ในขณะที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ยังผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกพากันหยุดชะงัก และอย่างที่ทราบดีว่า ภาวะตึงเครียดทางด้านเศรษฐกิจนั้นสามารถส่งผลถึงภาวะตึงเครียดทางด้านจิตใจได้อย่างลึกซึ้ง เราจึงออกตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆจากผู้คนทั่วประเทศที่ประจำที่ภูมิลำเนาของเขาเพื่อค้นหาประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆที่ได้จากช่วงเวลาที่จะว่าไปก็มีความพิเศษในแบบฉบับของมันเอง
เราได้มีโอกาสทำความรู้จักกับชายหนุ่มสัญชาติไทย-เยอรมันนาม มาร์ค ปัญญา วีนานดส์ (Mark Panya Wienands) เจ้าของรีสอร์ตแห่งหนึ่งบนหาดริ้น เกาะพะงัน จ. สุราษฏ์ธานี ที่เคยจัดปาร์ตี้ที่มีชื่อเสียงทั่วโลกอย่างฟูลมูนปาร์ตี้ร่วมกับเจ้าของธุรกิจอื่นๆ บนหาดแห่งนี้ เชื่อไหมว่าภาพที่เขาเคยเห็นนักท่องเที่ยวนับพันคนที่แน่นขนัดทั่วทั้งหาดที่ต่างพากันเต้นรำ สังสรรค์ เมามายกับดนตรีภายใต้แสงจันทร์วันเพ็ญมาตลอดเกือบสิบปีที่ผ่านมานั้น ณ บัดนี้มันดูเหมือนกำลังจะกลายเป็นอดีตเสียแล้วเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่กระจายโรคติดต่อ ที่ทำให้ธุรกิจต่างๆ ในละแวกนั้นที่เคยอยู่ได้ด้วยปาร์ตี้ต่างได้รับความเสียหาย เนื่องจากขาดแคลนนักท่องเที่ยว ทำให้น่าสนใจว่าเขาจะหันหน้าไปทางไหนในสถานการณ์อันสุดท้าทายเช่นนี้ เอาล่ะ เข้ามาทำความรู้จักกับหนุ่มลูกครึ่งไทยยุโรปคนนี้กันเลยดีกว่า
มาร์คพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ย้ายมาลงหลักปักฐานที่เกาะพะงันเมื่อราวสิบปีก่อน และเกิดความผูกพันกับมันจนอาจกล่าวได้ว่าที่นี่ได้กลายเป็นบ้านไปแล้ว วันนี้เขาจะมาเล่าให้ฟังว่า บ้านของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วฟูลมูนปาร์ตี้ล่ะ มันจะกลับมาอีกได้มั้ยหลังจากผ่านพ้นวิกฤติโควิดไปแล้ว
“หลังจากเจอโควิดเข้าไปพวกเราต้องปรับตัวใหม่ คิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมดเพราะไม่สามารถหวังพึ่ง Mass Tourism ได้อีกแล้ว แต่มันก็ทำให้เราได้กลับมาฟังว่าธรรมชาติกำลังบอกอะไรเราอยู่
“สิ่งที่ผมสัมผัสได้คือ ธรรมชาติบอกให้เราปรับตัวเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยกันกับธรรมชาติ”
“เราต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ทั้งหมด จากที่เคยรีบเร่งทำทุกอย่างให้ทันกับเวลา ตอนนี้กลับต้องมาทำทุกอย่างให้ช้าลงเพราะเวลามันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเงินมันน้อยลง ยิ่งทำให้เราต้องให้น้ำหนักต่อทุกๆ การตัดสินใจมากขึ้น หันมารับฟังเสียงข้างในมากขึ้น นั่นคือเสียงที่เกิดจากการนิ่งรับฟังเสียงของสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีหรือไม่มีตัวเรา จากที่เคยอยู่ในภาวะที่ต้องคอยควบคุมสถานการณ์รอบตัว ผมได้มีโอกาสกลับเข้ามาเรียนรู้ตัวตนในด้านที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยสัมผัสมันเลย
นั่นคือการเป็นเพียงผู้เฝ้าดู รับรู้ต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นข้างใน จนสามารถได้ยินเสียงที่อยู่ข้างในจริงๆได้ ซึ่งถือว่าเป็นจุดพลิกผันที่ใหญ่ที่สุดในชีวิต และมีอิทธิพลต่อทุกกิจกรรมในชีวิตผมเลยตั้งแต่นั้นมา”
“ส่วนเวลาที่มันมากขึ้นผมได้ใช้มันไปกับการออกไปพบปะผู้คนกลุ่มใหม่ๆที่ผมไม่เคยได้มีโอกาสทำความรู้จักกับพวกเขามาก่อน จนในที่สุดผมได้มาพบเข้ากับศิลปะแขนงหนึ่ง นั่นก็คือ Flow Art”
เราต่างพากันงงว่ามันคืออะไรหนอ เคยได้ยินอยู่เหมือนกันแหละกับภาวะที่เรียกว่า Flow ว่ามันคือภาวะการลื่นไหลในขณะที่กำลังทำงาน แล้ว Flow Art ที่ว่านี่มันคืออะไรกันล่ะ เราจึงขอให้มาร์คช่วยสาธิตให้ดูซะเลย
มาร์คหยิบอุปกรณ์ที่เตรียมมาด้วย มันคือไม้กระบองที่ปลายสองข้างเอาไว้ใช้ชุบน้ำมันเพื่อจุดไฟในขณะแสดงโชว์ เขาเริ่มขยับเรือนร่างผอมบางแต่เต็มไปด้วยมัดกล้ามควบคู่ไปกับมือสองข้างที่ทั้งหมุน ทั้งควง ทั้งโยนและคว้ารับมันในอากาศ ทุกอย่างดูลื่นไหลราวกับเขาและไม้ท่อนนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราในฐานะผู้ดูเองก็รับรู้การเข้าสู่สภาวะ Flow ไปโดยอัตโนมัติราวกับกลายเป็นส่วนหนึ่งของจังหวะที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างงดงามไปตามท่วงทำนองที่ดังอยู่ภายในใจของเขา เป็นไปได้ไหมว่าทักษะใหม่นี้เกิดจากการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับฟังสภาวะต่างๆทั้งภายนอกและภายในจนกระทั่งสามารถจับจังหวะจะโคนและท่วงทำนองของแต่ละชั่วขณะได้?
เมื่อถูกถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมา มาร์คกล่าวว่าในช่วงแรกที่โควิดเกิดขึ้นนั้น เขารู้สึกกลัวเพราะไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเผชิญกับอะไร และพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เขาเห็นความพยายามของหลายๆ คนในการที่จะทำให้ฟูลมูนปาร์ตี้กลับมาให้ได้อีก แต่แล้วกลับต้องเผชิญกับความผิดหวังอย่างสาหัสจนเลือกที่จะออกจากเกาะไป มาร์คพบว่าคนที่เลือกที่จะอยู่ที่เกาะคือคนที่รักและเคารพในธรรมชาติอย่างแท้จริง เขาจึงทำการตลาดใหม่โดยเน้นลูกค้าที่พักระยะยาวและต้องการทำกิจกรรมที่มากไปกว่าการมาฟูลมูนปาร์ตี้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวชมธรรมชาติ หรือกิจกรรมแนวสร้างสรรค์ เช่น ฉายหนังสารคดี หรือจัดแสดงงานศิลปะของศิลปินในท้องถิ่น ในระยะแรกรายได้ของเขายังคงตกต่ำไม่ต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่เขาก็มุ่งมั่นทำสำเร็จ โดยสามารถทำให้จำนวนแขกที่เข้าพักกลับมาเกือบเทียบเท่ากับภาวะปกติ เมื่อถูกถามถึงที่มาของความสำเร็จนี้ ดวงตาสีอ่อนส่องเป็นประกาย ก่อนจะบอกเราว่า มันเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบร้านให้ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้น หรือเมื่อไม่นานนี้ก็มีการจัดปาร์ตี้เพื่อย้อนรำลึกถึงฟูลมูนปาร์ตี้ภาคออริจินัล นั่นคือการเต้นรำภายใต้แสงจันทร์กับดนตรีอะคูสติก และการโชว์ไฟของเหล่านักแสดงบนเกาะ ไม่มีการสาดแสงไฟ หรือยินเสียงดนตรีอิเล็คโทรนิคที่เคยดังสนั่นหาดอย่างที่ผ่านมาตลอดเวลาสามสิบปี
Photo Credit HarmonyHere and House of Sanskra
ถึงตรงนี้เราอยากรู้แล้วล่ะว่า ลึกๆ แล้วเขาอยากให้ฟูลมูนปาร์ตี้ที่เคยสร้างรายได้มหาศาลให้แก่เกาะนั้น กลับมาอีกหรือไม่ เอาจริงๆนะ ไม่ต้องตอบให้ดูดี
“อยากให้กลับมานะ แต่ต้องกลับมาในรูปแบบที่ให้เกียรติกับธรรมชาติ ก่อนหน้านี้การจัดปาร์ตี้ที่นี่คือต่างคนต่างจัด เอาดีเจของใครของมันเข้ามาเอง ไม่ได้มีการตกลงอะไรร่วมกันเพราะฉะนั้นใครอยากจะทำอะไรก็ทำ แต่พอเราได้กลับมาทำปาร์ตี้แบบย้อนไปสมัยที่ฟูลมูนปาร์ตี้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้นอย่างที่เล่าไปพวกเราพบว่ามันได้กลายเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงความรู้สึกของพวกเราแม้ว่าแทบจะไม่มีกำไรเลยก็ตาม เราจึงอยากจะจัดปาร์ตี้ที่ดึงคนที่มีความคิดแบบยั่งยืนและให้ความเคารพต่อธรรมชาติอย่างแท้จริงมาที่นี่ และให้มีการควบคุมในเชิงคุณภาพมากขึ้น เฟสติวัลที่ใช้ไอเดียนี้และประสบความสำเร็จในระดับอินเตอร์มาแล้วในไทยก็อย่างเช่น Wonderfruit เป็นต้น
และถ้าหากฟูลมูนปาร์ตี้ในรูปแบบเดิมกลับมา ผมก็พร้อมจะเป็นเสียงหนึ่งที่คัดค้านอยู่ในมุมเล็กๆ ที่ต้องคัดค้านเงียบๆ ก็เพราะผมเองก็รู้จักคนที่มีชีวิตอยู่รอดได้ เพราะฟูลมูนซึ่งผมเองเข้าใจความจำเป็นของเขา แต่ในขณะเดียวกันผมก็ตระหนักดีถึงผลเสียในระยะยาวของมัน ถ้าเราไม่ฉวยโอกาสเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมันเสียตั้งแต่ตอนนี้ไปเลย เพราะธรรมชาติกำลังได้รับการฟื้นฟูในขณะนี้
“มันเป็นไปได้แน่นอนที่จะพบกันครึ่งทาง ระหว่างปาร์ตี้สังสรรค์กับความเคารพธรรมชาติ”
“เรามีศิลปินเก่งๆมากมายที่พร้อมจะนำเสนอไอเดียใหม่ๆผ่านศิลปะแขนงต่างๆ ผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องจัดกันทุกเดือนๆละ 5-6 วันเหมือนที่ผ่านมา แต่เน้นไปที่คุณภาพของงาน และผู้เข้าร่วมงาน”
Photo Credit HarmonyHere and House of Sanskra
ฟังดูช่างเป็นไอเดียที่เริ่ดหรูเสียจริง แล้วถ้าพูดถึงอุปสรรคและความเป็นไปได้ล่ะ มีมากน้อยแค่ไหนที่งานแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ที่นี่?
“ผมพยายามนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ให้ผู้ใหญ่รับรู้นะ เช่นเมื่อก่อนนี้สัญลักษณ์นึงของฟูลมูนปาร์ตี้คือ การเทเหล้าลงไปในกระป๋องพลาสติกหรือที่เรียกกันว่าบัคเก็ต แล้วใส่หลอดพลาสติกลงไปแบ่งกันดูด แต่ปัจจุบันนี้พวกเราทราบกันดีถึงปัญหาขยะพลาสติก และคงไม่มีใครกล้าดูดเหล้าในบัคเก็ตเดียวกันอีก มันก็ต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติของคนในชุมชนไปเรื่อยๆ ส่วนในแง่อุปสรรคนั้นผมยอมรับว่ามีความกลัวนะ เพราะผมเองทุ่มเททั้งเงินและพลังงานไปกับการรีแบรนดิ้งให้แก่หาดริ้นและฟูลมูนปาร์ตี้ และต่อให้วันหนึ่งมันเกิดขึ้นได้จริง ก็ยังเป็นไปได้อีกว่าฟูลมูนปาร์ตี้ในรูปแบบเดิมอาจจะกลับมา ซึ่งผมไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้นเลย และไอ้เจ้าความกลัวนี่ล่ะ คืออุปสรรคที่ผมต้องพยายามเอาชนะมันให้ผ่านไปให้ได้ในแต่ละวัน”
Photo Credit HarmonyHere and House of Sanskra
มาร์คเพิ่งเปลี่ยนชื่อรีสอร์ตใหม่เป็น House of Sanskara ซึ่งเขากล่าวว่ามันมีความหมายถึงการเกิดใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเกิดใหม่ของหาดริ้นและฟูลมูนปาร์ตี้หรือการเกิดใหม่ของการตระหนักรู้และเข้าใจตนเอง หากความฝันของเขาเป็นจริง เราคงได้มีโอกาสเห็นการเปลี่ยนแปลงของหาดที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของนักปาร์ตี้ทั่วโลกไปสู่ทิศทางแห่งการประสานสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์และธรรมชาติโดยที่ไม่ต้องให้ใครมาเสียสละเพื่อใคร แต่เป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและมีพื้นที่ให้กันและกันเติบโต และวิวัฒนาการไปด้วยกันอย่างต่อเนื่องและงดงาม ในบ้านหลังเดียวกันนี้