Culture

ดื่มด่ำกับคราฟต์โคล่าสัญชาติไทย ‘Hom Local Craft’ เมดอินเกาะพะงัน รังสรรค์ส่วนผสมจากธรรมชาติอย่างลงตัว!

'เกาะพะงัน' ดินแดนของคนช่างฝันและสวรรค์ใต้น้ำที่มีความหลากหลายสุดน่าทึ่ง แต่ทว่าที่นี่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล บรรยากาศดีๆ และผู้คนที่น่ารัก เพราะมีเครื่องดื่มโฮมเมดที่สดชื่นและดับกระหายน้ำสุดครีเอทอย่าง ‘ดื่มด่ำ’ โปรดักส์คราฟต์โคล่าในเครือของ ‘Hom Local Craft’ บริษัทออกแบบผลิตภัณฑ์ของ ‘นิว – สุชาครีย์ สังข์สาลี’ และ ‘อ้อมดาว ลอยสุวรรณ์’ ที่มีทั้งงานออกแบบของตัวเองและงานที่ทำร่วมกับชุมชน ละลานตาไปด้วยของกินและของใช้มากมายที่เปิดมานานกว่า 4 ปี ของดีเกาะพะงัน ที่ EQ อยากชวนคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักและดื่มด่ำกับคราฟต์โคล่าแสนอร่อยนี้พร้อมๆ กัน

“เวลาเห็นคนไปดูพระอาทิตย์ตก ทั้งคนไทยและฝรั่งก็มักจะมีเครื่องดื่มไปด้วย ส่วนใหญ่เป็นเบียร์กับซอฟต์ดริ๊งก์ เราเลยคุยกันเล่นๆ ว่า น่าจะมีเครื่องดื่มที่กินตอนดูพระอาทิตย์ตกที่ไม่ใช่เบียร์ ซอฟต์ดริ๊งก์ และไม่มีคาเฟอีน ไม่ต้องเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ แค่เป็นเครื่องดื่ม ณ ช่วงเวลานั้น ซึ่งการดูพระอาทิตย์ตกเหมือนเป็นวัฒนธรรมของคนที่นั่น”

จุดเริ่มต้นของ 'คราฟต์โคล่า'

อ้อมดาว: ทุกอย่างมาจากช่วงล็อกดาวน์และข้อจำกัดทุกอย่างในการทำอาชีพ เราเป็นครูสอนโยคะอยู่ที่เกาะพะงัน ส่วนนิวเป็นกราฟิกดีไซน์ที่อยู่ในบริษัทงานปาร์ตี้ ตอนนั้นแม่นิวส่งผ้าขาวม้าของอำนาจเจริญมาให้ลองเอาไปขาย ซึ่งการท่องเที่ยวมันรุ่งเรืองมาก เราคิดว่าน่าจะมีอีกอาชีพหนึ่งที่ทำอะไรสนุกๆ กัน แค่เอาผ้าไปขายอย่างเดียวคงไม่สนุก ก็เลยออกแบบดีไซน์กระเป๋าใส่เสื่อโยคะ เอาไปขายตามตลาดนัดที่เกาะพะงัน เราทดลองมาเรื่อยๆ แต่ทำแล้วรู้สึกว่าแปลก ก็เลยเอาเศษผ้าที่เหลือไปทำ beach wear เป็นเกาะอกเล็กๆ สำหรับผู้หญิง ไปตั้งร้านขายกับเพื่อนๆ พออยู่ที่นั่นสักพัก เราก็เริ่มมีเพื่อนและไปขายร่วมกับเขา มันเริ่มจาก weekend business ได้เจอเพื่อน ได้เอาของไปขายบนเกาะพะงัน เราเริ่มทำตอนปี ค.ศ. 2018

ส่วนคราฟต์โคล่ามาจากช่วงโควิดที่นิวไม่ได้ทำงาน เพราะไม่มีงานปาร์ตี้ เราเองก็โดนโดยตรงเพราะเป็นครูสอนโยคะ ทุกอย่างปิดหมดเลย พื้นที่ตรงนั้นคือนักท่องเที่ยวที่เป็นต่างชาติก็เข้ามาไม่ได้ ตอนแรกๆ ที่ว่างก็ตัดสินใจว่าจะกลับบ้าน แต่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เราคิดอะไรไม่ออกชัวร์ มันทำให้ตัดสินใจอยู่ที่เกาะต่อ ทุกๆ ส่วนของคราฟต์โคล่ามาจากการรันผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากการออกแบบ ช่วยกันคิดช่วยกันทำว่า สามารถเล่นอะไรได้บ้าง ในพื้นที่ๆ เราอยู่

(จากซ้ายไปขวา: อ้อมดาว ลอยสุวรรณ์ - นิว – สุชาครีย์ สังข์สาลี)

“เราทำ 'ฮม' และมีความเชื่อเรื่องท้องถิ่นกับชุมชน เราก็มองหาแต่สิ่งนั้นว่าที่ไหนมีอะไรดี และหยิบจับมาใช้”

Hom Local Craft และที่มาที่ไปของชื่อ

นิว: ตอนแรกที่ทำผ้า เพราะเราอยากได้ชื่อที่จำง่ายๆ ตามสไตล์ผู้ประกอบการครีเอทีฟเนอะ (หัวเราะ) มันมีคำหนึ่งที่เป็นภาษาอีสาน คือ ‘ฮม’ แปลว่า ห่อหุ้ม ห่ม หรือ ร่มเงา ร่มเย็น ก็เลยใช้ชื่อนี้สำหรับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพราะเราชอบออกแบบโปรดักส์อยู่แล้ว

อ้อมดาว: มันพ้องเสียงกับคำว่า ‘Home’ ในภาษาอังกฤษ ง่ายต่อการเรียกทั้งสำหรับฝรั่งและคนไทย

“ก่อนหน้านี้ ร้านเรามีแค่มอเตอร์ไซค์ เราก็ทำจากข้อจำกัดที่มี นิวจะช่วยออกแบบมอเตอร์ไซค์ที่มีฟังก์ชั่นขนของได้ง่าย เพื่อนก็ช่วยอ๊อกเหล็กให้ พอเห็นทางมะพร้าวของแม่ลินดา ซึ่งเขาวาดรูปขายและเอาทางมะพร้าวมาเพ้นท์สี เราเลยขอเขามาตกแต่งบ้าง แรงบันดาลใจส่วนใหญ่ในการแต่งร้านก็มาจากคนใกล้ตัวและสิ่งที่เห็น”

โลโก้และสไตล์การตกแต่งของร้านฮม

นิว: ถ้าโลโก้แบบเก่าจะเป็น ‘ฮ’ กับ ‘ม’ เป็น ambigram อ่านได้ทั้ง 2 ภาษา เข้าใจง่ายและไม่ซับซ้อน ส่วนสไตล์การตกแต่งร้าน เราชอบสไตล์ทะเลอ่าวไทย เวลาเห็นคนทำ branding ก็จะมีแต่สไตล์ญี่ปุ่น เกาหลี เราเห็นทะเลทุกวัน บางทีก็เดินไปเก็บเศษขยะจากท่าเรือตรงข้างบ้านมาประดับร้าน บ้างก็ได้ไม้ เชือก แห อวน ทุ่น แทบจะไม่เสียเงินในการตกแต่งร้านเลย

อ้อมดาว: เราได้แรงบันดาลใจมากจากเพื่อนที่ทำโคมไฟให้เรา เป็นเพื่อนที่ทำร้านกาแฟบนเกาะพะงัน เขาชอบเก็บขยะมาแต่งร้านที่เกาะ อย่างการถักเชือกแบบร้อยสร้อย เขาก็ทำโคมไฟตามที่เราบรีฟให้

“ช่วงเวลานี้เราดูยากลำบากนะ มันก็เหมือนการดูพระอาทิตย์ตก สีมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เราได้ปรัชญาอะไรบางอย่าง ได้มาอยู่ที่นี่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ยังมีความงาม อยากจะส่งต่ออะไรบางอย่างให้คนสนุกในทุกขณะของชีวิต”

มีที่มาที่ไปของชื่อ 'ดื่มด่ำ'

อ้อมดาว: พอคุยเรื่องทำเครื่องดื่มเสร็จก็คิดว่ามันน่าจะมีอะไร เราเป็นสายกินเบียร์ ดื่มแอลกอฮอล์ และชอบเครื่องดื่ม ตอนดูพระอาทิตย์ตกเราก็รู้สึกว่า มันดีจัง เราเลยบอกนิวว่าอยากให้ใช้ชื่อ ‘ดื่มด่ำ’ และตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าจะขายอะไรด้วย เรารู้สึกว่าดื่มด่ำมันดี เลยทดไว้ในใจว่าต้องใช้ชื่อนี้

“นอกจากส่วนผสมที่มีข้อแตกต่างแล้ว จุดเด่นอีกอย่างคือมันเป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่มที่อร่อย เราอยากให้คนทำอะไรช้าๆ ตระหนักและรับรู้ถึงการดื่ม สโลว์ดริ๊งก์”

คราฟต์โคล่า 'ดื่มด่ำ' แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร

นิว: อ้อมดาวเป็นครูสอนโยคะที่มีความรู้ด้านอายุรเวท เขาเลยปรุงตามเครื่องเทศและฤทธิ์ร้อนเย็นต่างๆ จนเกิดเป็นเครื่องดื่ม เรื่องเซ้นส์ รสชาติสัมผัสของลิ้น ความรู้สึกที่ดม ตาที่เห็น ใส่มันลงไปในน้ำ 1 แก้ว เราอัดเครื่องเทศหนักมาก เพราะชอบกินอาหารที่มีเครื่องเทศอย่างของอินเดีย ปรับไปปรับมาเรื่อยๆ แต่ปรับตามความชอบ เพราะมันเป็นตัวเราเอง

อ้อมดาว: เราเป็นคนยะลา ซึ่งในจังหวัดมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ คนใต้ชอบกินเครื่องเทศ สิ่งนี้แหละที่ทำให้คุ้นชินกับเครื่องเทศ เราก็เลยทำเครื่องดื่มออกมาเป็นแบบนี้ จุดเด่นคือการใช้ประสาทสัมผัสและความรู้สึกของตัวเอง อย่างน้ำตาล เราใช้ถึง 3 ชนิด เพื่อให้รสชาติกลมมนและมีมิติมากขึ้น มีน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว น้ำตาลโตนด ปรับตามเซ้นส์ของตัวเอง

“โคล่าคือแกนของเรา ฮมคือความเป็นมิตร เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม และมองหาว่ามีอะไรดี สายตาเราจะพยายามหาของดีในพื้นที่ที่ไปจัดป๊อบอัพบาร์ ทั้งร้านมีฮีโร่โปรดักส์ตัวเดียวคือคราฟต์โคล่า ซึ่งเราทำกันสองคน”

คราฟต์โคล่า 'ดื่มด่ำ' หลากหลายสูตร ครีเอทจากส่วนผสมและวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีความหลากหลาย

นิว: ผลไม้ที่หลายๆ คนปลูกชอบเอามาให้เราทำคราฟต์โคล่า ไปสงขลาเจอ 'น้ำกระท่อม' ก็เอามามิกซ์ ไปตะลักเกี้ยะแถวเยาวราชก็เจอ 'ทับทิม' เลยเอามาลองใส่โคล่า

อ้อมดาว: เพื่อนเข้าป่าที่เขาหลา เจอสับปะรดกับเสาวรส เขาก็เอามาให้เราทำคราฟต์โคล่า เราใช้สัปปะรดทำไซรัป ผสมกับเสาวรส พอมีส้มจี๊ดกับระกำ เราก็จะเอามาเบลนด์ ส่วนโคล่ามะขามเปียก มะขามคือเครื่องเทศอย่างหนึ่ง ก็ลองเอามาเบลนด์จนได้เมนูนี้มา ช่วงนี้เราจะเน้นหนักเรื่องโคล่า เพราะอยากให้คราฟต์โคล่าของเราเป็นที่รู้จัก รสชาติคราฟต์โคล่าของที่เกาะพะงัน เช่น 'รสซาติมิไอศครีม' เป็นร้านไอศกรีมที่เรารู้จักที่เกาะพะงัน และพี่เขาให้เอาโคล่าไปวางขายหน้าร้าน พี่เจ้าของร้านชอบกินไอศกรีมรสมิ้นท์ ก็เลยทำไซรัปมิ้นท์ แล้ววันนั้นได้ชาดอกมะลิมา ใช้ความเปรี้ยวของสับปะรดมาเบลนด์เพิ่ม ก็เลยได้รสที่ออกมาเปรี้ยวๆ ปนซ่า เราชอบอะไรที่แปลกใหม่ สร้างสรรค์ได้ตลอดเวลา เหมือนร้านอาหารเพื่อนที่พะงัน เราก็ทำ 'ไซรัปขิงผสมแตงโม' บีบเลมอนไปนิด มี 'รสโฉลกหลำ' ส่วนผสมของน้ำตาลมะพร้าวและดอกอัญชัญ แสดงตัวแทนของน้ำหมึกหรือปลาหมึก ซึ่งโฉลกหลำเป็นหมู่บ้านชาวประมงที่ขึ้นชื่อเรื่องปลาหมึกมาก ท็อปปิ้งด้วยมะพร้าวคั่วที่ได้จากแม่ค้าขายเมี่ยงคำแถวนั้น เราเชื่อมโยงกับอะไร อินกับอะไร ก็เอามาเล่น ได้ลำใยอบแห้งก็เอามาทำ ‘คราฟต์โคล่าลำไยอบแห้งซ่า’ ตอนนี้มีน้ำตาลอ้อยอยู่ในมือ แต่ไม่มีเวลาทำ (หัวเราะ)

“เราไม่รู้ว่าพรุ่งนี้โคล่าที่ทำจะเป็นแบบไหน เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะมีวัตถุดิบอะไร แต่ฮมก็พร้อมจะเปิดและเอาโคล่าไปเบลนด์กับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลก”

โคล่าสด หรือ คราฟต์โคล่า แตกต่างจากโคล่าในตู้แช่ร้านสะดวกซื้อยังไง?

นิว: คราฟต์โคล่าของเราเริ่มจากทำในครัวที่บ้าน วัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากสิ่งใกล้ตัว เราใช้ของสดทุกอย่าง มันคราฟต์ตั้งแต่วิธีคิดและการทำ จนถึงการเอาไปชงให้ลูกค้ากินก็ยังใช้มือทำ หลักๆ คือเราอยากทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัยที่จะกิน เราเป็นพื้นที่ที่เขาปลอดภัยที่จะมา

'คราฟต์โคล่าดื่มด่ำ' อร่อยดี ประโยชน์ก็มี เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดีด้วย

อ้อมดาว: ถ้าถามว่ามีประโยชน์ไหม มันก็คงมี เครื่องเทศที่เราใช้เบลนเป็นแบบฤทธิ์ร้อน ตามการรักษาแบบศาสตร์อายุรเวท เวลาที่ผู้ป่วยร่างกายร้อน ต้องรักษาด้วยยาร้อน จะมีผลทำให้ร่างกายเย็นลง เครื่องดื่มเราก็เป็นเครื่องดื่มฤทธิ์ร้อนที่คนเข้ามากินแล้วช่วยดับกระหาย ช่วยให้มีพลัง สดชื่น เป็นเครื่องดื่มชูกำลัง แต่เราจับมาเป็นกิมมิกเล็กๆ ตามความหมายแฝงของมัน

นิว: แต่เราไม่ได้ชูว่าเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ มันเป็นเครื่องดื่มฤทธิ์ร้อนที่ช่วยขับเหงื่อ ช่วยให้สดชื่น สำหรับเรา แค่ดื่มแล้วอร่อยมันก็โอเคแล้วนะ ซึ่งเราใช้วัตถุดิบธรรมชาติอยู่แล้ว เด็กและคนแก่ก็ทานได้ เพราะเราไม่ได้ใส่ส่วนผสมอะไรที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่มีเครื่องเทศเยอะ สำหรับคนที่แพ้หรือมีปัญหาเรื่องความดันโลหิตสูง อาจต้องแนะนำให้เลี่ยง

อ้อมดาว: เด็กอายุน้อยสุดที่มาลองดื่มก็ 1-2 ขวบ ถ้าเป็นเด็กกิน เราจะปรุงโดยเน้นน้ำผลไม้ให้เยอะกว่าไซรัป เพราะเราอยากให้เขาได้กินน้ำผลไม้เยอะๆ เสิร์ฟพร้อมชิ้นผลไม้เล็กๆ ให้เขาได้กินและกัดเล่น ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ถ้าไม่ดื่มน้ำเย็น อ้อมจะทำเป็นฮอตโคล่าให้เขานำไปชงกับน้ำร้อน โดยต้มน้ำขิงแล้วนำไซรัปคราฟต์โคล่าของเราใส่ลงไป ผสมมะนาวหรือเลมอนนิดหน่อย กินแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายคอมากยิ่งขึ้น

คาแรคเตอร์และความน่าสนใจของชุมชนเกาะพะงัน

นิว: มันเหมือนโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีแต่คนบ้า (หัวเราะ) บางคนเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน หรือบุคลากรทางการแพทย์ เราอยู่มา 5 ปีจนรู้สึกว่านี่คือบ้านของเราจริงๆ มันมีความใกล้ชิดกันและไปมาหาสู่กันตลอด เวลาหิว แค่เคาะประตูก็ไปกินข้าวบ้านเขาได้ เราก็แบ่งของกินกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน มันซัพพอร์ตกันในเรื่องนี้ อีกมุมคือมีปาร์ตี้เยอะไปหมด ไปสุดขั้วสุดทาง เป็นชุมชนของคนที่อายุยังน้อย สังคมที่นี่ก็เลยค่อนข้างเปิดกว้างมากๆ จะเข้าไปคุยหรืออยากเป็นเพื่อนกับใครก็ได้ และเป็นสังคมที่ไม่ตัดสินกัน จากที่ตอนแรกไม่รู้จักใคร แต่วันหนึ่งก็รู้จักทั้งเกาะ มีคนช่วยเหลือเรา และเราอยากช่วยเหลือเขาแบบนั้น

อ้อมดาว: เป็นชุมชนที่มีเวิร์กชอปเกี่ยวกับจิตวิญญาณและโรงเรียนโยคะเยอะ ใครที่อยากแสวงหาความหมายของชีวิตแบบฝรั่งก็จะมาที่นี่ เพื่อตามหาจิตวิญญาณของตัวเอง มีหนุ่มสาวเยอะ จึงมีพลังของการสร้างสรรค์ คิดอยากจะทำอะไรบางอย่างตามความคิดหรือความเชื่อของตัวเอง แม้แต่การแต่งตัวหรือการประกอบอาชีพก็ตาม และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยไม่โดนสังคมจำกัดหรือตีกรอบ เขาบอกว่าเกาะนี้คือเกาะหินโรสควอตซ์ หินแห่งความรักและพลังงาน เยียวยาเรื่องหัวใจได้ดี

เราอยากเอาความเป็นเกาะพะงันขึ้นมาให้คนรู้จัก โจทย์คือ เราจะเอาความเป็นเกาะมาหาความเป็นเมืองยังไง เราอยากเล่าเรื่องว่าชุมชนที่เราอยู่โคตรดีเลย อยากจะสื่อสารให้คนเมืองเห็น รู้สึก หรือ สัมผัสกับเกาะพะงัน ก็เลยมาคิดว่า เราจะเอาความเป็นเกาะพะงันไปอยู่บนห้างหรือริมแม่น้ำเจ้าพระยายังไง มันจึงเป็นเรื่องการเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่เราไป โดยที่ยังมีแกนกลางของเรา มีความเป็นทะเลและความเป็นเกาะอยู่ แต่เราทำงานยากเพราะพื้นที่แต่ละที่แตกต่างกัน เราจะเข้าไปอยู่กับเขายังไงโดยที่ถ่อมตัวที่สุด แต่เราสามารถเล่าในสิ่งที่อยากเล่าได้ อยากให้คนมีประสบการณ์ร่วมกับเรา

ความท้าทายในการทำคราฟต์โคล่าที่เกาะพะงัน

นิว : เรื่องโลจิสติก