หากใครติดตามเรื่องราวบนแพลตฟอร์ม X (Twitter) เป็นประจำก็คงจะรู้กันว่า เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นเรื่องการซื้อ ขาย หรือขโมยรูปไปโพสต์ลงบนหน้าโปรไฟล์โซเชียลมีเดียกำลังเป็นที่ฮือฮา เพราะมีผู้คนจำนวนมาก – โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์หรือเน็ตไอดอล – ที่ถูกนำรูปไปแอบอ้าง บางคนก็ถูกขอรูปที่ไม่เห็นหน้าไปโพสต์ลงบนฟีดของตนเอง หรือใช้เพื่อสร้างบอท และน่าประหลาดใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบว่ามีกลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อซื้อและขายรูปเป็นหลักแหล่งบน Facebook โดยรูปที่ขายส่วนมากจะเป็นรูปถ่ายปิดใบหน้า วิวสถานที่ท่องเที่ยว คาเฟ่ ร้านอาหาร คอนเสิร์ต แกลเลอรี่ศิลปะ ถุงสินค้าแบรนด์เนม ภาพแคปเจอร์เงินเข้าออกบัญชี ฯลฯ มีตั้งแต่ราคาหลักหน่วยถึงหลักสิบ และผู้รับซื้อก็มักจะเป็นเด็กวัยรุ่น จึงเกิดการตั้งคำถามที่ว่า คนรุ่นใหม่โหยหาการเป็น Someone บนโลกออนไลน์ขนาดนั้นเลยหรือ?
ถ้าลองมองย้อนไป การสร้างตัวตนใหม่โดยไม่ใช้รูปเจ้าของแอ็กเคานต์นั้นมีมานานแล้ว หรือก็คือวัฒนธรรม ‘บอท’ ที่เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างยาวนาน โดยส่วนมากจะเป็นการใช้รูปของศิลปิน ดารา บุคคลนิรนามที่โชว์ให้เห็นเพียงเรือนร่าง หรือตัวละครสมมติมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ ผู้เล่นบอทจะสวมบทบาทเป็นบุคคลหรือตัวละครนั้นๆ และตั้งสถานะเอาไว้หน้าโปรไฟล์อย่างชัดเจนว่าตนไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในรูป ให้ผู้อื่นรับรู้โดยทั่วว่าผู้ใช้บัญชีนั้นไม่ใช่ตัวจริง ในขณะที่การปลอมตัวตนจะต่างกันออกไป เพราะมีเจตนาให้ผู้ที่เข้ามาส่องแอ็กเคานต์เข้าใจว่าคนในรูปเป็นตัวเอง
ถึงอย่างนั้น การเล่นบอทก็ยังมีปัญหาในตัวของมัน เพราะเป็นการนำรูปของผู้มีชื่อเสียงไปใช้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน โดยไม่มีการยินยอมจากผู้คนที่อยู่ในรูป เช่น เพื่อให้มีผู้ติดตาม เพื่อหาเพื่อน บางคนก็ใช้บอทนั้นหาคู่รัก หรือกระทำการ Sexting อย่างที่เห็นได้ทั่วไป เพียงแค่เสิร์ชคำว่า ‘บอท' 'ยืมเมจ' หรือเข้าแฮชแท็ก #ยืมเมจforsex (มาจากการผสมกันของคำว่า 'ยืม' และ 'Image') ก็จะพบว่ามีอยู่มากมายหลายแอ็กเคานต์เลยทีเดียว
จากมุมของผู้ที่ไม่ได้เล่นบอทหรือใช้รูปของผู้อื่นมาแอบอ้างว่าเป็นตนเอง เราคงจะไม่สามารถเข้าถึงพฤติกรรมเลียนแบบของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้สามารถอธิบายด้วยหลักจิตวิทยาได้ เนื่องจากกลุ่มคนที่ใช้รูปผู้อื่นสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นตอนต้นจนถึงตอนปลาย นับว่าเป็นวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งต้องอาศัยการปรับตัวอย่างมากเพื่อลาจากวัยเด็กและก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ การปรับตัวในที่นี้รวมถึงการตามหาและสร้างตัวตน (Identity Development) เป็นของตนเองด้วย สิ่งหนึ่งที่สำคัญและควรคำนึงถึงก็คือ ‘การได้รับการยอมรับ’ ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับผู้คนในวัยนี้ พัฒนาการด้านตัวตนจึงจะสำเร็จลุล่วงด้วยดี
หลายคนมีวิธีการที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ตนได้รับการยอมรับ แม้ว่ามันจะถูกหรือไม่ถูกต้องก็ตาม เด็กบางคนอาจจะตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากครูอาจารย์หรือผู้ปกครอง ในขณะที่เด็กบางคนแอบย่องออกจากบ้านไปเที่ยวกลางดึกเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากเพื่อน และในยุคสมัยนี้ที่โลกออนไลน์มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของพวกเราแทบทุกคน การปั้นแต่งภาพลักษณ์สวยหรูเพื่อคำสรรเสริญเยินยอและการยอมรับจากผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร
เพราะฉะนั้น เพียงก้าวถอยจากการมองระดับปัจเจกเป็นระดับสังคมก็จะเห็นได้ว่า การกระทำที่เราอาจมองว่าไร้สาระหรือไม่เมกเซนส์อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการถูกสังคม Manipulate ก็เป็นได้
'มนุษย์เป็นสัตว์สังคม' คือสิ่งที่ผู้คนพูดต่อกันมาอย่างยาวนานและเป็นความจริง ซึ่งไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมการเข้าสังคมแต่อย่างใด เพราะต่อให้เป็นคนเฟรนด์ลี่หรือเก็บตัว เราทุกคนต่างโหยหาการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยเฉพาะกลุ่มที่ตนชื่นชอบ ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปก็คือไลฟ์สไตล์วัยรุ่นกรุงเทพฯ อันกลายเป็นเทรนด์ที่เพียงไถหน้าฟีด Instagram ก็ต้องเจอ เช่น รูปถ่ายในแกลเลอรี่ศิลปะ คาเฟ่และบาร์สุดชิค แผ่นเสียงไวนิล หรือจะเป็นการแต่งตัวสไตล์ Y2K ทำผมทรง Wolf cut ผูกริบบิ้นแบบ Ballerina core ฯลฯ บางครั้ง แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังมีบ้างที่รู้สึกถูกกดดันให้ใช้ชีวิตตามสมัยนิยม เพื่อให้รู้สึกมีตัวตนและมีคุณค่าจากเปลือกที่สร้างขึ้น ทั้งที่อาจรู้อยู่แก่ใจว่ามันไม่จำเป็นเลย
แน่นอนว่าการไหลตามกระแสไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป (หากอยู่ในขอบเขตที่ไม่ทำให้ผู้ใดเดือดร้อน) และออกจะปกติเสียด้วยซ้ำ เราเพียงแค่ควรจะสำรวจตนเองอยู่บ่อยๆ ว่ามีความสุขกับสิ่งที่กำลังทำอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำแล้วรู้สึก Toxic เพราะภาพในอุดมคติที่ปรุงขึ้นขัดกับสิ่งที่เราเป็น
สุดท้ายแล้ว ทางเดียวที่จะปล่อยวางจากการวิ่งตามตัวตนที่ไม่ใช่ของเราได้ คงจะมีแค่การบอกตัวเองว่า 'ฉันดีพอในแบบที่ฉันสามารถทำได้แล้ว' หรือก็คือเริ่มต้นจากการรักและเสริมสร้างความภูมิใจให้ตนเอง มันไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในหนึ่งวัน แต่สามารถฝึกฝนได้ เพื่อมุมมองต่อตนเองและคนรอบข้างที่เป็นไปในเชิงบวก ที่สำคัญที่สุดคือเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ผู้เขียนเองก็เชื่อว่า หากสามารถสร้างพื้นฐานการรักตัวเองที่แข็งแรงได้แล้ว ไม่ว่าจะเจอกับวิกฤตอัตลักษณ์แบบไหน อุปสรรคแบบใด ทุกคนก็จะสามารถผ่านมันไปได้อย่างแน่นอน