“ผู้หญิงกับผู้หญิงจะดูแลกันได้เหรอ?” คำถามแฝงอคติที่หญิงรักหญิงหลายคู่ต้องเผชิญ แนวความคิดที่คอยควบคุมและกดทับคนกลุ่มนี้ ส่งผลให้การใช้ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น บางเรื่องเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ กลับจำกัดอยู่แค่คนกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลประโยชน์เท่านั้น และกลุ่มหญิงรักหญิงหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแพท - แภทริเซีย ดวงฉ่ำ, เนย - ปฐมภรณ์ จันทรังษี และ ปรินส์ - นิธิอร กันแก้ว ตัวแทนจากกลุ่ม GIRL x GIRL เกี่ยวกับเรื่องราวของหญิงรักหญิงหลากหลายมุมมองที่พวกเธอต้องเผชิญและสิ่งที่อยากปรับเปลี่ยนให้ผู้คนเข้าใจหญิงรักหญิงเพิ่มมากขึ้น
ความแตกต่างบริบทหญิงรักหญิงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
แพท: แพทเป็น Gen Y อายุ 31 ปี เรารู้สึกว่าตอนอยู่มัธยม สื่อในประเทศไทยทั้งภาพยนตร์ ละคร และซีรี่ส์หญิงหญิงจะกลายเป็นทอมดี้เกือบทั้งหมด เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เข้าล็อกทั้งทอมและดี้ พอสื่อมันไม่เข้าปุ๊บ เราไปหาสังคมจากอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียล กลุ่มไลน์ คอมมูนิตี้ต่างๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นกลุ่มหาคู่ หรือเป็นคู่รักเลสเบี้ยนที่ประกาศข่าวแต่งงานกัน เราพยายามอยู่ในกลุ่มนั้นๆเพื่อรู้จักเพื่อนมากขึ้น และแพทไม่มีเพื่อนที่เป็นหญิงหญิงเท่าไหร่ ทำให้เราพยายามหาจากในสื่อโซเชียลมากกว่า ปัจจุบันสื่อแสดงมุมมองที่หลากหลายของหญิงรักหญิงมากขึ้น หลังจากผู้คนมีความรู้ด้านความหลากหลายทางเพศมากขึ้น สื่อในประเทศไทยยอมรับมากขึ้น ส่วนคอมมูนิตี้กลุ่มที่เป็นหญิงหญิงอาจะไม่เยอะเท่ากับตัวอักษรอื่นๆ ใน BTQIAN+ เท่าไหร่
เนย: เนยเป็น Gen Y ช่วงกลางๆ ถ้านิยามของคนไทยเรา เนยน่าจะอยู่ในบริบททอมดี้ บริบทหญิงรักหญิงในประเทศไทยปัจจุบันยังเปิดกว้างไม่มากพอ อาจจะด้วยวัฒนธรรม ค่านิยมคนไทย กฎหมาย ทำให้สมัยก่อนเราดูเป็นอะไรที่ประหลาดมากๆ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าผู้หญิงผู้ชายต้องคู่กัน ผู้หญิงผู้หญิงดูแลกันไม่ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงคือ เราไม่ตอบคำถามใครอีกแล้วว่าเราเป็นรุกหรือเป็นรับ เราสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าเราสามารถดูแลกันได้ ในส่วนของบริบทภาพยนตร์ ละคร การหาคู่ และแอปพลิเคชันมีมากขึ้น เป็นทางเลือกใหม่ให้เขาและเป็นเซฟโซนของบางคนมากขึ้น
เรามีการเปลี่ยนแปลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์ เนยคิดว่าจะเปลี่ยนแปลงทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
ปรินส์: ปรินส์เป็น Gen Z เพิ่งอายุ 20 ปี ตั้งแต่เด็กเราได้รับคำถามจากเพื่อนเสมอว่า ทำไมถึงชอบคนนี้ ทำไมเธอถึงชอบผู้หญิง เราบอกเขาไปว่า เราอธิบายไม่ถูกว่ะ เราก็บอกว่ามันปกติหรือเปล่าวะ แต่เพื่อนตอบกลับมาว่า มันไม่ปกติ เพราะเราและเขาเป็นผู้หญิง ตอนนั้นเราไม่อยู่จะตอบยังไง เวลาเราชอบใครเรามักจะโดนล้อมากกว่าผู้ชายกับผู้หญิงชอบกัน แต่ปรินส์โชคดี ครอบครัวเราเปิดรับมากๆ ถ้าพูดถึงเรื่องสังคมภายนอกปัจจุบัน ปรินส์รู้สึกว่ามันยังมีตรรกะวิบัติ เขายังคิดอยู่ว่าผู้หญิงที่เป็นหญิงรักหญิง เขาตัดผมสั้นแล้ว เขาต้องเป็นรุกเท่านั้น ปรินส์จะโดนบ่อย มีเพื่อนผู้ชายเรียกว่า น้องชาย เพื่อนชาย ซึ่งปรินส์ไม่ชอบ มันเป็นการระบุอัตลักษณ์เราทั้งๆ ที่ เราอาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้น ทำไม LGBTQ+ ต้องมานั่งตอบว่าเราเป็น Sub หรือ เราเป็น Dom
Sexual Harassment และ Male Gaze ที่ต้องเผชิญ
นอกจากคำถามที่หญิงรักหญิงต้องเผชิญแล้ว ประเด็นเรื่อง Sexual Harassment และ Male Gaze ยังเป็นสิ่งที่พวกเธอล้วนเผชิญทั้งทางตรงและทางอ้อม ทาง GIRL x GIRL พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า
เนย: เราเผชิญการโดน Sexual Harassment จากผู้ชายมาตลอด เราจะโดน Sexual Harassment เพื่อนผู้ชายคนนึงพูดว่า ถ้ามีแฟนเป็นผู้หญิงจะฟินมากเลย พาแฟนมาสิ เหมือนชอบโมเมนต์ผู้หญิงอยู่ด้วยกัน เรารู้สึกไม่โอเค เขายังมองเราเป็นวัตถุทางด้านเพศอยู่ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เนยรู้สึกว่าแก้ยากมากๆๆ มากกว่าการขับเคลื่อนกฎหมายสมรสเท่าเทียม และแก้ยากกว่าเราบอกพ่อแม่ว่าเราเป็นหญิงรักหญิงอีกนะ
แพท: จากการจัดวงสนทนา ทั้งใน Clubhouse, Twitter Space, Zoom Meeting, และ Discord เพื่อนๆใน GIRLxGIRL มีประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ตั้งแต่ในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน อาจารย์มหาวิทยาลัย รุ่นพี่ที่ทำงาน และจากบุคคลใกล้ชิดไม่ว่าเพศหญิงหรือชาย และไม่รู้ว่าควรปรึกษาใคร หรือทำอย่างไรต่อ ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหานี้ ปกป้องไม่ให้เกิดขึ้นอีกร่วมกัน นอกจากนี้สื่อหรือมีเดียหญิงรักหญิงทั้งของไทยและของต่างประเทศ ประมาณสัก 80 - 90 เปอร์เซ็นต์ ถูกผลิตขึ้นจากมุมมองของผู้ชาย ซึ่งถึงแม้สื่อจะมีการเปิดกว้างและมีการแสดงเรื่องราวของหญิงรักหญิงมากขึ้น แต่ส่วนมากยังเป็นมุมมองของ Male Gaze อยู่ดี
ต่อให้เราขับเคลื่อนไปสักแค่ไหน แต่ก็ยังมีคนที่เชื่อในระบบปิตาธิปไตยที่ผู้ชายใหญ่สุดอยู่ดี
- เนย -
สื่อภาพยนตร์และละครสร้างภาพเหมารวมของหญิงรักหญิง
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาพยนตร์และละครที่พูดถึงความหลากหลายทางเพศมีเพิ่มมากขึ้น แต่บางครั้งสื่อก็ยังสร้างภาพเหมารวมของผู้มีความหลากหลายทางเพศให้ผูกติดอยู่แค่บทบาทแบบเดียว สร้างภาพประทับให้แก่ผู้คนในสังคม ซึ่งในหลายๆ ครั้งภาพเหล่านั้นลดทอนคุณค่าของผู้คนลงไป
เนย: หนังหรือละครต้องเลิกใช้บทที่ว่า เจอเพื่อนมาบอกชอบ แต่ตัวละครอีกตัวกลับบอกว่า เราเป็นผู้หญิงนะ จะรักกันได้ยังไง
ปรินส์: เลิกยัดเยียดบทชู้ใน LGBTQ+ สักที
แพท: อย่าง Club Friday เรื่องที่เป็นหญิงหญิง หรือชายชาย คนนึงจะต้องอกหักจากผู้ชายมาก่อนถึงจะมีแฟนเป็นผู้หญิงได้
เนย: เราต้องเลิกสร้างค่านิยมได้แล้วว่า ต้องลองทุกอย่างแล้วค่อยมาจบที่ผู้หญิง มันก็มีคนที่ลอง แต่เราไม่ได้ลองไง กลายเป็นว่าเราโดนมองว่าเราไม่โอเคกับผู้ชายหล่ะสิ และผู้หญิงจะรักกับผู้หญิงไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงอีกคนต้องโซผัว อีกคนต้องน่ารัก ไม่จำเป็นต้องดู masculine จ๋า
จริงๆ แล้วสื่อไทยมีพลังกับคนไทยมาก ถ้าเปลี่ยนได้อยากให้เปลี่ยนบท ทำไมเราต้องดูเป็นชู้เขาตลอด มันกลายเป็นว่าสร้างค่านิยม “อกหักเมื่อไหร่ก็แวะมา”
- เนย -
อคติที่อยากให้หมดไปเป็นอย่างแรกของหญิงรักหญิง
ปรินส์: ตัดผมสั้นเป็นทอมเหรอ
เนย: มองเราเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็พอ ไม่ต้องถามอะไรเรามาก บางคำถามเรารู้สึกว่า เราไม่อยากตอบแต่เราต้องตอบ อย่าเป็น toxic แก่กันและกันเลย เราอาจจะไม่ใช่เพศเดียวกับคุณ แต่เราเกิดมาบนโลกเดียวกับคุณ ฉะนั้นเห็นเราเท่าเทียมกับคุณเถอะ แค่นี้สิทธิในการแสดงและอื่นๆ ของเราก็น้อยมากพออยู่แล้ว
แพท: การแสดงออกการเป็นตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง My Body My Choice หรือว่าจะเป็นเรื่องการรักใคร มันคือการแสดงออกการเป็นตัวเองของเขา เป็นสิทธิของเขา พอถูกวัฒนธรรมกับจารีตถูกครอบร่วมกันกับปิตาธิปไตย มันทำให้การแสดงออกถูกควบคุม จริงๆ มันเป็นแค่ตัวเขา หรือเรื่องการ come out หรือ หรือไม่ come out ก็ขึ้นอยู่กับความสบายใจของบุคคลนั้นๆ แต่หากเรารู้สึกว่าคนไม่กล้าแสดงออกหรือบอกว่าเราเป็นใคร ชอบอะไร ก็คงเป็นการดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุขเลยแน่ๆ อีกเรื่องคือความเชื่อทางศาสนา ที่ทำให้เขาไม่สามารถรักกันได้ การรักกันเป็นเรื่องบาป
กฎหมายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง
แพท: ด้านกฎหมาย GIRL x GIRL เป็นหนึ่งในภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ร่วมสนับสนับสนุนการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ www.support1448.org, ร่วมสร้างเครือข่ายองค์กรบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ, ช่วยการโปรโมททางออนไลน์ การพูดคุยต่างๆให้คนรู้จักและเพิ่มความเข้าใจในสมรสเท่าเทียมมากขึ้น นอกจากนี้ทาง GIRLxGIRL เปิดวงสนทนาให้รู้จักอักษรตัวอื่นๆของ LGBTQIAN+ และสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ หลายต่อหลายครั้ง เพราะเราเชื่อว่าถ้าหากคนมีความเข้าใจ ก็จะเกิดการยอมรับ และสนับสนุนต่อมา
เนย: ต่อมาเรื่อง ขอบุตรบุญธรรม หรือธนาคารอสุจิ มันค่อนข้างที่จะไม่ถูกกฎหมายในประเทศไทย ซึ่งการผสมเทียมที่ใช้อสุจิส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้หญิงกับผู้ชาย ผู้ใหญ่หรือคนบางส่วนมองว่า คนที่เป็น LGBTQ+ มีภาวะทางจิตใจที่ไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถดูแลเด็กได้ ถ้าเราเป็น LGBTQ+ การขอบุตรบุญธรรมในประเทศไทยเป็นไปไม่ได้เลย กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เนยอยากเพิ่มเข้าไปคือ การขอบุตรบุญธรรมและสวัสดิการ และมันควรมีการตัดสินใจแทนกันได้ เช่น ถ้าแฟนเรารถชนต้องผ่าตัด แต่เราไม่สามารถเซ็นให้เขาได้ เพราะสถานะของเราเป็นแค่ผู้จดแจ้ง แต่เราไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนเขา บุพการีหรือญาติพี่น้องยังต้องตัดสินใจให้อยู่ แล้วถ้าวันนั้นไม่มีใครตัดสินใจแทนได้ล่ะ ถ้าวันนั้นมันไม่ทันแล้วจะทำยังไง นี่คือสิ่งที่กฎหมายไทยควรจะแก้
แพท: สิทธิของคู่รักที่เป็นชาวต่างชาติด้วย พอเราแต่งงานไม่ได้ คู่รักชาวต่างชาติก็ไม่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้ และเดินทางได้ เช่น ถ้าแฟนเป็นคนสิงคโปร์ เขาจำเป็นต้องกลับประเทศเพื่อขอวีซ่าทุกๆ 3 เดือน ไม่สามารถอยู่ร่วมกับคนรักยาวๆหรือขอ Permanent resident ได้
อนาคตอยากเห็นคอมมูนิตี้หญิงรักหญิงและสังคมเป็นอย่างไร
ปรินส์: เราอยากให้คนหยุด make fun ในรั้วการศึกษาโดยเฉพาะโรงเรียน ปรินส์รู้สึกว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของเด็กคนนึงที่กำลังจะเติบโตมา การ make fun ว่าคนนี้เป็นตุ๊ดหรืเป็นทอม มันทำให้เขาเสียความมั่นใจ มันทำให้เขาไม่กล้าที่จะแสดงความเป็นตัวเองออกมา อีกอย่างนึงการศึกษาไทยไม่ได้เอื้อในการแสดงอัตลักษณ์ของตัวบุคคลขนาดนั้น การปลูกฝังเด็กว่า LGBTQ+ เป็นสิ่งผิดปกติ มันเป็นการกดตัวตนของเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมาอยู่บนโลก ในอุดมคติด้านกฎหมาย เราอยากให้สิทธิต่างๆ ที่ควรได้ ไม่จำเป็นต้องวิ่งเอกสารเยอะขนาดนี้
เนย: คล้ายๆ กับปรินส์ เรามองด้านการศึกษา ครูเป็นอย่างแรกเลยที่ควรจะปรับ การศึกษาของครูหรือคณะศึกษาศาสตร์ที่เขาจะเป็นครูในอนาคต ควรเรียนเรื่องการลื่นไหลทางเพศ คือเนยเห็นมาตลอดตั้งแต่เด็กจนโต และเนยเจอมากับตัวคือ เรียกเข้าห้องปกครองเพราะเรามีแฟนเป็นผู้หญิง แล้วเขาถามว่าพ่อแม่ไม่อายเหรอ ซึ่งตอนนั้นมันอิมแพคสำหรับเราที่เป็นเด็กมาก ต่อมาคือ ระบบการศึกษาของเด็ก เรื่องเพศศึกษา สอนแบบตรงไปตรงมา มันไม่ใช่เรื่องน่าอาย อันนี้ควรเปิดกว้างได้แล้ว การทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องปกติ จะทำให้การมองผู้หญิงเป็น sex appeal หรือ sex object จะน้อยลง นอกจากนี้เรื่องเซ็กส์อยากให้เขามีการสอนเรื่องรสนิยมทางเพศ เพราะคนส่วนใหญ่มองหญิงรักหญิงที่ใช้ sex toy ว่าเราวิปริต มีการตั้งคำถามว่า เราใช้ sex toy ทำไมเราไม่ไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย เพศศึกษาต้องสอนว่ามันเป็นรสนิยมทางเพศ ไม่ใช่ว่าเราใช้ sex toy แล้วเราอยากจจะมีอะไรกับผู้ชาย อันนี้คืออยากเห็นในอนาคตมาก เด็กจะคิดเองได้ สังคมจะเปิดกว้างและให้เกียรติกันมากขึ้น
แพท: เห็นด้วยกับทั้งปรินส์และเนย เราต้องเริ่มจากโครงสร้างของประเทศก่อน ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขศึกษาที่สอนเพศศึกษา ไม่ได้สอนแต่ผู้หญิงว่า ห้ามมีเพศสัมพันธ์เดี๋ยวท้องนะ แต่ควรสอนผู้ชายด้วยว่าป้องกันอย่างไร หรือถ้ามีจะแก้ไขยังไงให้มันถูกต้อง หลังจากที่โตมาแล้ว ถ้าเราเข้าใจ gender ที่ถูกต้อง คุณจะไม่มีคำถามว่าใครเป็น masculine ใครเป็น feminine เพราะว่ามันแยกออกจากกันชัดเจน
เราว่าประเทศไทยจะดีต้องเกิดจากความเข้าใจก่อน การปลูกฝังที่ดี สื่อที่ยอมรับความแตกต่าง ถ้ามันดีขึ้นสิทธิก็จะตามมาเอง
- แพท -
กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้
แพท: จะมีการจัด GIRL Talk ผ่านโครงการ Tomorrow’s Leader ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสถานทูตอเมริกา เป็นงานเสวนาของหญิงรักหญิง ที่บอกเล่าเรื่องราว ประสบการณ์ ความรู้สึก ในหลากหลายมุมมอง ทั้งเวลาสุข สมหวัง หรอแม้แต่ช่วงอุปสรรคต่างๆรุมเร้าในการดำเนินชีวิต ซึ่งเทุกเรื่องราวเกิดขึ้นจริงผ่านการถ่ายทอดอย่างตั้งใจ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และการยอมรับที่มากขึ้น ช่วงเดือนมิถุนายน งานนี้เราอยากสื่อสารให้คนที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+ ได้เข้าใจด้วย และชวนติดตามงาน Youth Pride, สมรสเท่าเทียม Pride, Thailand Pride, และ ไทPride ซึ่งมีรายละเอียดออกมาเร็วๆ นี้ค่ะ