Culture

เมื่อแบรนด์แฟชั่นพยายามรักษ์โลกอย่าง ‘ยั่งยืน’ แบรนด์ไหนทำอะไรบ้าง?

อุตสาหกรรมการผลิตผ้าก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนสูงถึง 1.2 พันล้านตันต่อปี เป็นรองเพียงแค่อุตสาหกรรมยานยนต์ จึงทำให้แบรนด์แฟชั่นพยายามปรับตัวด้วยการสร้างผลงานด้วยความยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และซื้อใจผู้บริโภคสายกรีนที่เริ่มระมัดระวังในพฤติกรรมการซื้อของตัวเองมากขึ้น  แม้ว่าเราที่แบรนด์แฟชั่นยังผลิตของขายจะไม่สามารถเรียกได้ว่าสร้างความยั่งยืนได้ 100% แต่เราก็เห็นความพยายามในการปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ มาดูกันว่าแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรี่ทั้งหลาย ปรับตัวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับแบรนด์ตัวเองและผู้บริโภคอย่างไรบ้าง

Stella McCartney

ถ้าให้นึกชื่อแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ชื่อแรกๆ ที่คนมักจะนึกถึงก็คือ Stella McCartney เพราะแบรนด์ Stella McCartney คือผู้นำในโลกแฟชั่นในด้านความยั่งยืนที่เธอเริ่มก่อนใครๆ ไม่เพียงแค่เริ่มก่อนใครแต่เธอยังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้แบรนด์ Stella McCartney สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

Stella McCartney เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ประกาศไม่ใช้ ‘เฟอร์’ ในการทำเสื้อผ้า รวมไปถึงขนแกะด้วย และหลังจากนั้นเธอก็เริ่มลดการใช้หนัง จนปัจจุบัน Stella McCartney ไม่ใช้หนังสัตว์ใดๆ ในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าหรือกระเป๋า ทั้งๆ ที่ ‘หนังแท้’ ยังเป็นสิ่งที่ดีไซเนอร์จำนวนมากใช้ในการผลิตกระเป๋าและเสื้อผ้าอยู่ แต่ Stella McCartney เปลี่ยนมาใช้หนังเทียมที่ทำจากพืชทั้งหมด

ไม่เพียงแค่นั้นเส้นใยอื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตยังเริ่ม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เธอเลือกใช้เรยอนที่ไม่ทำลายป่า ผ้าแคชเมียร์และโพลีเอสเตอร์แบบรีไซเคิล ใช้ไบโอแอติเตทในการทำแว่นตา ใช้ไบโอดีเกรดในการทำพื้นรองเท้า และเริ่มขยับขยายนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมสู่ขั้นตอนการผลิต แม้กระทั่งในออฟฟิศที่แบนการใช้ขวดพลาสติก

Marine Serre

แม้แบรนด์จะเป็นที่จดจำจากชุดบอดี้สูทลายพระจันทร์เสี้ยวที่บียอนเซ่ และแบล็กพิงค์สวมใส่ แต่จริงๆ แล้วหัวใจหลักในการสร้างสรรค์คอลเลกชั่นเสื้อผ้าของ Marine Serre ก็คือการสร้างสรรค์แฟชั่นที่ช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยการพยายามนำเอาวัสดุที่เหลือใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นกลับมาใช้สร้างสรรค์ในการทำคอลเลกชั่นใหม่ตลอดเวลา

เรามักจะเห็นชุดหนังที่ดูเหมือนตัดแปะจากเศษหนังในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งชุดแข่งรถ หรือจากกระเป๋าหนังที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าในแบบต่างๆ และชุดกระโปรงสุดพลิ้วลวดลายดอกไม้สวยหวานหลากหลายแพตเทิร์นที่ทำมาจากผ้าพันคอเหลือทิ้ง เสื้อผ้าที่ทำมาจากวัสดุเดดสต๊อกต่างๆ รวมไปถึงผ้าอัพไซเคิล โดยกว่า 50% ของเนื้อผ้าที่ใช้ในการทำคอลเลกชั่นของเธอมาจากงานอัพไซเคิล

อย่างคอลเลกชั่นล่าสุดในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว 2023 นี้ก็เช่นเดียวกัน เธอท้าทายตัวเองมากขึ้นไปอีก บนรันเวย์ปรากฏกรงขนาดมหึมาที่ด้านในมีของทับถมกันไว้อย่างล้นหลาม กรงที่หนึ่งก็คือผ้าพันคอ กรงที่สองคือ Tote Bag และกรงที่สามก็คือเดนิม ทั้งสามสิ่งนี้คือของที่เรียกว่าเดดสต๊อกที่อยู่ในแวร์เฮาส์ของเธอ ซึ่งกลายมาเป็นแมตทีเรียลที่ถูกนำกลับมาทำคอลเลกชั่นใหม่นี้

Ermenegildo Zegna

แบรนด์ที่จุดประกายในการนำเอาเศษวัสดุต่างๆ ที่เหลือทิ้งจากการทำงานกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ มาผลิตเป็นเส้นใย เป็นเนื้อผ้าใหม่ และนำกลับมาสร้างสรรค์เป็นคอลเลกชั่นเสื้อผ้าที่มีความเรียบหรูจนไม่สามารถบอกได้เลยว่านี่คือ ผลงานจากเศษวัสดุที่เหลือทิ้งก็คือ Ermenegildo Zegna กับโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Use The Existing ที่มีมาตั้งแต่ปี 2020

ร้อยละ 20 ของเสื้อผ้าในคอลเลกชั่นทำมาจากไนลอนและผ้าขนสัตว์ที่ผลิตมาจากกระบวนการรีไซเคิลผ้าที่เหลือใช้จากกระบวนการการผลิตของ Ermenegildo Zegna เอง วูล 20 เปอร์เซ็นต์จะสูญเสียไปในขั้นตอนการปั่นด้ายอีก 20 เปอร์เซ็นต์ในขั้นตอนการทอผ้าและอีก 10 เปอร์เซ็นต์สุดท้ายในขั้นตอนการตัด วูลและไนล่อนที่เหลือจากกระบวนการการผลิตในขั้นตอนต่างๆ จะถูกนำมาทำให้เกิดเป็นชิ้นงานใหม่โดยหรือนำมาผสมกับวัสดุ "ใหม่" อื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์เนื้อผ้าใหม่ขึ้นมาจากสิ่งที่มีอยู่นั่นเอง

อย่างในคอลเลกชั่นล่าสุด Ermenegildo Zegna ก็ใช้ชื่อคอลเลกชั่นว่า Being Cashmere โดยผ้าแคชเมียร์เป็นเนื้อผ้าหลักในการสร้างสรรค์เสื้อผ้าของแบรนด์

Alessandro Sartori ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ จึงพยายามนำเอานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาเนื้อผ้าต่างๆ โดยเฉพาะแคชเมียร์ อย่างในคอลเลกชั่นนี้ใช้ผ้าแคชเมียร์เป็นเนื้อผ้าหลักกว่า 70% ในขณะที่อีก 30% ที่เหลือคือการใช้ผ้ารีไซเคิลที่เหลือจากการผลิตของแบรนด์ภายใต้ปรัชญา ‘Use The Existing’ เช่นเดิม

Mother of Pearl

ปกติเวลาพูดถึงแบรนด์แฟชั่นกับความยั่งยืน เรามักจะนึกถึงการที่แบรนด์นำเอาเส้นในอัพไซเคิล รีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าและเครื่องประดับ จนกลายเป็นเทรนด์ในการทำพีอาร์และโฆษณาแบรนด์ แต่น้อยนักที่เราจะเห็นแบรนด์ที่เข้าใจคำว่าความยั่งยืนอย่างลึกซึ้งและพยายามสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นทั้งระบบของการทำงานแฟชั่น เช่นเดียวกันกับแบรนด์ Mother of Pearl

แบรนด์ Mother of Pearl ก็มีวิธีการคล้ายกับแบรนด์อื่นๆ ทั่วไปคือการไม่ใช่ขนสัตว์แท้ในการผลิต รวมไปถึงหนังสัตว์ด้วย แม้กระทั่งวูลก็ไม่ใช้วูลที่มาจากขนแกะ Mother of Pearl พยายามใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติในแบบที่ไม่ทำร้ายใคร และที่สำคัญก็คือพยายามลดการใช้สารเคมีให้ได้มากที่สุดในกระบวนการการผลิตเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

และที่ทำให้ Mother of Pearl ไม่เหมือนใครก็คือ ในทุกๆ Supply Chain ของแบรนด์ต้อง ‘กรีน’ จริง ไม่ใช่แค่แบรนด์เท่านั้นที่พยายามจะกรีน แต่วัสดุทุกอย่าง หรือทุกกระบวนการที่แบรนด์ต้องมีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเป็นส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด มากไปกว่านั้นแบรนด์เปิดเผยข้อมูลทุก Supply Chain ที่ Mother of Pearl ไว้ในเว็บไซต์ให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าทุกกระบวนการในการผลิตของแบรนด์นั้นโปร่งใสว่า ‘กรีน’ จริง ไม่ใช่แค่การโฆษณามาร์เก็ตติ้ง

Ranra

แบรนด์น้องใหม่จากลอนดอน ที่โดดเด่นด้วยการสร้างสรรค์เสื้อผ้าสไตล์สปอร์ตด้วยแมตทีเรียลที่มาจากธรรมชาติ และเส้นใยเชิงเทคนิคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มากไปกว่านั้น Ranra ยังพยายามใช้นวัตกรรมใหม่ในการสร้างสรรค์เนื้อผ้า และกรรมวิธีในการทำเสื้อผ้าเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

สิ่งที่ Ranra พยายามจะทำก็คือคิดตั้งแต่ต้นว่าผลิตภัณฑ์แฟชั่นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมยังไงบ้าง แล้วพยายามออกแบบทุกกระบวนการเพื่อลดผลกระทบนั้น เช่น ในกระบวนการรีไซเคิลประกอบที่หลากหลายและต้องถูกแยกออกก่อนจะถูกนำไปรีไซเคิล เช่น เสื้อมีทั้งกระดุม ฮาร์ดแวร์ เนื้อผ้าที่ไม่เหมือนกัน พลาสติก โลหะ หรือไวนิล หรือยาง

Ranra จึงร่วมมือกับโรงงานที่ทำเครื่องรีไซเคิลผ้า ช่วยกันพัฒนาเนื้อผ้าที่ที่สามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในการทำเสื้อผ้าชิ้นหนึ่งได้ ดังนั้น เสื้อแจ็กเก็ตในคอลเลกชั่นนี้ของ Ranra จึงเกิดจากการใช้แมตทีเรียลชิ้นเดียว ไม่ว่าจะถูกนำมาใช้เป็นผ้าในการตัดเย็บ ส่วนต่อ ส่วนยึด ส่วนเสริมต่างๆ ล้วนมาจากผ้ารีไซเคิลชิ้นเดียว ซึ่งทำให้เมื่อแจ็กเก็ตตัวนี้เสื่อมสภาพกลายเป็นขยะแล้ว มันก็จะสามารถเข้าสู่ระบบการรีไซเคิลได้เลย เป็นขยะที่ไม่ต้องเสียเวลา เสียทรัพยากร และพลังงานในการแยกชิ้นส่วนเพื่อนำไปรีไซเคิล แต่เสื้อทั้งตัวนั้นสามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้เลย