Culture

ทำไมคำว่า ‘เฟมินิสต์’ ถึงกลายเป็นคำต้องห้ามในสังคมเกาหลีใต้

Photo credit: csis

ประเด็นเรื่องสิทธิสตรีเป็นประเด็นร้อนในสังคมเกาหลีใต้อยู่บ่อยๆ และยิ่งร้อนมากขึ้นเมื่อเกาหลีใต้เพิ่งจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่ มุล แจ อิน ที่มีแนวความคิดขวาจัด แข็งกร้าวและต่อต้านเฟมินิสต์ 

ว่าแต่ ทำไมเฟมินิสต์ถึงกลายมาเป็นของแสลงในสังคมเกาหลีใต้ไปได้

จาก #MeToo สู่ Feminist 

เราคงเคยได้ยินเรื่องกล้องแอบถ่ายในเกาหลีใต้ที่ระบาดมากๆ มีแบบจะทุกที่ทั้งในโรงแรมม่านรูดและไม่ม่านรูด ห้องน้ำสาธารณะ ผับบาร์ และยังเป็นปัญหาเรื้อรังมาจนถึงทุกวันนี้ แต่กระแสสิทธิสตรีในเกาหลีใต้มาจุดติดจริงๆ จากเหตุการณ์ฆาตกรรมผู้หญิงคนหนึ่งอย่างโหดเหี้ยมใกล้สถานีรถไฟใต้ดินในย่านกังนัมในปี 2016 โดยชายผู้กระทำการดังกล่าวสารภาพในภายหลังว่าเกิดจากที่เขาถูกลูกค้าหญิงในบาร์ที่เขาทำงานเหยียดหยามและรู้สึกโกรธแค้น แต่ผู้หญิงที่เขาแทงจนเสียชีวิตนั้นไม่ได้รู้จักกันกับเขาเลย 

Photo credit: ceias.eu

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ที่ทำให้ผู้หญิงหลายพันหลายหมื่นคนในเกาหลีนำโพสต์อิทไปติดที่กำแพงสถานีกังนัมเพื่อระลึกถึงเหยื่อผู้เสียชีวิต และส่วนมากข้อความในโพสต์อิทนั้นก็บอกเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองในฐานะผู้หญิงที่เคยถูกกระทำมาก่อน จนทำให้ประเด็นเรื่องความเกลียดผู้หญิงในสังคมเกาหลีกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นนับแต่เวลานั้น ทั้งเรื่องทัศนคติที่สังคมมีต่อผู้หญิงเกาหลี การถูดกดขี่กดทับ การถูกแอบบันทึกภาพขากล้องแอบถ่าย และการล่วงละเมิดทางเพศ ผ่าน #MeToo และ #mylifeisnotyourporn

จากข้อมูล Global Gender Gap Report ในปี 2019 พบว่าช่องว่างของค่าแรงระหว่างผู้หญิงและผู้ชายในเกาหลีใต้นั้นสูงมาก เพิ่มขึ้นเป็น 37.1% จาก 34.6% ในปี 2018 แล้วใครจะไปเชื่อว่าเกาหลีใต้ประเทศที่พัฒนาแล้วอันดับต้นๆ ของเอเชียและของโลกอยู่ในอันดับที่ 115 จาก 149 ประเทศในเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิง

Photo credit: spiremagazine

เฟมินิสต์ในป๊อปคัลเจอร์

ประเด็นเรื่องเฟมินิสต์ และการที่ผู้ชายในสังคมเกาหลีเกลียดเฟมินิสต์นั้น มักจะถูกให้เหตุผลจากฝ่ายชายว่า “กระแสความเคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ไม่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศอีกต่อไปแล้วแล้ว แต่มันกลายมาเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศและมีลักษณะรุนแรงและแสดงความเกลียดชัง” สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากเพลงแร็ปชื่อเพลงว่า ‘Feminist’ ของแร็ปเปอร์ San E ซึ่งเขียนออกมาภายใต้ทัศนคติการเกลียดเฟมินิสต์ โดยมีการเปลี่ยนจากคำว่า Women เป็น Womad (ในที่นี้นอกจากจะเป็นการผสมคำระหว่าง Woman กับ Nomad แล้ว ยังหมายถึงกลุ่ม Womad กลุ่มสตรีนิยมหน้าใหม่ในเกาหลีใต้ที่มีพฤติกรรมการท้าทายบรรทัดฐานของสังคมอย่างรุนแรง) และบอกอีกว่า สิ่งนี้ไม่ใช่เฟมินิสต์แต่เป็นพวกที่ป่วยทางจิต

“Womad is poison. Feminist, no. You’re a mental illness.”

ซึ่งกลับกลายเป็นว่าเพลงของ San E ได้รับการตอบรับ (โดยเฉพาะผู้ชายในเกาหลี) อย่างล้มหลาม และทำให้การที่ผู้หญิงสักคนจะประกาศตัวว่าเป็นเฟมินิสต์ในสังคมเกาหลีกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะโดนแรงกระแทกจากสังคมมากมาย เช่นเดียวกันกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเพลงแร็ปเพลงนี้

Photo credit: scmp, soompi, koreaherald

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือหนังสือเรื่อง “Kim Ji-young, Born 1982” หรือในชื่อไทยคือ “คิม จี-ยอง เกิดปี 1982” ที่ต่อมาถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกดทับภายใต้แนวคิดชายเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลี หนังสือและภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับกระแสการต่อต้านอย่างรุนแรงในเกาหลี นักแสดงนำหญิง จองยูมิ ก็ได้รับกระแสต่อต้านจากฐานแฟนกลุ่มผู้ชาย เช่นเดียวกันกับสามีแห่งเอเชีย กงยู ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไปไม่น้อย มากไปกว่านั้นแฟนคลับของ โซนัมจู ผู้เขียนเรื่องนี้ โดยเฉพาะผู้ชายก็ออกมาประกาศว่าจะเลิกสนับสนุนผลงานของเธอ

เรื่องไม่จบเพียงแค่นั้นเมื่อไอรีน แห่งวง Red Velvet ได้ให้สัมภาษณ์ว่าเธอกำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ ก็เกิดเป็นกระดราม่าขึ้นมาทันที โดยแฟนคลับของวง Red Velvet ที่เป็นผู้ชายออกมาขู่ว่าจะเลิกสนับสนันวง Red Velvet พร้อมตีตราว่าไอรีนเป็นเฟมินิสต์ แถมยังมีการเผารูป กรีดรูปภาพของไอรีนแล้วโพสต์ขึ้นบนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย

Photo credit: asianjunkie

นอกจากนี้ยังมีการตั้งกลุ่ม #Youtoo เพื่อโต้กลับกระแส #Metoo ของเฟมินิสต์ และมีการระดมทุนเพื่อจัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “คิม จี-ฮุน เกิดปี 1990 อันเป็นเวอร์ชันล้างแค้นหนังสือเรื่อง “คิม จี-ยอง เกิดปี 1982” แต่ถึงอย่างนั้นหนังสือเรื่อง “คิม จี-ยอง เกิดปี 1982” กลับกลายเป็นหนังสือจากเกาหลีใต้ที่ขายดีที่สุดในต่างประเทศ ได้รับการแปลในหลายภาษา รวมถึงภาษาไทยด้วย

Photo credit: dailynationtoday

ทำไมผู้ชายเกาหลีถึงเกลียดเฟมินิสต์มากนัก 

ความเกลียดเฟมินิสต์ของผู้ชายเกาหลีใต้ไม่ธรรมดา มีการรวมกลุ่มกันจัดม็อบประท้วงต่อต้านเฟมินิสต์ในปี 2018 จากผลโพลของ Realmeter ที่ทำการสำรวจผู้ชายกว่าพันคนในเกาหลีใต้เกือบ 60% คิดว่าปัญหาเรื่องเพศสภาพเป็นปัญหาสำคัญของเกาหลี แต่ผู้ชายในช่วงวัย 20s 76% และในช่วงวัย 30s 66% ต่อต้านเฟมินิสต์  ที่น่าสนใจก็คือผู้ชายในช่วงวัย 40s และ 50s มีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์น้อยกว่าคนหนุ่มๆ มาก

นักวิชาการในเกาหลีใต้หลายคนให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าเป็นเพราะสังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมที่มีการแข่งขันและกดดันกันสูงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการหางาน ในอดีตงานของผู้หญิงและผู้ชายนั้นแยกขาดจากการชัดเจน แต่ในปัจจุบันผู้หญิงกลายมาเป็น “คู่แข่ง” โดยตรงกับผู้ชาย โดยผู้ชายไม่เพียงแค่ต้องแข่งกับผู้ชายด้วยกันเท่านั้นยังต้องแข่งกับผู้หญิงในเจเนอเรชันเดียวกันอีกด้วย 

Photo credit: theglobeandmail

สิ่งนี้เห็นได้จากอัตราการว่างงานในคนรุ่นใหม่ที่สูงมากขึ้น ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาจาก 6.9% เป็น 9.9% และมีการทำข้อมูลตามคณะต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในมหาวิทยาลัย (ซึ่งมีการแข่งขันกันสูงมาก) ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ นักกฎหมาย ฯลฯ  สัดส่วนของนักศึกษาหญิงนั้นมีมากกว่าผู้ชายอย่างมาก นอกจากนี้ในด้านการทำงานชายหนุ่มรุ่นใหม่เกาหลีในช่วงอายุ 20s ก็จะรู้สึกว่านอกจากพวกเขาจะเติบโตได้ยากจากหน้าที่การงานที่ถูกควบคุมไว้ทั้งระบบโดยผู้ชายในวัย 40s 50s แล้ว เขายังต้องแข่งขันกับผู้หญิงในเกาหลีใต้อีกด้วย 

ซึ่งถ้าหากเราย้อนมองกลับไปยังเหตุการณ์สถานีรถไฟใต้ดินกังนัมก็จะเห็นว่าเหตุการณ์นั้นสะท้อนภาพและแนวความคิดนี้ได้เป็นอย่างดี 

Photo credit: asia.nikkei

มุน ซุง โฮ ผู้นำกลุ่ม Dang Dang We ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านเฟมินิสต์บอกว่า เรื่องชายเป็นใหญ่หรือความไม่เท่าเทียมกันทางเพศมีมานานมากแล้วในเกาหลีใต้ มันเป็นผลพวกของผู้ชายรุ่น 40s   - 50s 60s แต่กลับกลายเป็นว่าคนที่ต้องมาเป็น ‘ทาร์เก็ต’ ในการรณรงค์เคลื่อนไหวของเฟมินิสต์ กลับกลายเป็นผู้ชายรุ่น 20s 30s ซึ่งมันไม่ยุติธรรมเลย ที่พวกผู้หญิงรุ่นใหม่ทำให้ผู้ชายรุ่น 20s 30s กลายเป็นเป้าที่ถูกกล่าวหา ทั้งๆ ที่ผู้ชายรุ่น 20s 30s ก็เป็นเพียงแค่แพะรับบาปจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเกาหลี

Photo credit: East Asia Forum

อ้างอิง

https://edition.cnn.com/2019/09/21/asia/korea-angry-young-men-intl-hnk/index.html

https://thediplomat.com/2021/07/how-feminism-became-a-dirty-word-in-south-korea/

https://foreignpolicy.com/2021/06/23/young-south-korean-men-hate-liberals-feminists/