“ฮับกิโด” ศาสตร์และโอกาสของคน (ใจ) ใหญ่

“เล็กพริกขี้หนู” สำนวนเก่าแก่ที่แปลว่าตัวเล็กแต่ไม่ธรรมดา มีความสามารถมาก หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘จิ๋วแต่แจ๋ว’ สำหรับในวงการกีฬาไทยนั้นมีนักกีฬาสไตล์นี้อยู่หลายคนเหมือนกัน แต่ผู้เขียนมั่นใจว่า นักกีฬาตัวเล็ก ตัวจิ๋ว ที่สูงเพียง 152 ซม. คงหากันไม่ได้ง่ายๆ

ครั้งนี้ผู้เขียนเลยตั้งใจพาทุกคนไปรู้จัก ป่าน - วรธิดา เทียวพานิช อดีตนักกีฬาทีมชาติไทย ที่แม้ตัวเล็กแต่ใจไม่เล็กตาม แห่งทัพกีฬาฮับกิโดผู้ที่ทำให้หลายคนได้รู้ว่าคนตัวเล็ก ก็เจ๋ง! ได้มากกว่าที่คิด

ศาสตร์แห่งการผสมผสาน

ป่าน วรธิดา เล่าให้เราฟังว่า ฮับกิโด เป็นศิลปะป้องกันตัวที่กำเนิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศเกาหลี มีหลักสำคัญคือ ป้องกันตัวโดยใช้แรงของคู่ต่อสู้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง อาศัยการอ่านแรง การเคลื่อนไหว การหลบหลีก การทุ่ม และการหักข้อต่อ ที่ทำให้คนตัวเล็กสามารถที่ป้องกันตัวเองจากคนที่ตัวใหญ่กว่าและแรงเยอะกว่าได้ ส่วนความน่าสนุกอยู่ที่การเหวี่ยงแรงของคู่ต่อสู้ ที่สามารถไปได้ทุกทิศทาง หมุนเป็นวงกลมได้เลย แล้วก็ยังมีท่าทางผาดโผนให้ได้เลือกใช้อีกเยอะมาก เช่น ตีลังกา กระโดดสูง ม้วนหน้า เป็นต้น

“ตอนแรกตั้งใจจะเรียนมวยไทย แต่คนไม่พอเลยเปิดคลาสไม่ได้ ครูจึงแนะนำเป็นฮับกิโด ที่เหมาะกับผู้หญิง ไม่ต้องใช้แรงเยอะ ไม่เจ็บตัวเยอะ แต่ใช้ป้องกันตัวได้แทน เลยมีโอกาสได้ทดลองเรียนดู ก็รู้สึกชอบมาก เพราะฮับกิโดเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานกีฬาหลายอย่างมาไว้ด้วยกัน ทั้งเตะ ต่อย ทุ่ม และอีกหลาย ๆ  movement ให้ได้ลองใช้ ป่านเลยเลือกที่จะเล่นกีฬานี้อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เพราะมันสนุกและคิดว่าได้ประโยชน์กว่าการที่เราไปเลือกเรียนมวยไทย เทควันโด ยูโด หรืออื่นๆ เพียงอย่างเดียว”

“ตอนแรกตั้งใจจะเรียนมวยไทย แต่คนไม่พอเลยเปิดคลาสไม่ได้ ครูจึงแนะนำเป็นฮับกิโด ที่เหมาะกับผู้หญิง ไม่ต้องใช้แรงเยอะ ไม่เจ็บตัวเยอะ แต่ใช้ป้องกันตัวได้แทน เลยมีโอกาสได้ทดลองเรียนดู ก็รู้สึกชอบมาก เพราะฮับกิโดเป็นศาสตร์ที่ผสมผสานกีฬาหลายอย่างมาไว้ด้วยกัน ทั้งเตะ ต่อย ทุ่ม และอีกหลาย ๆ  movement ให้ได้ลองใช้ ป่านเลยเลือกที่จะเล่นกีฬานี้อย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน เพราะมันสนุกและคิดว่าได้ประโยชน์กว่าการที่เราไปเลือกเรียนมวยไทย เทควันโด ยูโด หรืออื่นๆ เพียงอย่างเดียว”

จิ๋วแต่แจ๋ว

ในอดีตโชคชะตาทำให้เด็กสาวที่อยากเรียนมวยไทยได้เปลี่ยนมาเล่นฮับกิโด แต่ต่อมาความสามารถเฉพาะตัวก็พาเธอไปสู่การเป็นนักกีฬาตัวจริงของฮับกิโดทีมชาติไทย ตอกย้ำความเจ๋งให้กับภาพลักษณ์ของคนตัวเล็กได้เป็นอย่างดี เธอลงแข่งทั้งในท่ากระโดดสูง การต่อสู้ และแข่งโชว์ท่า คว้ารางวัลและเอาชนะคู่แข่งที่ตัวสูงกว่ามาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น 

  • 1 เหรียญทอง & 2 เหรียญเงิน รายการ 1st Korea Open World Hapkido Championship
  • 2 เหรียญทอง ในรายการ 9th International H.K.D. Martial Arts Competition และ
  • 1 เหรียญทอง & 1 เหรียญเงิน ในงาน 16th Pohang Mayor Cup Hapkido Championship and International Exchange

การแข่งขันกระโดดสูง คือกระโดดสูงข้ามไม้กั้น เมื่อถึงพื้นก็ม้วนตัว พิจารณาคะแนนจากความสูงที่กระโดดได้และความสมบูรณ์ของการลงถึงพื้น การต่อสู้ หลักการจะคล้ายเทควันโด มีการเตะ ต่อยได้ และเพิ่มเติมแต่คือการทุ่ม ส่วนการแข่งโชว์ท่านั้น จะให้นักกีฬาเลือกท่าโชว์มาเองทั้งหมด 3 ท่า สามารถออกแบบได้เองเลยว่าจะใช้ท่าใด เงื่อนไขอย่างไร แล้วจำลองสถานการณ์ว่าเริ่มจากเหตุการณ์ใด เช่น เริ่มจากการโดนล็อกคอ ต้องแก้ไขอย่างไร แล้วทางกรรมการจะตัดสินว่าท่าสวยไหม สมบูรณ์มากน้อยเพยงใด ถูกต้องหรือไม่ และใช้งานได้จริงหรือไม่

ป่านเล่าถึงการแข่งขันที่ประทับใจที่สุดอย่าง 1st Korea Open World Hapkido Championship ในประเภทต่อสู้ ว่าคู่ต่อสู้น้ำหนักพอๆ กัน แต่ตัวสูงกว่ามาก ขายาวกว่า ทำให้เขาได้เปรียบในเรื่องการเตะ พอแข่งกันป่านก็ต้องพยายามอยู่วงในให้มากที่สุด อาศัยความตัวเล็กหลบลูกเตะเขาแล้วเข้าประชิดตัว สกัดขา เตะ แล้วก็ทุ่ม ในที่สุดก็ชนะ ได้เหรียญเงินมาครอง

“ตัวเล็กกว่าไม่ได้แปลว่าจะต้องแพ้เสมอไปนะ เราสามารถใช้ความเป็นคนตัวเล็กมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ยิ่งตัวเล็กยิ่งคล่องแคล่ว และเคลื่อนไหวได้เร็ว ประกอบกับกีฬานี้ใช้การเคลื่อนไหวและแรงของคู่ต่อสู้เป็นหลักอยู่แล้ว เราแค่ขยับให้เร็วกว่าเดิมหน่อย เข้าใกล้ให้เร็ว หลบให้เร็วขึ้น ก็ชนะแล้ว”

ฮับกิโดและประเทศไทย

“ถ้าเทียบกับเมื่อ 10 ปี ก่อน ในปัจจุบันมีคนรู้จักและเล่นกีฬาฮับกิโดเพิ่มขึ้นเยอะค่ะ เพราะทางสมาคมอับกิโด (ประเทศไทย) ได้ไปกระจายการสอนสอนและอบรมให้กับนักกีฬาเทควันโดและยูยิตสูได้เรียนรู้ด้วย เพราะนักกีฬาเหล่านี้มีพื้นฐานการเตะอยู่แล้ว รวมถึงมีการจัดการแข่งขันในประเทศมากขึ้นด้วย เช่น การแข่งขันชิงแชมป์ประเทศไทย และกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ส่วนการแข่งขันต่างประเทศก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม หลักๆ คือที่เกาหลีใต้ จะมีการแข่งขันหลากหลายแบบ ได้แก่ กระโดดไกล กระโดดสูง การต่อสู้ การโชว์ท่า การป้องกันตัว การแข่งท่าเตะต่างๆ เช่น เตะสวย เตะสูง เป็นต้น การใช้อุปกรณ์ เช่น กระบองสองท่อน ไม้พลอง ดาบ เป็นต้น และการแข่งเป็นทีมเพื่อโชว์กระบวนท่าทั้งหมด”

โอกาสที่ไม่คาดฝัน

หนึ่งในคำถามปลายเปิดที่ผู้เขียนมักจะถามนักกีฬาอยู่เสมอคือ ถ้าเปรียบกีฬาที่ตัวเองชอบเป็นสิ่งใดก็ได้หนึ่งสิ่ง อยากจะเปรียบเป็นอะไร หลายๆ คนถึงกับต้องขอเวลาไปคิดคำตอบกันเป็นวัน แต่กับสาวน้อยตัวเล็กของเราคนนี้ เธอตอบได้ทันทีเลยว่า “ฮับกิโด เท่ากับ โอกาส” เพราะเริ่มแรกเธอเล่นกีฬาก็เพื่อให้ตัวเองได้ออกกำลังกาย ได้มีสังคม สามารถฝึกสติและนำการป้องกันตัวนี้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ แต่ใครจะไปรู้ว่าจะได้รับโอกาสพัฒนาไปเป็นนักกีฬาทีมชาติ พอไปแข่งก็ได้เหรียญกลับมา ได้โควตาเข้าเรียนมหาวิทยาลัย และยังได้มีโอกาสเป็นผู้ฝึกสอนด้วย ตลอดจนปัจจุบันนี้ที่เธอไม่ได้เป็นนักกีฬารับใช้ประเทศชาติแล้ว แต่ก็ยังได้นำความรู้กลับมาปรับใช้กับการสอนลูกค้ากับอาชีพเทรนเนอร์ และมีร่างกายที่ดีสามารถนำไปต่อยอดสู่การออกกำลังกายรูปแบบอื่นได้

“ฮับกิโด หรือศิลปะป้องกันตัวรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่คนตัวเล็กก็เล่นได้นะ อย่าไปคิดว่าตัวเล็กแล้วจะทำอะไรไม่ได้เลย สิ่งสำคัญคือใจ ถ้าคิดว่าสู้ใครเขาไม่ได้ แล้วไม่กล้าที่จะเริ่ม ก็ไปต่อไม่ได้หรอก”

ป่านฝากก่อนจากกันไป