Culture

Growing Tea-Culture: ร้าน Tea Specialty ที่นำเสนอชาแบบ New Traditional กับความฝันที่อยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการดื่มชา

เมื่อไม่กี่วันมานี้ เรามีโอกาสได้แวะเข้าไปที่ร้านชาเล็กๆ ร้านหนึ่งในย่านสุทธิสาร ภายใต้บรรยากาศโมเดิร์น แต่อบอุ่นไปด้วยวัฒนธรรมการชงชา และอุปกรณ์ชงชาแบบดั้งเดิม พร้อมเมนูเครื่องดื่มที่บอกให้เรารู้ว่าที่ ‘Grow Tea Studio’ แห่งนี้คือ พื้นที่ๆ ต้อนรับผู้คนที่ ‘อยากดื่มชา’ ให้ได้เข้ามาดื่มด่ำไปกับเครื่องดื่มที่เป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่ม ผ่านการรังสรรค์ของ Tea Specialty ภายใต้บรรยากาศสบายๆ เราเลยชวน 2 ผู้ก่อตั้งของร้านอย่าง ‘บะหมี่’ – นภัคธรณ์ ศรีไทรคู และ ‘ประทัด’ – ธนพงษ์ พิสิฐสิฬษ์ พาเราเดินไปบนเส้นทางตลอด 2 ปีของ Grow Tea Studio พร้อมทั้งสะท้อนวัฒนธรรมการดื่มชาในบ้านเรา และบอกเล่าความฝันที่อยากสร้างวัฒนธรรมการดื่มชาแบบคนไทยขึ้นมาให้ได้

เมื่อ ‘ชา’ และ ‘ศิลปะ’ มาเจอกัน ‘แพชชั่น’ จึงเกิดขึ้น

ประทัด: ต้องเท้าความก่อนครับว่า ตอนแรกผมกับบะหมี่ทำงานอยู่ที่เดียวกัน ก็คือที่ Greyhound Cafe บะหมี่เป็น Food Designer ส่วนผมเป็น Food Stylist ช่วงนั้นบะหมี่เขาป้ายยา พาไปกินร้านชาอะไรอย่างนี้ เขาเริ่มจากที่เห็นว่าเราชอบกินชาก่อน แล้วเราชอบกินโฮจิฉะ บะหมี่เขาเลยพาเราตระเวนไปทั่วร้านชาแถวนั้นว่ามีโฮจิฉะอะไรบ้าง หลังจากนั้นผมก็เริ่มชอบกินพวกมัทฉะ พวกชามากขึ้น ก็เลยถามบะหมี่ว่า เปิดร้านชาไหม? แค่นั้นเอง

บะหมี่: แต่ถ้าในฝั่งของบะหมี่ก็คือ เหมือนในช่วงนั้นก็มีแพลนว่าอยากจะทำอะไรของตัวเอง เพราะว่าเราก็สะสมประสบการณ์จากการทำงานในพวกสายเครื่องดื่ม สายชา สายอาหารมาสักพักหนึ่ง แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างอยู่แล้ว แต่แค่ตอนนั้นเรายังมองไม่ชัดว่าจะทำได้อย่างไร แล้วก็พอรู้ว่าของแบบนี้มันทำคนเดียวไม่ได้ เพราะว่า ถ้าเราจะทำธุรกิจเราอาจจะต้องมีเพื่อนคู่คิด บวกกับว่าเป็นเพื่อนกับประทัด เหมือนตอนแรกเราก็มีคุยกันเล่นๆ ว่าอยากจะทำนู่นนี่ด้วยกัน ตอนแรกก็จะทำน้ำสุขภาพ น้ำสกัดเย็น แต่ด้วยความที่เราถอยหลังกลับมามองว่า จริงๆ แล้วเรามีความหลงใหลในอะไร แล้วพร้อมที่จะเหนื่อยกับอะไร หรือว่าอะไรที่เราพร้อมจะทำเพื่อลูกค้าของเราด้วยความถนัดได้อย่างเต็มที่ พอคุยไปคุยมาก็เหมือนว่า หันมามองหน้ากันแล้วก็เกิดความรู้สึกว่า ‘เราคิดเหมือนกันอยู่ใช่ไหม’ เป็นจังหวะเดียวกับที่ประทัดถามว่าเปิดร้านชาไหม? ซึ่งเราก็เตรียมมาแล้วเหมือนกันว่า เออ เปิดร้านชากันไหม? มันเกิดขึ้นแค่ช่วงเวลาสั้นๆ บนรถแค่นั้นเลย หลังจากนั้นพอเช็กว่า เอาจริงไหม? เราเอาจริง แล้วก็เริ่มทำเลย

ประทัด: ในตอนที่ตัดสินใจ ด้วยความที่พวกผมจบอาร์ตกันมาทั้งคู่อยู่แล้ว เราก็มองว่า ถ้าทำด้านอาหาร มันก็ต้องเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มอะไรบางอย่างที่มีความอาร์ตอยู่ด้วย ซึ่งชามันก็ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ก็เข้าโจทย์ที่เราทำเช็กลิสต์ของตัวเอง ตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็น Food Stylist กับ Food Designer ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร

“เรียกว่า ศิลปะ กับ ชา เป็นแพชชั่นของเราเลยก็ได้ครับ” – ประทัด

ทุกกระบวนการคิด เกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้าดื่มชาอย่างมีความสุข

บะหมี่: ตัวเราคือฝั่งเมนูครีเอทีฟ กับฝั่ง R&D และจะมีน้องๆในทีมที่แบ่งหน้าที่กันชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคนซึ่งร้านเราจะทำงานร่วมกันทุกแผนกเพื่อที่จะให้ Branding มันออกมาชัดเจนที่สุดในทุกแง่ของผลลัพธ์ที่ส่งต่อลูกค้า

ประทัด: ส่วนของ Branding สิ่งแรกที่เราทำก่อนเลยก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่เหมือนร้านชาทั่วไป ที่คนมองภาพว่า โห โคตรญี่ปุ่น หรือไม่ก็โคตรจีน เพราะฉะนั้นเราพยายามให้มันดูทันสมัยขึ้น โมเดิร์นขึ้น แล้วพวกกิมมิกทางวัฒนธรรมมันจะโผล่ขึ้นมาเองจากอุปกรณ์ที่ใช้ อันนี้คือ คอนเซปต์หลักของที่นี่

ส่วนเรื่องของภาพในการอธิบาย สื่อถึงรสสัมผัสต่างๆ เราก็จะหยิบพวกลูกเล่นทางวัฒนธรรมมาใช้ให้มันทันสมัยขึ้นอย่างเช่น เมนูบางตัวในหมวดชาที่ชงกับนม เราก็ใช้ Ikebana มาเล่า เทียบรสสัมผัสของเขากับการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ส่วนพวกชาใบเราก็จะจัดให้คล้ายๆ กับพวกน้ำหอม นำเสนอให้มันดูแตกต่าง มันจะได้ดูน่าสนใจขึ้น

บะหมี่: แต่ว่าหลักๆ ก็จะเน้นไปที่ความรู้สึก เพราะส่วนตัวเรารู้สึกว่า การทำอาชีพนี้จริงๆ แล้ว มันคืองานบริการ มันคือการทำไลฟ์สไตล์ให้กับผู้บริโภค เพราะฉะนั้นสไตล์การถ่ายรูปของเรา มันไม่ได้จบแค่เมนู แต่ว่าก่อนที่เราจะทำเมนู เราจะคิดถึงความรู้สึกต่างๆ ว่าตอนลูกค้ากิน เขาจะต้องรู้สึก หรือว่ารับรู้ได้ถึงไลฟ์สไตล์ผ่านออกมาจากคอนเซปต์เมนูของเรา อันนี้คือแนวคิดของที่ร้านเรา

มันก็เลยกลายเป็นว่าเวลาเราทำเมนูใหม่ออกมา มันก็เลยเป็นความสนุกของทีมเราด้วยว่า มู้ดของเมนูรอบนี้จะออกมาเป็นแบบไหน หรือเราคุยกันแล้วว่ารอบนี้อยากให้มันล้อไปในทิศทางไหน เช่น เราอยากเน้นทั้งวัตถุดิบ หรือเน้นที่ไลฟ์สไตล์ ไม่มีกรอบเลยค่ะ

ประทัด: ที่เราทำคอนเซปต์ร้านประมาณนี้ นอกเหนือจากเรื่องของความเสี่ยงในการทำร้านใหญ่ช่วงโควิดคือ เราทำคอนเซปต์ให้เป็นเหมือน เราไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วเจอร้านชาเล็กๆ หรือเราไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วบังเอิญเจอ Hidden Gem เจ๋งๆ อะไรแบบนี้ อยากให้ทุกคนที่เข้ามากลับไปแล้วเหมือนได้เติมเต็มด้วยชาอร่อยๆ บรรยากาศดีๆ ไม่ได้เยอะเกินไป

บะหมี่: มันไม่ได้เครียด ไม่ได้เข้ามาแล้วต้องสงบอย่างเดียว แต่มันอาจจะมีหลากหลายอารมณ์ได้ จากการบริการของพวกเราที่เป็นมิตร สบายๆ แล้วก็มาคุยเรื่องชากันได้ เหมือนหลักๆ แล้วอยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วรู้สึกว่า มันเป็นร้านชาที่วัยรุ่น สบายๆ เข้ามาแล้วไม่ต้องมาเครียด หน้าที่ตั้งใจชงมันเป็นหน้าที่ของเรา ลูกค้าแค่ดื่มแบบมีความสุข

ประทัด: เราไม่ได้ต้องการที่จะมาเล่าแต่สิ่งที่เราทำ บางทีเราก็ต้องการให้ลูกค้ามาแชร์กับเรา บรรยากาศมันก็เลยจะเป็นเหมือนบาร์ด้วย เปลี่ยนจากก๊งเหล้า เป็นก๊งชา

“ส่วนตัวเรา สิ่งสำคัญกว่าสินค้าที่อร่อย ก็คือลูกค้าเข้ามาดื่มแล้วแฮปปี้ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องคิดว่า ชิมแล้วจะได้รสอะไร ไม่ต้องเลย เราไม่ได้สนใจว่าลูกค้ามาแล้วจะต้องกินให้เป็น หรือกินให้เก่ง แต่ว่าเข้ามาแล้วอร่อย ชอบ จบ” – บะหมี่

แนวคิด New Traditional ในแบบ Tea Specialty

บะหมี่: คำว่า Specialty ถ้าให้แปลตรงตัวมันคือ พิเศษ หรือว่ามีความชำนาญเป็นพิเศษใช่ไหมคะ แต่เรามองว่ามันคือ หลักในการทำอาชีพที่เราจะต้องอยู่บนหลักการที่จริงจัง แล้วก็มีความเพียร มีความตั้งมั่น แล้วก็จริงใจกับลูกค้า ไม่ว่าเราจะเปิดร้านอะไรก็ตาม ถ้าเราดำเนินอาชีพนั้นด้วยหลักที่ว่า เราใส่ใจในวัตถุดิบที่เราทำ แล้วก็ตั้งใจที่จะนำเสนอมันให้ลูกค้า สำหรับหมี่มันก็คือ Specialty แล้ว ที่สำคัญคือเราต้องเข้าใจวัตถุดิบตัวนั้นอย่างดีจริงๆ ไม่ได้เกิดจากตัวเราเองเข้าไปควบคุมมัน แต่ว่าเราอาจจะต้องใช้ใจเราเข้าไปศึกษามากกว่า

ประทัด: คำว่า Specialty มันคือทุกแขนงครับ การที่จะเป็น Specialty ได้ต้องมีทั้งความชอบ และความรู้คู่กัน ที่สำคัญก็คือว่าต้องรู้เยอะกว่าร้านปกติทั่วไป ถึงจะเป็นคำว่า Specialty ได้

ความแตกต่างคือ เราจะมีเกณฑ์ในการตัดสินอยู่ อย่างเช่น เราเปิดแบรนด์ชื่อ Grow ซึ่ง Grow คือการเติบโต เพราะฉะนั้นเราอยากจะให้ทุกอย่างเติบโตไปด้วยกัน ลูกค้าก็เติบโตไปกับเรา เพราะฉะนั้นการที่เขาจะเติบโตไปด้วย ก็ต้องให้จิตใจเขาเติบโตไปด้วย แล้วก็ให้สุขภาพร่างกายเขาเติบโตด้วย เพราะฉะนั้นชาทุกตัวที่เราคัดมาจะไม่มีผลเสียต่อสุขภาพ แล้วก็ให้ฤทธิ์ที่ไม่แย่กับลูกค้าด้วย เพราะฉะนั้นหลักๆ เลย ในเรื่องของ After Taste และรสสัมผัสที่แตกต่างจากร้านอื่นแล้ว มันเป็นเรื่องของ ‘ชี่’ ด้วย ที่กินแล้วไม่ปวดหัว บางคนกินไปปุ๊บปวดหัวหนักเลย คาเฟอีนเยอะเกิน อันนี้ก็จะไม่ผ่านเกณฑ์ของเรา หรือชาบางตัวกินแล้วเจ็บคอ ฤทธิ์ไม่ดี เราก็จะไม่ให้ผ่าน พวกเราจะมีการฝึกชิมรสชาและเรียนรู้ด้วยครับว่าชาฤทธิ์แบบนี้คือ เอฟเฟกต์ที่ไม่ดีให้ระวังและไม่นำมาใช้

บะหมี่: ถ้าเป็นคอนเซปต์หลักในการ R&D หรือว่าทำเมนูขึ้นมาก็คือ เรารู้ว่าวัตถุดิบ หรือตัวชา มันไม่จำเป็นที่จะต้องใส่จำนวนกรัมชามากเกินไป แต่มันอยู่ที่วิธีการสกัด แล้วก็ผู้ชงว่าเข้าใจในวัตถุดิบดีแค่ไหน เช่น ถ้าเรามีแค่กรัมเดียว เราก็สามารถที่จะ สกัดคาแร็กเตอร์ของมันให้ออกมาดีได้ โดยที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอัดมัน ทำให้ตัวชาของที่ร้านเราจะเน้นไปในเรื่องของการพัฒนาการผลิต และการวางมิติรสชาติที่ชัดเจนมากที่สุด ทั้งรส กลิ่น แล้วก็สัมผัส คาแร็กเตอร์ที่สำคัญของที่ร้านก็คือ กลิ่นที่ชัด แม้กระทั่งเอามาชงเย็น ซึ่งข้อเสียของการเอาชามาชงเย็นก็คือ กลิ่นจะไม่มี หรือว่ากลิ่นจะไม่ชัด แต่ของที่ร้านเราจะรส กลิ่น สัมผัส จะมีความฟรุ้งฟริ้งแบบชัดเจน

ประทัด: ถ้าในฝั่งของ Marketing ก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้รู้สึกว่ามันเป็น New Traditional ครับ คือให้มันเป็นกลิ่นที่สมัยใหม่ ดูใหม่ ดูไม่น่าเบื่อ แตกต่างจากคนอื่น สังเกตว่าพวกผมจะใช้คำว่า New Traditional เป็นคอนเซปต์หลักในการเลือกชา เพราะว่าทุกคนมองว่าชาเป็นอะไรที่แก่ โบราณ แต่ว่าความจริงแล้ว ถ้าเราวางคอนเซปต์หรือใส่อะไรที่มันเป็นดีไซน์เข้าไป ก็ทำให้มันเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ดีได้ครับ

“เราอยากให้ลูกค้ารู้จักชาในแง่มุมของวัตถุดิบ มากกว่าประวัติศาสตร์ เรื่องราว หรือขนบธรรมเนียมอะไรที่มันทำให้เรามีกรอบอยู่ อยากให้เขามาสนุกกับมันเหมือนที่เราไปดื่มไวน์ ดื่มคราฟต์เบียร์” – บะหมี่

หลากเมนูที่สะท้อนแนวคิด และการเติบโตของ Grow Tea Studio

ประทัด: เริ่มจาก Grow Usucha ก่อนนะครับ จะเป็นตัว Usucha ปรับมาใส่ในน้ำแข็ง เพราะเราคิดว่าการทาน Traditional มันกินยากสำหรับวัยรุ่น หรือว่าคนไทย ซึ่งคอนเซปต์ก็คือ อยากให้ตัวนี้ เป็นตัวที่นุ่มนวล แล้วก็บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของชาที่ร้านเลย ซึ่งเป็น Uji แบบดั้งเดิมครับ จะมีรสครบตามแบบฉบับของเรา ตามชื่อเลยครับ Grow Usucha ก็คือ Usucha แบบร้าน Grow

บะหมี่: Grow Earth ก็เป็นตัวที่ตอนทำเรารู้สึกว่า อยากให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เขามาเที่ยวร้านเราเขารู้เลยว่า นี่คือ ร้านคนไทย ที่ทำโดย Tea Brewer คนไทย ซึ่งมันจะต้องแสดงถึงรสชาติ หรือสะท้อนถึงวัฒนธรรมไทย ส่วนผสมหลักก็เลยจะเป็นน้ำมะพร้าวน้ำหอม อัญชัน แล้วก็นมสด รวมเข้ากับมัทฉะสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับคอนเซปต์ของแก้วนี้ มันก็จะได้รสชาติ และโทนเหมือนขนมไทย ที่เราตั้งใจทำเหมือนกับบุหลันดั้นเมฆ แต่ที่สำคัญคือ เราจะไม่เน้นหวาน เหมือนเราได้กินขนมไทยดีๆ ที่หวานน้อย รสกลมกล่อม ตัวนี้ก็จะเป็นตัวที่พรีเซนต์ในความเป็นไทยตัวแรก

บะหมี่: Frosty Oolong มันเป็นชาที่แสดงถึงความเติบโตในฐานะที่เราเป็น Tea Brewer ของไทย คือคำว่า Tea Brewer มันไม่ได้ถูกบัญญัติขึ้นมาเป็นสากล แต่มันเป็นคำที่เราได้ยินมาจากคนที่ทำอาชีพฝั่งประเทศญี่ปุ่น เป็นสายอาชีพนักออกแบบโปรไฟล์มัทฉะ ซึ่งจะทำงานร่วมกับโรงงานทำมัตฉะอีกที เราไม่ได้เรียกตัวเองตามที่เราอยากเรียกนะคะ แต่มีระดับมืออาชีพในสายนี้มาบอกว่าเราคือ Tea Brewer แล้ว มันเหมือนการถูกประเมิณทางอาชีพที่ทำให้เราเคารพมากขึ้นค่ะ ในฝั่งไต้หวันก็มีนะคะและจะมีชื่อเรียกอีกแบบหนึ่ง ทีนี้เราก็เหมือนรู้สึกว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ถูกสร้างวัฒนธรรมชาขึ้นมาจริงจัง ทั้งที่ประเทศเรามีชาที่ดี แล้วก็ส่งไปขายจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่นเยอะมาก มันเหมือนเป็นวงการเล็กๆ ที่ Grow ต้องการจะ Crack ให้มันดังแล้วก็เติบโต เราก็เลยร่วมกับเกษตรกรของบ้านเรา ที่เขาเป็นไร่ที่ได้รางวัลจากการแข่งที่ญี่ปุ่น แต่ไม่มีใครรู้ แล้วก็ร่วมกันสร้างสรรค์มันจะเป็น1 ใน  House Tea ที่เราสร้างขึ้นมาซึ่งที่ร้านจะมีอีกหลายตัว แล้วก็เข้าใจกระบวนการผลิต ซึ่งตัวนี้จะเป็นตัวที่ใช้เทคนิคระดับสูง ก็คือ จะมีกระบวนการ Stop Oxidation ของชา ด้วยการ Bath Freezer ทำให้กลิ่นแล้วก็มิติของสรรพคุณทางยา ยังคงอยู่สูง ก็เลยรู้สึกว่า ตัวนี้เหมาะที่จะเป็นซิกเนเจอร์ของเรา อาจารย์ทำชาที่เราเรียกท่านว่าแม่ ก็ทำไว้ได้อย่างงดงามมาก ที่แสดงถึงสเต็ปการเติบโตของอาชีพของเราในจุดนี้

บะหมี่: God Ujicha มันเกิดจากว่า ร้านเราใช้มัทฉะของอูจิอย่างเดียวค่ะ แล้วก็เป็นมัทฉะที่เลือกจากไร่ที่เขาปลูกแบบเก่า ที่ส่งเสริมรสชาติสายพันธุ์เป็นหลัก เพราะว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ของการเลือกชาของเรา ที่มิติชาต้องชัด มันก็เลยกลายเป็นว่าเรา อยากจะสร้าง ‘เทพเจ้าของชาจากอูจิ’ ขึ้นมา เราก็คุยกันว่า มัทฉะแบบอูจิต้องมีโปรไฟล์อะไรบ้าง  เราก็ต้องสรุปกันว่ารสชาติของชาแต่ละสายพันธุ์ในเมืองอูจิ มีคาแร็กเตอร์โทนไหนได้บ้าง มันก็จะมี ช็อกโกแลต ถั่วที่ไม่คั่ว ฟรุตตี้ สาหร่าย แล้วก็จะมีพวกเบเกอรี่ด้วย เราก็เลยพยายามที่จะเบลนด์ทุกอย่างให้มันออกมาให้ได้ ซึ่งตัวนี้เป็นตัวที่ทำยากที่สุด

บะหมี่: Dorayaki Ume-Cream คือขนมหมวดแรกของที่ร้าน มันเกิดจากว่าประทัดเขาชอบกินโดรายากิมาก ซึ่งก่อนที่เราจะเปิดร้าน ประทัดก็มีไปเซอร์เวย์ที่ญี่ปุ่น ไปตะลุยกินโดริยากิว่า โดเรกิที่อร่อยจริงๆ มันคืออะไร ที่มันไม่ใช่แพนเค้ก เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่าคนไทยชอบรสชาติโทนผลไม้ เราก็เลยออกแบบรสชาติที่มันเป็นมิติใหม่ขึ้นมา เป็นครีมชีสกับบ๊วย ซึ่งเป็นบ๊วยที่เราดองเอง ครีเอทให้รสชาติมันออกมาโทนสดชื่นเป็นหลัก ตัวนี้จะหวานน้อยแล้วก็หอมบ๊วย

บะหมี่: Classic Custard มันเกิดจากว่าหมี่ชอบกิน (หัวเราะ) การทำขนมที่ร้านเรา มันไม่จำเป็นต้องเป็นขนมที่ตามกระแสตลาด หรือว่าเลิศหรูอะไรขนาดนั้น แต่เราเน้นขนมที่เป็นความสบายทางจิตใจ แนวเด็กอ้วนชอบกินอะไรอย่างนี้ กินได้ทุกวัน หมี่จะเป็นคนที่เวลาเครียดแล้วชอบกินคัสตาร์ด เราก็เลยรู้สึกว่าอยากจะทำคัสตาร์ดที่หากินยากที่ญี่ปุ่น ให้มาอยู่ที่ไทย รสชาติมันก็เลยจะออกมาติดขม หอมคาราเมล แล้วก็เนื้อนุ่ม แล้วก็จะเสิร์ฟด้วยครีมสด กับผลไม้ตามฤดูกาล

ความฝันในการสร้างวัฒนธรรม ‘ชาไทย’ ที่ไม่ใช่ ‘ชานมสีส้ม’

ประทัด: ผมจบสถาปัตย์ไทยมา เพราะฉะนั้นก็จะชอบเรื่องของวัฒนธรรม เป็นคนที่ชอบเสพอะไรที่เป็นวัฒนธรรมเอเชียอยู่แล้ว ก็เลยมีความหลงใหลในเรื่องของการดื่มชา เริ่มแรกเลยนะครับ มากกว่าเรื่องรสชาติ ก็คือเรื่องแนวความคิดในการทานชา อย่างคนญี่ปุ่น การดื่มชาเกี่ยวโยงกับศาสนา ทำให้เกิดสมาธิ แล้วก็จะมีสุนทรีย์ในการชมพระจันทร์ไปจิบชาไปตามแบบของซามูไร หรือฝั่งจีน ชามีไว้ให้เกิดการคุยกัน สังสรรค์กัน ก็เลยมีความคิดว่า ถ้าเราเอาวัฒนธรรมแบบนั้น ซึ่งมันดีอยู่แล้ว มาปรับให้ทันสมัยขึ้น ก็น่าจะนำมาใช้กับคนยุคใหม่ได้ ที่เด็กเสพความเป็นศิลปะมากขึ้น มีความเป็นตัวเองสูงขึ้น เพราะว่าก็เหมือนกับผู้ใหญ่สมัยก่อน ที่มีกิจกรรมที่มันสร้างสรรค์

บะหมี่: ขอเสริมในแง่ของ Tea Brewer เพิ่ม หมี่รู้สึกว่า ชามันเป็นวัตถุดิบอย่างหนึ่งที่เราต้องใช้ประสาทสัมผัสในการเสพ มันค่อนข้างมีหลายมิติมาก ตั้งแต่ที่ลิ้น จมูก นอกจากบรรยากาศตอนที่เราดื่มชาแบบสนุกสนาน หรือตอนดื่มคนเดียวแล้วรู้สึกสงบ ได้คิดทบทวนอะไร มันยังมีเรื่องของฤทธิ์ ถ้าเราลองสังเกตฤทธิ์ของชา ชาแต่ละหลายประเภทก็จะมีฤทธิ์ไม่เหมือนกัน

ประทัด: นอกจากเรื่องคาเฟอีน ก็มีเรื่องสุขภาพด้วยครับ เพราะชามันเริ่มต้นจากมันมีสรรพคุณทางยา แล้วมันก็ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องของสุนทรียศาสตร์

บะหมี่: ส่วนตัวรู้สึกว่าคนไทยเป็นคนที่ค่อนข้างสนุก คนไทยชอบอะไรที่มันสนุกสนาน เพราะฉะนั้นสิ่งที่หมี่เห็นก็คือ เราทุกคนเลยที่ทำอาชีพเกี่ยวกับชา รวมถึงผู้บริโภคด้วย ทุกคนค่อนข้างที่จะนอกกรอบนำประเทศแม่ไป เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน คือเราก็จะพยายามนอกกรอบ เพราะคนไทยชอบกินของอร่อย ก็เลยทำให้สังเกตเองว่า เหมือนมันเติบโตได้ไวมาก แล้วคนไทยก็เหมือนกับพร้อมที่จะเปิดใจกับเครื่องดื่มประเภทนี้ แล้วก็ทุกคนก็ดูเอ็นจอยค่ะ ในฝั่งของวัฒนธรรมการดื่ม ก็มีคนหลากหลายประเภทมาก ตั้งแต่ชอบในเชิงวัฒนธรรม ชอบในเชิงของศิลปะ พวกอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงคนที่หลงใหลในเรื่องรสชาติ มีครบทุกมิติ

หมี่รู้สึกว่าจะวัฒนธรรมมันจะเติบโตไปแบบไหนก็ได้ ถ้าพูดในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการ อยากให้มีการเรียนรู้ เข้าใจ แล้วก็ศึกษาวัตถุดิบให้ดี รู้รากของมันก่อน แล้วถ้าจะไปพัฒนาต่อ หรือไปสร้างสรรค์ตามคอนเซปต์ของตัวเอง มันไม่มีอะไรถูกผิด แต่สิ่งสำคัญก็คือ เรารู้ทั้งในเชิงสรรพคุณทางยา แล้วก็ความสนุกของวัตถุดิบให้ดี อยากให้เติบโตไปในทุกทางเลย. ทั้งการมีร้านชาขึ้นเป็นดอกเห็ดแบบนี้ อยากให้ช่วยกันกระตุ้นวงการนี้ให้มันเยอะขึ้นค่ะ

ประทัด: ในอนาคตเราน่าจะขยายพื้นที่ให้ตอบรับกับความต้องการของลูกค้าให้มากขึ้น แล้วก็เป็นโลเคชั่นที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ จะผลักดันให้ชาไทย ที่ไม่ใช่ชานมที่เป็นสีส้มนะครับ (หัวเราะ) แต่เป็นใบชาของไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะว่าอย่างน้อยถ้าคนรู้จักมากขึ้น แล้วเราเป็นตัวแทนของเกษตรกรที่นำเสนอชาให้ถูกต้อง มันก็จะทำให้เกษตรกรเขาอยู่รอดได้ เพราะฉะนั้นเราก็ถือว่าเป็นกระบอกเสียงหนึ่งที่ทำให้ชาไทยดังได้

“เราจะพยายามสร้างซิกเนเจอร์เหมือนที่ญี่ปุ่นเขามีมัทฉะ ไต้หวันก็มีอู่หลง แต่ของไทยตอน นี้ Grow พยายามจะช่วยเกษตรกรตามหาว่า เอกลักษณ์ของวัฒนธรรมชาบ้านเรามันจะเติบโตไปเป็นอย่างไร” – บะหมี่

ประทัด: ก็อยากให้ Grow เป็นแบรนด์ไทยที่ไปต่างประเทศ ให้มีชาของประเทศไทยเราไปขายอยู่ต่างประเทศ เป็นเราในแบบของเรานี่แหละ ไปเป็น Specialty ตามประเทศต่างๆ เพราะถ้าเราได้ไปอยู่ในต่างประเทศแล้ว เราก็คงจะไม่ได้มีแค่ชาไทย แต่เราคงได้ไปนำเสนอชาในประเทศของเขาในรูปแบบใหม่ ที่ใส่ความครีเอทีฟเข้าไป โดยไม่ได้ทิ้งรากเหง้าของเขา

Grow Tea Studio

36 ซอย อุดมสุข แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310 (Google Map)

เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.

โทร. 063 218 3613

ติดตาม Grow Tea Studio ได้ที่

Instagram: grow.teastudio

Facebook: Grow tea.studio