือก 3 ศิลปินแนวทดลองของเมืองไทยทั้ง Stylish Nonsense, Space Telexxx, Marmosets และให้โจทย์ของการกักตัวไปทำการบ้านออกมาเป็นดนตรี แนวทดลอง ที่พวกเขาต้องการ” -- TEMPO Crews
แต่ละศิลปินก็ต้องการสื่อในเรื่องการกักตัวที่แตกต่างกันออกไป ถ้าจะถามว่าเมืองไทยซีเรียสมากไหม ก็คงบอกได้ว่าเป็นแค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น และไทยเราก็เป็นประเทศที่ควบคุมโรคนี้ได้เป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย ศิลปินจึงตีความออกมาตามโจทย์เป็นความรู้สึกของช่วงเวลานั้นซะมากกว่า ซึ่งเราที่ได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองขอชื่นชมความสามารถของศิลปินจากใจ การ Improvise ของแต่ละคนก็เข้ากับบรรยากาศณ.เวลานั้นแบบหาคำอธิบายได้ยาก อย่าง Stylish Nonsense เลือก Sound Design โดยการนำหม้อ กะทะ และเสียงฝนตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน และผลออกมาน่าประทับใจ จนทึ่งในมันสมองของพวกเขาจริงๆ
“การแสดงสำหรับ A fly enters. Immense breath of the SEA นั้นพวกเราต้องการสื่อถึง Feeling, Emotion ของการอยู่บ้านจริงๆ อย่างเสียงฝนตกและซาวนด์ดีไซต์ต่างๆ ที่มาจากบรรยากาศรอบข้าง ช่วงนี้ฝนตกบ่อยเลยนำไอเดียที่ทำเล่นทุกวันมารวมเข้ากับการ Improvise กับเครื่องดนตรี Synthesizer และองค์ประกอบของเครื่องดนตรีต่างๆ อย่าง Drum Machine และ Melodica มันเลยออกมาเป็นความรู้สึกที่สดใหม่ของนี้” -- Stylish Nonsense
“ไอเดียของเซตนี้คือ เรามองว่า โควิดมันคือสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่ามันคืออะไร คาดเดาอะไรจากมันไม่ได้เลย เซตที่เล่นวันนี้คือการเล่น Improvise คือสิ่งที่เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 พาร์ท เริ่มด้วย อินโทรไปเรื่อยๆ เหมือนกับการใช้ชีวิต ต่อด้วยพาร์ท Improvise ที่เราไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ จบด้วยพาร์ทที่ทุกคนรู้ว่า โควิดคืออะไร เริ่มอยู่กับมันได้ ก็กลับมาสู่ระบบที่นิ่งขึ้น คือการเอารูปแบบ Platform มาผสมกับดนตรีทดลอง จึงออกมาเป็นเซตอย่างที่จะได้ยินกัน” -- Space Telexxx
“จากโจทย์ว่า Pandemic มีอิทธิพลกับซาวนด์ อย่างไร เรามองย้อนไปถึงที่กรุงเทพฯ ช่วงล็อคดาวน์ที่อยู่แต่ในบ้าน แล้วตั้งคำถามขึ้นมาว่า หากเสียงสังเคราะห์ที่เราเล่นใน Exhibition หรือ Event ต่างๆ ถูกนำมาเล่นในห้องนอน จะให้ความรู้สึกกับตัวเราและคนฟังอย่างไร ‘Alien in Bedroom’ จึงเป็นการสร้างรูปแบบความรู้สึกใหม่ ให้คนฟังลองจินตนาการถึง ห้องนอนที่เงียบสงบ แต่ถูกสร้างเสียงประหลาด หนักหน่วง และวุ่นวายเข้าไปจะทำให้เรารู้สึกอย่างไร” -- Marmosets
งานนี้ถือได้ว่าเป็นการรวมศิลปินฝีมือเก๋าของเมืองไทยมาแสดงผลงานออกสู่สายตาของคนเอเชียด้วยกัน หลายๆคนอาจจะเคยเห็นผลงานของแต่ละศิลปินไปแล้ว แต่เราเชื่อว่างานนี้จะเป็นอะไรที่แตกต่าง ทั้งเรื่องของดนตรีและวิธีการนำเสนอ รวมไปถึงความสามารถที่จะบอกให้ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียได้หันกลับมามองศิลปินมากฝีมือของวงการดนตรี Electronic ของเมืองไทยบ้าง