ไก่หนังกรอบที่เคลือบซอสสุดช่ำราดด้วยชีสยืด ขนมปังนุ่มฟูราดซอสช็อคโกแลตและมีไอศกรีมวางเคียงคู่ ภาพโฆษณาอาหารที่ทำให้ใครหลายคนกลืนน้ำลาย กว่าจะได้ภาพอาหารสวยๆ ที่อยู่ในโฆษณา หนึ่งในผู้เบื้องหลังเป็นใครไปไม่ได้นอกจากฟู้ดสไตลิสต์ (food stylist)
ชมพู - พัชรพร โกมลภิส หรือที่ใครหลายคนอาจรู้จักในนามของ “THEPOOH8” ฟู้ดสไตลิสต์ ที่มีผลงานภาพอาหารชวนน้ำลายสอมากมาย วันนี้ EQ จะพาทุกคนมารู้จักอาชีพนี้ให้มากขึ้น ไม่แน่ใครทำกำลังค้นหาตัวเองอยู่ อาชีพนี้อาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจก็ได้!
จุดเริ่มต้นการเป็นช่างภาพและ Food Stylist
ชมพูเรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปัจจุบันเป็นช่างภาพ ฟู้ดสไตลิสต์ และสไตลิสต์พร็อพ การว่างงานหลังเรียนจบและอยากหนีจากงานที่ทางบ้านยัดให้ กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชมพูกลายมาเป็นช่างภาพและฟู้ดสไตลิสต์
“ตอนแรกเรียนจบมาแล้วว่างงาน ที่บ้านจะให้ทำงานธนาคารหรือไปออกแบบลายลอตเตอรี่ในกองสลาก ก็เลยรีบหางาน ก่อนนี้เรารับจ้างวาดรูป แต่ได้เงินไม่ดีเท่าไหร่ เพราะคนไทยไม่ค่อยให้ค่าของผลงานศิลปะมาก พอดี สำนักพิมพ์อาหารชื่อว่า สำนักพิมพ์แสงแดด เปิดรับผู้ช่วยช่างภาพอาหาร เราเลยสนใจเลยสมัครไป ส่วนตัวคิดว่าเริ่มจากผู้ช่วยช่างภาพก็ดี ไม่กดดันมาก ตัวเราชอบและสนใจมาจากชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว บวกกับเวลาไปคาเฟ่กับเพื่อนมักจะจัดพร็อพถ่าย เล่นใหญ่กันมาก เลยมาลองสายนี้ค่ะ”
“เราชอบจัดพร็อพต่างๆ และวางคอมโพสต์ให้ภาพสวยงาม ชอบความอาร์ต แต่จัดได้ทุกที่ยกเว้นบ้านตัวเองค่ะ”
ประสบการณ์จากการผู้ช่วยสู่การเป็น Food Stylist
“ตอนเป็นผู้ช่วยช่างภาพอาหารก็ได้เรียนรู้หลายอย่างในทางภาพ และได้ลองช่วยจัดสไตล์ลิ่งด้วย ทำมาเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกชอบทางฟู้ดสไตลิสต์มากขึ้น เพราะเราจบสายอาร์ตมา รู้สึกได้ใช้งานทางความคิด การจัดวางองค์ประกอบสีต่างๆ มีความสุขเวลาเลือกของมาวางแล้วมันเข้ากัน ทำงานผู้ช่วยอยู่ประมาณ 6เดือน ก็เริ่มออกมาทำเอง และตอนนี้ก็เป็นทั้งช่างภาพและฟู้ดสไตลิสต์ปีนี้ก็เข้าปีที่ 6 แล้วค่ะ”
การทำงานและความท้าทายของการเป็น Food Stylist
“การทำงานเมื่อได้โจทย์มาก็จะเริ่มจากการรีเสิร์ชก่อน หน้าตาของสินค้าหรืออาหารเป็นแบบไหน จะคุย mood & tone ของแบรนด์ลูกค้าให้ชัดเจน แล้วหาภาพสไตล์ที่อยากทำแล้วเข้ากับงานลูกค้ามาเสนอค่ะ ก่อนถ่ายหาพร็อพ แปะภาพหรือสเก็ตภาพคร่าวๆ บ้าง แต่ส่วนตัวชอบงานด้นสด หรือจัดหน้างานมากที่สุด ไม่ค่อยชอบพาร์ทขายไอเดียเท่าไหร่ (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ศึกษามู้ดโดยรวมให้ชัดเจนแล้วลุยจัดหน้างานเลย จะชอบแบบนี้มากกว่า ส่วนความท้าทายการเป็นฟู้ดสไตล์ลิสคือ การออกแบบหรือคิดฉากให้กับลูกค้า การต่อยอดสินค้าของลูกค้าให้ดูดีแล้วสื่อแบรนด์ของลูกค้าออกมาให้ชัดที่สุด ลูกค้าแต่ละเจ้าก็จะมีโจทย์มาแตกต่างกัน”
“เราทำยังไงก็ได้ให้ภาพออกมาดูดี ต่อให้โปรดักส์จริงลูกค้าจะไม่สวยก็ตาม เราต้องทำให้สวยให้ได้”
ความยากของการเป็น Food Stylist
“ความยากมีหลายอย่างเลย บางครั้งยากที่ปริมาณ บางครั้งยากที่โปรดักส์ลูกค้า ยิ่งเราเป็นที่ช่างภาพและฟู้ดสไตล์ลิสพร้อมกัน การทำเองทั้งสองอย่างความยากก็คูณเข้าไปอีก เคยเจอลูกค้าแบบที่ไม่รู้จักแบรนด์ตัวเองก็มี แต่พอผ่านความยากทั้งหมดไปได้ก็จะรู้สึกว่าอัพเวลขึ้นไปอีก ซึ่งทุกๆ ครั้งก็จะรู้สึกประมาณนี้ตลอดเลยค่ะ (หัวเราะ)”
การแข่งขันในวงการ Food Stylist
“ส่วนตัวไม่ค่อยรู้สึกว่าแข่งขันกันเท่าไหร่ แต่ละคนงานค่อนข้างชัดเจน ทุกคนที่รู้จักมีสไตล์ของตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วลูกค้าก็เป็นคนเลือก บางทีเป็นการช่วยกันบ้างในวงการก็มี โยนงานให้กันบ้างหรือปรึกษาเรื่องหาพร็อพต่างๆ ยืมของกันบ้าง อาจจะเพราะคนที่รู้จักจะเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องหรือเพื่อนซะเยอะเลยคุยกันง่ายด้วย ไม่ค่อยเจอคนใหม่ๆ เท่าไหร่ เพราะทั้งถ่ายทั้งจัดเอง ทำงานกับตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่เราก็ไม่รู้ว่าวงนอกเค้าแข่งกันไหมนะ”
คำแนะนำสำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจอยากทำ Food Stylist
“ศึกษางานอาร์ทเยอะๆ ตามเทรนด์ศิลปะและต้องอัพเดทตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ ‘พร็อพ’ ต้องมีพร็อพเยอะ เพื่อตอบสนองลูกค้าหลายๆ ประเภท เชื่อว่าสไตลิสต์อาหารในไทยทุกคนห้องพร็อพน่าจะไม่ต่างกัน (หัวเราะ) ขยันซื้อพร็อพ มีของในมืออยากจะสร้างสรรค์อะไรก็ได้แล้วอยู่ที่ใจ”
ติดตามและอัพเดทผลงานภาพสวยๆ ทั้งหมดได้ที่ thepooh8, thepooh8.gallery