‘บ้านมีกฎบ้าน เมืองมีกฎเมือง’ เมื่อกฎหมายคือ ข้อบังคับ และระเบียบปฏิบัติที่คอยควบคุมให้สมาชิกของสังคมนั้นๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติที่สุด แต่การอยู่ร่วมกันของคนไม่ได้มีเฉพาะภาพกว้างอย่างสังคมเท่านั้น เพราะวันนี้ EQ อยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องของ ‘การเมืองในบ้าน’ ผ่านการทำความเข้าใจ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ของเหล่าตระกูลที่ทรงอิทธิพลในโลกใบนี้ ว่าพวกเขาสานต่อคำว่าครอบครัว ชื่อเสียง และความสำเร็จผ่านการเมืองในบ้านได้อย่างไร?
เริ่มจากการทำความรู้จักธรรมนูญครอบครัวกันก่อน ถ้าอธิบายอย่างง่ายๆ มันก็คือ บันทึกข้อตกลงร่วมกันของสมาชิกครอบครัว เพื่อการวางแผน และจัดการสิ่งต่างๆ ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ หรือการอยู่ร่วมกัน ซึ่งธรรมนูญครอบครัวนี้อาจจะยึดโยงกับข้อกฎหมายหรือไม่ก็ได้ แต่มันมีเป้าหมายหลักคือ การทำให้สมาชิกในครอบครัวได้รวมกันเป็นหนึ่ง สามารถออกความคิด และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันได้
เมื่อเข้าใจคอนเซ็ปต์ของธรรมนูญครอบครัวแล้ว เราลองมาดูกันดีกว่าว่า ครอบครัวที่ทรงอิทธิพลในสังคมไทย และในสังคมโลกจะมีการใช้ธรรมนูญครอบครัวอย่างไรกันบ้าง
The British Royal Family - ธรรมนูญแห่งบัลลังก์เมืองผู้ดี
ถ้าจะเริ่มทำความรู้จักกับคำว่า ‘การเมืองในครอบครัว’ คงจะไม่มีครอบครัวไหนเหมาะไปกว่า ‘ราชวงศ์อังกฤษ’ อีกแล้ว เพราะพวกเขาคือ ศูนย์กลางของประเพณี และพิธีรีตองต่างๆ มากมาย ตั้งแต่เรื่องมารยาทยิบย่อย ไปจนถึงกฎหมาย และพิธีการในการสืบทอดราชวงศ์ ธรรมนูญครอบครัวของราชวงศ์อังกฤษอาจจะเป็นภาพที่ดูจริงจัง เพราะกฎระเบียบ และพิธีการเหล่านั้นคือ ตัวแทนของการส่งต่อภาพลักษณ์ของครอบครัว รวมไปถึงอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ที่สำคัญที่สุด มันคือการคงอยู่ของสัญลักษณ์แห่ง ‘สถาบันกษัตริย์’
กฎระเบียบ และมารยาทแห่งราชวงศ์อังกฤษมีตั้งแต่เรื่องยิบย่อย เช่น การแบนบอร์ดเกมสุดฮิตอย่าง ‘เกมเศรษฐี’, การห้ามทาเล็บสีฉูดฉาด, การรีดเชือกรองเท้าเพื่อความเรียบร้อย หรือการพูดคำว่า ‘ห้องน้ำ’ (Toilet) ซึ่งว่ากันว่า การพูด T-word นั้น ร้ายแรงเท่ากับการพูด F-word เลยทีเดียว ที่เหนือไปนั้นคือ กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการสืบต่อความเฟื่องฟูของราชวงศ์ที่มีข้อกำหนดมากมาย
แต่ถึงอย่างนั้นราชวงศ์อังกฤษอาจจะเป็นสถาบันที่มีอำนาจ และภาพใหญ่กว่าครอบครัวทั่วไปสักนิด เราจึงได้เห็นการแต่งตั้งองคมนตรี และสำนักพระราชวัง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ และเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติหน้าที่ของกษัตริย์ และสมาชิกราชวงศ์
The Chirathivat Family – การให้ความสำคัญกับสมาชิกแต่ละรุ่น และการแบ่งลำดับขั้นในครอบครัว
ข้ามมาที่ฝั่งของครอบครัวนักธุรกิจกันบ้าง เริ่มจากฝั่งบ้านเรากันก่อนเลย หนึ่งตระกูลที่มีการเปิดเผยธรรมนูญครอบครัวคือ ‘ตระกูลจิราธิวัฒน์’ เจ้าของอาณาจักรเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่มีสมาชิกครอบครัวมากกว่า 230 ชีวิต จึงไม่แปลกใจว่าทำไมพวกเขาถึงต้องมีธรรมนูญครอบครัว
ซึ่งธรรมนูญครอบครัวของตระกูลจิราธิวัฒน์นั้นมีการแบ่งกลุ่มอย่างชัดเจนว่าใครเป็นใครในครอบครัว รวมถึงการแบ่งลำดับขั้นด้วย เช่น การแบ่งเงินปันผลสำหรับผู้ถือหุ้น จะมีเพียงสมาชิกในเจเนอเรชั่นที่ 2 เท่านั้นที่ได้รับเงินปันผลโดยตรง, สมาชิกในบ้านจิราธิวัฒน์จะถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่เป็นคนใน และเขย-สะใภ้ ซึ่งกลุ่มหลังจะไม่มีสิทธิ์ทำงานในเครือ (ด้วยเหตุผลว่าแต่ละบ้านได้รับการเลี้ยงดู หรือเติบโตมาแตกต่างกัน)
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิกครอบครัว เพื่อดูจำนวนสมาชิกแต่ละรุ่น ช่วงห่างอายุ เพื่อแก้ปัญหา Generation Gap มีการใช้โค้ดสีเพื่อแบ่งสิทธิ์ในการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ รวมถึงมีการใช้เว็บไซต์ไพรเวท เพื่อให้สมาชิกศึกษารายละเอียดสิทธิต่างๆ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดวาระเพื่อให้สมาชิกได้มาเจอกัน เพื่อสานสัมพันธ์ในครอบครัว ตามวันสำคัญต่างๆ และยังมีการปรับแก้ธรรมนูญนี้ทุกๆ 2 ปี เพื่อความเป็นธรรมต่อสมาชิกครอบครัวอีกด้วย
The Walton Family – กลยุทธ์ทางการเงินที่มีสมาชิกครอบครัวเป็นศูนย์กลาง ใช่ว่าจะมีแต่ตระกูลเชื้อสายจีนเท่านั้น ที่มี ‘กงสี’ หรือการบริหารธุรกิจครอบครัวด้วยระบบกองกลาง เพราะฝั่งตะวันตกเขาก็มีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ตระกูล ‘Walton’ เจ้าของ Wal-Mart ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1962 โดย Sam Walton ซึ่งในภายหลังเขาได้เขียนหนังสือชื่อว่า ‘Sam Walton: Made in America’ ที่มีใจความบางส่วนทำให้เราได้เห็นถึงธรรมนูญครอบครัวของตระกูลนี้
Sam Walton เล่าเอาไว้ว่า เขาถูกสอนตั้งแต่เด็กว่า เด็กๆ จะต้องช่วยหารายได้เข้าบ้าน และเป็นผู้ให้มากกว่าที่จะเป็นผู้รับ จนวันหนึ่งเขาได้พบกับครอบครัวของ Helen ภรรยาของเขา เขาได้รับแรงบันดาลใจจากชายคนนั้น เพราะการบริหารธุรกิจ และการเงินของครอบครัวนี้ ทำให้ Sam Walton จัดทำ ‘หุ้นส่วนครอบครัว’ (Family Partnership) ร่วมกับลูกๆ ของเขาในปี 1953 ที่ต่อมากลายเป็น ‘Walton Enterprises’ ซึ่งครอบครัวจะมีสิทธิ์ร่วมกันตัดสินใจในเรื่องรายได้ ทรัพย์สิน รวมถึงสภาพคล่องทางการเงิน และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของครอบครัว แม้ว่ามันอาจจะไม่ได้ถูกเรียกว่า ธรรมนูญครอบครัวอย่างจริงจัง แต่การทำหุ้นส่วนครอบครัวนี้ ก็ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกครอบครัว รวมทั้งเป็นแนวทางที่ช่วยให้พวกเขารักษาสภาพคล่องทางการเงิน และธุรกิจครอบครัวได้
นอกจากนี้การจัดทำหุ้นส่วนครอบครัวยังทำให้พวกเขาสามารถรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่สำคัญๆ ในบริษัท Wal-Mart และป้องกันไม่ให้บริษัทถูกเทกโอเวอร์ไปด้วยนักลงทุนภายนอก ซึ่ง Sam Walton มองว่ากลยุทธ์นี้คือสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางธุรกิจ เพื่อส่งต่อสู่สมาชิกรุ่นต่อไป
The Mars Family – หัวใจหลักคือ ความลับของครอบครัว และเริ่มต้นอย่างคนทั่วไป
หลายๆ คนน่าจะรู้จักผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลต และขนมหวานอย่าง M&M, Snickers, Twix, Mars ซึ่งนี่คือ สินค้าบางส่วนของตระกูล Mars (รวมไปถึงอาหารสัตว์เจ้าดังอย่าง Pedigree และ Whiskas ด้วย) นอกจากสินค้าเหล่านี้ที่มีชื่อเสียง และแผ่ขยายสู่ตลาดทั่วโลกแล้วนั้น ตระกูล Mars ยังมีชื่อเสียงเรื่องการรักษาความเป็นส่วนตัว และการคงธุรกิจครอบครัวอีกด้วย ซึ่งธรรมนูญครอบครัวของตระกูลนี้ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้ 3 ตระกูลที่ผ่านมาเลย
ความเป็นส่วนตัว และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจะถูกสะท้อนผ่านกฎระเบียบ และธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ภายในครอบครัว Mars เช่น แนวคิดในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ที่สมาชิกของครอบครัวจะต้องเก็บปัญหาเหล่านั้นให้เป็น ‘เรื่องภายใน’ ซึ่ง ‘ความเป็นส่วนตัว’ ไม่เพียงแค่เป็นกฎของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของตระกูล Mars อีกด้วย ซึ่งนั่นก็ทำให้บริษัทในเครือของตระกูล Mars ถูกขนานนามว่าเป็นธุรกิจที่ทั้งเงียบ และลึกลับ โดยนิตยสาร Washingtonian เคยเขียนถึงครอบครัว Mars ไว้ว่า “บริษัท และสมาชิกตระกูล Mars ยักษ์ใหญ่ด้านขนมหวานได้เปลี่ยนความลับให้กลายเป็นวิถีชีวิตของพวกเขา”
“ปรัชญาของครอบครัว และปรัชญาของธุรกิจคือ มันเป็นธุรกิจของครอบครัว ที่สำคัญไปกว่านั้น มันเป็นธุรกิจส่วนตัว และนั่นคือสิ่งที่เราอยากคงไว้ให้มันเป็นอย่างนั้น” Pamela Mars-Wright ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูล Mars ให้สัมภาษณ์กับ Campden FB ซึ่งการรักษาความเป็นส่วนตัวนี้เองก็คือ สิ่งที่ทำให้สมาชิกในครอบครัว Mars มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
อีกหนึ่งธรรมนูญครอบครัวของตระกูล Mars ที่ถูกเปิดเผยออกมาคือ สมาชิกครอบครัวที่มีส่วนร่วมในธุรกิจครอบครัวจะต้องเริ่มทำงานในระดับ Entry Level ก่อนเสมอ อย่างเช่น Victoria Mars อดีตประธานบริษัท เธอได้ให้สัมภาษณ์กับ Brown Brothers Harriman ว่า เธอเองก็เริ่มเข้าทำงานในบริษัทในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแบรนด์ ก่อนจะพัฒนาไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งนี่คือหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ครอบครัว Mars ยังคงความเป็นธุรกิจครอบครัวเอาไว้ได้
The Sasaki Family – ธรรมนูญเพื่ออนาคตอีก 100 ข้างหน้า
ถ้าพูดถึงประเทศหนึ่งที่มีธุรกิจเก่าแก่เป็นจำนวนมาก ประเทศญี่ปุ่นจะต้องติดอยู่ในลิสต์นั้นอย่างแน่นอน ซึ่งจากกว่า 20,000 บริษัทที่มีอายุยืนเกิน 100 ปีของญี่ปุ่น เกือบทั้งหมดนั้นเป็นธุรกิจครอบครัว เช่นเดียวกับ ‘Otafuku’ บริษัทซอสโอโคโนมิยากิ (พิซซ่าญี่ปุ่น) ของครอบครัว ‘Sasaki’ ที่มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ธรรมนูญครอบครัวของตระกูลนี้มีความพิเศษคือ การมองเป้าหมายเป็นการทำให้บริษัทสามารถอยู่ต่อไปได้ในอีก 100 ปีข้างหน้า
แนวคิดการสร้างธรรมนูญครอบครัวครั้งนี้ เกิดขึ้นในปี 2013 จากความคิด ‘ชิกิเซ ซาซากิ’ ทายาทรุ่นที่ 6 ของตระกูล โดยใช้เวลากว่า 2 ปีเต็มในการหารือรายละเอียดต่างๆ
ซึ่งธรรมนูญครอบครัวโอตาฟุกุมีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อการสานสัมพันธ์ครอบครัว เช่น การจัดงานเลี้ยงทานข้าว, การแข่งขันกอล์ฟ, การไปเที่ยว 3 วัน 2 คืนอย่างพร้อมหน้า, หรือการจัดสัมมนาเพื่อการเรียนรู้ปีละ 4 ครั้ง เป็นต้น
นอกเหนือจากกิจกรรมน่ารักๆ ทั้งหลายแล้ว ธรรมนูญครอบครัวนี้ยังระบุเรื่องธุรกิจอย่างการแบ่งหุ้น และค่าตอบแทนเอาไว้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่ทั้ง 8 ครอบครัวสมาชิกตระกูลสามารถส่งตัวแทนเข้ามาบริหารงานบริษัทได้เพียงครอบครัวละ 1 คน และผู้ถือหุ้นจำเป็นต้องเป็นพนักงานบริษัทด้วย ไม่สามารถถือหุ้นรอเงินปันผลเฉยๆ
ทั้งนี้ยังมีการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อรับหน้าที่ดูแลตระกูล อบรม และเผยแพร่ปรัชญาของบริษัท รวมถึงประวัติศาสตร์ ให้แก่คนในตระกูล และทายาทผู้สืบทอด ไปจนถึงเรื่องสำคัญอย่างการบริหารทรัพย์สินของตระกูล ซึ่งนับว่าเป็นการวางแผนที่รอบคอบสำหรับการสืบทอดธุรกิจของครอบครัว
ธรรมนูญครอบครัวที่เรายกตัวอย่างมานี้ อาจจะเป็นภาพของตระกูลใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมนูญครอบครัวนั้น ไม่สำคัญ หรือมีไว้เพื่อบริหารตระกูลใหญ่ๆ เท่านั้น เพราะธรรมนูญครอบครัว คือกลไกที่ทำให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว สามารถมีจุดโฟกัส หรือว่ามองภาพของความเป็นครอบครัวในแบบเดียวกันได้ เป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดความขัดแย้งในครอบครัว ไม่ต่างจากกฎหมายในสังคม และเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า การเมืองไม่ใช่สิ่งไกลตัว เพียงแค่เราจะหยิบมันมาใช้ในมุมไหนก็เท่านั้นเอง
อ้างอิง
Dentons
Siam Wealth Management
Pure Wow
Deseret News
Brand Beffet
The Cloud