Culture

เมื่อโลกของเกม และโลกเสมือนจริง มาบรรจบกันที่ “ARCHOPIA”

Metaverse (เมตาเวิร์ส) กลายเป็นคำที่ถูกยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ และกลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล และเมื่อ ‘เกม’ กับ ‘เมตาเวิร์ส’ เข้ามารวมตัวกัน การเล่นเกมในโลกเสมือนจริงจะแตกต่างจากเกมทั่วไปอย่างไร? และเมตาเวิร์สจะเกี่ยวพันกับชีวิตและความเป็นอยู่ของเรามากน้อยแค่ไหน? อย่างไร? จะเกิดอะไรขึ้นในเร็ววันนี้? ‘แพรว – รวิสุดา โชติกสิริรักษ์’ เจ้าของบริษัท Metaverse Studio “ARCHOPIA” จะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวที่น่าสนใจเหล่านี้ให้ชาว EQ ได้อัปเดตกัน!

คุณแพรวจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา Urban Design จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานในสาย Urban Design มาประมาณปีกว่าๆ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาทำงานด้านการผลิตเกม รับพัฒนาแบรนด์ และทำแบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดบนเมตาเวิร์ส ในปัจจุบัน คุณแพรวมีบริษัทผลิตเกมซึ่งดำเนินมาร่วม 5 ปี และ Metaverse Studio ทำมาเกือบครบ 1 ปี

จุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้

"แพรวมาจากสายผลิตเกมก่อน ซึ่งฝั่งนี้เกี่ยวกับการนำเกมเข้ามาให้บริการในประเทศไทย พอเทรนด์เมตาเวิร์สเริ่มเข้ามา โมเดลการทำงานระหว่างเกมกับเมตาเวิร์สก็จะมาควบคู่กัน แพรวก็เลยรู้สึกท้าทาย และตัดสินใจเข้ามาทำงานด้านเมตาเวิร์สที่เกี่ยวกับกลไกของเกม ก็พบว่าตัวเมตาเวิร์สนั้นมีความหลากหลายมากกว่าแค่การทำเกม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจหลากหลายรูปแบบในการสร้างโลกเสมือนขึ้นมาได้ มันมีความท้าทายมากกว่าการทำเกมทั่วไป แพรวเลยต่อยอดมาทำด้านนี้เพิ่ม เราเป็นเหมือนกับสถาปนิกเมตาเวิร์สที่ทั้งออกแบบและสร้างเมตาเวิร์สให้กับแบรนด์ หรือองค์กรใหญ่ๆ ที่ต้องการมีเมตาเวิร์สเป็นของตัวเอง เราช่วยพัฒนาให้เขา ซึ่งเราไม่ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สขึ้นมาเอง แต่เราใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันมาสร้างให้เขาอีกที"

ความคิดก่อน-หลังการเข้ามาทำงานสายเกมและเมตาเวิร์ส เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน?

"เมตาเวิร์สมันมีความเปิดกว้างมากกว่าการทำเกมแบบปกติ เนื่องจากพื้นฐานเบสิกของเมตาเวิร์สคือการเปิดให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกัน ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการออกไอเดีย แม้กระทั่งการพัฒนาอวาตาร์ของตัวเอง หรือนำคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับเมตาเวิร์สเข้าไปใช้งานร่วมกันได้ แต่เกมไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมได้ เนื่องจากผู้ทำเกมและทีมพัฒนาเกมเป็นคนวางแบบแผนให้คนอื่นๆ ได้เล่น เพราะฉะนั้น มันเลยค่อนข้างแตกต่างกันประมาณหนึ่ง แต่โดยเบสิกหรือกลไกในการเข้าไปใช้งานนั้นจะเหมือนกับการทำเกม"

‘Metaverse 101’ คืออะไร?

"เบสิกของคำว่าเมตาเวิร์สคือการเชื่อมระหว่าง ‘โลกเสมือน’ กับ ‘โลกจริง’ เข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มบางอย่างที่สามารถจำลองโลกจริงบนโลกเสมือนได้ โดยโลกที่สร้างขึ้นมา คือโลกที่ผู้เล่นหรือคนที่ต้องการเข้ามาใช้งาน สามารถทำกิจกรรมอะไรบางอย่างร่วมกันในโลกนี้ได้ ซึ่งคนที่จะเข้ามาได้ต้องสร้างอวาตาร์สมมติของตัวเอง กิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะเป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้เหมือนในชีวิตจริง หรือมากกว่านั้นก็สามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถสร้างโลกใต้น้ำบนเมตาเวิร์สได้ ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่สามารถเข้าไปอยู่ในนั้นได้ แต่บนเมตาเวิร์สเราสามารถดีไซน์มันขึ้นมาได้"

โปรดักส์ต่างๆ ของเมตาเวิร์สที่ทำ ทั้ง The Sandbox / Decentraland / Spatial​ คืออะไร?

"แพลตฟอร์มเมตาเวิร์สปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานเยอะที่สุด มี 3 ตัวหลัก คือ The Sandbox, Decentraland และ Spatial​ ซึ่งทั้ง 3 แพลตฟอร์มนี้ ผู้คนจะสามารถสร้างอวาตาร์และเข้าไปทำกิจกรรมในนั้นได้ แต่ละแพลตฟอร์มมีความแตกต่างตรงที่การใช้งานภาพ 3D ไม่เหมือนกัน ถ้าเราต้องการความเป็นเกม มีความน่ารัก เราก็ต้องเลือกใช้ The Sandbox แต่ถ้าต้องการออกมาให้เป็นแบบกึ่งเกม กึ่งสมจริง เราก็จะไปที่ Decentraland ถ้าต้องการความสมจริงมากๆ ออกมาเป็นภาพ 3D อารมณ์แบบสร้างบ้านขึ้นมาเป็นหลังๆ เราก็จะเลือกไปที่ The Spatial ซึ่งการใช้งานของมัน สามารถดีไซน์ให้ออกมาได้แตกต่างกันมากๆ"

"The Sandbox คือการสร้างเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง หน้าตาจะคล้ายๆ เกมที่ชื่อ Minecraft ซึ่งภาพจะเป็นกล่องๆ เป็นงาน visual art คนที่เข้ามาเล่นจะสามารถสร้างหรือปั้นอะไรก็ได้ สร้างเมืองแบบไหนก็ได้ในพื้นที่ที่เขามีขาย มองภาพง่ายๆ คือ เป็นโลกหนึ่งที่มีแปลงที่ดินเยอะมากๆ เราสามารถซื้อที่ดินตรงนั้นและสร้างเป็นเมือง เป็นสวนสนุกก็ได้ และสร้างได้ทุกอย่างที่อยากสร้าง และยังเปิดที่ดินให้ทุกคนเข้ามาเช่าหรือเล่นบนที่ดินตรงนี้ได้"

"Decentraland ก็เป็นโมเดลเดียวกันกับ The Sandbox แต่ความแตกต่างอยู่ที่ตัวกราฟิก โดยภาพจะมีความสมจริงมากกว่า ส่วนตัว Spatial​ เหมาะกับการทำออฟฟิศ หรือทำอีเวนต์แบบ virtual เราสามารถดีไซน์ตัวอาคารหรือห้องเพื่อรองรับการจัดอีเวนต์ประเภทนี้ได้ โดยกลุ่มคนจะเข้ามาได้ไม่เยอะมาก ไม่เกิน 30 คน เนื่องจากข้อจำกัดทางอินเทอร์เน็ตหรือความเสถียรของภาพ 3D ที่ทำออกมา อันนี้เป็นโปรดักส์หลักๆ ที่เรารับออกแบบ และรับจัดอีเวนต์ตรงนี้ให้"

“มันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างภาพเสมือนได้ และทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในสิ่งเหล่านี้ได้”

โปรดักส์เหล่านี้ช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างไร? 

"การที่คนๆ หนึ่ง อยากจะเข้าไปเที่ยวในสถานที่หนึ่ง แต่ไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะไป โปรแกรมเหล่านี้จะจำลองและทำภาพเสมือน ทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในแพลตฟอร์มนี้ได้โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องไปในสถานที่นั้นจริงๆ เช่น เราสามารถไปเที่ยวเมืองไหนสักเมืองในโลกใบนี้ขึ้นมา ซึ่งคนที่ไม่มีโอกาสได้ไป ก็สามารถเข้ามาในพื้นที่เหล่านี้ได้เหมือนกัน มันคือโปรดักส์หนึ่งที่ช่วยในเรื่องการเรียนรู้หรือการทำโมเดลอีกหลายๆ รูปแบบได้เลยค่ะ”

มันคืออนาคตของมนุษยชาติไหม?

“เทคโนโลยีหรือเทรนด์ต่างๆ มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถามว่าเป็นอนาคตของมนุษยชาติได้ไหม ก็อาจเป็นไปได้ เพราะก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีเทคโนโลยีอะไรเลยด้วยซ้ำ มนุษย์ยังต้องพัฒนาตัวเองและใช้งานในสิ่งๆ นั้นอยู่ อย่างปัจจุบัน เราใช้โซเชียลคอนเทนต์ในการเข้าถึงสื่อต่างๆ ในขณะที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของสื่อเหล่านี้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับเมตาเวิร์ส ทุกคนก็สามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้ด้วย เนื่องจากการพัฒนาเมตาเวิร์สคือการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมาใน NFT มันเลยทำให้ทุกคนมีสิทธิ์ในการสร้างโปรดักส์นั้นๆ ด้วย เช่น เมืองนี้ที่แพรวพัฒนาขึ้นมา การที่แพรวจะเอาตัวละครเข้ามาเล่น แพรวสามารถสร้างตัวละครเข้ามาเล่นเองได้ ซึ่งตัวละครตัวนี้เป็นสินทรัพย์ของเรา แล้วถ้าวันหนึ่งเราไม่อยากจะครอบครองสินทรัพย์นี้แล้ว ก็สามารถส่งต่อให้คนอื่นได้ ทำให้ทุกคนมีทรัพย์สินที่เป็นดิจิทัลได้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจะลองเข้ามาในโมเดลนี้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ทุกคนมากยิ่งขึ้น"

ข้อดี-ข้อเสีย หรือ ข้อจำกัดของเมตาเวิร์ส มีหรือไม่ อย่างไร?

"ข้อดีมันมีอยู่แล้ว เพราะทุกคนมีโอกาสที่มากขึ้น มีช่องทางในการทำโอกาสต่างๆ ได้เยอะขึ้น ซึ่งก็คือ ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ มันสามารถสร้างรายได้ทางการเงิน เปิดโอกาสในการทำอะไรอีกหลายๆ อย่างได้ แต่มีข้อเสียคือข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี เนื่องจากเมตาเวิร์สยังอยู่ในช่วงแรกๆ ดังนั้น เทคโนโลยีที่จะเข้ามา ทั้ง AR, VR หรือ การทำอนิเมชั่น 3D มันค่อนข้างเฉพาะกลุ่มมากๆ จะเป็นแค่กลุ่มโปรแกรมเมอร์หรือดีไซน์เนอร์เท่านั้นที่จะสามารถเข้าถึงได้ เรื่องของข้อจำกัด ระบบอินเทอร์เน็ต แพลตฟอร์ม โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ปัจจุบันยังไม่ได้ซัพพอร์ตในเวอร์ชั่นที่จะรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ทำให้การเข้าถึงของคนในปัจจุบันยังน้อยอยู่ แต่แพรวมองว่าสุดท้ายแล้ว เมื่อเทคโนโลยีมันเสถียรก็จะสามารถไปไกลได้มากกว่านี้ ทุกคนน่าจะเริ่มเข้าถึงได้เยอะขึ้น"

อุปสรรคสำคัญในการทำงาน?

"ด้วยตัวโปรแกรมหรือแพลตฟอร์มยังค่อนข้างใหม่มากๆ และอยู่ในช่วงพัฒนา มันทำให้เราเจอช่องโหว่ของการใช้งานเยอะมากๆ ซึ่งเราสามารถติดต่อหรือพูดคุยกับผู้พัฒนา และช่วยรีพอร์ตตัวระบบของเขาได้ อุปสรรคคือ ภาพที่เราอยากได้ตอนมันออกมาเป็นโปรดักส์สุดท้ายที่เสร็จ 100% มันไม่สามารถเป็นไปในทิศทางที่เราตั้งใจได้ เราจึงแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยการอุดช่องโหว่ หาแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของเมตาเวิร์สเข้ามาช่วยเหลือไปก่อน และรอทางทีมผู้พัฒนามาทำใหม่ อีกเรื่องคือมันไม่มีหลักสูตรใดๆ สอนเลย ด้วยความที่ยังใหม่มาก เราก็เลยต้องค่อยๆ ทำและทดลองไปเรื่อยๆ ซึ่งในระยะเวลา 1 ปีที่เราทดลอง เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองไปก่อน ซึ่งมันก็มีโอกาสที่แพลตฟอร์มที่ทำจะออกมาสมบูรณ์และใช้งานได้กับทุกคน"

“สิ่งที่เรากำลังทำคือ การช่วยลูกค้าทุกคนที่ต้องการพัฒนาเมตาเวิร์สในโปรดักส์ของตัวเอง ซึ่งสามารถเชื่อมกันระหว่างโลกเสมือนกับชีวิตจริง และโปรดักส์จริงๆ ของเขาได้”

มีสิ่งไหนบ้างที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา? 

"ทีมแพรวเป็นทีมที่พัฒนาเมตาเวิร์สให้กับแบรนด์ต่างๆ คนที่เข้ามาใช้งานแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สต้องสามารถใช้งานได้จริงในโปรดักส์ของเขาด้วย เหมือนเราไปสร้างแบบจำลองโมเดลธุรกิจของเขาในโลกเสมือน ให้คนเข้ามาใช้งานแบรนดิ้งในการสร้างโลกเสมือน แล้วขมวดออกมาใช้ในโปรดักส์จริงๆ ได้ เรียกว่าเป็นการทำการตลาดรูปแบบใหม่ โปรดักส์ที่เขาเอามาใช้ก็สามารถแลกสิทธิประโยชน์ในโลกของความเป็นจริงได้ เช่น เขาจะเข้ามาเล่นแบบจำลองโลกเสมือนของการเป็นคนทำพิซซ่า ในร้านพิซซ่าที่เราสร้างในโลกเสมือน พอเขาเล่นตรงนี้จบแล้ว เขาสามารถแลกเป็นอาหารจากร้านพิซซ่าจริงๆ ได้ ซึ่งตอนนี้เราทำออกมาในรูปแบบของแพลตฟอร์มกลางที่สามารถใช้งานได้ทุกอย่าง รวมๆ แล้วสามารถแลกเป็นสินค้าจริงในชีวิตได้"

มีสิ่งไหนบ้างที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้? 

"คิดว่าน่าจะมีอะไรอีกมากมาย แต่ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่จะออกมาในอนาคตว่าทำได้ถึงขนาดไหน เพราะปัจจุบัน เรายังใช้งานแค่มือถือกับคอมพิวเตอร์อยู่ อาจจะไม่มี AR หรือ VR มา แต่ถ้าวันหนึ่งมันสามารถเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เช่น แว่นตา 3D ที่เวลาใส่แล้วไปตามท้องถนน ภาพที่เราเห็นจะไม่ใช่โลกจริง มันก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งมันน่าจะเป็นอะไรที่ว้าว"

จากคำกล่าวที่ว่า "เมตาเวิร์สนั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นเนื่องจากคนอยากหนีออกจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง" มีความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยคนี้อย่างไร

"มนุษย์มีหลายแบบ และมีกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับสิ่งนี้ แพรวค่อนข้างเห็นด้วย เพราะตัวแพรวเองเป็นสาย introvert ค่อนข้างหนักมาก แต่สุดท้ายมนุษย์ก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตในโลกของความเป็นจริง แพรวเชื่อว่าโลกเสมือนเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่สามารถรวมกลุ่มคนเข้ามา และทุกคนจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ร่วมกันได้ ซึ่งในชีวิตจริง เราอาจไม่มีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างโลกขึ้นมา แต่ในเมตาเวิร์ส ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะสามารถสร้างอะไรก็ได้ร่วมกัน ต่างคนต่างแสดงออกในสิ่งที่ต้องการได้ มันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น"

ภาพรวมของคนทำเกมและเมตาเวิร์สในไทยเป็นอย่างไร และการพัฒนาและก้าวต่อไปข้างหน้าต้องมีปัจจัยอะไรบ้าง

"ถ้าถามในมุมเกมและเมตาเวิร์สสตูดิโอที่มีในปัจจุบัน เริ่มจะมีบ้าง แต่ก็ไม่ได้เยอะมากเหมือนในต่างประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดในประเทศไทย เราไม่ได้มีหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีหรือการทำเกม คนที่ทำเกมในไทยจึงไม่ได้มาจากฝั่งผู้พัฒนามากสักเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการดีไซน์เมตาเวิร์ส ข้อมูล หรือบุคลากรในไทย มันไม่ได้ซัพพอร์ตในส่วนนี้ ในปัจจุบันยังเป็นการที่เราสร้างโดยใช้แพลตฟอร์มของคนอื่น และเราเป็นเหมือนกลุ่มจิตรกรหรือโปรแกรมเมอร์ที่พอจะเข้าใจและทำมันได้ แต่เราไม่ได้มีแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สเป็นของตัวเอง เราวางตัวเป็นสตูดิโอเล็กๆ ที่เข้าไปใช้งานเขามากกว่า ถ้ามีหลักสูตรการเรียนด้านการทำเกมหรือเมตาเวิร์สตามมหาวิทยาลัยก็น่าจะดี น่าจะมีบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มขึ้น ถ้าสามารถพัฒนาเกมด้วยตัวของเราเองได้ มันค่อนข้างจะทำรายได้ที่ดี เพราะวงการและตลาดเกมค่อนข้างบูมมากในช่วงโควิด ซึ่งตอนนี้เราทำได้แค่นำเข้ามาเผยแพร่ แต่ไม่ได้ผลิตด้วยตัวเอง"

คำแนะนำถึงคนทำเกมและเมตาเวิร์สหน้าใหม่

"มันเป็นโปรเจกต์ที่สนุกและค่อนข้างท้าทายมากๆ ต้องการให้มีทีมงานหรือคนที่อยู่ในวงการเมตาเวิร์สเพิ่มขึ้นเ