"เฟมินิสต์ปลดแอก" แบกความเข้าใจเรื่องเพศและการเมืองเพื่อขับเคลื่อนสังคม

"เพราะการเมืองกับเรื่องเพศเป็นเรื่องเดียวกัน"

ทีมงานกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เน้นย้ำกับเราแบบนั้น EQ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ 6 คน ส่วนหนึ่งของทีมงานจาก 30 กว่าชีวิต คุณมะปราง คุณจริงใจ คุณเนเน่ คุณวาดดาว คุณนัท และคุณเมย์ (นามสมมติ) ถึงที่มาที่ไปของเฟมินิสต์ปลดแอก กลุ่มการเคลื่อนไหวที่มีบริบท แนวทาง และอุดมกาณ์ที่น่าสนใจ

"เฟมินิสต์ปลดแอก" เกิดจากการรวมกลุ่มกันทางโซเชียลที่เป็นเฟมินิสต์อยู่ในทวิตเตอร์ ที่อยากจะออกมาขับเคลื่อนด้วยกัน โดยประสานงานและแบ่งหน้าที่กันทางโลกออนไลน์ เพื่อนัดหมายในการทำม๊อบ การเคลื่อนไหวในหัวข้อและประเด็นต่าง ๆ ที่น่าสนใจ พร้อมกับการทำคอนเทนต์ควบคู่ไปด้วย โดยเปิดรับอาสาสมัครที่มีความถนัดเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นแอดมิน การทำคอนเทนต์ การทำกราฟฟิก ทั้งในเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และไอจี โดยเพจนี้ก่อตั้งมาประมาณ 1 ปี

“เฟมินิสต์คือ การต่อสู้และช่วงชิงความเท่าเทียมของทุกเพศ”

ทำไมต้องเฟมินิสต์ปลดแอก?

"ช่วงที่สื่อสารว่า "ผู้หญิงปลดแอก" กลุ่มแรกที่ทำประเด็นนี้คือ กลุ่มทำทาง โรงน้ำชา หิ้งห้อยน้อย ฯลฯ เขาจะแอคชั่นบนท้องถนนซึ่งช่วงนั้นใช้ชื่อปลดแอกเยอะ เพราะอยากสื่อสารประเด็นประชาธิปไตยในมิติเพศ โดยช่วงนั้นมีการเรียกร้องให้ผู้หญิง พอถึงช่วงม๊อบเฟสซึ่งมีอาสาสมัครเข้ามาเยอะ เลยตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพื่อครอบคลุมไปถึงความหลากหลายทางเพศในเพศอื่นๆ เช่น การยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ พอเปลี่ยนชื่อทำให้บรรยากาศการทำงานมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น มีเพื่อนเพิ่มขึ้นและมีเพื่อนผู้ชายที่พยายามจะเข้ามาเรียนรู้เรื่องเฟมินิสต์มากขึ้น"

“เฟมินิสต์ปลดแอก ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างสุขภาวะที่ดี เพราะการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือต่อสู้กับความรุนแรง สภาวะภายในของเราต้องเข้มแข็งก่อน”

เฟมินิสต์ปลดแอกต่างจากกลุ่มอื่นยังไง?

"เราทำงานเคลื่อนไหวประเด็นทางเพศในขบวนการประชาธิปไตย ไม่ได้พูดเรื่องเพศหรือเรื่องสนับสนุนผ้าอนามัยเพียงอย่างเดียว แต่เราเข้าไปอยู่ในขบวนการที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ ใช้การสื่อสารรูปแบบที่เฟมินิสต์สื่อสาร รูปแบบที่เฟมินิสต์จัดวงพูดคุย จัดตั้งคุณค่าร่วม เพื่อให้ทุกคนที่เข้ามาเคารพและสามารถทำงานร่วมกันได้ ทำให้เข้าถึงคนที่อยากจะเรียนรู้ความเป็นเฟมินิสต์ของเรา เราเข้าไปทำงานกับเพื่อนๆ กลุ่มอื่น เช่น กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มธรรมศาสตร์ ฯลฯ เพื่อสร้างการเรียนรู้ว่าเฟมินิสต์ทำงานยังไง มีการเวิร์คชอปให้สมาชิกในการดูแลตัวเองและจิตใจ ทำให้สามารถไปต่อได้เรื่อยๆ ท่ามกลางความรุนแรงและการกดขี่ที่เข้มข้นมากในกระบวนการประชาธิปไตย"

“ทำไมคุณไม่เคารพการตัดสินใจของเรา ไหนคุณบอกความเท่าเทียมมันมี คุณบอกต้องการประชาธิปไตย คุณบอกต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่คุณยังไปบดบังสิทธิเสรีภาพของคนอื่นอยู่เลย”

5 ข้อเรียกร้องเปลือย

"5 ข้อเรียกร้อง เรายังดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เรียกร้องและพยายามสื่อสารชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญสีรุ้งคืออะไร ทั้งจัดอบรม พูดคุยเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัย การสมรสเท่าเทียม หรือเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 ที่ไปร่วมกับคณะราษฎร หรือเรื่องการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเรามองว่ามันสำคัญจริงๆ เราขับเคลื่อนมาโดยตลอด แต่เรารวบรวมให้มีอิมแพคและอยากสื่อสารชัดเจนว่า เรื่องเพศและประเด็นความเท่าเทียมทางเพศกับเรื่องของการเมืองคือเรื่องเดียวกันที่ต้องเชื่อมโยงและไปด้วยกัน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่มีความเท่าเทียมทางเพศ ก็อย่าหวังว่าจะได้ความเท่าเทียมของรัฐธรรมนูญ เฟมินิสต์ปลดแอกช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เราพยายามขับเคลื่อนทุกวิถีทาง ทั้งลงถนน จัดม๊อบ จัดบูธ เพื่อประชาสัมพันธ์ หรือจัดวงศึกษารัฐธรรมนูญสีรุ้งเพื่อรับสมัครคนที่สนใจที่จะเข้ามาแก้รายมาตรา"

ม๊อบเปลือย 9 ตุลาคม 2564

"ม๊อบเปลือยวันที่ 9 ตุลาที่ผ่านมา เราทำงานร่วมกับเพื่อนๆ เครือข่ายมากกว่า 10 เครือข่าย เพราะสุดท้ายแล้วความสำเร็จที่สุดของการเรียกร้องบนท้องถนนคือประเด็นที่เราสื่อสารไป มันเป็นประเด็นของทุกคนที่อยู่ในสังคม วันใดวันหนึ่งเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยมันเกิดขึ้นแล้วทุกคนเป็นเจ้าของประเด็น ทุกคนพยายามพูดและเรียกร้องประเด็นนี้ อยากเสนอไอเดียการแก้ไข มันคือความสำเร็จสูงสุด อย่างประเด็นสมรสเท่าเทียมที่ไม่ว่าที่ไหนพูดเรื่องนี้ เขารู้สึกเป็นเจ้าของ เขาหวงแหน พอมีม๊อบเขาจะออกมาสนับสนุน มีส่วนร่วม และโอนเงินเพื่อสนับสนุน ดังนั้นเป้าหมายสูงสุดของพวกเราคือ การให้ทุกๆ 5 ข้อของเปลือย เป็นประเด็นที่คนในสังคมเป็นเจ้าของร่วมกัน"

"เปลือย" มันส่งต่อให้คนได้เปลือยและเขียนข้อความในร่างกาย เพื่อเป็นสัญญะของการประท้วง ตรงนี้เป็นพลังสำคัญที่ไม่ใช่เฉพาะการปราศัยในพื้นที่บนเวทีเท่านั้น

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

"เราช่วงชิงสัญญะสีรุ้งในช่วงขาขึ้นของม๊อบได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ถูกส่งต่อด้วยธงสีรุ้งไปยังต่างจังหวัด เป็นการจัดการที่สอดคล้องกับทั่วโลก เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศที่ทันสมัยและร่วมสมัย ไม่ใช่แค่ปรากฎการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง การเคลื่อนไหวต้องเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความครีเอทีฟ การขึ้นมาโยกย้ายหรือเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งที่หลายๆ คนสามารถทำร่วมกันได้ My Body, My Choice สิทธิของร่างกายโดยเฉพาะผู้หญิงและเพศที่หลากหลาย เราต้องถอนรากทางความคิดและส่งต่อคุณค่าของสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเรา เราตั้งคำถามกับ Beauty Privilege แม้ว่าเราจะแต่งตัวอย่างไร โป๊ เซ็กซี่ หรือสวยน่ารักก็คุกคามไม่ได้ ลดทอนเนื้อตัวร่างกายของคนอื่นไม่ได้ เรากำลังใส่เรื่องสิทธิในร่างกายที่ควรจะทำ คนที่ออกมาแอคชั่นไม่ได้มีแค่สวยงามตามพิมพ์นิยม บางคนภูมิใจในพุงและผิวของตัวเอง เราจะไม่ด้อยค่าหรือไม่เคารพความแตกต่างเหล่านี้  ตั้งแต่ทำขบวนกี 1 2 3 ก็มีเวทีธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่พูดเรื่อง 112 เราเห็นมวลชนเข้าร่วมเขาแต่งตัว เน้นสีสันของเสื้อผ้า หน้าผม ด้วยความภาคภูมิใจ เรารู้ว่ามันเป็นการส่งต่อจากการขบวนกี"

ขบวนกี V 1 2 3 4

"กี” เป็นกิมมิกที่ทำให้เห็นด้านการเมืองควบคู่เฟมินิสต์ อย่างขบวนกี 1 - 3 เป็นขบวนคาร์ม๊อบที่เราไปร่วมกับม๊อบอยู่แล้ว จริงๆ เกิดจากความรู้สึกที่เราไปร่วมขบวนคาร์ม๊อบภาคอีสานที่จังหวัดร้อยเอ็ดกับมหาสารคาม และอยากขึ้นรถแห่เพราะรถแห่เปิดเพลงแล้วเต้นอย่างเดียว เลยเอารูปแบบรถแห่มาใช้ในกรุงเทพฯ ซึ่งทุกครั้งที่แสดงออกไปจะมีผลตอบรับกลับมา เราใส่ป้ายรณรงค์เรื่องสมรสเท่าเทียมกับรัฐธรรมนูญสีรุ้ง จนเมื่อมีการสลายการชุมนุมในขบวนกีครั้งที่ 3 เริ่มมีป้ายล้อเลียนตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่สลายการชุมนุมที่ดินแดง เราบอกว่าเราไม่เอาแก๊สน้ำตา หรือแม้แต่การใช้พลุ ประทัด ของทะลุแก๊ส เราก็ล้อว่านี่ขบวนกีไม่เอาประทัด เราอยากเห็นการเคลื่อนไหวที่ปลอดภัยของประชาชนอย่างสันติ จนกระทั่งตำรวจออกหมายเรียกจาก พรก. ฉุกเฉิน กว่า 20 หมาย  เลยตระหนักว่าขบวนกีสั่นสะเทือนไปถึงนายกได้เหมือนกัน ส่วนขบวนกี V4 หรือ “เปลือย” เกิดจากความรู้สึกที่อยากให้ม๊อบกลับมาสนุกนานและมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทุกคนเข้าร่วมได้ เป็นข่าวหน้าสื่อได้ เรารู้ว่าธงรุ้งทำหน้าที่นำได้ และรถแห่เปิดเพลงเต้นก็ยังมีสีสัน (แต่รถถูกดักจากปทุมธานีไม่ให้มาร่วมขบวนรถบรรทุก)"

“การที่ม๊อบจะประสบความสำเร็จได้ มวลชนที่เข้ามาร่วมจะต้องรู้สึกอิสระ ที่จะแสดงอารมณ์ออกมา ทั้งอารมณ์โกรธ ดีใจ เสียใจ หรืออะไรก็ตาม”