“EM คือการตีตราไปแล้วว่าเราผิด เป็นเสมือนคุกที่อยู่ข้างนอก”
– ตี้ วรรณวลี
โซ่ตรวน ห่วงเหล็กที่คล้องอยู่บริเวณข้อเท้าทั้งสองข้างและเชื่อมกลางด้วยโซ่ เป็นอุปกรณ์ที่กรมราชทัณฑ์ใช้กับนักโทษ ปัจจุบันมีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว’ (Electronic Monitoring) หรือที่หลายคนเรียกติดปากกันว่า ‘EM’ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตามตำแหน่งและตรวจสอบความเคลื่อนไหวเพื่อให้ผู้ถูกควบคุมปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลหรือเจ้าหน้าที่ โดยไม่ต้องอาศัยอยู่ในราชทัณฑ์ เป็นอุปกรณ์ที่มีรูปร่างคล้ายกับตรวนขนาดใหญ่ ที่จำกัดอิสรภาพในการใช้ชีวิต
หลายครั้งที่เรามักเห็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกศาลตัดสินให้ใส่ EM บริเวณข้อเท้า ‘บิ๊ก – เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ’ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ‘ตี้ – วรรณวลี ธรรมสัตยา’ นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงร่วมด้วย สองนักเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ที่มี EM อยู่ตรงบริเวณข้อเท้า ได้ร่วมพูดคุยกับเราเกี่ยวกับประเด็นเรื่อง EM
ความรู้สึกเมื่อรู้ว่า EM ต้องมาอยู่ที่ข้อเท้า
บิ๊ก เกียรติชัย และ ตี้ วรรณวลี ถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เป็นสาเหตุให้ทั้งสองถูกใส่ EM ไว้ที่ข้อเท้า หลังจากศาลตัดสิน ความรู้สึกแรกของทั้งคู่นั้นตกใจและกังวลเป็นอย่างมาก
บิ๊ก: ผมช็อคมาก เพราะว่ามันเป็นเคสที่ผมว่าชิล และก็ไม่ได้เตรียมใจมาก่อนว่าจะต้องติด EM เคสที่ผมโดน ถ้าให้ดูจริงๆ มันมีโอกาสยกฟ้องสูงมาก เพราะว่าเป็นเคสของอดีตกษัตริย์ (รัชกาลที่ 7) ตอนนั้นสภาพจิตใจมันช็อกและรู้สึกผิดหวังมาก ช่วงที่ใส่วันแรกๆ เจ็บมาก เรายื่นถอด EM ประมาณ 3 รอบ แต่เขาก็ไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่ง
ตี้: เราค่อนข้างกังวลเรื่องของเวลาและการเดินทางมาก เพราะเรามีเรียนทั้งที่พะเยาและรามคำแหง ถ้ามันจำกัดเรื่องของสถานที่และขอบเขตเวลา มันทำให้การเดินทางในการเรียนลำบาก ความโชคดีคือ เราได้แถลงกับศาลไปว่า มีความจำเป็นที่จะต้องกลับไปเรียนที่พะเยาและต้องเดินทางข้ามจังหวัดบ่อย เนื่องจากบ้านที่อาศัยอยู่คือจังหวัดราชบุรี แล้วต้องมาทำธุระของคดีและเรียนรามฯ ในกรุงเทพ และยังมีภาระทางการศึกษาที่จังหวัดพะเยาอยู่ ณ เวลานั้น ศาลเลยไม่ได้จำกัดเวลาและสถานที่
ความทรมานและบาดแผลที่เกิดจาก EM
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ EM มีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม ซึ่งเป็นน้ำหนักที่ค่อนข้างมากเมื่อวัตถุชิ้นนี้มาอยู่ที่ข้อเท้า สร้างทั้งความไม่สะดวกต่อชีวิตประจำวันและเกิดบาดแผลขึ้น ทั้งบิ๊กและตี้เล่าให้ฟังว่า
บิ๊ก: ถ้าผมจะแบ่งความเจ็บ ผมจะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นตอนที่ EM หลวม ตอนที่หลวมมันจะตีขา แล้วขาจะบุ๋มลงไป มีรอยแดงตรงข้อเท้าที่เกิดจาก EM ตีขา ผมแก้ปัญหาด้วยการติดพลาสเตอร์หรือผ้าก๊อซ
หลังจากนั้น 3 เดือน ผมได้เปลี่ยน EM ที่ชิดกับขามากขึ้น เฟสที่สองจะเป็นความเจ็บที่ EM เริ่มพอดีขึ้น แต่ว่ามันพอดีไป EM หนัก 300 กรัม มันเสียดสีขา ส่งผลให้เป็นแผลกดทับ พอแน่นมันก็อับชื้นง่ายมาก ความอับชื้นเป็นจุดเริ่มต้นของการเสียดสีที่แรงขึ้น เราพยายามเช็ดให้แห้งก็จะมีจุดที่มันเช็ดไม่ถึงจริงๆ และมุมนั้นก็เริ่มเป็นแผลคัน หลังๆ ก็เป็นแผลแดง หรือบางครั้งเราเอาบางอย่างไปรอง มันก็จะแน่นไป เลือดไม่เดิน ทำให้เกิดตะคริว เฟสที่สองแก้ด้วยใส่ถุงเท้ากับผ้าก็อต แต่ของพวกนี้แค่บรรเทาอาการไม่ให้เจ็บหนักเท่านั้น
ตี้: ในช่วงแรกๆ EM มันเสียดสีกับผิว แสบคล้ายผิวไหม้ และมีแผลกดทับ นอกจากนี้ ตอนที่เราชาร์จ EM กับพาวเวอร์แบงค์ มันรู้สึกร้อนบริเวณผิวหนัง แต่ปัจจุบันผิวตอนนี้มันด้านไปแล้ว โชคดีที่ EM ของเรามันพอดีกับข้อขา และข้อขาเราเล็ก ต่างจากของบิ๊กที่เป็นแผลกดทับจนต้องไปหาหมอ เนื่องจากเลือดไหลหรือช้ำเลือด เราไม่ได้ไปหาหมอ ปล่อยให้มันด้านไปเองมากกว่า
มุมมองของผู้คนต่อ EM บนข้อเท้า
ทั้งบิ๊กและตี้จำเป็นต้องเดินทางไปเรียนและทำงานพาร์ทไทม์ การพบปะผู้คนในชีวิตประจำวันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บิ๊กได้บอกกับเราว่า ด้วยพื้นที่ที่เดินทางไปไม่ค่อยได้เจอกัน ผู้คนที่เจอล้วนเป็นกลุ่มคนที่รู้จักและเข้าใจอยู่แล้ว ส่วนตี้พบปฏิกิริยาของผู้คนหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากเธอทั้งทำงานและทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย เธอแบ่งปฏิกิริยาของผู้คนออกเป็น 3 กลุ่ม
ตี้: กลุ่มแรกคือ ต่างชาติและสื่อต่างชาติ อันนี้เขาจะตกใจและให้กำลังใจเรา เราทำงานพาร์ทไทม์เกี่ยวกับการขายของ ทำให้เจอคนต่างชาติบ่อย บางครั้งเขาเห็น EM ที่ข้อเท้า หรือจำได้ว่าเราเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาก็จะถามเกี่ยวกับทั้งเรื่อง EM หรือการเคลื่อนไหวทางการเมือง บางครั้งเขาตกใจว่าเราอายุแค่นี้ แต่ออกมาต่อสู้ด้านการเมือง ทำไมถึงถูกจำกัดสิทธิเสรีในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หลายครั้งสื่อต่างชาติก็ขอถ่ายรูปไปเผยแพร่ในประเทศ
กลุ่มที่สองคือ ผู้คนทั่วไป คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เขาไม่รู้จักว่า EM คืออะไร บางคนก็รู้จักจากในข่าว บางครั้งเขาเห็นแล้วก็ไม่สนใจ บางคนก็ถามว่ามันคืออะไร เมื่อเราอธิบายไปหรือชาวบ้านบางคนที่รู้อยู่แล้วว่ามันคือ EM เขาก็จะตัดสินไปแล้วว่า เราเป็นนักโทษ เขาไม่ได้สนใจว่าเราทำอะไรมา เขามักจะโทษว่าเราเป็นคนไม่ดี
กลุ่มที่สามคือ หัวหน้างานหรือเจ้าของกิจการ เมื่อเขารู้ว่าติด EM ร้อยละ 99 จะไม่รับเราเข้าทำงาน อันนี้เราค่อนข้างเข้าใจเขา เนื่องจากธุรกิจทุกอย่างควรเป็นกลางและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การที่เขายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอาจส่งผลต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก ถ้าเลือกสักหนึ่งฝั่ง เขาอาจเจอฝั่งตรงข้ามโจมตี มันทำให้เขาต้องอยู่ตรงกลางของสังคม และการที่รับเราเข้าทำงาน มันเป็นความเสี่ยงต่อธุรกิจ เขาจึงเลือกไม่รับเราเข้าทำงานดีกว่า
EM ส่งผลต่อการแสดงออกทางการเมืองที่ถูกจำกัด
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการถูกคำสั่งศาลให้ใส่ EM ที่ข้อเท้า และกฏข้อปฏิบัติตามคำสั่งศาล ทำให้การออกมาเรียกร้องหรือแสดงความคิดเห็นประเด็นแหลมคมต่างๆ ถูกจำกัดมากขึ้น ทั้งบิ๊กและตี้ได้บอกเล่าให้เราฟังว่า
บิ๊ก: การที่เราถูกใส่ EM ในคดีที่ศาลน่าจะยกฟ้อง เขาก็ขู่ให้เรากลัวได้ในระดับหนึ่ง ด้วยความที่กำไลมันติดอยู่ที่ขา ถ้าเราพูดเยอะก็เหมือนสัญญาณเตือนระดับหนึ่งแล้ว และผมคิดว่าเขาอาจจะต้องการมอนิเตอร์สำหรับคนที่ยังเคลื่อนไหวหรือพูดอยู่ในประเด็นแหลมคม เขาจึงให้เราใส่ EM เพื่อจำกัดสิ่งที่เราพูดมากขึ้น
เรายังติดเงื่อนไขทางคดีจึงทำอะไรมากไม่ได้ในช่วงนี้ และสถานการณ์ต่างๆ ก็ไม่เอื้ออำนวยเหมือนเมื่อก่อน เราก็ต้องปรับบทบาทลง ทำในส่วนที่เราพอจะทำได้ เช่น รณรงค์ทางความคิด พูดถึงเรื่องประเด็นต่างๆ ที่เป็นประเด็นไม่รุนแรงทางการเมืองเหมือนเมื่อก่อน
ตี้: การติด EM ส่งผลต่อการแสดงออกทางการเมืองอยู่แล้วค่ะ ถ้ามีม็อบในช่วงส่งกระทบต่อความมั่นคง อย่างม็อบ APEC เขาก็จะใช้ข้ออ้างว่าเราติด EM และโทรเรียกไปศาล เพื่อที่จะตรวจดูว่า EM มีปัญหาไหม บางครั้ง EM ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย เขาแค่อยากเรียกเราไปศาลเพื่อหลีกเลี่ยงกับม็อบตรงนั้น
นักกิจกรรมทางการเมืองไม่ควรถูกใส่ EM
การแสดงออกทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้ามจากรัฐ ส่งผลให้ทั้งบิ๊กและตี้ รวมถึงนักกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายคนถูกใส่ EM ที่ข้อเท้า และยังถูกศาลจำกัดสิทธิทั้งด้านเวลาและสถานที่ แม้ทั้งบิ๊กและตี้จะไม่ถูกจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ เนื่องจากเหตุผลทางการศึกษา แต่พวกเขาเห็นตรงกันว่า ไม่ว่าอย่างไรนักกิจกรรมทางการเมืองก็ไม่ควรถูกใส่ EM ทั้งสิ้น
บิ๊ก: เขายังไม่ถูกตัดสินว่าผิด และนักโทษทางการเมืองส่วนใหญ่ก็ไม่สมควรที่จะต้องโดนคดีเลยด้วยซ้ำ การวิพากษ์วิจารณ์ควรเป็นสิ่งปกติในสังคมการเมืองทุกสถาบันหรือองค์กร ถ้าวิจารณ์แล้วคุณต้องใส่ EM หรือติดคุก มันก็แปลก เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดในสังคมประชาธิปไตยทั่วไป
“มนุษย์ควรมีทางเลือกมากกว่านี้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และคงไม่มีใครโดนคดีจากการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง แค่กับเรื่องที่ไม่ตรงกับที่รัฐต้องการจะสื่อ”
– บิ๊ก เกียรติชัย
ตี้: อย่างที่พูดกับทุกคนตั้งแต่แรกเลยว่า เราไม่ควรโดนคดีด้วยซ้ำในประเทศที่อ้างตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย แม้แต่ตัวคดีเราก็ไม่ควรโดน ดั้งนั้นเราก็ไม่ควรต้องใส่ EM เช่นกัน เราแค่ออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เรียกร้องได้ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ถ้าคุณรู้สึกว่าสิ่งที่เราพูดไม่เป็นความจริง จะหาเหตุผลมาแย้งก็ได้ คนเราเป็นมนุษย์ สามารถหาเหตุผลมาพูดคุยได้ แต่การที่คุณใช้อำนาจมากดขี่เราแบบนี้ ก็ยืนยันแล้วว่าสิ่งที่เราพูดเป็นความจริง เขาโต้แย้งไม่ได้ เขาเลยใช้อำนาจมากดขี่เรา
“เพียงแค่เราอยู่ภายใต้อำนาจของเขา แม้สิ่งที่เราพูดเป็นความจริง ทำให้เขาต่อต้านไม่ได้หรือสูญเสียอำนาจทางการเมืองไป เขาเลยใช้อำนาจที่มีอยู่มากดขี่เราก่อนที่มันจะลุกลามมากกว่านี้”
– ตี้ วรรณวลี
ปัจจุบันบิ๊กได้ถอด EM จากข้อเท้าแล้ว เนื่องจากแผลอักเสบที่เกิดจากการใส่ EM ค่อนข้างรุนแรง ส่วนตี้ยังคงใส่ EM ต่อไป เธอได้บอกว่า เนื่องจากเธอไม่ได้มีแผลที่เกิดจาก EM มาก และการขอถอด EM คงเป็นเรื่องยาก จากกรณีบิ๊กที่เกิดบาดแผลจาก EM ยังต้องยื่นเอกสารขอถอดหลายครั้ง ขณะที่เธอไม่ได้มีแผลอักเสบที่เกิดจาก EM แล้ว เธอคิดว่า EM จะยังคงอยู่บนข้อเท้าต่อไปอย่างไม่มีกำหนด
ติดตามความเคลื่อนไหวของทั้ง บิ๊ก เกียรติชัย และ ตี้ วรรณวลี ได้ที่
Twitter: big_kiattichai / TeeWanwalee
Facebook: Kiattichai Tangpornphan / ตี้ วรรณวลี - Tee Wanwalee