"ผมเป็นคนเดียวในบ้านที่โตมาด้วยความเกเร เพราะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงเราในแบบที่เราเป็น เราเลยโตมาและอยู่ในกรอบของพ่อแม่ แต่ก็แอบทำในสิ่งที่พ่อแม่ไม่ชอบ ซึ่งมันย้อนแย้งในตัวเองสูง พอผ่านการเดินทางกลับมา ทุกเรื่องราวเรากล้าพูดกับพ่อแม่ และเราก็คุยกันด้วยเหตุผลมากขึ้นกว่าเดิม"
นี่คือสิ่งที่ ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ วัย 34 ปี อาชีพบริการการท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และเจ้าของเพจ Bibbike ได้กล่าวกับเรา เพราะถ้าเขาไม่เลือกที่จะเกเรในวันนั้น ก็คงไม่มีเรื่องราวการเดินทางสนุกๆ มาเล่าให้เราฟังในวันนี้ กับภารกิจ "พายเรือคายัคจากต้นแม่น้ำปัตตานีไปสุดปลายแม่น้ำปัตตานี และออกไปยังปากอ่าวไทย เพื่อสำรวจแม่น้ำปัตตานี" ถึง 8 วันเต็มๆ
จากต้นแม่น้ำปัตตานี ไปปลายแม่น้ำปัตตานี สู่ปากอ่าวไทย!
"เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเรามีอยู่เส้นทางหนึ่งที่อยากจะไป แต่เราไม่มีเพื่อน ก็คือ 'เส้นทางน้ำ' จนกระทั่งมีพี่คนหนึ่งที่อยู่เชียงใหม่มาชวน ผมก็เลยตอบตกลงทันที เราเห็นในทุกๆ มิติของการเดินทางแล้วยกเว้นทางน้ำ เลยคิดว่าแม่น้ำปัตตานีน่าจะเดินทางจากเบตงได้
ตอนนั้นยังไมได้คิดเลยว่าจะเอาเงินที่ไหนซื้อเรือ แต่ผมก็นึกย้อนกลับไปว่า ถ้าเรามัวแต่รอ หมดโควิดแล้วกลับไปทำงานก่อน เราคงไม่อยากจะทิ้งเวลาทำงานหลายๆ วันไปพายเรือเล่นแน่ๆ เอาวะ..มีเท่าไหนก็เอาเท่านั้น เลยเจียดเงินของตัวเองส่วนหนึ่งไปซื้อเรือและเอามาพาย"
"เราใช้เวลาทั้งหมด 8 วัน โดยภารกิจพายเรือคายัคในครั้งนี้มี 2 คน 2 ลำ เราผลัดกันถ่ายรูปซึ่งกันและกัน ผมเริ่มจากต้นน้ำไปปลายน้ำปัตตานี โดยเริ่มจากเบตงในระยะทาง 200 กว่ากิโลเมตร พายลงมานอนระหว่างทาง จาก GPS คือ ยะหร่มใกล้สนามบินเบตง จากนั้นก็พายไปอัยเยอร์เวง ผ่านแก่งแม่น้ำที่สวยมาก ซึ่งเป็นแก่งที่นักพายคายัคระดับโลกมาพาย เรียกว่า 'White Water Rafting' เป็นการล่องแก่งกับน้ำที่มีฟองขาวๆ ลักษณะเป็นน้ำใสๆ ตกจากที่สูง 2-3 เมตร โดยฟองข้างล่างจะเป็นสีขาวสวยงามมาก
พอพ้นจากอัยเยอร์เวง ก็เข้าสู่ทะเลสาบเขื่อนบางลาง ก็พบเจอน้ำลักษณะนิ่งๆ เรียบๆ ยาวๆ ทางขวามือก็สวย ซ้ายมือก็เป็นถนน แต่ทำไมเราไม่เคยรู้เลยว่าบ้านเราสวยขนาดนี้?"
"3 วันแรก เป็นวันที่เราสนุกกับพื้นที่ข้างทาง โดยที่ยังไม่มีภารกิจอื่นเข้ามาแทรก พอวันที่ 4 เรายกเรือข้ามมาหน้าเขื่อน ตอนนั้นเราก็ไปคุยกับพี่อีกทีมหนึ่งว่า เราจะพายเรือจากเบตงไปปัตตานี เขาเลยขอให้ช่วยโปรเจคหนึ่ง ซึ่งเป็นโปรเจคเกี่ยวกับการสำรวจ เพราะตอนต้นปีช่วงมกราคม 3 จังหวัดชายแดนใต้มีน้ำท่วมเกิดขึ้น เขาเลยให้ภารกิจเราด้วยการ 'ถ่ายรูปข้างทางและวัดความลึกของแม่น้ำแต่ละที่ว่ามีความลึกมากน้อยแค่ไหน'
จากบันนังสตามานอนที่บีเตงยี มาที่ยะลา มาเขื่อนปัตตานี และไปนอนบ้านชาวบ้านที่ยะรัง แล้วจบการเดินทางที่เมืองปัตตานีในวันที่ 8 ครับ
ถือว่าเป็นภารกิจการเดินทางที่เป็นการช่วยซึ่งกันและกัน เพราะเขาเองก็มาซัพพอร์ตเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางบางส่วน เราเองก็เอาข้อมูลบางอย่าง ที่จำเป็นต่อการพัฒนาในด้านยุทธศาสตร์ให้เขา"
ถ้าไม่มีน้ำ ความอุดมสมบูรณ์มันจะไม่เกิดขึ้น
"สังเกตจากที่พายเรือผ่านไป 99% ชาวบ้านจะปลูกบ้านหันหลังให้แม่น้ำ จะมีก็แค่ 1-2 หลังที่หันหน้าเข้าหาแม่น้ำ หลังไหนหันหน้าเข้าน้ำ เขาจะไม่ทิ้งขยะหน้าบ้าน ส่วนบ้านไหนหันหลังให้แม่น้ำ หน้าบ้านของเขาจะสะอาด แต่หลังบ้านก็จะทิ้งขยะลงแม่น้ำนั่นแหละ"
"ได้เห็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีในบ้านของตัวเองเพิ่มมากขึ้นอีก 1 อย่าง คือ แม่น้ำ เพราะในแต่ละวันของการพาย แต่ละพื้นที่มันแตกต่างกัน เช่น ช่วงแรกสนุกกับการเจอแก่ง เห็นความเงียบของแม่น้ำ ความใสของแม่น้ำ ความเย็นของแม่น้ำ พอข้ามมาทะเลสาบก็รู้ว่า เขื่อนให้อะไรกับมนุษย์ ดึงอะไรจากมนุษย์ไป พอข้ามจากหลังเขื่อนเป็นหน้าเขื่อน ก็ได้เห็นการจัดการของรัฐว่า ถ้าคุณจัดการในพื้นที่เหล่านี้ มันจะไม่เกิดโทษกับใครหรือประโยชน์กับใครได้อย่างไร..เมื่อคุณไม่คุยกับชาวบ้าน”
“พอเข้ามาในเขตเมืองยะลา เราก็เห็นว่า พื้นที่หนึ่งของแม่น้ำมันสามารถทำประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาล ทำให้ชีวิตคนสองข้างทางดีขึ้นได้โดยแม่น้ำ ข้ามไปยะรังได้เห็นกระชังปลา แม่น้ำที่สามารถทำเงินได้โดยไม่ต้องใช้การท่องเที่ยว พอข้ามไปปัตตานีเราเห็นว่า ชีวิตของเขาผูกพันกับแม่น้ำมา 400 กว่าปี ทำไมไม่มีใครพูดถึงเลย"
"ถ้าเราอยู่บนถนน เราจะอยู่สูงกว่าแม่น้ำ เราก็จะเห็นเท่ากันกับคนปกติ แต่พอเราอยู่ในแม่น้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ต่ำสุดของพื้นดิน ทำให้เราต้องเงยขึ้นไปข้างบนและเห็นว่า การที่เรายืนอยู่มุมต่ำขนาดนี้ก็มีความสวยงามเหมือนกัน"
Bibbike เปลี่ยนมุมมองการเดินทางให้ต่างไปจากเดิม
"ผมเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง พยายามเกลาข้อคิดบางอย่างให้คนบางคนเปลี่ยน Mindset ของตัวเอง สิ่งที่ผมเจอบ่อยในเพจเลยคือ เราต้องมีเงินก่อนถึงจะเที่ยวถึงจะเดินทางได้ เราจะต้องรู้ว่าพื้นที่นี่ปลอดภัยก่อนเราถึงจะเข้าไปได้ ผมไม่มีเพื่อน ผมจะไปคนเดียวได้ไหม ผมไม่ได้สนใจยอดไลค์คนกดเพจ หรือ คนจะสนุกกับคอนเทนต์มากแค่ไหน ถ้ามีคนหนึ่งคนเห็นคอนเทนต์เราแล้วเราช่วยเปลี่ยนความคิดหรือมุมมองของเขา ทำให้เขากล้าที่จะเปลี่ยนแปลง นั่นคือ สิ่งที่ประสบความสำเร็จของเราแล้ว เพราะเราจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้"
คิดยังไงกับคำกล่าวที่ว่า "3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ พื้นที่อันตราย"
"มันอันตรายทุกที่ครับ กรุงเทพฯ ก็อันตรายจากรถเมล์ที่อาจจะชนคุณได้ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เหมือนกันครับ ถ้าเป็นพื้นที่ๆ เปราะบางเราก็ไม่สมควรจะไป เช่น เรารู้ว่าโจรจะรบกับคนที่ถือปืน เราก็จะต้องไม่ถือปืนมาเที่ยวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
“หน้าที่ของเราคือ เมื่อไหร่ที่มีเพื่อน หรือ ใครก็แล้วแต่ ที่อยากจะได้ข้อมูล 3 จังหวัด ผมก็มีหน้าที่ให้ข้อมูลและแนะนำในสิ่งที่ควรจะเป็น และทุกวันนี้บ้านผมก็กลายเป็นสถานที่ๆ ทั้งคนไทยและต่างประเทศมาเยือน ผมเปิดเป็นบ้านของนักท่องเที่ยว บ้านของนักเดินทาง”
“ถ้าอยากจะมาในพื้นที่นี้ อยากเห็นมุมมองที่แตกต่าง กลัวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มานอนบ้านผม แล้วผมจะพาไปให้เห็นว่า พื้นที่ๆ คุณกลัวสุดๆ มันสวยงามขนาดไหน"
เปลี่ยนมุมมองของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยเรื่องราวที่ดี
"อยากบอกคนในจังหวัดยะลาและ 3 จังหวัดชายแดนว่า เรามีเพื่อนต่างชาติได้ มีเพื่อนเป็นคนกรุงเทพได้ ความคิดเขาก็จะเปลี่ยน ไม่ต้องไปสนใจว่าจะพูดอังกฤษได้เก่งแค่ไหน ให้พูด-สื่อสารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
“แขกของผมแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ล่าสุดมีเพื่อนจากเยอรมันจะมาหาโลเคชั่นทำหนัง ผมก็คุยกับเขาว่า ไม่เป็นไร อยู่กับเราเดี๋ยวเราจะพาไป นี่เป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด เราก็พยายามส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้คนรอบตัวเรา"
กายดี ใจก็ดีตาม
"วันที่ผมเดินทาง ผ่านวันเวลามากขึ้นเรื่อยๆ มันทำให้ร่างกายผมปรับตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อร่างกายแข็งแรง เราก็จะทนแรงกดดันมากขึ้น มันทำให้จิตใจแข็งแรงตามไปด้วย ถ้าร่างกายคุณอ่อนแอ จิตใจคุณก็จะอ่อนแอตาม ก่อนที่ปัญหาจะเข้าไป มันต้องผ่านร่างกายที่จะซึมซับก่อนว่า ปัญหาแบบนี้เราสามารถรับได้นะ เพราะเรามั่นใจว่า ร่างกายเราแข็งแรงแล้ว”
“เพราะทุกครั้งที่ผมทำกิจกรรมอะไรเหล่านี้ มันเป็นช่วงที่ผมเหนื่อยและท้อ ล้ากับบางอย่าง ตอนพายเรือคายัคก็เป็นช่วงชีวิตที่คิดทบทวนเรื่องการทำอาชีพไกด์กับการทำบริษัททัวร์ว่าจะไปในทิศทางไหนดี พอผ่านกิจกรรมเหล่านี้มา มันทำให้เรานิ่งขึ้นกับปัญหาที่เรากำลังคิดอยู่"
ใครที่ชอบเดินทางและอยากเปิดประสบการณ์พายเรือคายัคแบบคุณฮาบิ๊บก็ลองทักไปคุยในเพจ Bibbike ไว้เป็นข้อมูลสำหรับทริปต่อไปหลังโควิดซาแล้วกันนะ
ไปติดตามกันได้ที่ Facebook: ฮาบิ๊บ คอแด๊ะ Habib Kodae