Culture

อุนเทอนั๊บ ไปหอศิลป์กับเราป่าว? ‘วัยรุ่นเทสดี’ ตัวตนแห่งหอศิลป์ และนิทรรศการ

“อุนเทอนั๊บ เทสดีจังเลยนั๊บ” นี่มันภาษาอะไรกันเนี่ย? เชื่อว่าหลายคนที่เจอคำพูดลักษณะนี้เป็นอันต้องเกิดความสงสัย งุนงงว่ามันคืออะไร แปลว่าอะไรกัน ต้องบอกก่อนว่า เราเคยเห็นภาษาลักษณะนี้ครั้งแรกในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ เป็นการพูดคุยระหว่างบัญชีบอท (บัญชีที่สวมหัวโขนเป็นคนอื่น เช่น ใช้รูปตัวการ์ตูนเป็นโปรไฟล์ และสวมรอยเป็นตัวละครนั้นๆ) แต่แท้จริงแล้ว วัยรุ่นเทสดี นั้นมีต้นกำเนิดมาจากแพลตฟอร์มติ๊กต็อก

Photo Credit: Pinterest

จุดเริ่มต้นของวัยรุ่นเทสดี

วัยรุ่นเทสดีถูกเริ่มต้นขึ้นที่แพลตฟอร์มติ๊กต็อก จากการที่มีผู้ใช้งานคนหนึ่งลงคลิปเดินชมหอศิลป์ด้วยลักษณะการแต่งกายแบบมินิมอล (ไม่หวือหวา ธรรมดา ส่วนมากจะเป็นสีขาว-ดำ) เสื้อเชิ้ตสีดำ หมวกสีดำ และหน้ากากอนามัยสีดำ ถ่ายคู่กับงานศิลปะในหอศิลป์ ทำให้เกิดการใช้คำเรียกที่ว่า ‘เทสดี’ ขึ้นมา

โดยคำว่า เทส ในที่นี้หมายถึง Taste ที่แปลว่ารสนิยม หรือก็คือการชมว่าคนในคลิปมีรสนิยมที่ดีนั่นแหละ พอคลิปนั้นโด่งดังเป็นกระแสขึ้นมา ก็เกิดการคอมเมนต์วิจารณ์ต่างๆ ขึ้นมา เช่น นี่คือเทสดีแล้วเหรอ ถอดหน้ากากมาหน้าคงแย่น่าดู เป็นต้น

และนี่คือจุดเริ่มต้นของวัยรุ่นเทสดี ก่อนที่จะถูกใช้งานในหลากหลายแพลตฟอร์ม แต่ส่วนมากจะถูกใช้งานในแง่ลบมากกว่าแง่บวก ยกเว้นแต่ในแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ที่ค่อนข้างจะเป็นมิตรกับคำๆ นี้ นอกเหนือจากการแต่งกายแล้ว สิ่งที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของวัยรุ่นเทสดีคือ การฟังเพลง Die For You ของศิลปิน The Weeknd

กระแสสังคมต่อกลุ่ม ‘วัยรุ่นเทสดี’

อย่างที่เราบอกไปกระแสถูกแบ่งออกเป็นสองลักษณะคือ ‘ชอบ’ และ ‘แซะ’ ซึ่งส่วนมากจะไปในทางแซะมากกว่า เหตุผลที่ทำให้สังคมไม่ชอบนั้นมีหลายประการ เช่น การใช้คำพูดที่ดูจะไม่ค่อยรู้เรื่อง ภาษามีความเป็นเอกลักษณ์ถึงขั้นภาษาวิบัติเลยก็ว่าได้ หรือจะเป็นจุดกำเนิดของคำนี้ที่มาจากติ๊กต็อกก็สร้างความอคติให้ผู้ใช้งานแพลตฟอร์มอื่นๆ ได้เหมือนกัน

โดยรวมแล้ว กระแสสังคมดูจะไม่ชอบวัยรุ่นเทสดีเอามากๆ แต่ในบางมุมมองของคนที่ไม่ชอบก็มีความสมเหตุสมผลอยู่เหมือนกัน อย่าง การเป็นวัยรุ่นเทสดีต้องเข้าชมหอศิลป์ด้วยมู้ดที่ชื่นชมศิลปะอย่างมาก แต่แท้จริงแล้วส่วนมากจะสร้างปัญหาให้ผู้ที่ต้องการชมหอศิลป์จริงๆ เสียมากกว่า จากประสบการณ์ของผู้ใช้งานหอศิลป์หลายคน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ากลุ่มวัยรุ่นเทสดีไม่มีจุดประสงค์ที่จะรับชมงานศิลปะ เพียงแต่มาถ่ายรูปสร้างคอนเทนต์เท่านั้น

นอกเหนือจากนี้คอนเทนต์ของกลุ่มวัยรุ่นเทสดียังมีความ Cringe ในภาษาไทยจะมีความหมายประมาณว่า น่าอับอายแทน ยิ่งทำให้กระแสที่เกิดขึ้นเป็นในทิศทางที่ลบลงเรื่อยๆ

Photo Credit: @shyugwwer

ตัวอย่างคอนเทนต์ที่ถูกผลิตออกมาอย่างมากมายคือ รูปถ่ายจากหอศิลป์ด้วยการแต่งกายสีดำทั้งตัว พร้อมท่าเอกลักษณ์อย่างการก้มหัวให้เห็นเพียงหมวกเท่านั้น แต่บรรยากาศรอบตัวจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า กำลังรบกวนผู้ที่ตั้งใจดูงานศิลปะอย่างแท้จริง

แต่หากมองในแง่ความเป็นส่วนตัวแล้ว พวกเขาย่อมมีสิทธิในการแต่งกายด้วยหลัก My Body My Choice ซึ่งในส่วนนี้ชาวเน็ตก็เป็นฝ่ายที่ไม่น่ารักเสียเอง ในการวิจารณ์ความชอบของพวกเขา แต่ในส่วนของการรบกวนผู้อื่นในพื้นที่สาธารณะนั้น วัยรุ่นเทสดี ก็สร้างความเดือดร้อนอย่างชัดเจนเช่นกัน ดังนั้น อย่างไรกระแสก็ยังคงมีสองด้านขนานกันไปทั้งผู้ที่ชอบ และผู้ที่แซะ

สนามอารมณ์ที่ยังเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

ถึงแม้ปัจจุบันคำว่า วัยรุ่นเทสดี จะได้รับกระแสที่น้อยลงไปมากแล้ว แต่ก็ยังถูกแซะเรื่อยมาไม่หยุดเสียที เป็นสนามอารมณ์ของแพลตฟอร์มใหญ่อย่าง เฟสบุ๊ก โดยเฉพาะ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมมันยังเป็นกระแสอยู่ทั้งๆ ที่มันควรจะจบไปได้แล้ว

กุญแจสำคัญของเรื่องนี้คือ MBTI ต้องบอกก่อนว่า MBTI เป็นความเชื่อที่พูดถึงตัวตน ลักษณะนิสัยของผู้คนด้วยตัวอักษร โดยกลุ่มใหญ่ๆ จะมี 2 กลุ่มคือ E (Extrovert กลุ่มคนที่ชอบเข้าสังคม) และ I (Introvert กลุ่มผู้ที่ไม่ชอบเข้าสังคม) แล้วทำไมวัยรุ่นเทสดีถึงมาเกี่ยวข้องกับความเชื่อนี้กันน่ะหรือ?

Photo Credit: Workman Publishing

เพราะว่า วัยรุ่นเทสดี เป็น ‘อินโทรเวิร์ต’ เสียส่วนมาก ซึ่งความหมายของมันคือ วัยรุ่นเทสดีไม่ชอบเข้าสังคม จะเก็บตัวอยู่เงียบๆ คนเดียว มันก็ค่อนข้างที่จะเหมาะกับบุคลิกของพวกเขานะ ที่ชอบเที่ยวชมหอศิลป์คนเดียว ใส่หูฟังฟังเพลง แต่สิ่งที่ทำให้กลายเป็นสนามอารมณ์ของชาวเน็ต คือ การประกาศตัว

“ดีงับ 55555555555 มาเมกเฟรนกันงับ เราเป็นอินโทรเวิร์ต เรามาหา FWB งับ แล้วเราก็เป็นโรคซึมเศร้าด้วย อยากคุยกับคนที่ไม่ Judge เรางับ ฟังเพลงแนวเดียวกันด้วยนะ แต่คงยากหน่อยเพราะเราฟัง HipHop งับงื้อ” ถ้าให้สารภาพตามตรงรู้สึกหงุดหงิดตัวเองมากในขณะที่พิมพ์ตัวอย่างให้ผู้อ่านเห็นภาพกัน ลักษณะข้อความที่เราพิมพ์ไปนั้นคือ การประกาศตัวว่าเป็นอินโทรเวิร์ตของเหล่าวัยรุ่นเทสดี

สิ่งที่ทำให้คนในสังคมโลกออนไลน์ไม่ค่อยชอบใจคงจะเป็นความย้อนแย้งของพวกเขา ที่บอกว่า ตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต ซึ่งไม่ชอบเข้าสังคม แต่มาประกาศหาเพื่อนเสียอย่างงั้น หรือว่าจะเป็นการเปิดการ์ดที่ทำให้รู้สึกว่าอยู่คนเดียวในสังคมอย่าง การตามหาคนฟังเพลงแนว Hip Hop ว่ายากมากทั้งๆ ที่กลุ่มคนที่ฟัง Hip Hop มีอยู่มากมาย เพราะเป็นแนวเพลงที่นิยมทั้งในไทย และต่างประเทศ

เหตุผลหลักๆ ที่ยังทำให้กระแสของวัยรุ่นเทสดียังติดลมบน และเป็นสนามอารมณ์อย่างต่อเนื่องก็จะมีประมาณนี้ มันส่งผลต่อทั้งกลุ่มคนที่ชื่นชอบการแต่งกายชุดดำทั้งตัว หรือคนที่ชอบฟังเพลง The Weekend พวกเขามักจะถูกเหมารวม ว่าเป็นวัยรุ่นเทสดีกันหมด และอย่างที่เราบอกหลายครั้งว่ามันไม่ใช่ในทางที่ดีนักหรอก คำๆ นี้

Photo Credit: DigitalMore

ความเชื่อมโยงของหอศิลป์ และนิทรรศการ กับวัยรุ่นเทสดี

ในหัวข้อนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แต่เราคงต้องมองย้อนไปไกลหน่อย ในสมัยอดีตกระแสความนิยมในงานศิลปะ หรือวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ชั้นสูง’ คนที่เข้าถึงได้จะต้องเป็นขุนนาง เศรษฐี หรือคนมีความรู้เท่านั้น เป็นเหตุที่ศิลปะ กับวัฒนธรรมถูกยึดโยงกับความเป็นชนชั้นสูงที่มักจะเข้าใจยาก

แนวคิดที่นี้มีที่มาจากที่ ผู้คนในสมัยก่อนต้องดิ้นรนหาทางรอดในสังคม ต้องทำงานหาเงินเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน สิ่งที่เรียกว่าศิลปะ ไม่ว่าจะแขนงไหน ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าถึงได้เลย ทำให้ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องมีฐานะสูงส่ง มีเงินเพียงพอที่จะหยุดทำงานเพื่อไปรับชมสิ่งสวยงามพวกนี้ได้ และวัฒนธรรมก็มักจะถูกกำหนดโดยกลุ่มคนพวกนี้ มันจึงกลายเป็นนอร์มของสังคม ที่ว่าผู้ที่เข้าถึงศิลปะคือชนชั้นสูง และมันคือวัฒนธรรมที่พวกรากหญ้าไม่มีวันเข้าใจ

ด้วยความเป็นชนชั้นสูง เข้าใจยาก มันจึงเป็นสิ่งที่จะเป็นจุดเด่น เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของกลุ่มวัยรุ่นเทสดี ซึ่งหากมองจากการใช้คำอย่างวัยรุ่นเทสดีก็คงจะตีความได้ไม่ยากว่ากลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับรสนิยมอย่างมาก ในไทยอะไรบ้างล่ะที่จะแสดงถึงความมีรสนิยมอย่างสูง คำตอบคือหอศิลป์ และนิทรรศการที่พูดถึงเรื่องราวในสังคม มันเป็นการสร้างภาพจำว่าวัยรุ่นเทสดีมีรสนิยมที่สูงส่ง สามารถเข้าใจงานศิลปะได้

ซึ่งเรามองว่ามันเป็นการสร้างค่านิยมที่เชื่อมโยงได้ไม่เหมาะสมเท่าไร มันทำให้การเข้าชมหอศิลป์ เข้าชมนิทรรศการเป็นเรื่องของรสนิยมไปโดยปริยาย ซึ่งมันไม่ควรที่จะเป็นเช่นนั้น ศิลปะมันคือการสื่อสารที่ไม่มีถูกผิด ความเข้าใจในงานศิลปะคือปัจเจกบุคคลมันถึงมีเสน่ห์

Photo Credit: เจอนี่เจอนั่น - JourneyJournal

แต่วัยรุ่นเทสดีได้สร้างนอร์มที่ หอศิลป์เท่ากับรสนิยมดี ไปเรียบร้อยแล้วเป็นเรื่องยากที่จะแยกภาพจำของสองสิ่งนี้ออกจากกัน และยิ่งมาเจอเรื่องราวที่กลุ่มวัยรุ่นเทสดีบางคนไม่ได้เข้ามาเพื่อจุดประสงค์ทางศิลปะด้วยซ้ำ ยิ่งตอกย้ำว่าในความคิดของพวกเขาหอศิลป์เป็นเพียงแค่พื้นที่ประกาศอัตลักษณ์ความมีรสนิยมดีเท่านั้น

ดังนั้น ถ้ากลุ่มวัยรุ่นเทสดีต้องการสร้างภาพจำให้ยึดติดกับหอศิลป์ก็เรียกได้ว่าทำสำเร็จแล้ว ตอนนี้หอศิลป์เป็นพื้นที่ของวัยรุ่นเทสดีตามความเข้าใจของสังคมแล้ว แต่แปลกดีที่กลุ่มนี้ดูจะไม่ค่อยสนใจศิลปะที่อยู่ในพื้นที่ของพวกเขาเลย

Photo Credit: @wutw.p

ท้ายที่สุดนี้ วัยรุ่นเทสดียังคงเป็นคำที่แสดงออกในเชิงลบมากกว่าบวกอยู่ดี นอกเหนือจากเหตุผลทั้งหมดที่เราพูดมาแล้วนั้น ยังมีพฤติกรรมหลายอย่างที่ค่อนข้างจะสร้างความไม่ชอบให้สังคม อย่าง การใช้ข้ออ้างของโรคซึมเศร้า แสร้งไปตีสนิทกับผู้อื่นแล้วฉวยโอกาสต่างๆ ซึ่งมันมีเรื่องแบบนี้จริงๆ ในสังคม

และความยึดโยงของหอศิลป์กับ วัยรุ่นเทสดี คงใช้เวลาที่นานมากในการแยกออกจากกัน ในปัจจุบันก็คงเป็นพื้นที่ของกลุ่มพวกเขาอย่างเต็มที่แล้วล่ะ ถึงแม้จะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นที่ต้องการรับชมงานศิลปะก็ไม่มีความสนใจกันอยู่แล้ว

Photo Credit: SpringNews

แต่ในแง่ของการแต่งกายเป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลมากๆ การทำคอนเทนต์ประเภทแซะอย่าง ‘Starter Pack For วัยรุ่นเทสดี’ ที่จำกัดการแต่งกายของพวกเขา ก็ดูเป็นคนแย่ไม่ต่างจากกลุ่มวัยรุ่นเทสดีที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นในการชมหอศิลป์ หรือนิทรรศการเลย

อ้างอิง

The Thaiger