เพียงได้สวมใส่ชุดขนสัตว์ที่ชื่นชอบ แล้วยืนสองขา สามารถพูด แสดงอารมณ์ และท่าทางต่างๆ ได้เหมือนมนุษย์ ก็อาจจะเป็นจุดสุดยอดของความสุขและความฟินของใครหลายๆ คน อย่างเจ้า ‘Chestna’ (เชสน่า) จิ้งจอกในร่างของ ‘โบ๊ท’ ผู้ที่มีความสุขกับการสรรค์สร้าง และครีเอทชุด Fursuit จาก Furry จิ้งจอกที่ตนเองรักและชื่นชอบ จากภาพจำในวัยเด็กของการ์ตูนที่ชอบดู จนรู้และเข้าใจตนเองอย่างชัดเจนในความรู้สึกแล้วว่า ชุด Fursuit คือคำตอบที่ใจต้องการ ทำให้เขาได้มิตรภาพดีๆ ได้แสดงศักยภาพ และความสามารถของตนเองผ่านชุดขนสัตว์ผู้น่ารักเหล่านี้ด้วย EQ ขอชวนท่อง Fursuit Community ไปพร้อมๆ กัน ณ บัดนี้
FURRY (เฟอร์รี่) / KEMONO (เคโมโนะ) คืออะไร?
Furry (เฟอร์รี่) / Kemono (เคโมโนะ) คือ การที่สัตว์ขึ้นมายืน 2 ขาได้เหมือนมนุษย์ เป็นสัตว์ที่มีคาแร็กเตอร์เหมือนมนุษย์ เช่น ตามสื่อต่างๆ อย่าง การ์ตูนดิสนีย์ ‘Zootopia’ อนิเมชั่นที่มีตัวละครในเรื่องเป็นสัตว์ ที่สามารถพูดได้ และเดิน 2 ขา รวมทั้งหนังการ์ตูน หรือเกม ที่ตัวละครยืน 2 ขา และพูดคุยได้เหมือนมนุษย์
Furry (เฟอร์รี่) กับ Kemono (เคโมโนะ) ไม่ต่างกัน แต่ Kemono คือศัพท์ทางญี่ปุ่น มีต้นกำเนิดมาจากภาษาญี่ปุ่น ส่วน Furry เป็นภาษาอังกฤษ เรียกรวมๆ เหมือนกัน
FYI: Kemono ในภาษาญี่ปุ่นอาจแปลได้ว่า ‘สัตว์ป่า’ หรือ ‘สัตว์ดุร้าย’ แต่ในที่นี้เรากำลังพูดถึง ‘สัตว์ หรือครึ่งคนครึ่งสัตว์ ที่มีจิตใจ และมีการสื่อสารแบบเดียวกับมนุษย์’ ส่วน Furry เป็นศัพท์แสลงทางฝั่งตะวันตก มาจากคำว่า Fur ที่แปลว่า ขนสัตว์ ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน
การแต่งตัวแบบคนครึ่งสัตว์มีวัฒนธรรมอะไรที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง?
เรียกว่าเป็นความนิยมที่เกิดขึ้นมาจากการเสพสื่อในแนว Furry โดยไม่รู้ตัว ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อที่ทำออกมา อาจไม่ได้ทำมาให้ Furry โดยเฉพาะที่มันไปอยู่ในหมวดคาแร็กเตอร์ของ Furry ทำให้หลายคนมีความคุ้นชินว่า เราเคยเห็นจิ้งจอกที่ยืนสองขาได้ ยืนคุยกันแบบในการ์ตูน เราเคยเห็นหมาป่าจากสื่อที่เก่าแก่ อย่าง Werewolf หนังฝรั่งที่มีสัตว์ประหลาดต่างๆ ซึ่งตรงนั้นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด Inspiration เพราะเราก็ชอบตัวละครแนวนี้ และเติบโตมากับตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ ค่อนข้างจะชอบชุดสไปเดอร์แมน หรือชุดซูเปอร์แมน Spandex หรือพวกชุด Latex แบบฮีโร่ๆ ผมก็เติบโตมากับการ์ตูนที่เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์ยืนสองขา ซึ่งทำให้เราคุ้นชินตรงนี้มากกว่า ผมว่าวัฒนธรรมตรงนั้นที่เป็นจุดกำเนิดสร้างตัวละคร Furry ขึ้นมา
แล้ว FURSUIT คืออะไร?
คือการที่เราอยากมีตัวละครที่เป็นของตัวเราเอง และเราสร้างตัวละครที่เป็นอาร์ตเวิร์กขึ้นมาก่อน (Reference Sheet) อย่างตัวผมเป็นจิ้งจอกที่มีสีเหลืองฟ้า ซึ่งคาแร็กเตอร์เหล่านั้นจะอยู่ในรูปแบบ 2D และมีทางเลือกในการอัพเกรดไปทำเป็นโมเดล 3D ที่เขาเอาไปทำหนัง หรือการ์ตูนที่เป็นโมเดล 3D เอาไว้ใช้ในโลกอินเทอร์เน็ต เช่น โปรแกรมแชทออนไลน์ต่างๆ หรือ VR Chat หรืออีกแบบคือ สร้างออกมาเป็นของจริงเลย เรียกว่า Fursuit คือ การเอาคาแร็กเตอร์ Furry มาสร้างให้เป็นชุด ถ้าอธิบายง่ายๆ Fursuit ก็เหมือนชุดมาสคอตที่เห็นตามห้าง หรือร้านค้า เช่น บาร์บีกอน ซึ่งเป็นของแบรนด์ แต่ Fursuit คือ มาสคอตของตัวเอง ที่เราสร้างขึ้นมาเอง
ถ้าอธิบายลึกลงไปอีก Fursuit จะสามารถแยกย่อยได้อีกหลายประเภท หลักๆ มี 3 ประเภท คือ
- Full Suit คือ ชุดแบบที่ผมมี แล้วใส่ได้เต็มตั้งแต่หัวยันเท้า หัว ตัว มือ หาง เท้า ครบเซ็ท
- Partial Suit อาจมีแค่หัว มือ หาง และเท้า ใส่แบบไม่ได้ครบทั้งตัว ส่วนบอดี้เป็นชุดธรรมดา หรือชุดคอสเพลย์ต่างๆ ได้
- Half Suit คือ มีแค่ครึ่งตัว มีทั้งครึ่งบนและครึ่งล่าง แต่ที่นิยมจะเป็นครึ่งล่างมากกว่า ตั้งแต่เท้าขึ้นมาถึงเอว ด้านบนก็ใส่เสื้อปกติ มีแขน มีมือ มีหัว ซึ่งครึ่งบนจะเป็นร่างคน
ต้องดูแลชุด FURSUIT อย่างไร?
Fursuit ไม่ใช่ชุดที่ทำจากขนสัตว์จริงๆ มันคือขนสังเคราะห์ เทคนิคในการดูแลคือ หลีกเลี่ยงความร้อนสูงๆ ห้ามใช้เตารีดเด็ดขาด เพราะถ้ารีดจะทำให้ขนพัง ก่อนสวมใส่จะใช้หวีเพื่อแปรงขนให้ดูเรียบร้อยสวยงาม หลังจากสวมใส่ หรือใช้งานเสร็จก็ต้องเอาไปผึ่งลมให้แห้ง เหมือนเวลาที่เราใส่ชุดมาสคอตเลย ที่เหงื่อออก ถ้าไม่ตาก หรือผึ่งลมจะทำให้เกิดกลิ่นอับชื้น เป็นเสื้อผ้าที่ซักยาก อย่างบอดี้ ถ้าไม่ได้เสริมโฟมเข้าไปในชุด ซึ่งบางคนเสริมเพื่อให้มีกล้าม หรือทำให้ขาใหญ่ขึ้น ก็จะซักยาก แต่บางชุดก็ถอดซักได้ แต่ถ้าถอดไม่ได้ ก็ซักไม่ได้ เพราะทำให้โครงพัง หลักๆ คือ จะไม่ซักทุกครั้งที่ใส่ ถ้าไม่ได้เลอะ หรือเอาไปลุยจะไม่ซักเลย ถ้าต้องซัก น้ำที่ใช้ซักต้องเป็นน้ำเย็นด้วย
ทำไมถึงชอบ และสนใจวัฒนธรรมนี้?
ที่บ้านดูพวก Cartoon Network เราเสพสื่อการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก ทั้งฝั่งยุโรป อเมริกา และฝั่งญี่ปุ่น ซึ่งจะเยอะ ตั้งแต่สมัยเกมยุคเก่าที่มีตัวละครเป็นสัตว์แล้วสามารถยืน 2 ขาได้ อย่าง Super Mario ก็มี Yoshi มี Bowser เราได้เล่นเกมแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก สื่อที่ดู พวกการ์ตูน Sonic the Hedgehog ที่เอากลับมาทำเป็นหนัง อันนั้นก็ใช่ เป็น 1 ใน Inspiration ที่ทำให้เราชอบตัวละครแนวนี้ จนผมไปเรียนป.โทที่อเมริกา และไปเจอสื่อทางโน้นซึ่งค่อนข้างกว้างกว่าในหมู่ Furry Community เราเลยค้นพบ และรู้จัก Furry, Fursuit เห็นแล้วอยากทำบ้าง น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สร้างตัวละคร Furry ที่เป็น Original Character ให้กับตัวเองตอนที่กลับมาที่ไทย
คาแร็กเตอร์ของโบ๊ทมีอะไรบ้าง?
ตัวแรกๆ เป็นตัวละครที่ผมได้รับชุด Fursuit มาจากเพื่อนที่รู้จัก บางคนเขามีหลายชุด บางชุด หรือบางตัวที่เขาไม่ได้ใส่ อาจให้คนอื่นใส่แทนได้ เลยได้ตัวนี้ เป็นหมาสีเทา ชื่อ ‘Ginni’ (จินนิ) เป็น Fursuit (Full Suit) ชุดแรกที่ได้ เป็นชุดมือสองที่ได้ใส่อยู่สักพักหนึ่ง เลยคิดว่า เราต้องมีชุดเป็นของตัวเอง เลยหาคนทำชุดเหล่านี้ในไทย เลยได้ตัว ‘Felix’ มา เป็น Partial Suit มีหัว มือ หาง และเท้า
ตัวแรกที่สร้างชื่อ ‘Felix’ (ฟีลิกซ์) เป็นจิ้งจอกสีออกเขียวๆ กึ่งฟ้า ตอนที่สร้างชอบสี Aquamarine ผมว่ามัน Unique ดี มีเซ็ทอัพให้มันนิดหน่อย ว่ามันควรมีพร็อพอะไรบ้าง และมีลักษณะนิสัยอย่างไร ซึ่งตัว Felix ผมสร้างมาเพื่อแทนตัวเองที่แค่เปลี่ยนภาพลักษณ์เฉยๆ และเพิ่มความแฟนตาซีนิดหน่อยตามสไตล์การสร้างตัวละคร ตอนสร้างก็ไม่ได้หาข้อมูลขนาดนั้น แค่คิดว่าชอบอะไร และสัตว์ไหนเหมาะกับเรา ซึ่งตัวนี้ผมทำร่วมกับเพื่อนที่เป็นศิลปินวาดรูปในวงการ Furry เขาก็ช่วยดีไซน์เพื่อให้ได้ Reference Sheet ใบแรก จริงๆ หลายคนจะมีตัวละครที่ชอบ วาดรูป และสร้างมันขึ้นมา แต่ถ้าไม่มี Reference Sheet มันไปต่อยาก อารมณ์เดียวกับแปลนชุดแฟชั่น มีแพทเทิร์น มีโค้ดสี มีรูปพร็อพ เหมือนเป็นการดีไซน์ชุดๆ หนึ่ง เวลาส่ง Reference Sheet จะช่วยให้ศิลปินคนอื่นๆ ที่วาดตัวละครของเราทำออกมาได้ตรงบรีฟ ได้รูปทรง ฟีเจอร์ และพร็อพตามที่ต้องการ สามารถคุยเรื่องท่าทางการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเป็นข้อดีในวงการ Furry ที่มี Reference Sheet ซึ่งช่วยให้การจ้างงานวาดต่างๆ หรือทำชุดต่างๆ ง่ายขึ้น ระยะเวลาการทำคาแร็กเตอร์ไม่ถึงเดือนครับ
สักพักก็เจอ Fursuit Maker คนรับทำ Fursuit เลยเป็นที่มาของตัวที่ 2 ที่มีชื่อว่า ‘Chestna’ (เชสน่า) ตัวนี้จะเป็นวิธีสร้างตัวละครอีกแบบหนึ่ง คือ ศิลปินจะทำโครงร่างไว้ก่อนว่าอยากจะทำชุดรูปทรงนี้ แต่ยังไม่ได้ระบุเผ่าพันธุ์อะไร จิ้งจอก สุนัข หมาป่า หรือแมวก็ต่างกันไม่เยอะ ถ้ายังไม่เริ่มทำก็สามารถดัดทรงได้ ผมเลยซื้อดีไซน์ชุดของเขา และต้องการให้ออกมาเป็นจิ้งจอก เลยได้ Fursuit จิ้งจอกออกมา
ตัวนี้มีชื่อว่า ‘Chestna’ เกิดจากเอาหลายๆ อย่างมารวมกัน เผ่าพันธุ์ของมันคือจิ้งจอก เพราะเป็นตัวเมนหลักของผม ชอบจิ้งจอกเพราะมันมีความน่ารัก และคล้ายๆ กับที่เราชอบ เราเลยอยากมีคาแร็กเตอร์แบบนั้น เลยทำตัวนี้ ลวดลายไม่ค่อยเยอะ เพราะตอนทำถือว่ายังใหม่ในวงการ เน้นสีเหลือง-ส้ม ขาเหมือนสัตว์ ตัวบวมๆ และเป้าต่ำ มันก็เป็นความน่ารักอีกแบบที่ผมชอบ ทำมาเพื่อถ่ายรูป มีตติ้ง และมีโชว์นิดหน่อย
เมื่ออยู่ใน FURSUIT การแสดงออกต้องกลายเป็นคาแร็กเตอร์นั้นๆ เลยไหม?
ต้องดูว่าจุดมุ่งหมายของการสร้างชุด Fursuit สร้างมาเพื่ออะไร อย่างที่ผมอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ Furry แต่ละคนก็จะมีจุดมุ่งหมายที่ไม่เหมือนกัน อย่างผมใส่เพื่อต้องการสร้างความสุขให้ตัวเอง ดังนั้น ถ้าผมเซ็ทคาแร็กเตอร์ชุดไหนไว้แล้ว ผมก็จะทำตามคาแร็กเตอร์ชุดนั้น ถ้าไม่ทำตามมันก็ดูย้อนแย้งว่า เราจะสร้างคาแร็กเตอร์นี้เพื่ออะไร แต่มีบางคนใช้ใส่เพื่อแสดงสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ เช่น การโชว์ความชอบของตัวเอง หรือมีการแอ็กชั่น การถ่ายแบบของตัวเอง เขาก็จะใส่ชุด Fursuit เพื่อแสดงภาพเหล่านั้นออกมา ซึ่งปกติเขาอาจจะเป็นคนขี้อาย ง่ายๆ ถ้าเป็นร่างของตัวเองอาจอายมากๆ ถึงขนาดกับไม่กล้าถ่ายรูป เขาเลยใช้ Fursuit สร้างความมั่นใจว่า ฉันก็ออกมาโชว์ตัวได้ พอใส่แล้วชอบ และกล้าที่จะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย Fursuit ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างกำลังใจ ให้เขาออกมาแสดงตัวตนได้มากขึ้น และมีอีกกลุ่มที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวละคร และทำเป็นชุด Fursuit เพื่อ Role-play หรือใส่ปุ๊บก็โชว์ความสามารถต่างๆ เช่น เล่นเปียโน ร้องเพลง หรือการเต้น เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ
“แต่ละคนมีจุดมุ่งหมายการสวมใส่ชุดที่แตกต่างกัน ผมใส่เพราะชื่นชอบ ใส่แล้วเกิดความฟินกับร่างกายตัวเอง มีความสุขกับการใส่ และแสดงเป็นคาแร็กเตอร์ของเรา อย่าง ‘Felix’ เป็นตัวที่ผมสร้างมาแทนผมเอง เวลาใส่ หรือไม่ใส่ผมก็ยังเป็นผม แต่คาแร็กเตอร์เชสน่า จะสร้างมาเพื่อเป็นชุด เป็นตัวที่ 2 ที่ผมสร้างเอง โดยใส่คาแร็กเตอร์ที่เราอยากได้ลงไป เชสน่าบุคลิกจะไม่เหมือนคนใส่ข้างใน เหมือนได้แสดงละคร ซึ่งมีความสุข และมีความฟิน”
คนในคอมมูฯ นี้ ทำอะไรกันภายใต้ FURSUIT?
ใส่เพื่อถ่ายรูป เช่น ถ่ายตามคาเฟ่ หรือสถานที่สวยๆ พวกธรรมชาติ หรือถ่ายตอนทำกิจกรรมต่างๆ ถ่ายคลิปเต้น หรือแม้กระทั่งเล่นสกีในชุดนั้น อย่างที่สองคือ ใส่เพื่อเข้าปาร์ตี้ และสังคม เพราะใน Furry ถ้ารวมทั่วโลก เขาจะมีงานที่ชื่อว่า ‘Convention’ เป็นมีตติ้งขนาดใหญ่คล้ายงานคอสเพลย์ ซึ่งการที่เรามีตัวละคร Furry เราไม่จำเป็นต้องมีชุด Fursuit ก็ได้ เราสามารถเข้าร่วม Convention เหล่านั้นได้ แค่หาพร็อพมาใส่นิดหน่อย แต่บางคนที่เขามีชุดก็จะใส่มาแบบจัดเต็มเลย หรือใส่ไปตามงานมีตติ้งขนาดเล็ก อย่างที่ 500 Cafe ก็มีใส่ชุดมาเจอกัน หรือบางทีพวกผมก็จะนัดกลุ่มเพื่อนมาเช่าสถานที่เพื่อจัดมีตติ้ง หรือพาไปโยนโบว์ลิ่งด้วยกัน คือ ไปเช่าเลนโบว์ลิ่งเพื่อจัดมีตติ้ง หรือเช่าคาเฟ่เพื่อจัดงานครึ่งวันถึงหนึ่งวัน
“การโชว์ธรรมดา มันก็ธรรมดา ต้องยอมรับว่า บางทีเราก็ไม่ได้เก่งกาจ เราก็ใช้ชุดในการช่วยเสริม ข้อดีของ Fursuit คือ การใส่ไปแสดงก็ไม่จำเป็นต้องดีเลิศเพอร์เฟกต์เหมือนชุด เหมือนเราเห็นมาสคอตของแบรนด์มาเต้นดุ๊กดิ๊ก ขยับ หรือแสดงความสามารถนิดหน่อย อย่างคุมะมงที่เราเห็นขี่มอเตอร์ไซค์ ถ้าคนทั่วไปขี่อาจรู้สึกธรรมดา มันเลยมีความพิเศษขึ้นมา ก็จะมีกลุ่มคนเหล่านั้น ที่ทำชุดขึ้นมาเพื่อโชว์สกิล หรือความสามารถ ซึ่งผมก็มี เพราะเอาชุดไปใส่เต้น หรือไปแสดง”
ความน่าสนใจของงาน ‘CONVENTION’ ในไทย?
Convention ในไทย คนจัดงานก็อยู่ในวงการ Furry ที่สามารถจัดงานเองได้ ในสังคม Furry เกิดจากคนหลากหลายอาชีพ เราไม่ได้เป็นแค่คนข้างใน หรือเราแค่ตัวละครที่เราเห็นจากข้างนอก การแสดงออกเราไม่ได้มองลงไปลึกๆ ว่า เขาคือใคร เลยมีคนจากหลากหลายสาขา ทั้งวิศวะ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ซึ่งจะมีกลุ่มคนที่หลากหลาย และมีความสามารถในการจัดงานอีเวนต์ Furry ซึ่งกลุ่มเหล่านั้นรวมตัวกันจัดงานขึ้นมา ที่บอกว่ามี 3 งาน มีคนจัดประมาณ 3 กลุ่มที่จัด เนื่องจากงานที่ผ่านมาช่วงเดือนมีนาฯ ซึ่งปีนี้เป็นครั้งที่ 6 แต่ปีนี้จะมีงานใหม่เพิ่มมาอีก 2 งาน เดือนกันยายน กับพฤศจิกายน เป็นอีกกลุ่มที่จัด เนื้อหาภายในงานก็คล้ายๆ กัน มีจัดพิธีเปิด โดยก่อนพิธีจะมีทาเลนท์ให้เหล่า Furry ขึ้นไปแสดงความสามารถต่างๆ บนเวที จนถึงขนาดการโชว์กายกรรม ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ Fursuit เท่านั้น แค่คุณเป็น Furry และมีความสามารถที่อยากจะโชว์ก็สามารถขึ้นไปโชว์ได้ แต่คนส่วนใหญ่จะไปพร้อมชุด และโชว์ความสามารถหลายๆ อย่าง อย่างผมก็ใส่ขึ้นไปเต้นคัฟเวอร์ก็จะยากหน่อย บางคนจริงจังมาก ถึงขนาดกับโมดิฟายชุดเพื่อให้ใส่แสดงง่ายขึ้น มีกิจกรรมเล่นเกม หรือเสวนาในหัวข้อที่เราชื่นชอบ จับรางวัล หรือจับของขวัญ ตั้งโต๊ะขายของทั้งรูปวาด ตุ๊กตา หรือนำเข้าของจากต่างประเทศที่เป็น Furry ขาย ใกล้ๆ จบงานก็จะมีเปิดเพลงปาร์ตี้ เปิดไฟสวยๆ เต้นกัน
เสน่ห์ของ FURSUIT คืออะไร?
มันคือความน่ารัก และมีความแฟนตาซี เพราะเราก็ไม่เคยเห็นสัตว์ออกมายืนสองขาอยู่แล้ว พอเราได้เห็นสัตว์ที่ไม่คุ้นชิน ที่มีฟีเจอร์แบบคน ทำให้ได้ความน่ารักของสัตว์ แต่เราสามารถปฏิสัมพันธ์ได้เหมือนคน เช่น จับมือ กอด คุยกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น มางานปาร์ตี้ด้วยกัน ซึ่งถ้าเป็นสัตว์ปกติเลย ไปเล่น หรือไปกอดอย่างหมาป่า เราก็คงทำแบบนั้นไม่ได้ แต่ถ้าเป็น Furry หมาป่าเราสามารถเล่นได้ปกติ และไม่อันตราย แถมได้ความน่ารักของสัตว์เหล่านั้น ผมว่าสิ่งเหล่านี้คือ เสน่ห์ที่ทำให้หลายคนชื่นชอบ และอยากจะมี Fursuit เป็นของตัวเอง
ในเชิงคอนเซ็ปต์ FURSUIT กับ LATEX/RUBBER มีความแตกต่างอะไรบ้าง?
ผมมีครบทุกอย่างเลย ทั้ง Fursuit ชุด Latex และ ชุด Spandex ด้วย และยังมีชุดอื่นๆ อีกมากมาย แต่ให้จำกัดเฉพาะเลย ผมชอบ Furry รองลงมา Latex และ Spandex ผมว่าความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของ Furry ที่ทำ Fursuit กับคนที่ทำชุด Latex ในความคิดของผม การใส่ Fursuit จะค่อนไปทาง Animal เป็นลักษณะนิสัยของสัตว์มากกว่า แต่ถ้าเป็น Latex Rubber มันยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ ถ้าเราทำชุด Latex Rubber มาถึงแม้มีลวดลายต่างๆ แต่เวลาสวมใส่ก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ และสูงกว่า ไปในทางซูเปอร์ฮีโร่ เพราะมีการปิดหน้า หรือชุดมีลวดลายพิเศษ ตรงนั้นเป็นฟีเจอร์ของ Latex Rubber แต่ถ้าเป็น Fursuit จะมีความเป็นสัตว์เยอะกว่า แต่มันมีเส้นบางๆ กั้นอยู่ เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการทำชุด Latex Rubber ที่ก้าวหน้า เลยเกิดสิ่งที่เรียกว่า Latex Fur คือ ชุด Latex ทรงแบบ Furry และมีฟีเจอร์แบบสัตว์ ผมเองก็มีชุด Latex คือ Felix จิ้งจอกสีฟ้า เป็น Latex เต็มตัวแบบทรงจิ้งจอก เพื่อนผมก็มีรูปทรงเป็นกวาง เพิ่มทรงด้วยเทคนิคในการทำชุดแบบต่างๆ ทั้งสูบลม หรือยัดหมอน ยัดลูกโป่ง เพื่อให้ได้ฟีเจอร์แบบสัตว์มากยิ่งขึ้น
มีกลิ่นอาย หรือความเป็น DOMINANT และ SUBMISSIVE อยู่บ้างไหม?
ในฝั่ง Furry ที่เป็น Fursuit ผมคิดว่าไม่มี เพราะว่ามันยากที่จะ Distinct คนข้างในว่าเป็นสายไหน จะเป็น Dominant หรือ Submissive เพราะชุดที่ทำออกมาอาจเป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่ง หรืออาจจะเป็นตัวจริงของเขา เราก็ไม่สามารถรู้ จริงๆ ในหมู่สังคม Furry/Fursuit บางชุดจะไม่รู้ว่าใครเป็นคนใส่ ไปถึงขั้นที่เราไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ เขาคือใครด้วย จะมีสไตล์แบบนั้น ซึ่งทำให้ผมคิดว่า จะแยกว่าเขาเป็นอะไรข้างในชุด Fursuit แทบจะไม่มี หรือดูไม่ได้ และอาจไม่ใช่สาระสำคัญในการทำชุดขึ้นมา แต่ก็มีบางคนที่ทำชุดขึ้นมาเพื่อแสดงความ Dominated แต่ผมคิดว่าโดยรวมไม่ครับ
FURSUIT COMMUNITY ในบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้ในประเทศไทยเริ่มมีการยอมรับมากขึ้น ต่างประเทศเขาเริ่มมาก่อนเรานานมาก อาจจะมากกว่า 10 ปี ที่เขาล้ำหน้าเราไปไกลแล้ว ไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยีในการทำชุด หรือการสร้างตัวละคร แต่จะพูดถึงเรื่องการยอมรับในสังคม ว่ามันแพร่หลายมากขนาดไหน ในประเทศไทยเราเริ่มมีความแพร่หลายมากขึ้น สังคมเริ่มรู้จักมากขึ้น ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เราได้รับเทรนด์การสร้างมาสคอตของแบรนด์ที่มาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เราจะเห็นว่ามีมาสคอตประจำจังหวัด หรือบริษัท และไทยเราก็เริ่มรับเข้ามา ซึ่งมาสคอตเหล่านั้นเป็นตัวละครครึ่งคนครึ่งสัตว์ มีคุมะมงที่ยืนได้ บาร์บีกอนที่ยืนได้ เพื่อความสะดวกในการใส่ชุด ถ้าเป็นมาสคอตสี่ขา ถ้าไปเดินตามห้าง หรือนอกห้าง มันไม่ตอบโจทย์ในการโปรโมตแบรนด์ เลยเข้ามาในไทยเยอะ ธนาคารก็ใช้มาสคอตเต็มไปหมด จะเห็นว่าแต่ก่อนประเทศไทยเรามาสคอตจะเป็นคนหัวโตๆ หรือมาสคอตคนที่เป็นเจ้าของแบรนด์ หรือเป็นคน แต่หลังๆ พอเราได้รับเทรนด์มาสคอตครึ่งคนครึ่งสัตว์มา ทำให้ชุด Fursuit หรือ Furry เริ่มมีความคุ้นชินมากขึ้น สามารถออกมาในพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น เทรนด์เหล่านี้น่าจะเข้ามาในไทยช่วงปี 2017 จึงทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับการมีชุดตัวละครที่เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์มาอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ Community ในไทยเติบโตขึ้น มีเจเนอเรชั่นในวัยทำงาน และมีเจเนอเรชั่นใหม่ที่เสพสื่อการ์ตูน หรือหนัง รวมทั้งเกมที่เป็นครึ่งคนครึ่งสัตว์เข้ามาร่วมด้วย ช่วงโควิดที่ผ่านมาทำให้จัดอีเวนต์ไม่ได้ พอปลดล็อกโควิด พอจัดงานคนก็มาเกือบพันคน อย่างปีนี้ก็มีจะมีงาน ช่วงต้นเดือนกันยายนที่จะถึงก็จะมีอีกงานหนึ่ง กลางเดือนพฤศจิกายนก็จะมีอีกงานหนึ่งเป็นงาน Convention ใหญ่ ซึ่งปีนี้มีไปแล้วครั้งหนึ่งช่วงปลายมีนาคมที่ผ่านมา งานมันเริ่มมีเยอะขึ้น และมีผู้เข้าร่วมเยอะขึ้น เพราะคนให้ความสนใจเยอะขึ้น ต้องบอกว่าเหล่าผู้ปกครองเห็นว่า เขาคุ้นชินกับมาสคอตต่างๆ เขาก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกที่ลูกตัวเองจะไปชอบตัวละครเหล่านั้น และอยากมีชุดแบบนั้น หรือไปจ้างทำชุด ซึ่งมีรุ่นน้องหลายคนที่ทางบ้านสนับสนุนให้เรียนรู้ และทำชุดทำพร็อพเอง บางคนเรียนรู้จนสามารถวาดงานศิลปะขายในตลาดได้เอง ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะในงานวาดศิลปะไม่มีตลาดรองรับ ทำให้เหล่าผู้ปกครองไม่สนับสนุนลูกหลานตัวเองให้เข้ามาสู่ในวงการเหล่านี้ แต่ในไทยเราก็เริ่มมี Demand มากขึ้น ทั้งการสั่งทำชุด การสั่งทำภาพ ทำอาร์ตเวิร์ก ปัจจุบันยังมีการจ้างทำโมเดล 3D ทำเป็นตัวละครอวตารมาแทน YouTuber ต่างๆ บางคนก็ใช้โมเดล 3D ทำ Furry เพื่อใช้ในสื่อโซเชียลต่างๆ พวก YouTube TwitchTV หรือ TikTok ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้ามาสายนี้เพิ่มขึ้น และสามารถทำเป็นอาชีพได้ด้วย
แล้ว FURSUIT COMMUNITY ในต่างประเทศล่ะ เป็นอย่างไรบ้าง?
ถ้าต่างประเทศเขาไปไกลกว่าเราเยอะ อย่างอเมริกาที่ไป เขาสามารถเช่า Convention Hall จัดแบบ 3 วันเต็มๆ จุคนในงานได้มาถึงสี่พันคน อารมณ์เหมือนเราไปงานที่ศูนย์สิริกิติ์ และมีกิจกรรมรันไปเรื่อยๆ เหมือนอีเวนต์ใหญ่ๆ เลย แต่ของไทยยังอยู่ในรูปแบบของห้องประชุมขนาดเล็ก หรือโรงแรม ที่จุคนได้ไม่เกิน 1,000 คน รวมไปถึงสื่อหลักของต่างประเทศที่มีการทำข่าว และอัพเดตตลอด อย่างที่ไต้หวันเขาทำเหมือนเป็นอีเวนต์ประจำปีของเมือง ตัวเมืองเองก็ให้ความร่วมมือ มีการสนับสนุน และช่วยโปรโมต รวมทั้งช่วยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พักเต็มหมด นอกจากคนไต้หวันเอง คนประเทศอื่นๆ ก็ไปเยอะด้วย อย่างผมและเพื่อนๆ ปีนี้ก็แพลนจะไปงาน Furry Convention ที่ไต้หวัน ไปกันประมาณ 40 คน
รู้สึกอย่างไรที่ FURSUIT มีภาพติดอยู่กับ SEX & FETISH?
ผมว่า Fursuit Sex กับ Fetish มันก็มีภาพลักษณ์แบบนี้ออกมาเนื่องจากในต่างประเทศเขาเริ่มต้นไปก่อนเราเยอะ ทำให้สังคมเขามีความเปิด ไม่แปลกที่จะมี Fursuit ที่คนใส่คิดว่ามันเป็น Fetish แล้วเอาไปใช้ใน Sex Play ใน Sexual Activity เราก็จะเห็นตามสื่อ และสื่อเหล่านี้เผยแพร่เร็วกว่าปกติ (หัวเราะ) และได้รับการแชร์เยอะ ผมว่าตรงนี้ไม่ใช่ Community Furry หรือ Fursuit มันคือความปกติของมนุษย์ จริงๆ ไม่ใส่ชุดก็มีกิจกรรมเหล่านี้ บางคนก็ใส่เป็นยูนิฟอร์ม หรือคอสเพลย์ ซึ่งในความคิดผมอัตราส่วนคือปกติ แต่ละคนก็มีพร็อพไม่เหมือนกัน บางคนไม่ได้ใส่ชุด บางคนมี Fursuit ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะผมคิดว่าเราแยกได้ส่วนไหนคือส่วนที่เป็นไพรเวต ส่วนไหนคือสาธารณะ ส่วนของผมคือ การมีความสุขแบบส่วนตัว ไม่ได้คิดจะเอาไปทำ Sexual Activity กับผู้อื่น แต่ถ้าถามว่าตัวจริงผมถอดชุดออกมา ก็มี Sexual Drive กับผู้อื่นอยู่
“Fursuit, Sex และ Fetish มันไม่เกี่ยวกัน เพราะมันเป็นความต้องการของมนุษย์อยู่แล้ว แต่ถามว่าไม่เกี่ยวเลยก็ไม่ใช่ มันสามารถดึงมาเป็นเครื่องมือในการเสริมเรื่อง Sexual Fetish เสริมแฟนตาซี ผมคิดว่าคล้ายๆ กับ Fetish/BDSM Scene บางคนชอบถุงเท้า บางคนชอบกัด”
เคยเจอการตีตรา หรือการแปะป้ายไว้กับเรื่อง SEX ไหม?
เนื่องจากผมตัวใหญ่ พอใส่ชุดก็ตัวใหญ่ เลยค่อนข้างน้อยในการที่คนอื่นจะมองมา ซึ่งอาจจะมีความคิดอยู่แต่ไม่ได้พูดออกมา เราอาจดูน่าเกรงขาม คงไม่มีใครอยากมาทะเลาะกับคนที่ตัวใหญ่แบบเรา มันก็มีที่เขาไปรับสื่อต่างประเทศมา คิดว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ เหรอ เราก็บอกเขาไปว่ามันแล้วแต่คน บางคนไม่ต้องมีไอเทมอะไรก็ได้ แต่บางคนใช้ไอเทมเพื่อสร้างความสุขเพิ่มเติม อย่างผมถ้าไม่ใช่ฝั่ง Furry ผมก็เล่น BDSM ใส่ชุด Latex
การใช้ FURSUIT ตอบสนองรสนิยมทางเพศ เป็นเรื่องผิด หรือทำให้ COMMUNITY เสื่อมเสียไหม?
ไม่ใช่เรื่องผิดเลยที่จะเอา Fursuit มาเป็น Fetish ของตัวเอง เพราะผมใส่แล้วก็มีความสุข ก็เกิดอารมณ์เหมือนกัน แต่มันเป็นความสุขส่วนตัว ผมคิดว่าจุดนี้เราต้องแยกให้ออก อย่างไปในพื้นที่สาธารณะไม่ควรทำอะไรที่ทำให้เกิดความวุ่นวายต่อสังคม เช่น ทำอนาจารในที่สาธารณะด้วยชุดเหล่านี้ ถ้าเป็นเหตุการณ์แบบนี้ข่าวจะไปไวมาก ทำให้ Community ของ Furry แย่ลง ถ้าไม่รู้จักยับยั้งว่า สิ่งใดควรอยู่ในพื้นที่ส่วนตัว เพราะทำในพื้นที่ส่วนตัวก็ไม่มีใครว่า ถึงแม้มีการลงในสื่อออนไลน์ แต่ก็เป็นพื้นที่เฉพาะที่เขาจะไว้ลงสิ่งเหล่านั้น มันต้องไม่เป็นชุดก็ได้ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่สื่อหลัก เช่น งาน Pride Parade ถ้าเราแต่ง Fursuit ไป แม้ในกลุ่ม Rubber หรือ Spandex เอง ถ้าไม่แต่งให้เป็นอนาจารสังคมก็ยอมรับ อย่าง Pride Parade รอบล่าสุดผมไม่ได้ใส่ Fursuit ไป ผมใส่ Latex ที่เป็นจิ้งจอก แต่เพื่อนๆ ผมใส่ทั้ง Fursuit แบบ Full Suit หรือ Partial Suit ไปร่วมเดินพาเหรด ร่วมแสดงพลังสนับสนุนในกลุ่ม LGBTQ+ สังคมก็ให้การยอมรับ ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎในพื้นที่สาธารณะ เขาก็สามารถแสดงรสนิยมทางเพศของเขาได้เต็มที่
“คนทั่วไปก็จะมองว่า Furry หรือ Fursuit ทำมาเพื่ออย่างนั้นอย่างเดียว ที่จริงมันมี แต่ไม่ควรเอามาโชว์ในพื้นที่สาธารณะ ผมว่าจุดต่างอยู่ตรงนี้”
คนที่สนใจ FURSUIT ควรเริ่มจากตรงไหน อย่างไร?
ใน Fursuit จะมีกลุ่มที่ชื่อว่า ‘Fursuit Maker’ คือ คนที่ทำชุดเป็นอาชีพ ซึ่งถ้าเรามีทุนทรัพย์สามารถนำตัวละคร Furry ของเราไปจ้างเขาทำได้ หรือถ้าเขาเปิดรับทำ และมีสเปกในใจเรา อย่างตัว เชสน่าที่ผมทำ เราก็ไปซื้อสล็อตตรงนั้นมา และใส่รายละเอียดต่างๆ ที่อยากได้ แต่ถ้ายังไม่มีทุนทรัพย์ ก็สามารถศึกษาวิธีการทำได้จากใน YouTube ใน TikTok หรือในอินเทอร์เน็ตก็มีไกด์ไลน์ มีการสอน และมีเทคนิคต่างๆ ซึ่งสามารถเรียนรู้เองได้ และซื้ออุปกรณ์มาทำก็ได้ หรือไปจ้างก็ได้ ถ้าเราจะทำเองต้องบอกว่ามันไม่ได้ง่าย ไม่ใช่แค่ตัดชุดหนึ่งชุดแล้วเสร็จ มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น ทั้งการเลือกประเภทขน มีหลายเกรด หลายขนาด แต่ละเกรด การดูแลก็แตกต่างกัน รวมทั้งความยากง่ายในการทำชุดก็ต่างกัน บางชุดยืดได้อาจเย็บยาก บางชุดยืดไม่ได้ถ้าแพทเทิร์นไม่ดีมันจะขาดไหม เพราะเป็นชุดที่มีฟีเจอร์เพิ่มเติม ถุงมือก็มีทั้งแบบ 4 นิ้ว และ 5 นิ้ว แพทเทิร์นมันก็ไม่เหมือนมือปกติ ดังนั้น ถ้าคิดจะทำเองต้องศึกษาให้ดี อาจต้องเลือกเทคนิคที่เหมาะกับวัตถุดิบที่เราสามารถหาได้ ถ้าฝืนทำอาจออกมาไม่ดี ถ้าไปจ้างคนอื่นทำ เราต้องตั้งงบประมาณก่อนว่าเรามีงบเท่าไรและจ้างใครทำได้บ้าง เนื่องจากมีหลายราคา ยิ่งในวงการ Fursuit มันค่อนข้าง International สามารถซื้อจากต่างประเทศได้ ทั้งไต้หวัน จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ทำให้การแข่งขันค่อนข้างสูง บางทีเราไปเจอเจ้าถูกใจแต่ไม่ได้สิทธิ์ในการจ้างเขาได้ เราต้องมีตัวเลือกสำรอง หรือไปจ้างเจ้าอื่น ต้องดูเครดิตร้านที่จ้างด้วยเพื่อความชัวร์ว่า เราได้ชุดจริงๆ หลังจากวางเงินมัดจำไป มันจะคนละแบบกับบางเจ้าที่มีคิวนานเป็นปีสองปี การที่เราจะเอาเงินสองสามหมื่น ไปฝากไว้กับคนอื่นเป็นปี กว่าจะได้ของมันก็เป็นจำนวนเงินที่เยอะ อย่างต่างประเทศราคาอยู่ที่ชุดละหลักแสน ต้องดูว่าช่างเขาพร้อมทำให้เราหรือเปล่า และเรารอได้ถึงเมื่อไร ทันใช้งานไหม