เข้าสู่ฤดูกาลเฟสทีฟกันแล้ว หลายๆ คนคงนับวันรอที่จะได้ออกไปท่องเที่ยว และปาร์ตี้กันอยู่แน่นอน ซึ่งหนึ่งคัลเจอร์การปาร์ตี้ที่ตีคู่มากับการท่องเที่ยวที่เราเห็นได้บ่อยๆ ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวก็คงหนีไม่พ้น ‘ปาร์ตี้สระว่ายน้ำ’ (Pool Party) ที่ในตอนนี้คนจำนวนหนึ่งอาจจะคุ้นกับภาพของ ‘วัยรุ่นพูลวิลล่า’ กันไปแล้ว วันนี้เราขอพาทุกคนย้อนกลับไปดูเส้นทางของวัฒนธรรมปาร์ตี้ที่มีผู้คน และสระว่ายน้ำเป็นหัวใจหลักนี้กันสักหน่อย
เรื่องราวเริ่มต้นที่ ‘โรงอาบน้ำ’
ก่อนอื่นเราคงต้องมาดูกันที่จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมสระว่ายน้ำกันก่อน ซึ่งก็คงต้องย้อนกลับไปที่เหล่าอารยธรรมโบราณ โดยวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับสระว่ายน้ำที่สุดก็คงจะเป็น ‘โรงอาบน้ำ’ (Bath House/Public Bath) ถ้าพูดถึงการ ‘อาบน้ำ’ เราคงรู้สึกคุ้นชินว่า มันเป็นกิจกรรมที่คนนิยมทำในที่ลับ อย่างเป็นส่วนตัว แต่ในอารยธรรมโบราณหลายๆ ที่ การอาบน้ำเป็นกิจกรรมในการพบปะพูดคุยกันของคนในสังคมเลยทีเดียว
ย้อนกลับไปในช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมกรีกโบราณ มีการใช้งานโรงอาบน้ำสาธารณะที่มักจะสร้างขึ้นในโรงยิม เพื่อให้นักกีฬาได้ทำความสะอาด และฟื้นฟูร่างกาย จนกระทั่งโรงอาบน้ำกลายเป็นหนึ่งโครงสร้างสำคัญของสังคมชาวกรีกโบราณที่ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้พวกเขาชะล้างร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้พบปะพูดคุยกันได้อีกด้วย ก่อนที่ชาวโรมันจะพัฒนาโรงอาบน้ำให้ยิ่งใหญ่อลังการ และกลายเป็นพื้นที่ที่รวมเอาไว้ซึ่งการเข้าสังคม จิตวิญญาณ ศิลปะ และการอาบน้ำ เพราะในยุคนั้น ผู้คนในคอมมูนิตี้สามารถเข้าไปใช้โรงอาบน้ำในการถกประเด็นการเมือง ทานอาหาร ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ หรือพูดคุยกัน
ในโซนเอเชียก็มีวัฒนธรรมนี้อยู่ด้วยเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คงจะเป็นประเทศญี่ปุ่น อย่างวัฒนธรรม ‘เซนโต’ โรงอาบน้ำที่มีจุดเริ่มต้นยึดโยงกับพิธีกรรมทางศาสนาในสมัยนารา เมื่อผู้คนใช้การแช่น้ำเพื่อเป็นสัญญะของการล้างบาป จนเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 12-17 ‘ออนเซ็น’ หรือบ่อน้ำพุร้อนกลายเป็นที่นิยมในหมู่ซามูไร เพื่อใช้เยียวยาบาดแผล ก่อนที่ในยุคเอโดะ (ศตวรรษที่ 17-19) ออนเซ็นจะกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนทั่วไป ทำให้ผู้คนไม่ว่าจะเพศใด ชนชั้นไหน ก็ต่างใช้บริการโรงอาบน้ำ และบ่อน้ำพุร้อนกันทั้งสิ้น ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
จาก ‘เครื่องประดับบารมี’ ของเหล่าอีลิท สู่ไลฟ์สไตล์ ‘เก๋ไก๋’ ที่ใครๆ เข้าถึง
จากโรงอาบน้ำค่อยๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็น ‘สระน้ำส่วนบุคคล’ ในยุคเรอเนซองซ์ (ศตวรรษที่ 14-17) ชาวยุโรปหลายครอบครัวเริ่มสร้างสระน้ำเอาไว้ในสวน (โดยไม่ได้มีไว้ว่ายน้ำ แต่เป็นสระสวยๆ พร้อมน้ำพุเสียมากกว่า) ซึ่งเหตุผลก็มิใช่เรื่องอื่นใดนอกไปจาก การแสดงออกถึงฐานะ และความร่ำรวย ค่านิยมนี้แพร่หลายออกไปในหมู่คนรวย และชนชั้นสูง ไปจนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 - 20 ตอนต้น ทำให้สระว่ายน้ำคงสถานะของไลฟ์สไตล์หรูหรา ของเหล่าอีลิทเงินหนานั่นเอง และการมีไว้เฉยๆ ก็คงจะไม่มีใครได้เห็น การเชิญชวนแขกชั้นสูงมาร่วมงานสังสรรค์ริมสระว่ายน้ำ ก็คงเป็นทางออกที่ดี ที่ทำให้ได้โชว์ไลฟ์สไตล์ลักชูฯ นี้
ในขณะเดียวกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สระว่ายน้ำสาธารณะเริ่มบูมขึ้นมา เนื่องจากวัฒนธรรมการแข่งขันกีฬาว่ายน้ำเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ และนั่นก็ทำให้คนสามารถเข้าถึง ‘สระว่ายน้ำสาธารณะ’ ได้มากขึ้น รวมไปถึงวัสดุในการก่อสร้างสระว่ายน้ำก็มีหลากหลายมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ในที่สุดสระว่ายน้ำก็กลายเป็นพื้นที่ที่คนมาฝึกซ้อม แข่งขันกีฬา รวมไปถึงพักผ่อนหย่อนใจด้วยเช่นกัน ความนิยมของสระว่ายน้ำเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 วิถีชีวิตชานเมืองในอเมริกาเริ่มแพร่หลายขึ้น ซึ่งสระว่ายน้ำที่สนามหลังบ้านก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเช่นกัน ไลฟ์สไตล์ลักชูรี่ และการปาร์ตี้สระว่ายน้ำก็เริ่มเข้าถึงชนชั้นกลางในที่สุด
Y2K คงเป็นคำที่คนในปัจจุบันคุ้นหูกันอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงยุค 2000s - 2010s ก็เป็นยุคที่ป๊อปคัลเจอร์จากฝั่งอเมริกายึดครองกระแสของสังคมโลก และแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วทุกหัวระแหง ซึ่งนั่นก็ทำให้ภาพของปาร์ตี้สระว่ายน้ำจากวัฒนธรรมของอเมริกันชน ถูกส่งต่อผ่านซอฟต์พาวเวอร์อย่างภาพยนตร์วัยรุ่น มิวสิควิดีโอเพลงป๊อป และภาพการสังสรรค์ของเหล่าเซเลบริตี้ในวงการฮอลลีวูด จนทำให้ภาพของปาร์ตี้สระว่ายน้ำก้าวขึ้นสู่การเป็นไลฟ์สไตล์ที่เก๋ และป๊อปในสังคมโลกมากขึ้น
เมื่อสระว่ายน้ำเข้าสู่เมืองไทย และค่อยๆ จับใจคนรากหญ้า
ในประเทศไทยเองก็ไม่ต่างจากวัฒนธรรมโลก เพราะสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐานในยุคแรกๆ ของไทยก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการฝึกซ้อม และแข่งกีฬาว่ายน้ำ ซึ่งสระว่ายน้ำแห่งแรกของไทยนั้นตั้งอยู่ในสปอร์ตคลับ หรือ ‘ราชกรีฑาสโมสร’ ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1890 นั่นเอง ก่อนที่จะแพร่หลายสู่กลุ่มคนรวย และเกิดสระว่ายน้ำสาธารณะที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ในเวลาต่อมา
ที่สุดแล้ววัฒนธรรมสระว่ายน้ำก็แพร่กระจายอยู่ทั่วไปทั้งบ้านคน โรงแรม แหล่งชุมชน และมันก็เป็นหนึ่งสถานที่ที่คนมักจะมารวมตัวเพื่อใช้เวลาร่วมกัน จากการทำกิจกรรมทางน้ำตอนกลางวัน ก็เริ่มพัฒนาไปสู่การสังสรรค์ยามค่ำคืน การกินดื่ม แสงไฟ และเสียงเพลงเริ่มถูกนำเข้ามาสร้างสีสันให้กับสระว่ายน้ำ ภาพของปาร์ตี้ริมสระก็กลายเป็นวัฒนธรรมปาร์ตี้ยอดฮิตไปในที่สุด และส่งต่อสู่สายตาประชาชนผ่านวัฒนธรรมป๊อป และเหล่าเซเลบฯ นั่นเอง แต่ถึงอย่างนั้นปาร์ตี้สระว่ายน้ำก็ยังคงเป็นกิจกรรมของเหล่าคนมีเงินอยู่ดี ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงการเข้ามาของ ‘พูลวิลล่า’ เทรนด์ธุรกิจที่พัก ที่ดึงดูดเหล่าคนรวยให้ไปใช้เวลาพักผ่อนอย่างสุขสบายในบ้านพักหรูหรา และสระว่ายน้ำส่วนตัว พร้อมให้ปาร์ตี้กันในบรรยากาศใหม่ๆ ก่อนจะถ่ายภาพเก๋ๆ ลงสื่อออนไลน์ จนกลายเป็นเทรนด์ที่หลายๆ คนใฝ่ฝันจะได้สัมผัสประสบการณ์ลักชูรี่เช่นนั้นสักครั้ง
แน่นอนว่าสิ่งใดเป็นเทรนด์ในสังคม ย่อมส่งอิทธิพลให้เกิด ‘ทางเลือก’ ที่หลากหลายขึ้น ในเวอร์ชั่นที่ ‘Low Budget’ (และมันมักจะแมสเสมอ) ในที่สุดพูลวิลล่ากลายเป็นเทรนด์ที่พักสุดแมสที่มองไปทางไหนก็มี แถมยังมีหลากหลายระดับราคาให้เลือกสรร แต่ก็ต้องยอมรับว่าบัตเจ็ตที่ลดลงย่อมแลกมาด้วยโลเคชั่น และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่แฟนซีอะไรนัก จึงไม่น่าแปลกใจหากคนเราจะต้องสรรหากิจกรรมฆ่าเวลามาสร้างความสนุกหรรษากันด้วยตัวเอง ปาร์ตี้ริมสระจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมปาร์ตี้ของคนรากหญ้า (ซึ่งก็คือ คนส่วนใหญ่ในบ้านเรานั่นแหละ) จนท้ายที่สุด ‘วัยรุ่นพูลวิลล่า’ ก็กลายเป็นภาพจำใหม่ของวัฒนธรรมปาร์ตี้สระว่ายน้ำในบ้านเราไปเสียแล้ว
เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะมันคือพลวัตของสังคมที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ การเคลื่อนตัวไปของวัฒนธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นปกติ จากวัฒนธรรมกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ เดินทางต่อไปสู่วัฒนธรรมแมสๆ และจุดชนวนให้คนเริ่มแสวงหาวัฒนธรรม (หรือเทรนด์) ใหม่ๆ วนเวียนต่อไปไม่รู้จบ บ้างก็สร้างขึ้นใหม่ บ้างก็เอาวัฒนธรรมที่เลิกแมสไปแล้ววนกลับมาฉายซ้ำ แต่ที่แน่ๆ ปาร์ตี้สระว่ายน้ำที่เราพูดถึงกันในวันนี้ก็ยังคนเป็นวัฒนธรรมการสังสรรค์ที่เข้าถึงผู้คนในทุกระดับอยู่จนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง