ต้องยอมรับเลยว่าตอนนี้กระแส T-POP มาแรงมาก เห็นได้จากรายการ “T-POP Stage” ที่มีคนรุ่นใหม่ติดตามเยอะ ความมีชื่อเสียงของศิลปินดังไกลถึงคนต่างชาติ เพลงฮิตใน Tiktok ที่เต้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง ความปังของการรียูเนี่ยนศิลปินยุค 90s และเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยที่ไม่ได้มีแค่เพลงป็อบต่างชาติอีกต่อไปแล้ว อย่างล่าสุดกับแฮชแท็ก #ข้อยกเว้น_4EVE กับการต้อนรับเพลงใหม่ของวง 4EVE ที่ติดเทรนด์กันตั้งแต่ช่วงค่ำจนถึงเช้าของอีกวัน ซึ่งทั้งหมดเป็นปรากฏการณ์ที่เน้นย้ำว่าแฟนคลับวงการ T-POP ในตอนนี้แข็งแกร่งมาก และดูเหมือนจะกลมเกลียวกันมากกว่าเมื่อก่อน
ไม่ง่ายเลย กว่าจะมาถึงวันนี้
แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ที่ใครๆ ก็นิยมชมชอบใน T-POP เมื่อลองมองย้อนกลับไปในยุคกามิกาเซ่ครองเมือง หรือไกลกว่านั้นหน่อยอย่าง D2B, เจอาร์-วอย, Raptor ฯลฯ ทั้งศิลปินและแฟนคลับล้วนต้องเจอกับประสบการณ์ที่ไม่ดีกันมาก่อน โดยเฉพาะกับการ ‘ถูกเหยียด’ จากคนบางกลุ่ม ทั้งเหยียดสไตล์เพลง การร้อง ความสามารถ และการตามซัพพอร์ตศิลปิน
เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจมีข้อสงสัยแล้วว่ามันเคยมีการเหยียดกันจริงเหรอ ในเมื่อคนรอบข้างก็ฟัง T-POP กันเต็มไปหมด และตัวเขาเองก็ไม่เคยเจอ เราอยากจะบอกว่ามีจริงๆ แต่การจะหาหลักฐานมาซัพพอร์ตการถูกเหยียดในช่วงยุค 90s ที่โซเชียลมีเดียยังไม่กว้างขวางค่อนข้างทำได้ยาก ผู้เขียนจึงขออนุญาตยกตัวอย่างในยุคที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าคือช่วงปี 2550 เป็นต้นมา หรือช่วงที่ค่ายกามิกาเซ่ (KamiKaze) ได้รับความนิยมสูงมาแทน
‘หนิง - อารยา สุขเกษม’ แฟนคลับ Gen Y ผู้รักใน T-POP ตั้งแต่ยุคกามิกาเซ่จนถึงปัจจุบัน เล่าให้เราฟังถึงมุมหนึ่งว่า “เมื่อก่อนแฟนคลับ T-POP มักจะโดนคนที่ชอบ K-POP เหยียดว่าไปก๊อบปี้เพลง ชุด หรือท่าเต้นจากฝั่งนู้นมา เหมือนไม่ยอมรับในความสามารถของศิลปิน เรายอมรับว่าบางวงอาจมีการก๊อบมาจริง แต่บางวงเท่าที่ดู เขาน่าจะนำมาเป็นแรงบันดาลใจมากกว่า แต่ก็โดนเหยียดแบบเหมารวมไปด้วย”
https://www.youtube.com/watch?v=kDMfPoxnLdU
ซึ่งสอดคล้องกับในคลิปเบื้องหลังเพลง “กอดได้ไหม” ซึ่ง K-OTIC คัฟเวอร์ UrboyTJ จากแชแนลยูทูบ “Koendanai” ที่ UrboyTJ พูดในช่วงหนึ่งว่า “เพลงทุกเพลงของกามิกาเซ่ เมื่อก่อนมันถูกดูถูกเยอะมาก ว่าแบบก๊อบนู่น ก๊อบนี้ ร้องก็ไม่ชัด เพลงอะไรก็ไม่รู้”
หรือถ้าจะหาหลักฐานสนับสนุนมากกว่านี้ เราอยากชวนคุณลองเปิดทวิตเตอร์ แล้วเสิร์ชด้วยคีย์เวิร์ดอย่าง “กามิ เหยียด” คุณก็จะพบว่ามีคนอีกมากที่พบเจอเหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ที่ T-POP แมสไปไกลถึงหลายประเทศ ทั้งตัวแฟนคลับและศิลปินเอง แม้จะมีกระแสชื่นชอบส่วนหนึ่งอยู่บ้าง แต่ก็มีช่วงแห่งการโดนเหยียดหรือไม่ได้การยอมรับจากคนอีกส่วนหนึ่งเช่นกัน
แต่คนที่ไม่เคยโดนเหยียดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกนะ ‘แจม - อภิสรา’ แฟนคลับที่ตามมาตั้งแต่ยุค D2B และปัจจุบันเป็นแฟนคลับของมิค-แมค (MICMAC) นักดนตรีแฝดจากวง Fool Step เล่าเสริมว่า ในอดีตตนไม่เคยเจอการโดนเหยียดจากใคร อาจเพราะเป็นคนที่ฟังแค่เพลง ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะเข้าไปเป็นแฟนคลับแบบเจาะลึก แต่พอตอนนี้มีเวลาตามผลงานมากขึ้นแล้ว ก็พอเห็นและรับรู้บ้างว่ามีปัญหา แต่ไม่เคยเจอกับตัว
ทำไมวงการ T-POP สมัยก่อนถึง ‘โดนเหยียด’
แล้วทำไมสมัยกามิกาเซ่ถึงโดนเหยียดขนาดนั้น แต่สมัยนี้กลับเปลี่ยนไปเป็น ‘หน้ามือ’ ศิลปินใหม่ๆ ได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้น ศิลปินเก่าที่กลับมาทำเพลงใหม่ก็ปัง ส่วนแฟนคลับก็เหนียวแน่นกว่าเดิมเสียอีก เราลองมาดูคำตอบกันดีกว่า
1. การแทรกซึมของเพลงป็อบต่างชาติ
ปี 2550 หรือ 2007 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่เพลงป็อบต่างชาติผลัดกันเข้ามาตีตลาดไทย ไม่ว่าจะเป็น C-POP และ J-POP ที่มีฐานแฟนคลับในบ้านเราอยู่แล้ว หรือแม้แต่ K-POP ที่บุกตลาดด้วยบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป นักร้องเดี่ยว รวมถึงซอฟต์พาวเวอร์ (Soft power) อย่างเพลงประกอบซีรีส์ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจในยุคนั้น ทำให้แฟนคลับจำนวนมากสามารถตกหลุมรักได้ในเวลาอันสั้น แต่ความชื่นชอบนั้น บางครั้งก็มาพร้อมกับการเปรียบเทียบ ใครเหมือนศิลปินที่พวกเขารัก แม้จะเพียงน้อยนิดก็ทำให้ไม่พอใจได้ จึงไม่แปลกที่ศิลปิน T-POP หน้าใหม่ที่เดบิวต์ช่วงนั้น จะพบกับประสบการณ์ไม่ดี
2. คนทำเพลงเล่นกับกระแสเกินไป
อย่างที่คุณหนิงแชร์กับเราตอนต้นว่า บางครั้งบางวงก็ก๊อบปี้ K-POP มาจริง อาจเพราะเห็นว่าเทรนด์กำลังมา คนกำลังฮิต ค่ายเพลงต่างๆ เลยอยากทำบ้าง เช่น เทรนด์เสื้อผ้า ท่าเต้น เป็นต้น แต่อาจลืมแบ่งขอบเขตระหว่างคำว่าเลียนแบบและแรงบันดาลใจ เลยทำให้ศิลปินโดนเหยียดหยามแบบเหมารวมว่าไม่มีคุณภาพ ไม่เป็นตัวเอง และไม่มีความชัดเจน
3. ตัวตนศิลปินถูกจำกัด
คอนเทนต์ที่ถูกนำเสนอผ่านอินเทอร์เน็ตก็สำคัญ สมัยก่อนที่ยังต้องใช้บัตรเติมอินเทอร์เน็ต เสียงเชื่อมต่อเหมือนติดต่อยานแม่นอกโลก การติดตามศิลปินก็ต้องพึ่งพาโทรทัศน์กับสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อหลักที่มีสังคมเป็นตัวกำหนดความนิยมและความเหมาะสม ถ้าไม่ใช่ค่ายใหญ่ ทุนหนา ก็ไม่มีวันที่จะแมส หรือถ้าไม่ทำตัวอยู่ในบรรทัดฐานของสังคม ก็อาจไม่มีพื้นที่ให้แสงส่องถึง ทำให้ตัวตนและความสามารถของศิลปินไม่ได้ถูกนำเสนออย่างกว้างขวาง คนทั่วไปเลยไม่อยากสนับสนุน หรือได้เห็นอะไรไปมากกว่าการร้องเพลง ซึ่งต่างจากสมัยนี้ที่มีมิติให้เห็นมากกว่าการร้องเพลง เช่น การช่วยเป็นกระบอกเสียงทางการเมือง การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การไล่ตามความฝัน ไหวพริบ ตัวตนที่ไม่ซ้ำใคร เป็นต้น
แจม: สิบกว่าปีก่อน ถ้าอยากชมคอนเทนต์ศิลปินที่ชอบก็ต้องรอดูสัมภาษณ์ผ่านรายการโทรทัศน์ ใน SNS มีน้อยมาก แต่ตอนนี้ศิลปินมีความหลากหลายของคอนเทนต์ให้ได้ติดตามมากขึ้นแล้ว เพราะเขาสามารถแสดงตัวตน และสร้างคอนเทนต์ผ่าน SNS ได้เองตลอดเวลา
4. ความขึ้นลงของเทรนด์
เพลงก็เหมือนเสื้อผ้าแฟชั่น ที่พอถึงจุดๆ หนึ่งก็จะดรอปลงและเลือนหายไป ถึงจะมีอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ก็จะรู้สึกว่ามันเกลื่อน มันซ้ำกันไปหมด ไม่แปลกใจที่ยุคหนึ่งคนจะเริ่มเบื่อเพลง T-POP และมองเห็นแต่การลอกกันมา ไม่โดดเด่น
ทั้ง 4 ประเด็นหลักๆ นี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศิลปินโดนเหยียด ซึ่งส่งผลกระทบให้แฟนคลับที่สนับสนุนศิลปินเหล่านั้นโดยเหยียดตามไปด้วย
ก้าวสู่ยุคใหม่ที่คนหมู่มากสนับสนุน T-POP
กลับมาที่ยุคปัจจุบัน เมื่อ 4 ประเด็นดังกล่าวถูกพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น T-POP มีตัวตนที่ชัดเจน แตกต่างกว่าเพลงป็อบชาติอื่น ประกอบกับเทรนด์ของวงการเพลงได้วนกลับมาอีกครั้ง แฟนด้อม T-POP ก็ก้าวหน้าตามไปด้วย หมดยุคแฟนคลับต้องแอบกรี๊ดเงียบๆ คนเดียวอีกต่อไป เพราะตอนนี้สามารถพูดได้เต็มเสียงแล้วว่า ฉันเป็นแฟนคลับของเขา!
แจม: ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นช่วงเวลาอิ่มตัวของ T-POP กระแสเลยตกไปพักหนึ่ง พอวันนี้กลับมาแมสกว่าเดิมได้ ก็รู้สึกแฮปปี้นะ เพราะเราติดตามเพลงแนวนี้มาตลอด สไตล์ของเพลง T-POP เป็นอะไรที่ถ้าถึงเวลาที่เหมาะสม มันก็พร้อมสร้างกระแสให้วงการเพลงได้ตลอดอยู่แล้ว
หนิง: ตอนนี้เราตามวง LAZ 1, ATLAS, PROXIE บรรยากาศในแฟนด้อมมันต่างจากเมื่อก่อนเยอะ เพราะคนที่ชอบ T-POP ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับวงไหน ทุกคนก็เหมือนเป็นเพื่อนกัน พร้อมซัพพอร์ตวงอื่นๆ และรันวงการนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ส่วนการเหยียดหรือเปรียบเทียบแนวเพลงก็ยังเจออยู่บ้าง แต่ไม่บ่อยแล้ว เหมือนคนเปิดใจกันเยอะขึ้น
“ความโดดเด่นของ T-POP คือ ดนตรีจะไม่ได้ซับซ้อนมาก เน้นฟังง่าย เต้นตามชาเลนจ์ต่างๆ ได้ ทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วม คอนเซ็ปต์ของแต่ละวงก็ชัดขึ้น มีเพลงหลากหลาย ทั้งน่ารัก สดใส หนักแน่น ศิลปินก็เองก็เก่ง เราไม่อยากให้อะไรพวกนี้โดนมองข้าม เพราะคนไทยที่มีความสามารถยังมีอยู่เยอะมาก ไม่อยากให้ตั้งแง่แล้วมากดกันเอง”
การเปลี่ยนแปลงในด้านดีที่เกิดขึ้นกับวงการ T-POP ทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับวงการ รวมถึงแฟนคลับ ได้ก้าวไปสู่ที่แตกต่างด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาที่จะให้ร้ายใคร แค่เพียงต้องการสะท้อนถึงวิถีแฟนด้อมในยุคที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับในปัจจุบันก็เท่านั้น เพราะเราเชื่อว่าศิลปิน คนเบื้องหลัง และแฟนคลับ คือสิ่งที่จะทำให้วงการเพลงป็อบไทยเติบโต ตราบใดที่เพลงดี แต่ถ้ามีคนเหยียดหรือไม่ให้ค่า เพลงนั้นหรือศิลปินคนนั้นก็อาจจะร่วงมากกว่ารุ่งได้
ติดตามและอัปเดตเรื่องราวใหม่ๆ จากพวกเราได้ที่ Exotic Quixotic