Culture

ย้อนสู่ยุค 90s กับ 15 สถานที่แห่งดนตรีกรันจ์ในซีแอตเทิล

ว่ากันว่า เมื่อพูดถึง ‘ซีแอตเทิล’ เมืองหนึ่งในรัฐวอชิงตัน ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา 3 สิ่งที่ทุกคนจะนึกถึงคือ ฝน, ร้านกาแฟสตาร์บัคส์ และดนตรีกรันจ์

เชื่อว่าสองอย่างแรกหลายคนน่าจะพอนึกภาพออก แต่สำหรับดนตรีกรันจ์ อาจจะมีเพียงคอดนตรีเท่านั้นที่จะเข้าใจ โดยเฉพาะแฟนเพลงยุค 90s ที่น่าจะคุ้นเคยกันดีกับวงดนตรีระดับโลกอย่าง Nirvana และฟรอนต์แมนผู้เป็นตำนานอย่าง Kurt Cobain

มากกว่าการเป็นเมืองท่า และต้นทางของแฟรนไชส์ร้านกาแฟที่ทรงอิทธิพล ซีแอตเทิลเป็นเมืองที่ก่อกำเนิดซาวนด์ดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์นี้ และเป็นต้นกำเนิดของเทพเจ้าแห่งดนตรีกรันจ์อย่าง Nirvana, Alice in Chains, Soundgarden และ Pearl Jam

แม้ว่าทุกวันนี้ ดนตรีกรันจ์จะไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักของโลกอีกต่อไป แต่ร่องรอยที่มีชีวิตชีวาของกรันจ์ ยังคงปรากฏอยู่ทั่วซีแอตเทิล และฝังอยู่ในวิถีชีวิตของชาวเมืองนี้อย่างแยกไม่ออก

‘กรันจ์’ คืออะไร

โดยทั่วไปแล้ว คำว่า Grunge หมายถึง ฝุ่น หรือขยะ แต่สำหรับวงการเพลง ‘กรันจ์’ เป็นคำที่ใช้อธิบาย ‘แนวเพลง สไตล์แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา’ โดยเฉพาะในเมืองซีแอตเทิล ซึ่งสำหรับดนตรีนั้น กรันจ์จะเรียกอีกอย่างว่า ซีแอตเทิล ซาวนด์ (Seattle Sound) คือซาวนด์ดนตรีของซีแอตเทิลนั่นเอง

ดนตรีกรันจ์ จัดอยู่ในแนวดนตรีย่อยของอัลเทอร์เนทีฟร็อก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1980s ในรัฐวอชิงตัน โดยเฉพาะในซีแอตเทิล และเป็นดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากแนวดนตรีฮาร์ดคอร์พังก์ เฮฟวีเมทัล และอินดีร็อก มีจุดเด่นอยู่ที่เสียงกีตาร์ไฟฟ้าที่บิดเบี้ยว ไดนามิกที่ขัดแย้งกันภายในเพลง เนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยว และการปลดเปลื้องอารมณ์ มักมีแก่นเรื่องเป็นประเด็นความรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ความไม่แยแสต่อสิ่งใด การคุมขัง ความไม่พอใจต่อสถานการณ์ในสังคม และอคติจากสังคม รวมทั้งความปรารถนาที่จะมีอิสรภาพ

คอนเสิร์ตของศิลปินกรันจ์จะมีลักษณะตรงไปตรงมา พร้อมการแสดงที่เปี่ยมไปด้วยพลัง ปฏิเสธความซับซ้อน และโชว์ที่ใช้งบประมาณสูง รวมไปถึงไม่ใช้แสงสีเสียง เทคนิคไฟ วิชวลเอฟเฟ็กต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเล่นดนตรี หลีกเลี่ยงการใช้แอคติ้งบนเวที

Melvins / Green River / Soungarden / Alice in Garden
Photo Credit: The Guardian / Rolling Stone / Chris Cornell / Billboard

สำหรับดนตรีกรันจ์นั้น เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยฝีมือของวง Melvins ที่ก่อตั้งในปี 1983 โดยผสมผสานองค์ประกอบของดนตรีเมทัล และพังก์เข้าด้วยกัน ก่อนจะตามมาด้วย Green River และ Soundgarden ที่ถือกำเนิดในปีต่อมา และในปี 1987 Alice in Chains ก็ได้เปิดตัวเช่นกัน

ไม่ใช่แค่วงดนตรีเท่านั้น ในปี 1986 ซีแอตเทิลมีค่ายเพลงแรกของเมือง คือ Sub Pop Records ตามด้วย C/Z Records ซึ่งเปิดตัวอัลบั้มแรกคือ Deep Six และได้ชื่อว่าเป็นการจำหน่ายดนตรีกรันจ์ครั้งแรก

Mudhoney / Mother Love Bone / Pearl Jam
Photo Credit: TIDAL / Rolling Stone / Pearl Jam

ระหว่างปี 1988 - 1990 วงดนตรีกรันจ์ในซีแอตเทิลมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง Green River แยกวง โดยสมาชิกที่ต้องการอยู่ใต้ดินต่อไป ได้ก่อตั้งวง Mudhoney ขณะที่สมาชิกอีกกลุ่มต้องการเติบโตเป็นร็อกสตาร์ที่มีชื่อเสียง จึงก่อตั้งวง Mother Love Bone ที่หลังจากนั้นได้ Eddie Vedder มาร่วมแจม และเปลี่ยนชื่อวงเป็น Pearl Jam ในที่สุด

Nirvana
Photo Credit: The Independent

หมุดหมายสำคัญที่ทำให้กรันจ์กลายเป็นดนตรีกระแสหลักของโลกในยุค 90s คือการรวมวงของ Nirvana และเปิดตัวอัลบั้ม Nevermind ประกอบกับการเปิดตัวอัลบั้ม Ten ของ Pearl Jam ซึ่งความสำเร็จของทั้งสองวงนี้ ทำให้กระแสนิยมอัลเทอร์เนทีฟร็อกพุ่งสูงขึ้น และทำให้กรันจ์กลายเป็นดนตรีฮาร์ดร็อกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคนั้น

จุดเด่นของศิลปินกรันจ์คือ เสื้อผ้าราคาถูก เน้นเสื้อเชิ้ตผ้าสักหลาด รองเท้าบู๊ต และหมวกสกีขนแกะ ซึ่งมาจากจุดเริ่มต้นคือ เหล่าศิลปินกรันจ์มักจะมีฐานะยากจน รวมทั้งบุคลิกที่ดูรุงรัง ไม่สนใจเรื่องการดูแลทรงผม และเมินเฉยกับแฟชั่น นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่า เสื้อผ้าของศิลปินกรันจ์นั้นราคาถูก ทนทาน อยู่เหนือกาลเวลา และท้าชนกับคอสตูมวิบวับในยุค 80s ทว่าเมื่อดนตรีกรันจ์เป็นที่นิยม แฟชั่นคนจนเหล่านี้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่คนรวย จนทำให้แบรนด์เสื้อผ้าอย่าง Macy’s หรือ Marc Jacobs เริ่มออกแบบเสื้อผ้าที่เลียนแบบสไตล์ของศิลปินกรันจ์ และแฟนเพลงในซีแอตเทิล ทำให้ในท้ายที่สุด สไตล์ที่ไม่สนใจแฟชั่น กลับกลายเป็นแฟชั่นเสียเอง

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s วงดนตรีกรันจ์หลายวงเริ่มสลายตัว ประกอบกับการเกิดขึ้นของดนตรีบริตป็อป ทางฝั่งอังกฤษ ซึ่งทวนกระแสของกรันจ์ที่มีอยู่เดิม ก็ยิ่งทำให้กระแสกรันจ์แผ่วเบาลง

Kurt Cobain
Photo Credit: Los Angeles Times

นอกจากนี้ ช่วงขาลงของดาวเด่นอย่าง Kurt Cobain ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของการเสื่อมความนิยมในดนตรีกรันจ์ จากศิลปินซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Time ว่าเป็น 'John Lennon แห่งตะวันตกเฉียงเหนือ' กลับกลายเป็น 'คนที่ถูกทรมานจากความสำเร็จ' Cobain ต่อสู้กับการติดเฮโรอีน และจบชีวิตตัวเองในบ้านที่ซีแอตเทิล เมื่อวันที่ 8 เมษายน 1994 หลังจากนั้น Nirvana ก็แยกวง

ที่ซีแอตเทิล ทุกพื้นที่จะมีกรันจ์อยู่

แม้นับจากต้นศตวรรษที่ 21 จนกระทั่งถึงวันนี้ ดนตรีกรันจ์จะไม่ได้รับความนิยมมากเท่าเมื่อก่อน แต่วงดนตรีกรันจ์หลายวงยังคงมีแฟนคลับอยู่ทั่วโลก เพลงของ Nirvana ยังคงเป็นเพลงขึ้นหิ้งที่นักดนตรีทั้งรุ่นเก่า และรุ่นใหม่หยิบมาเล่น ศิลปินกรันจ์หลายคนยังเป็นตำนานที่โลกระลึกถึง และซีแอตเทิลเองก็ยังมีร่องรอยกลิ่นอายแห่งดนตรีอันเกรี้ยวกราดนี้อยู่แทบทุกพื้นที่ และนี่คือ 15 สถานที่แห่งประวัติศาสตร์ดนตรีกรันจ์ของซีแอตเทิล ที่ทุกคนน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสสักครั้งในชีวิต

Photo Credit: MoPOP
Museum of Pop Culture (MoPOP)

มหาวิหารแห่งดนตรีร็อก นิยายวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมป็อป เป็นที่จัดแสดงคอลเลคชั่นสิ่งของ เนื้อเพลงที่เขียนด้วยลายมือ เครื่องดนตรีส่วนตัว ภาพถ่ายต้นฉบับของศิลปินชาวซีแอตเทิลอย่าง Jimi Hendrix และ Nirvana ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก และยังเคยจัดนิทรรศการ Nirvana: Taking Punk to the Masses และ Pearl Jam: Home and Away ที่บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของทั้งสองวงนี้ ผ่านสิ่งของ ภาพถ่าย ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า และเซ็ตลิสต์คอนเสิร์ต

นอกจากนี้ ด้านหน้าของพิพิธภัณฑ์ ยังมีรูปหล่อสำริดของ Chris Cornell ฟรอนต์แมนแห่ง Soundgarden ผู้จบชีวิตตัวเองเมื่อปี 2017 ด้วย

Photo Credit: London Bridge Studio
London Bridge Studio

สตูดิโอที่เคยเป็นสถานที่อัดเสียงอัลบั้มทั้งหมดของวงกรันจ์อย่าง Soundgarden, Blind Melon, Pearl Jam และ Alice in Chains ที่สามารถซื้อตั๋วเข้าชมห้องควบคุม เลานจ์ และห้อง Overdub ได้

Photo Credit: Seattle Weekly
KEXP Gathering Space

สำนักงานใหญ่ของสถานีวิทยุอินดี้ยอดฮิตของซีแอตเทิล และเป็นคอมมูนิตี้ของนักฟังเพลง แค่ลงทะเบียนเข้าชมก่อนทางออนไลน์ ก็สามารถไปชมดีเจเปิดเพลงกันสดๆ หรือชมการแสดงสดในสตูดิโอ พร้อมทั้งฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสตูดิโอได้ฟรี

Photo Credit: The Seattle Times
Central Saloon

บาร์ที่เก่าแก่ที่สุดของซีแอตเทิล ที่ต้อนรับวงดนตรีหลากหลายแนว และหนึ่งในแนวดนตรีที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือกรันจ์ ซึ่ง Soundgarden และ Alice in Chains ก็เคยมาโชว์ที่นี่เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีการสันนิษฐานว่า Central Saloon เป็นสถานที่ที่ค่าย Sub Pop Records ได้ฟัง Nirvana เป็นครั้งแรก และได้เซ็นสัญญาร่วมงานกัน

Photo Credit: Seattle Met
The Crocodile

คลับที่เปิดพื้นที่ให้วงดนตรีกรันจ์มาแสดงพลังนานหลายสิบปี โดยศิลปินที่มาเล่นก็ได้แก่ Nirvana, Pearl Jam, และ Mudhoney และทุกวันนี้ก็ยังคงเปิดทำการอยู่ ในมือของเจ้าของคนปัจจุบัน คือ Sean Kinney มือกลองของ Alice in Chains

Photo Credit: Unique Venues
The Showbox Market

คลับดนตรีสดที่ตกแต่งสไตล์อาร์ตเดโค ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตของ Mudhoney, Pearl Jam, และ Soundgarden และทุกวันนี้ก็ยังคงเปิดให้บริการอยู่เช่นกัน

Photo Credit: Queerspace Magazine
Re-bar

คลับในย่านดาวน์ทาวน์ เป็นที่รู้จักกันในฐานะคลับที่เป็นมิตรกับ LGBTQ+ ซึ่งในปี 1991 คลับแห่งนี้เคยเป็นสถานที่จัดปาร์ตี้เปิดตัวอัลบั้ม Nevermind สตูดิโออัลบั้มลำดับที่สองของ Nirvana และทำให้ดนตรีกรันจ์กลายเป็นดนตรีกระแสหลักในที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ Re-bar ปิดทำการเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่นักท่องเที่ยวยังสามารถเยี่ยมชมบริเวณด้านนอกได้

Photo Credit: Explore SEA
Sub Pop Airport Store

ร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดนตรี เสื้อยืด และไอเท็มสุดเท่ที่ออกแบบโดยศิลปินท้องถิ่น ตั้งอยู่ในท่าอากาศยาน Sea-Tac ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่ค่ายเพลง Sub Pop Records ค่ายเพลงอิสระที่รันวงการดนตรีกรันจ์ในซีแอตเทิล จากการเซ็นสัญญากับร็อกสตาร์อย่าง Nirvana, Mudhoney และ Soundgarden

Photo Credit: The Seattle Times
Black Dog Forge

ร้านตีเหล็กที่อยู่ในตรอกระหว่างถนนสายที่ 2 และ 3 ของ Battery Street ตั้งขึ้นในปี 1989 และในช่วงต้นทศวรรษ 1990s สถานที่แห่งนี้เป็นที่ซ้อมดนตรีของวงกรันจ์หลายวง เช่น Soundgarden และ Pearl Jam

Photo Credit: Westside Seattle
Easy Street Records

ร้านขายแผ่นเสียงและคาเฟ่ที่มีประวัติยาวนานกับ Eddie Vedder ฟรอนต์แมนแห่ง Pearl Jam และสมาชิกทั้งหมดในวง โดยด้านนอกของร้าน มีกราฟิตีที่วาดโดย Jeff Ament มือเบสของ Pearl Jam เพื่อระลึกถึงยุคก่อตั้งวง ในนาม Mother Love Bone

Photo Credit: ​​HistoryLink Tours
Edgewater Hotel

สำหรับสาวก Pearl Jam ที่ต้องการสัมผัสบรรยากาศที่รายล้อมด้วยศิลปินวงโปรด ขอแนะนำให้จองห้อง Pearl Jam Suite ซึ่งเป็นห้องที่ประดับตกแต่งด้วยผลงานศิลปะและของที่ระลึกเกี่ยวกับ Pearl Jam ทั้งเครื่องเล่นแผ่นเสียง ภาพจำลองของงานกราฟิตี้ Mother Love Bone ที่อยู่ใกล้กับร้าน Easy Street Records รวมทั้งการออกแบบห้องโดยใช้สัญลักษณ์ของ Pearl Jam นอกจากนี้ โรงแรมแห่งนี้ยังมีห้องสมุดที่เก็บรวบรวมอัลบั้มที่ดีที่สุดของ Pearl Jam ด้วย

Photo Credit: Provenance Hotels
Hotel Max

แฟนดนตรีกรันจ์ที่มีโอกาสเยี่ยมเยียนโรงแรมแห่งนี้ ควรขึ้นไปชมพื้นที่จัดแสดงที่ชั้น 5 ซึ่งจัดขึ้นเพื่ออุทิศให้กับค่าย Sub Pop Records มีทั้งภาพขาวดำขนาดใหญ่ โปสเตอร์ เครื่องเล่นแผ่นเสียง และคอลเลคชั่นแผ่นเสียงที่ทางค่ายเป็นผู้คัดสรร

Photo Credit: Seattle Unexplored
Viretta Park

สวนสาธารณะที่ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านเดิมของ Kurt Cobain และเชื่อกันว่า Cobain เคยมานั่งเขียนเพลงที่ม้านั่งในสวน ซึ่งม้านั่งเดิมที่ Cobain เคยมานั่ง ถูกประมูลไปเมื่อปี 2014 แต่มีม้านั่งตัวใหม่มาวางแทน และทุกวันนี้ ม้านั่งดังกล่าวได้กลายเป็นอนุสรณ์สถานอย่างไม่เป็นทางการของศิลปินในตำนานผู้นี้ เพราะมันเต็มไปด้วยเนื้อเพลง จดหมาย บทกวี รูปภาพ และสิ่งของต่างๆ ที่เป็นการระลึกถึงเขา

ในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ Cobain ชาวซีแอตเทิลจะมารวมตัวกันที่นี่ และก่อนหน้านี้ เคยมีผู้พยายามจะเปลี่ยนชื่อสวนสาธารณะเพื่อเป็นเกียรติแก่ Cobain ด้วย

Photo Credit: Booking.com
Marco Polo Motel

หนึ่งในสถานที่ที่เชื่อกันว่ามีคนพบ Kurt Cobain ขณะยังมีชีวิตอยู่ โดยก่อนหน้านี้ เขามักจะหลบออกจากบ้านและพักอยู่เงียบๆ ในโรงแรมแห่งนี้ โดยเฉพาะในห้องหมายเลข 226

Photo Credit: EverOut
​​Linda’s Tavern

บาร์ที่มีสโลแกนว่า 'A nice place for nice people' (สถานที่ดีๆ สำหรับคนใจดี) ที่มาพร้อมกับการบริการสุดอบอุ่นในธีมเวสต์เทิร์น เชื่อกันว่า เป็นสถานที่สุดท้ายที่มีผู้พบเห็น Kurt Cobain ขณะยังมีชีวิตอยู่

จากเรื่องราวความเป็นมาของดนตรีกรันจ์ และสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับแนวดนตรีนี้ จะเห็นได้ว่า กรันจ์ไม่ใช่แค่ดนตรีที่มีไว้ฟังเพื่อความบันเทิง แต่ดนตรีแนวนี้ได้แทรกซึมอยู่ทุกซอกมุมของวิถีชีวิตในซีแอตเทิล ยิ่งไปกว่านั้น ศิลปินกรันจ์อย่าง Kurt Cobain และ Chris Cornell ก็ยังคงมีพื้นที่อยู่ในหัวใจของชาวซีแอตเทิล แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอีกต่อไป

เมืองที่มีเสน่ห์มากขนาดนี้ ถ้าได้มีโอกาสไปเยือน น่าจะเดินเล่นฟังเพลงเพลินเชียวล่ะ

อ้างอิง

Culture Trip
Visit Seattle

Daily Hive

Fandom