จำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่มาปากคลองตลาด น่าจะเป็นช่วงมัธยมฯ ที่ต้องขนดอกดาวเรือง ใบตอง และสารพัดเครื่องทำพาน เพื่อจัดดอกไม้ในงานวันไหว้ครู หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างข้าพเจ้ากับปากคลองฯ ก็ห่างเหินกันไป เราคงไม่สงสัยในความคึกคักและพลุกพล่านของตลาดส่งดอกไม้ขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ แน่ๆ แต่กับวิกฤตโควิดที่ผ่านเข้ามา ทำให้อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า ตลาดแห่งนี้จะบางตาลงไปด้วยหรือไม่นะ
นี่จึงเป็นที่มาของงาน Form of Feeling @Flower Market นิทรรศการดอกไม้ใจกลางตลาดยอดพิมาน ผลงานจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, HUI Team Design และ Saturate Designs ที่ขาดไม่ได้คือชุมชนปากคลอง วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปัท - สุธิดา กอสนาน Director จาก HUI Team Design ถึงที่มาที่ไปของงาน Installation ชิ้นนี้
“วันหนึ่ง อาจารย์หน่อง สุพิชชา โตวิวิชญ์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ติดต่อเข้ามา อยากทำโปรเจกต์ด้วยกัน ให้โจทย์มาว่า หนึ่งจัดงานที่ปากคลองตลาด สองใช้ดอกไม้ภายในปากคลองตลาด และเพิ่มเติมด้วยแรงงานเด็กๆ อีก 80 คน พร้อมกำชับแกมบังคับมาว่า ‘งานด่วนงานเร่งนะ’”
จากงานคอนเสิร์ตสู่งาน Exhibition
“ต้องเล่าก่อนว่า HUI Team Design ก่อนหน้านี้เราทำในส่วนของคอนเสิร์ต ฝั่งของธุรกิจดนตรี จะช่วงโควิดเข้ามา เราก็ปรับตัวเองเข้ามาทำในส่วนของ Exhibition งานแรกที่ทำก็เป็นของโบกี้ไลอ้อน หลักๆ เราจะโดดเด่นในเรื่องของการทำแสง สี”
“วิธีคิดงาน Exhibition ของเรา จะใช้วิธีคิดคล้ายๆ กับคอนเสิร์ต เราจะออกแบบความรู้สึก สร้างอารมณ์ร่วม ให้กับผู้เข้าชมด้วยวิธีใดบ้าง ตั้งแต่ก้าวแรกที่ก้าวเข้ามาภายในงาน ตั้งแต่ชิ้นงานแรก จนถึงชิ้นงานสุดท้าย เปลี่ยนแต่จากการนั่งดู 2 ชั่วโมง เป็นการเดินผ่านเข้ามาดูแทน”
เป็นเนื้อเดียวกับชุมชมอย่างแท้จริง
“อีกโจทย์ที่เราได้มาคือ เราจะทำยังไงให้งาน Exhibition ครั้งนี้ ไม่ได้ถูกตั้งเอาไว้อย่างโดดเดี่ยว ไม่ใช่เพียงคนคนต่างถิ่นเดินเข้ามาชมงานแล้วจากไป เราตีโจทย์นี้ออกมาเป็นสถานที่จัดงาน ตรงนี้เป็นเหมือน Food Cort ของชุมชม ที่จะเป็นเหล่าเต๊งที่ถูกทำขึ้นมาใหม่ เป็น Hidden Space ถ้าไม่ใช่คนตลาดยอดพิมานจะไม่มีทางรู้ได้เลย และทุกคนก็พร้อมใจบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางเข้างานหายากมาก ตัวปัทเองก็อยากบอกว่า ‘เราตั้งใจให้หายาก’ ในส่วนของค่าเข้าชมนั้นเรารับดอกไม้ภายในตลาดเป็นบัตรผ่านเข้างานแทน เพราะเราอยากให้ผู้เข้าชมได้พูดคุยมีปฎิสัมพันธ์กับคนในชุมชน สอบถามเส้นทางเดินหาทางขึ้นและได้ซื้อดอกไม้จากชุมชน”
ดอกไม้มีช่วงเวลาของมัน
“ทำงานกับดอกไม้มันยากที่สุด เพราะมันมีช่วงเวลาของมัน เราต้องวางแผนการทำงานที่ละเอียดกว่าเดิมมากๆ อย่างดอกดาวเรืองบานได้ 4 วันก็ต้องคำนวนไว้ ดอกกล้วยไม้อยู่ทนหน่อยสามารถเริ่มทำได้ก่อน ดอกกุหลาบบอบบางหน่อยก็ต้องระวังเป็นพิเศษ ทั้งหมดถ้ารีบทำมันก็เหี่ยวไวไม่ทันกับ Timing ที่วางไว้อีก งานนี้ก็เป็นอีกงานที่หินมาก”
ตีความในแบบที่ไม่ต้องตีลังกา
“ทีมเราตั้งธีมของงานโดยตั้งใจให้มันเข้าถึงได้ง่าย ไม่ต้องซับซ้อน ดูแล้วเข้าใจได้เลย เลยมาจบกันที่เรื่องของอารมณ์ ความรู้สึกขั้นปฐมภูมิที่ทุกคนเคยสัมผัสไม่ว่าจะเป็น ความสุข (Happy) ความสงบ (Calm) ความกลัว (Fear) และความเศร้า (Sadness) ที่ทั้งหมดจะถูกถ่ายทอดออกมาด้วยดอกไม้ มันเลยเป็นที่มาของชื่องาน Form of Feeling งานชิ้นนี้เราตั้งใจให้ทุกคนที่เข้ามา เข้าใจ คนในชุมชน คนที่ตั้งใจมาดู สามารถเป็นส่วนหนึ่งในงานได้”
หลังจากคุยกับคุณปัทจบ เราก็เริ่มเดินสำรวจภายในงาน สำรวจความรู้สึกที่ถูกถ่ายทอดออกมาให้เป็นรูปธรรม แม้ว่าวันที่ไปจะเป็นวันสุดท้ายก่อนการซ่อมแซมงาน ดอกไม้ที่แสนจะบอบบางถูกห้อยแขวนมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ ร่องรอยของการบอบช้ำในผลงานชิ้น ความสุข (Happy) ทำให้เราตั้งคำถามถึงความสุขที่แท้จริงแล้วมันสวยงามแบบนั้นจริงหรือไม่ ชวนให้คิดย้อนกลับไป ถึงงานความเศร้า (Sadness) ในวันแรกที่ดอกไม้ถูกแขวนขึ้นไป เพื่อสร้างอุโมงค์น้ำตาจากดอกกล้วยไม้ที่กำลังทับโถมเราลงมานั้น ทะเลของโศกเศร้านี้คงเจือไปด้วยความสวยงามจนน่าประหลาดใจไม่น้อย
Fun Fact
- ภายในงานใช้ดอกไม้รวมกันทั้งหมดเกือบหมื่นดอก
- ระหว่างทางเดินหาทางเข้างาน อย่าลืมซื้อดอกไม้ติดมือเป็นบัตรผ่านเข้างาน
- เตรียมหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด -19 พร้อมโชว์ที่หน้างาน