Culture

‘Homeflick บ้านเดียวกัน ดูด้วยกัน’ 1 ทศวรรษของชุมชนคนดูหนังเมืองย่าโม

หากเราเกิดความรู้สึกอยากจะดูหนังขึ้นมา แน่นอนว่าสถานที่ที่เราเลือกไปก็คงหนีไม่พ้นโรงภาพยนตร์ แต่คุณเคยนึกสงสัยบ้างไหมว่า ที่ทางของภาพยนตร์สักเรื่องนั้น ปลายทางท้ายที่สุดแล้ว จำเป็นจะต้องถูกฉายอยู่แต่ในโรงภาพยนตร์อย่างเดียวหรือเปล่า? หรือจริงๆ แล้วมันอาจจะมีสถานที่ไหน ที่สามารถฉายภาพยนตร์และสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปจากเดิมได้

‘Homeflick’ เป็นการนำสองคำที่มีความหมายว่า ‘บ้าน’ และ ‘ภาพยนตร์’ มารวมกัน จากความตั้งใจของ ‘โจ้ – ชลัท ศิริวาณิชย์’ ผู้ก่อตั้ง Homeflick กลุ่มจัดฉายหนังอิสระ ณ เมืองโคราช ดินแดนย่าโม ที่เปรียบเสมือนการที่เราได้กลับมาดูหนังที่บ้าน มีการฉายหนังลักษณะนี้เกิดขึ้นที่บ้าน ซึ่งมาพร้อมกับสโลแกนประจำกลุ่มที่ว่า ‘บ้านเดียวกัน ดูด้วยกัน’ โดยได้มีการเริ่มจัดฉายหนังในสถานที่ที่หลากหลายทั้งในโรงภาพยนตร์ ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ รวมถึงห้องฉายหนังในบ้านและบนดาดฟ้าของบ้าน

(Homme Less)

Homeflick ได้ต่อตั้งขึ้นมาในปี 2013 จากความตั้งใจของคุณโจ้ที่อยากให้เมืองโคราชได้มีพื้นที่สำหรับคนที่สนใจในหนังนอกกระแสที่ไม่มีโอกาสได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์กระแสหลัก ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมการรับชมภาพยนตร์ที่ต่างออกไป รวมถึงเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ได้มาค้นหาความชอบ และความสนใจที่ซุกซ่อนผ่านการดูหนังที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจากที่เคยมี

โดย Homeflick ได้จัดฉายหนังครั้งแรกในปีเดียวกัน เรื่อง ‘ตั้งวง’ (2013) ของ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’ แต่หนังที่เปรียบเสมือนงานเปิดตัวให้ Homeflick ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นคือการจัดฉายหนังในครั้งที่สอง ได้แก่เรื่อง ‘Mary Is Happy, Mary Is Happy’ (2013) ของ ‘เต๋อ – นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจนต้องฉายถึง 2 รอบ และในครั้งถัดมาก็ได้ต่อยอดกระแสด้วยการจัดฉายเรื่อง ‘36’ (2012) ซึ่งเป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับคนเดียวกัน

นอกจากการนำภาพยนตร์ไทยอีกมากมายมาจัดฉายแล้ว ในช่วงหลัง Homeflick ก็ได้มีการนำเอาภาพยนตร์ต่างประเทศมาฉายเพิ่มมากขึ้น อย่างเรื่อง ‘Oasis Supersonic’ (2016), ‘Shoplifters’ (2018) และ ‘Drive My Car’ (2021) เป็นต้น

(รูปที่ 1: Oasis Supersonic / รูปที่ 2: Drive My Car)

จุดกำเนิดความสนใจในภาพยนตร์

“ตอนแรกเราอยากเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่พอเข้ามาเรียนสายวิทย์จริงๆ เราเริ่มรู้สึกว่ามันยากเกินไป ซึ่งในขณะเดียวกันการดูหนังก็เป็นงานอดิเรก เริ่มจากดูหนังโรง หนังฟอร์มยักษ์ Blockbuster

แต่มีเพื่อนคนหนึ่งในโคราชที่ติดตามหนังนอกกระแส หนังฟอร์มเล็ก หนังอินดี้อเมริกัน หนังอาร์ต ซึ่งสมัยนั้นมันหาดูยากมาก ช่องทางเดียวที่เรามีในตอนนั้นคือนิตยสาร Bioscope ที่จะพูดถึงหนังพวกนี้เป็นประจำอยู่แล้ว หรือถ้าอยากหาแผ่นดูก็ต้องเป็นแผ่นเถื่อน ซึ่งการหาสิ่งเหล่านี้มาให้ได้เป็นเหมือนการผจญภัยหาสมบัติประมาณหนึ่ง”

“สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าที่เราได้รับอิทธิพลจากเพื่อนมากขนาดนี้ แสดงว่าเราก็หลงใหลในหนังเหมือนกัน เราเริ่มเบนเข็มมาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย ว่าอยากไปเรียนต่อภาพยนตร์ ซึ่งเราชอบเล่าให้หลายคนฟังว่าเรื่อง ‘2001: A Space Odyssey’ (1968) เป็นหนังที่เปลี่ยนชีวิตเราไปเลยมันเป็นหนังเกี่ยวกับอวกาศ แต่หลุดออกไปจากภาพที่เราคุ้นเคยมาก มันชวนคุยในเรื่องที่ไม่มีเรื่องไหนชวนคุยแบบนี้ เราเริ่มรู้สึกว่าหนังทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ มันจุดประกายว่าเราสามารถทำหนังที่หน้าตาเหมือนหนังโรงทั่วไป แต่ภายใต้สิ่งเหล่านั้น มันสามารถสื่อสารสิ่งที่เราอยากจะสื่อได้ เป็นเรื่องแรกๆ ที่เริ่มเปลี่ยนความคิดให้เราอยากเรียนภาพยนตร์”

การกลับมาสานต่อความฝันในวัยเด็ก

“เราเริ่มรู้สึกตั้งแต่มัธยมปลายแล้วว่าหนังนอกกระแสที่นี่มันหาดูยาก พื้นที่กิจกรรมก็ไม่มี มันเลยเป็นความฝังใจตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าวันหนึ่งโคราชมีพื้นที่แบบนี้ก็คงจะดี แต่พอเราเข้าไปเรียน ไปทำงานที่กรุงเทพฯ ความฝันนั้นก็ถูกพับเก็บไปเพราะเราก็ต้องจัดการเรื่องอื่นๆ ไม่ได้คิดถึงมันอีกเลย จนช่วงหนึ่งไปเจอว่ามีคลื่นวิทยุหนึ่งที่จัดกิจกรรมฉายหนังรอบพิเศษเรื่อง ‘แต่เพียงผู้เดียว’ ของพี่ ‘คงเดช จาตุรันต์รัศมี’ ตอนนั้นเราเหวอมาก มันเป็นกิจกรรมฉายหนังที่ตามหามานาน หนังนอกกระแสที่ไม่น่าจะเข้ามาฉายโคราชได้เองมันมาจริงๆ แล้วนะ รวมถึงศิลปินที่ตอนนั้นก็ถือว่านอกกระแสอย่าง ‘Greasy Cafe’ มาด้วย มันมีทั้งสองอย่างที่เกิดขึ้น เราเลยรู้สึกว่าอันนี้แหละ คือจุดเริ่มต้นที่เป็นสัญญาณชัดเจนมากว่ามันพร้อมแล้วนะ ถ้าเราอยากทำจริงๆ แล้วไม่อยากรอให้คนอื่นทำ เราทำเองเลยก็ได้นะ มันเลยเป็นที่มาของการเริ่มคิดที่จะทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งเรื่องแรกที่ Homeflick ฉายคือเรื่อง ‘ตั้งวง’ เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นานมาก ในปลายปี 2013”

(ตั้งวง)

การฉายหนังครั้งแรก

“มันยากตรงที่เราไม่รู้จะไปหาคนดูจากไหน สมมติคุณขายของกิน มันอาจจะมีกลุ่มของกินโคราชในเฟซบุ๊ก แต่เราเป็นคนฉายหนัง อย่างดีมันก็อาจจะมีกลุ่มดูหนัง แต่มันไม่มีหรอก (หัวเราะ) หนังนอกกระแสยิ่งไม่มี แต่ว่า ณ ตอนนั้น เพลงนอกกระแสในโคราชค่อนข้างเป็นที่นิยม แล้วหนังเรื่อง ‘ตั้งวง’ ก็ใช้เพลงของ ‘Yellow Fang’ เยอะ ก็เลยได้ไอเดียว่าเราจะจัดเป็น ‘อินดี้เดย์’ และ ‘อินดี้ไนท์’ แต่สุดท้ายคอนเสิร์ตก็ต้องยกเลิกไป เพราะปีนั้นมีเชื้อพระวงศ์สักท่านหนึ่งเสียพอดี แต่รอบหนังยังอยู่ เราก็ประกาศว่าหากใครไม่อยากมาดูหนังแล้วให้มาคืนตั๋วที่หน้าโรง ตอนนั้นเราขายเป็นแพ็คคู่ดูหนังกับดูคอนเสิร์ต ก็มีคนมาดูหนังจำนวนหนึ่งซึ่งไม่ได้เยอะมาก”

“ด้วยความที่เรายังคุยกับโรงหนังไม่เป็น ณ ตอนนั้นเข้าใจว่าต้องเหมาทั้งโรง แต่จริงๆ แล้วมันมีวิธีการตกลงอยู่ แต่เราใหม่มากก็เลยขาดทุน ซึ่งเข้าใจได้เพราะเป็นครั้งแรก ซึ่งการได้คนดูมาจำนวนหนึ่งในเวลานั้นมันก็ค่อนข้างเจ๋งนะ (หัวเราะ) มานึกดูก็ยังประทับใจอยู่ เพราะว่ามันเป็นกลุ่มคนที่เขาอยากมาดูหนังกับเราจริงๆ มันบริสุทธิ์มาก ถือเป็นประสบการณ์ครั้งแรกที่โอเค”

กิจกรรมที่เป็นมากกว่าการฉายหนัง

“พูดถึงกิจกรรม ที่น่าสนใจน่าจะเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือจากการฉายหนังมากกว่า เพราะว่ามันจะมีพาร์ทที่เราไม่อยากฉายหนังอย่างเดียว ไหนๆ ก็เอาหนังมาฉายที่โคราชทั้งที เราอยากจะพลิกแพลงมันให้มีอะไรที่เชื่อมโยงกับความเป็นพื้นที่ จะมีอยู่ 2 งาน งานแรกคือหนังเรื่อง ‘หมอนรถไฟ’ ของ ‘โบ๊ท – สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์’ ซึ่งเกี่ยวกับรถไฟ แล้วบังเอิญมีพี่คนหนึ่งเนิร์ดเรื่องรถไฟมาก เราเลยจัดว่านอกจากการฉายในโรงวันเสาร์แล้ว เรายังจัดตารางให้วันอาทิตย์มีการ Q&A กับพี่โบ๊ทที่เป็นผู้กำกับบนรถไฟ ซึ่งเราจะเริ่มนั่งจากสถานีในเมืองไปที่อำเภอบัวใหญ่ ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ปลายสุดของจังหวัด มีคนดูจำนวนหนึ่งที่อยากมาร่วมด้วยกับเรา เราก็รู้สึกว่ามันพิเศษ มันก็เลยเป็นทริป Q&A บนรถไฟ 1 วัน ไปเช้า-เย็นกลับที่สนุกดี แล้วก็ประทับใจมาก”

“ส่วนอีกเรื่องหนึ่งเป็น Oasis Supersonic ตอนแรกมันมาในช่วงที่เราไม่อยากจัดฉายโรงหนังที่สุดเลย แต่พอคนเรียกร้องเยอะๆ จะให้ทำยังไงไหว เราเป็นคนใจง่ายมากๆ (หัวเราะ) ซึ่งเราก็จัดในโรงหนังมีทั้งคนไทยและฝรั่งที่ชอบดนตรีแบบนี้อยู่แล้วมาดูกันจนเต็มโรง พอดูหนังจบ เราก็ประกาศในโรงว่าไปสนุกกันต่อที่ after party ที่ร้านเหล้า เราคัฟเวอร์เพลงของวง Oasis แล้วคนดูก็ย้ายจากโรงหนังไปที่ร้านนั้น ไปแหกปากร้องเพลง Oasis กัน มันเป็นอะไรที่ดีใจมากที่ได้ทำ”

Homeflick Community

“เวลาผ่านไปทำให้ได้พบว่า Homeflick ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มฉายหนังอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราเปรียบเสมือนตัวกลางระหว่างหนังกับคนดู คนที่โคราชก็คาดหวังให้เราค่อยเป็นกระบอกเสียงที่จะคอยประกาศว่า สัปดาห์นี้มีหนังเรื่องนี้มาเข้านะ เช่นมีหนังเรื่อง ‘บูชา’ ของพี่ ‘ต้อย – อุรุพงษ์ รักษาสัตย์‘ มาเข้า หรืออย่างล่าสุดเรื่อง ‘Triangle of Sadness’ เข้าที่โคราชนะ ปกติหนังพวกนี้เราต้องเอามาฉายเองหมด ซึ่งช่วงหลังมานี้กลายเป็นว่าเราไม่ได้เป็นกลุ่มฉายหนังที่ชวนคนมาดูหนังอย่างเดียว แต่เป็นเหมือนกับตัวกลางที่คอยบอกข่าวให้คนได้รู้ด้วยว่าแต่ละสัปดาห์ที่จะถึง มีหนังเรื่องอะไรเข้าฉายบ้าง ต้องคอยเตือนเขาด้วย เพราะหนังพวกนี้จะเข้าต่างจังหวัดอย่างมากแค่สัปดาห์เดียว”

“มันเหมือนเป็นคอมมูนิตี้มากกว่า ไม่ใช่แค่ว่าเราจัดฉายหนัง ทุกคนมาดูด้วยกันแล้วจบ บางครั้งถ้ามีโอกาสเราก็จัดเสวนา ถ้ามีหนังมาเข้าเราก็เป็นตัวกลางในการกระจายข่าวสารออกไป อย่างเรื่อง ‘Memoria’ ของพี่ ‘เจ้ย – อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ เราก็พยายามมากที่จะบิ้วให้คนไปดู เพราะเราเข้าใจว่าการตลาดของโรงหนังจะถนัดหนังฟอร์มใหญ่มากกว่า แต่ว่าในฐานะที่เราเป็นเหมือนผู้ที่รู้จักและเชี่ยวชาญ ก็ไม่อยากให้กระแสมันหลุดผ่านพ้นไป รวมๆ แล้ว เวลาที่ผ่านมามันหล่อหลอมให้ Homeflick เป็นคอมมูนิตี้อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับหนังนอกกระแสที่มาฉายในโคราช”

ภาพยนตร์ในฐานะสิ่งที่เป็นได้มากกว่าความบันเทิง

“มันทำให้คนทั่วไปเข้าใจมากขึ้นว่าโลกภาพยนตร์กว้างกว่าที่คุ้นเคยมาก ถ้าเราเข้าใจว่าภาพยนตร์เป็นสิ่งที่อยู่ตามโรงหนังอย่างเดียว เราก็จะคิดถึงแค่ว่าหนังเป็นสิ่งบันเทิงเฉยๆ ซึ่งหนังที่ไม่ได้พาตัวเองไปอยู่ในโรงหนังก็สนุกเหมือนกันนะ เพียงแต่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์สตูดิโอใหญ่ หรือเป็นหนังที่สาระของมันไม่ได้เหมาะกับผู้ชมในวงกว้าง มันก็เป็นไปได้ เช่น หนังทดลอง ซึ่งอาจจะเหมาะกับรูปแบบการฉายแบบเล็กๆ

ถ้าเราจำกัดกรอบว่าหนังคือสิ่งที่ฉายในโรงหนังหรือเฉพาะที่มาจากฮอลลีวูด มันจะตีกรอบทางความเข้าใจของเราเยอะมาก เพราะหนังที่นอกเหนือจากนี้จะถูกดันให้ไปตกอยู่ในคำว่านอกกระแส ซึ่งจริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้เป็นหนังที่ดูยาก ตีความเยอะ เพียงแต่เป็นหนังสนุกสักเรื่องที่ยังไม่ได้มาถึงคนหมู่มากเท่านั้นเอง มันก็เป็นเรื่องของการนิยามว่าสิ่งใดอยู่ในหรือนอกกระแส”

“การเผยแพร่หนังพวกนี้ไม่ใช่การบอกว่าอะไรดีกว่า แต่คือการเพิ่มพื้นที่เพื่อจุดประกายความเข้าใจที่คนมีต่อภาพยนตร์ให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น ให้เขาได้เห็นว่าภาพยนตร์มีมากกว่าที่เข้าฉายในโรงหนัง หลังจากนั้นคนดูที่รับรู้ตรงนี้ก็จะได้มีมุมมองที่กว้างขึ้นต่อภาพยนตร์ จากนั้นเขาจะได้เลือกดูในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ”

มุมมองต่ออุตสหกรรมหนังไทย

“เราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในอุตสาหกรรมด้านตัดต่อและมีเพื่อนอีกหลายคนจากวงการนี้ ต้องบอกว่าตอนนี้คนทำงานหืดขึ้นคอมาก เคยมีรายได้เท่าไหร่ก็ได้เท่าเดิมเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรื่องค่าจ้างก็ไม่มีสหภาพแรงงาน อาจจะมีสมาคมผู้กำกับ แต่มันควรที่จะมีสมาคมสำหรับหน่วยแยกย่อยต่างๆ ไป ซึ่งมีกลุ่มคนที่พยายามเริ่มและรวมกลุ่มเหมือนอย่างสมาคมคนตัดต่อ จะเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับอาชีพในการกำหนดราคากลาง เพราะว่าตอนนี้ราคาค่อนข้างมั่วมาก หลายคนที่เข้ามารับงานและกดราคาก็ทำให้ระบบมันเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำร้ายกันไปมา”

“ที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของภาวะคนไม่เข้าโรงหนัง ซึ่งช่วงหลังจะพูดกันบ่อยๆ เป็นอะไรที่เกินจินตนาการมากถ้าเรามาถามคำถามนี้ในสมัยก่อน มันถูกทำลายด้วยอะไรหลายๆ อย่าง อาจจะเป็นสตรีมมิ่งก็ได้ แต่มันไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัดสินว่าจะทำให้อุตสหกรรมตายหรือไม่ตาย มีปัจจัยอีกเยอะแยะมาก แล้วจริงๆ ปัจจัยทั้งหลายนี้จะแก้ไขและคลี่คลายได้เมื่อมีรัฐยื่นมือเข้ามาซัพพอร์ต แต่ด้วยสภาพการเมืองตอนนี้ ภาพยนตร์ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ท้ายๆ ในลำดับความสำคัญของพวกเขา”

สิ่งที่ผู้คนจะได้จากการมีอยู่ของ Homeflick

“Homeflick มีผู้ชมตั้งแต่น้องที่ยังเรียนอยู่มัธยมปลาย จนตอนนี้เรียนจบมหาวิทยาลัยไปทำงานแล้ว ได้เห็นน้องๆ ที่เคยอยู่ที่นี่และไปเติบโตที่อ