Culture

สนทนากับ “แบงค์-ดรณ์” แชมป์โลก Hip-Hop Double กับเบื้องหลังความสำเร็จ และวงการฮิปฮอปแดนซ์ในไทย

“Got me so high, and then she dropped me. But she got me, she got me, she got me bad ♫”

ในช่วงนี้ คอกีฬาคงคุ้นเคยกับเพลงนี้กันพอสมควร เพราะนอกจาก Lucky Strike ของ Maroon 5 จะเป็นเพลงฮิตเมื่อหลายปีก่อนแล้ว ยังเป็นเพลงที่ แบงค์ - นพรัตน์ บุญรัตน์ และ ดรณ์ - กร คุ้มราช คู่หูแชมป์โลก Hip-hop Dance ประเภท Double เลือกไปใช้ในการแข่งขัน “THE 2022 ICU JUNIOR WORLD & WORLD CHEERLEADING CHAMPIONSHIPS” ที่ผ่านมาด้วย 

เมื่อพูดถึงฮิปฮอปแดนซ์ จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับบ้านเรา แต่สิ่งที่เราต่างทราบกันดีคือ การเต้นสไตล์นี้ตลอดจนถึงการต่อยอดสู่เส้นทางนักกีฬา ยังเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม ทำให้มีข้อจำกัดที่ไม่เอื้อต่อการผลักดันเข้าสู่นักกีฬาอาชีพสักเท่าไหร่ การคว้าแชมป์โลกครั้งนี้ของทั้งคู่จึงเหมือนการเขย่ากระแสอะไรบางอย่างในวงการกีฬา นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากสนทนากับพวกเขา ในหลากหลายเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในครั้งนี้

จากซ้ายไปขวา: แบงค์ - ดรณ์

ความรู้สึกถึงแชมป์โลกที่เพิ่งคว้ามา 

แบงค์: ดีใจครับ แต่รู้สึกว่าบรรยากาศมันแตกต่างจากงานอื่นที่เราเคยไปแข่งในต่างประเทศมากเหมือนกัน 

ดรณ์: ปกติแล้วพวกผมมาจากสายฮิปฮอป ส่วนใหญ่งานจะไม่ได้เป็นทางการมากเหมือนงานนี้ ถือเป็นความรู้สึกที่แปลกใหม่ ถามว่าดีใจไหม ก็ดีใจนะครับ แต่ผมเชื่อว่าตำแหน่งอยู่ไม่นาน ตำนานจะอยู่ตลอดไป (หัวเราะ)

ยากไหมกับการเปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นคู่หู

ดรณ์: ไม่ยากครับ เพราะเราสนิทกันอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ถึงไม่มีแข่งเราก็คุยกันตลอด พอต้องมาเต้นคู่กันก็ไม่ต้องปรับอะไรมาก เพราะเราเต้นสไตล์เดียวกัน เข้าใจกันดี มองตาก็รู้ใจแล้ว

ความแตกต่างระหว่างการแข่งแบบเดี่ยว คู่ ทีม

แบงค์: การแข่งคนเดียว (Battle) จะใช้สกิลส่วนตัวสูง เหนื่อยมาก แต่ถ้าแข่งคู่ จะเหนื่อยไปอีกแบบ เพราะว่าต้องเอาให้อยู่ทั้งโชว์ ต้องเชียร์อัปกันตลอด และการแข่งเป็นทีมก็จะมีสมาชิกในทีมค่อยเติมจุดต่างๆ จะไม่เหนื่อยมาก

คิดว่าอะไรที่ทำให้เราได้แชมป์โลก?

ดรณ์: ความเข้าขากัน เพราะว่าเราแข่งเป็นคู่ มันต้องมองแล้วรู้ว่าควรทำอะไรต่อ แล้วก็มีเรื่องของโอกาสครับ พอได้เข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติ เราได้รับการสนับสนุนหลายอย่างจากสมาคมกีฬาเชียร์แห่งประเทศไทย และจากผู้ใหญ่หลายท่าน อย่างปกติถ้าซ้อมกับทีมตัวเอง ไม่เคยมีสถานที่ซ้อมเป็นหลักแหล่ง ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่พอเป็นนักกีฬา เรามีสถานที่ซ้อม มีโค้ชช่วยดูความเหมาะสม มีการเทรนนิ่งร่างกาย 

แบงค์: นอกจากที่ดรณ์บอกไป แบงค์มองว่ามีเรื่องของการใส่ใจกับการเลือกเพลงและการคิดท่าเต้นด้วย เราต้องดีไซน์ให้มันแปลกใหม่ อย่างท่าเต้นเราจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แทบทุกวันจนถึงวันแข่งเลย เพราะว่าทุกวันเราจะมีความคิดใหม่ๆ ผุดขึ้นมา แล้วให้โค้ชช่วยดูว่าโอเคไหม เพราะการแข่งมีกฎกติกาเยอะ จะได้ไม่พลาด

ทำไม่ต้องเพลง Lucky Strike

แบงค์: เราใช้ตั้งแต่ตอนคัดตัว เพราะรู้สึกว่ามันฟีลกู้ด และอยากมอบความรู้สึกสนุกไปให้คนดู จริงๆ นักเต้นก็เหมือนศิลปินคนหนึ่ง ถ้าเกิดเราเต้นแล้วเราไม่รู้สึกดี ไม่รู้สึกสนุก คนดูก็จะไม่รู้สึกตามไปด้วย เราเลยเลือกเพลงนี้

ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของเรากับฮิปฮอปแดนซ์

แบงค์: สมัยนั้นมันมีหนังชื่อว่า “BIG BOY” (2553) ที่เกี่ยวกับการเต้นบีบอย เราเห็นแล้วชอบ ชอบในการใช้ร่างกาย การเคลื่อนไหวต่างๆ มันดูสวยงาม เลยมาฝึกเต้นเองก่อน พอดีที่ตอนนั้นโรงเรียนมีศูนย์เพื่อนใจ “TO BE NUMBER ONE” เราก็ได้เข้าไปเป็นทีม Dancercise ของโรงเรียน มีโอกาสไปแข่งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศอยู่เรื่อยๆ 

“ตอนเด็กๆ แบงค์เรียนที่ชลบุรี แต่ช่วงที่กลับไปเยี่ยมบ้านที่บุรีรัมย์ ญาติเห็นเราตีลังกาได้ เต้นได้ ก็ชวนให้มาช่วยทีม ด้วยความที่ชอบมากเลยตัดสินใจย้ายมาโรงเรียนที่บุรีรัมย์เลย พอมองย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าวันนั้นว่าคิดไม่ผิดจริงๆ” – แบงค์

ดรณ์: ผมเริ่มมาจากที่โรงเรียนส่งไปแข่งก่อน เหมือนโดนบังคับก่อน แต่รู้ตัวอีกทีเราก็ชอบและรู้สึกว่ามาถูกทางแล้ว ผมชอบที่ฮิปฮอปแดนซ์มันเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เป็นเหมือนจังหวะนับ 1 ของทุกสไตล์การเต้น 

เมื่อเทียบฮิปฮอปแดนซ์ไทยกับต่างประเทศ

แบงค์: มันกว้างขวางกว่าเมื่อก่อนแล้ว แต่ยังกระจัดกระจายกันอยู่ เพราะบ้านเรายังไม่มีสมาคม Hip-hop ที่คอยสนับสนุนนักกีฬาแบบจริงจัง มันเคยจะมีแล้วนะครับ แต่ว่าพับโครงการไปก่อนด้วยเหตุผลอะไรหลายอย่าง ทำให้วงการเต้นฮิปฮอปไม่ได้มีเงินสนับสนุนมากพอ บางครั้งนักกีฬาต้องออกค่าใช้จ่ายเอง คนเลิกเต้นกันไปก็เยอะ

ดรณ์: ผมว่าทุกประเทศมีการสนับสนุนต่างกัน เพราะเข้าใจฮิปฮอปต่างกัน จริงๆ ฮิปฮอปไม่ใช่แค่การเต้น แต่เป็นวัฒนธรรมหนึ่งเลย อย่างต่างประเทศเขามี Real Hip-hop ที่สอนตั้งแต่การใช้ชีวิต จนถึงการเต้น แต่ในไทยเราต้องลองผิดลองถูกกันเอง บวกกับในอดีต ผู้ใหญ่บางท่านเขายังมองว่าฮิปฮอปดูไม่โอเค มันเลยไม่โตในบ้านเราสักที แต่ตอนนี้พอพวกผมเริ่มได้รางวัลกลับมา คาดว่าผู้ใหญ่หลายคนคงเริ่มเปิดใจกันมากขึ้นแล้ว

ข้อจำกัดที่เราพูดมา เคยทำให้รู้สึกเสียดายหรือด้อยกว่านักกีฬาประเทศอื่นไหม 

แบงค์: ไม่ครับ เพราะแม้ว่าเราจะมีบางอย่างไม่เท่าเขา แต่การได้ไปแข่งทำให้ได้เห็นอะไรมากขึ้น แล้วสามารถนำกลับมาใช้พัฒนาตัวเองได้

“ผมไม่ได้รู้สึกว่าเราด้อยนะครับ เพราะเข้าใจว่าเราต้องใช้เวลาทำความเข้าใจการเต้นฮิปฮอปมากกว่าคนอื่นหน่อย ตอนนี้ผมก็ยังคิดว่าตัวเองยังไม่เข้าใจมันทั้งหมด การได้ไปเจอคนเก่งๆ ในต่างประเทศ ก็เหมือนการไปเก็บประสบการณ์” – ดรณ์

เป้าหมายหลังจากนี้ที่อยากทำให้ได้

แบงค์: ถ้ามีแข่งระดับจักรวาลก็อยากไปครับ (หัวเราะ) ถ้านอกเหนือจากรางวัล แบงค์อยากเปิดสตูดิโอสอนเต้นเป็นของตัวเอง 

ดรณ์: ผมไม่ต้องการอะไรมาก แค่อยากให้นักเต้นทุกคนรู้ว่าเรามีตัวตน เราเป็นใคร เห็นเราแล้วร้องอ๋อว่านี่คือ “ดรณ์”

รายการที่เตรียมตัวแข่งในเร็วๆ  นี้

ดรณ์: “WORLD HIP HOP DANCE CHAMPIONSHIP HHI” ช่วงเดือนสิงหาคมนี้ครับ ผมลงไป 3 รุ่น เพราะเป็นรายการที่ผมคาดหวังมาก มันเป็นเวที Hip Hop International ความชอบผมเริ่มมาจากตรงนั้น ก็อยากจบที่เวทีนี้ ตอนนี้ซ้อมหนักหน่วงเลย ตั้งแต่ 18:00-08:00 น. ส่งใจมาเชียร์กันได้ครับ

แบงค์: แบงค์ลงรายการเดียวกับน้อง แต่ลงไปแค่รุ่นเดียว เพราะเราต้องทำงานเป็นวิทยากรพิเศษของ “TO BE NUMBER ONE” ด้วย เลยเน้นไปเชียร์น้องมากกว่า (หัวเราะ) ก็แบ่งเวลามาซ้อมเอา ยอมเหนื่อยหน่อย เพราะเราเลือกแล้ว

บทสนทนาในครั้งนี้ น่าจะช่วยคลายข้อสงสัยให้เราได้เป็นอย่างดีว่ามีอะไรบ้างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “แบงค์และดรณ์” แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นความพยายามของคนทั้งคู่ที่ไม่ย่อท้อ แม้หลายอย่างอาจไม่เอื้ออำนวยต่อเส้นทางการเป็นนักกีฬาอาชีพ อย่างไรก็ตาม EQ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในอนาคต นักกีฬาฮิปฮอปแดนซ์คนอื่นๆ จะได้รับการสนับสนุน และคว้าแชมป์ในสนามนานาชาติกลับมาอีกครั้ง

สามารถชมคลิปการแข่งขันของทั้งคู่ได้ที่:

ชมลีลานักเต้นเท้าไฟของ "ดรณ์-แบงค์" 2 ฮิปฮอปไทยดีกรีแชมป์โลก 2022

https://www.youtube.com/watch?v=-CbdfOJ6oEE

WORLD CHAMPION DAY ความสำเร็จนักกีฬาเชียร์ทีมชาติไทย การแข่งขันเชียร์ลีดดิ้งชิงแชมป์โลก 2022 

ติดตามและอัปเดตเรื่องราวของทั้งคู่ได้ที่:

Instagram (แบงค์): bank_garnet

Instagram (ดรณ์): dornkhumraj