Culture

Entertainment Project: แผ่นเสียง คอมบูชา และร้านค้าสำหรับคนรักเสียงเพลง

ท่ามกลางความวุ่นวายของถนนเจริญกรุงที่คราคร่ำไปด้วยรถราและผู้คนมากหน้าหลายตา ยังมีคอมมูนิตี้เล็กๆ แฝงตัวอยู่ในย่านตึกร้านค้า ระหว่างซอยเจริญกรุง 41 กับเจริญกรุง 43 ในบรรดาหมู่มวลร้านค้าสุดเก๋ของพื้นที่ตรงนี้ ปรากฏร้าน ‘Entertainment Project’ ที่โดดเด่นด้วยประตูทางเข้าสีแดงสดใส คล้ายกับเป็นการเชิญชวนให้คนที่มีโอกาสได้เปิดประตูเข้าไปพบกับโลกของเสียงดนตรี ที่ ‘แป๋ง – พิมพ์พร เมธชนัน’ นักร้องนำวง Yellow Fang และเจ้าของร้าน ตั้งใจก่อร่างสร้างขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์การฟังเพลงจากแผ่นเสียงที่หลายคนถวิลหาให้กลับมาอีกครั้ง ในวันที่โลกแห่งเทคโนโลยีกำลังแยกคนออกจากกัน

เมื่อมีร้านน้องใหม่ที่น่าสนใจขนาดนี้ EQ จึงไม่รอช้าที่จะไปทำความรู้จักเสน่ห์และตัวตนของ Entertainment Project ร้านที่ตั้งใจจะเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะ พูดคุย และแลกเปลี่ยนเรื่องราวของคนทุกชนชาติ โดยมีเสียงดนตรีเป็นสื่อกลาง

(แป๋ง – พิมพ์พร เมธชนัน)

Have You Heard?

“เรามีธุรกิจที่ทำกับพาร์ทเนอร์อีกคน (กิ – กิรตรา พรหมสาขา) อยู่แล้ว คือ ‘Have You Heard?’ ที่ทำเรื่องการโปรโมตคอนเสิร์ต แต่พอช่วงโควิด-19 ก็ไม่มีงาน ไม่ได้จัดคอนเสิร์ต เราเริ่มคิดว่ามันคงจะนานเหมือนกันนะ ก็เลยคุยกันว่าอยากทำอะไรเกี่ยวกับสินค้าที่เชื่อมโยงกับเพลง เรามาดูตลาดแผ่นเสียง แล้วก็ทำ Have You Heard? Record ขึ้นมา เป็นร้านค้าขายแผ่นเสียงออนไลน์ ซึ่งพอเราได้เข้าไปคลุกคลีกับวงการแผ่นเสียง ก็เริ่มซื้อนู่นซื้อนี่มากขึ้น ทำให้มีความคิดอยากจะเปิดร้านขึ้นมาเล็กน้อย พอเพื่อนแนะนำว่ามีที่ตรงนี้นะ อยากลองทำไหม พอมาดูที่แล้วชอบก็ลุยทำเลย”

โปรเจกต์ความบันเทิง

“เราทำร้านให้เป็นพื้นที่รวบรวมอะไรที่เกี่ยวกับเสียงเพลงแบบที่เราชอบ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของสินค้า สถานที่แฮงก์เอ้าท์ มีเปิดแผ่นเสียง ดีเจ มันจึงเป็นเหมือนโปรเจกต์ความบันเทิง ซึ่งเวลาที่เราพูดถึงความบันเทิง แต่ละคนก็จะคิดถึงความสนุกสนานที่แตกต่างกันออกไป และร้านนี้ก็คงจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของความบันเทิงแหละมั้ง พื้นที่ของร้านค่อนข้างใช้ได้หลายอย่าง คือ เป็นทั้งบาร์ คาเฟ่ และร้านแผ่นเสียง เปิดทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน เรามองว่าพื้นที่ตรงนี้ค่อนข้างยืดหยุ่น สามารถใช้ทำอะไรก็ได้ อาจจะเป็นพื้นที่ เป็นคอมมูนิตี้สเปซ เพื่อให้คนได้มาเจอกัน ในแบบที่ถ้าอยากฟังเพลงและคุยกับเพื่อนก็มาที่นี่ได้ เพลงของเราไม่ได้ดังมาก ดังนั้น มันก็เลยเหมือนเป็นจุดพบปะสังสรรค์แห่งใหม่ของสายบันเทิง"

ร้านแผ่นเสียงที่มีมากกว่าการฟังเพลง

“ไอเดียหลักของการทำร้านคืออยากให้มันเป็นร้านแผ่นเสียง หรือ music store เมื่อก่อนการไปหาเพลงฟังก็ต้องไปตามร้าน แต่ตอนนี้ไม่ค่อยมีกิจกรรมนั้นเท่าไหร่แล้ว มันน้อยลงมากๆ การหาเพลงฟังก็คือเข้าอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราอยากจะสวนทางกับพฤติกรรมนั้น อยากมองว่าการหาเพลงฟังที่ร้านในตอนนี้ ไม่ใช่กิจกรรมที่ไม่ได้ทำบ่อยๆ แล้ว ก็เลยอยากให้กิจกรรมนี้เป็นพาร์ทหลักของร้าน คนออกจากบ้านช่วงเสาร์-อาทิตย์ เพื่อไปร้านแผ่นเสียง ไปหาเพลงฟัง มากกว่านั้นก็คือการไปเจอคนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เหมือนการได้ออกมาจากโลกดิจิทัล มาเจอการปฏิสัมพันธ์ที่มีดนตรีเป็นสื่อกลาง ซึ่งเรามีเพลงที่หลากหลายนะ ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเพลง จะเป็นเพลงอะไรก็ได้ บางทีเราก็เปิดเพลงเต้นรำหรือเพลงอิเล็กทรอนิกส์ที่เปิดในผับ ตั้งแต่ตอนบ่ายเลย มานั่งฟังเพลงเฉยๆ ก็ได้ ไม่ต้องมาเต้นหรือมาเมา ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่เราพยายามผลักดัน”

“อีกส่วนหนึ่งคือตลาดแผ่นเสียงโตมากในช่วงโควิด-19 เราก็มองว่าแผ่นเสียงเป็นเหมือนสิ่งของในการประกอบอาชีพอีกอย่างด้วยเหมือนกัน เพราะคนเป็นดีเจก็ได้เอาแผ่นมาเปิด นำไปใช้เป็นอาชีพได้ เราก็เลยอยากจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งให้คนเหล่านั้นได้มาหาเพลงกับแผ่นเสียง ทางร้านก็มีพวกแผ่นเสียง 12 นิ้ว พวกเฮ้าส์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนฯ โซล ฟังก์ หรืออื่นๆ ที่สามารถเอาไปเปิดใช้งานได้”

พื้นที่ของการค้นพบสิ่งใหม่ๆ

“เราขายแผ่นเสียง แต่ไม่อยากให้ซื้อแผ่นไปแล้วไม่ได้ฟัง มีหลายคนมาที่ร้านแล้วบอกว่าไม่มีเครื่องเล่นแผ่นเสียง เลือกไม่ถูก ซึ่งเราคิดว่ามันก็มีขั้นตอนของมันแหละ เพราะแผ่นเสียงค่อนข้างมีราคา มันก็มองได้สองอย่างนะ หนึ่งคือมันเป็นการซัพพอร์ตศิลปินที่คุณชอบ แล้วก็อยากเก็บสินค้าที่เกี่ยวกับศิลปินคนนั้นๆ เอาไว้ กับอีกทางคืออยากค้นหาอะไรใหม่ๆ ก็มาดูหน้าปกที่ร้าน มาอ่านรายละเอียดบนหน้าปก แล้วก็อาจจะกดฟังเพลงในอินเทอร์เน็ตก็ได้ มันก็จะกลายเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ในการค้นพบเพลง”

“การฟังแผ่นเสียงเป็นความรู้สึกของการฟังเพลงในอีกรูปแบบหนึ่ง สำหรับน้องๆ บางคนเขาก็จะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นการเอาเข็มมาวางบนแผ่นแล้วมีเสียง เราถึงบอกว่ามันเป็นประสบการณ์การฟังเพลงในรูปแบบหนึ่ง บางทีเราก็จะค้นพบอะไรใหม่ๆ จากแผ่นเสียงพวกนี้ด้วยเหมือนกัน”

คอมบูชาและรายการเครื่องดื่มสุดพิเศษ

“เราเป็นคนชอบอาหารสุขภาพและวิธีการทำอาหารอยู่แล้ว ก็เลยอยากทำอะไรที่โฮมเมด เราก็เลยเริ่มต้นทำคอมบูชาเองตอนทำร้าน เพราะมันน่าสนใจดี พอทำไปก็รู้สึกว่ามันเป็นจุดขายที่น่าสนใจดีนะ ซึ่งที่ร้านก็จะเน้นเรื่องของหมัก เครื่องดื่มโพรไบโอติก บางสัปดาห์เราก็ลองทำตัวอื่นมาเสริมเพิ่มเติม ลองทำน้ำหมักสัปปะรด ทำจินเจอร์เบียร์ แต่มีคอมบูชาเป็นตัวยืนพื้น แล้วก็จะทดลองไปเรื่อยๆ บางทีก็ทำให้มีรสชาติบ้าง”

“นอกจากนี้ก็มีกาแฟโคลด์บรูว์แบบพิเศษของเพื่อนที่เขาทำเมล็ดเอง อร่อยมาก คือเราไม่มีเครื่องทำกาแฟ แต่เรามีตัวเลือกนี้มาให้ได้ลองกัน ตอนกลางคืนก็มีเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างพวกค็อกเทล ไปจนถึงอะไรที่แฟนซีนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งเราพยายามใช้วัตถุดิบที่ทำเอง อย่างพวกน้ำหมัก แล้วก็มีคราฟท์เบียร์ที่เราพยายามหายี่ห้อใหม่ๆ มาเพิ่มเติม”

การสื่อสารและโซเชียลมีเดียคือความท้าทาย

“ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย กลายเป็นว่าถ้าจะเชื่อมโยงกับคนอื่นก็ต้องใช้สื่อกลางตัวนี้ เราก็นึกไม่ออกว่าเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว เขาทำกันยังไงเพื่อให้คนรู้จักสิ่งต่างๆ โดยที่ยังไม่มีช่องทางโลกโซเชียลแบบนี้ แต่ในเมื่อยุคนี้กลายเป็นยุคของโซเชียลมีเดีย เราที่เป็นคนอยู่ก้ำกึ่งระหว่างคนที่ใช้โซเชียลกับคนที่ไม่ได้ใช้เยอะขนาดนั้น ก็เป็นความท้าทายอยู่เหมือนกัน เพราะเราก็ขี้เกียจทำอยู่นิดหน่อย แต่ในโลกปัจจุบัน การจะมีตัวตนอยู่คือการที่เราต้องโพสต์ ต้องลงนู่นนี่ ในแง่ของธุรกิจมันเลยเป็นเรื่องของการแข่งขันด้านคอนเทนต์ว่า เราจะดูต่างจากคนอื่นได้อย่างไร เราจะสร้างจุดขาย หรือการต้องหาคนมาช่วยแชร์ มันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั่นแหละ ข้อดีคือมันง่าย เราทำได้เอง โดยที่แค่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาระบบอะไรบางอย่างที่อาจจะต้องทำให้ต่อเนื่อง ต้องขยันทำ แทนที่เราจะได้โฟกัสว่าจะหาเพลงอะไรมาขายดี กลับกลายเป็นว่าต้องทำคอนเทนต์ลงโซเชียล”

ครึ่งปีของการเป็นพื้นที่ของเสียงดนตรี

“หลายคนก็ยังดูงงๆ ว่าตรงนี้มันคือร้านอะไร บางคนก็มาชะเง้อมอง ไม่กล้าเข้าร้าน หรือน้องบางคนที่ไม่ชอบเที่ยวกลางคืนก็จะเข้ามาได้ มันก้ำกึ่งระหว่างความเป็นบาร์ตอนกลางคืนกับความเป็นคาเฟ่ตอนกลางวัน ก็เลยมีน้องๆ มานั่งฟังเพลงที่ไม่เคยได้ฟัง แล้วน้องพนักงานที่ร้านก็ชอบเปิดเพลงกัน เหมือนมีดีเจมาเปิดเพลงให้ฟังอยู่ตลอด ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นชินกับการฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง เขาได้มาสัมผัสกับเพลงในแบบอื่นๆ แล้วก็บอกว่าสนุกดี แปลกดี หรือเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ อีกอย่างคือเขาได้พบปะพูดคุยกับผู้คนใหม่ๆ หรือคนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน การที่จะได้เจอกันตามร้านแผ่นเสียงเคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วก็มาคุยเรื่องเพลง แต่ตอนนี้มันอาจจะหายไป เพราะไม่ค่อยมีพื้นที่ตรงนั้น ที่นี่จึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่หลายๆ คนรู้สึกว่ามันพิเศษ​ สำหรับเราก็เหมือนกัน อย่างเวลาอยู่ที่ร้าน เราได้เจอทั้งคนไทยและต่างชาติ แต่เขาชอบอะไรคล้ายๆ กัน ก็เป็นความสนุกอีกอย่างของเรา”

หมุดหมายต่อไปที่ต้องไปให้ถึง

“เราอยากให้มีคนมาเยอะๆ จะได้ขยายอะไรมากกว่านี้ แล้วก็แลกเปลี่ยนกันได้มากขึ้น จริงๆ แล้วชั้นสองของร้านก็เป็นพื้นที่ที่เราอยากทำเป็นแกลเลอรี่ อยากให้มีกิจกรรมที่มากขึ้น คิดว่าปีนี้น่าจะมีกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับงานนิทรรศการ เวิร์กช็อป หรือกิจกรรมการรวมตัวต่างๆ และขั้นต่อไป เราก็อยากเป็นพื้นที่ของคนที่ชอบเสียงเพลง อยากให้เขาได้แวะมา อย่างนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวกรุงเทพฯ ก็อยากให้เขาได้มาซื้อของหรือฟังเพลงที่นี่ ด้วยความที่ตลาดแผ่นเสียงมันเฉพาะกลุ่ม เราก็อยากเป็นที่รู้จัก และได้คุยหรือพบปะกับคนทั้งโลกที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกัน อย่างบางคนอยากมีเพื่อน ก็มาลองเปิดเพลงที่ร้าน นั่นเป็นสิ่งที่เราเห็นว่ามันเกิดขึ้นทันทีเลย เมื่อมีเพลงเป็นสื่อกลาง ซึ่งมันคือหัวใจหลักของร้านเรา”

ติดตาม Entertainment Project ได้ที่

Facebook: Entertainment project

Instagram: entproject.bkk, hyh_records