“HUH.WHATDOYOUSAY” มนตร์สะกดจากวัสดุที่ไร้คุณค่า

“Huh! What do you say ?” (ฮะ วอท ดู ยู เซย์) รูปประโยคคำถามสุดยียวนเพื่อรอให้อีกคนทวนคำตอบ วันนี้ EQ ได้มีโอกาสหยิบยืมตัว จอร์จ - นภัทร แสนศิริพันธุ์ หนุ่มมาดเข้ม อารมณ์ดี ที่เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์กระเป๋า Eco-Friendly โดยใช้ชื่อจากรูปประโยคยียวนข้างต้นมาเป็นคาแรกเตอร์ของแบรนด์

กระเป๋าแบรนด์ฮะ ถือเป็นแบรนด์ที่ขายดีไซน์ความเก๋ ทันสมัยตามแบบฉบับของจอร์จ โดยมีไอเดียน่ารักกุ๊กกิ๊กในการเลือกหยิบวัสดุที่เกือบจะเป็นขยะไร้คุณค่า นำมาต่อยอดจนกลายเป็นกระเป๋าสุดชิคที่วางขายอยู่ทุกวันนี้ 

“การเลือกวัสดุเป็น Vision ของแต่ละคน การเลือกเนื้อผ้าลินิน คอตตอน หรือผ้าอะไรก็แล้วแต่ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์ที่ต้องการจะพรีเซนต์อะไร รวมถึงผมเองที่คิดว่ามันเกิดจากจินตนาการไปต่อเองว่า ถ้านำวัสดุนี้มาทำมันจะเป็นยังไง”

จอร์จมองหาวัสดุทั่วสารทิศในเชียงใหม่ โดยคำนึงถึงวัสดุที่สามารถเอื้อมถึง และหาได้ง่ายตามท้องตลาด หยิบจับอะไรที่จอร์จรู้สึกสนใจพิเศษ “อะไรที่เรารู้สึกว่ามันดี มันเจ๋ง อาจจะเป็นการเจอด้วยความบังเอิญหรือไม่บังเอิญ แต่มันทำให้เราเกิดอินสไปรเรชัน ขึ้นมาก็จะหยิบขึ้นมาใช้ทันที” 

เขาพูดถึงเรื่องราวความบังเอิญหรือพรหมลิขิตในการพบรักกับวัสดุให้เราฟัง ซึ่งพูดกับเราเสมอว่าก่อนจะเกิดเป็นคอลเลกชันไหนขึ้นมาในแบรนด์ก็จะมีเรื่องราวกับวัสดุชิ้นนั้นก่อน พอถูกโฉลกปุ๊ป พอได้ต้องตาต้องใจกับวัสดุชิ้นนั้นแล้วก็เหมือนมนตร์สะกดที่พาให้ไอเดียทั้งหลายพุ่งพล่านอยู่ในหัว

SWEET TASTE COLLECTION

ด้วยกราฟฟิกดีไซน์ที่หวาน บวกกลิ่นอายของความวินเทจเข้าไปทำให้คอลเลกชันนี้เป็นที่ได้รับความสนใจจนนำพาคนมากหน้าหลายตาเปิดใจเข้ามาทำความรู้จักกับแบรนด์ รวมถึงยังเป็นคอลเลกชันที่สร้างยอดขายให้กับแบรนด์ได้เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร Sweet taste ก็นับว่าเป็นรุ่นที่ร่วมสมัยไปกับคนใช้อยู่เสมอ จอร์จพูดถึงลวดลายบนกระเป๋าให้เราฟังว่า “ขายมา 3-4 ปีก็ยังมีคนซื้ออยู่ มันคือความลงตัวหลายๆ อย่างตั้งแต่ Material หรือความหอมหวานของกราฟฟิกที่ควบรวมกับความวินเทจของ Material พอมองโดยรวมแล้วมันกลมกล่อม”

“มันคือความเป็นตัวเราของช่วงชีวิตหนึ่งที่นิยมดื่มชา เขาจะเสิร์ฟชาพร้อมกับกาสวยๆ ที่มีลายดอกไม้บนนั้น แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมเองก็พยายามลดน้ำตาลอยู่ด้วย ก็เลยคิดว่าความสวยของดอกไม้บนกาและถ้วยชา มันคือความหวานที่ทดแทนน้ำตาลของผมไป จึงเกิดเป็น Sweet Tase Collection นี่แหละครับ”

จะเตวไปกาด COLLECTION

ภาพยนตร์ที่ฉายเรื่องราวของผู้หญิงฝรั่งเดินซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ตพร้อมหิ้วถุงกระดาษที่บรรจุของสารพัดสิ่งอยู่ในนั้น ภาพที่เหล่านั้นถูกประมวลด้วยความเร็วแสงในหัวของจอร์จทันที เขาเองรู้สึกว่ามันเก๋มาก จนเริ่มเก็บความรู้สึกเหล่านั้นมาต่อยอด และหลอมรวมความคิดให้เป็น “Shopping Bag” และตบให้เข้ารูปเข้ารอยจนกลายมาเป็น Shopping Bag ตามแบบฉบับของฮะ

“ตอนนั้นมีความคิดว่าทำไมเราไม่ลองทำถุง Shopping Bag เลยล่ะ เป็นกระเป๋าที่ถือแล้วยังมีความเก๋ ทุกคนสามารถใช้ถุงนี้ได้ทุกวันด้วย ราคาย่อมเยา แข็งแรงคงทน ใช้ตกทอดไปยันรุ่นหลานก็ยังได้” (หัวเราะ)

ตัวผู้เขียนเองก็คิดว่ามันคงจะดีมากถ้าบรรยากาศในเชียงใหม่ ถูกรายล้อมไปด้วยผู้คนที่ถือกระเป๋ารุ่น “จะเตวไปกาด” เพื่อแสดงสัญลักษณ์ในทุกเย็นให้ทุกคนรับรู้พร้อมๆ กันว่า จะไปไหนล่ะ…จะเตวไปกาด โดยใช้กระเป๋าเป็นเมื่อสื่อในการถามไถ่ อีกหลายคอลเลกชันต่างก็มีเรื่องราวก่อนที่จะเกิดมาเป็นคอลเลกชันต่างๆ ให้เราเห็น บ้างก็เกิดจากการเห็นถุงเมล็ดกาแฟในถังขยะที่กำลังถูกทิ้ง แล้วจอร์จเองก็มองว่าสวย ถ้าจะได้นำมันมาต่อยอดเป็นหนึ่งในแบรนด์ของฮะ หรือแม้กระทั่งอย่างการเหลือบไปเห็นพริกฝรั่งหน้าบ้านที่มองแล้วสวยดี จึงเก็บความสวยผ่านตา และดีไซน์ทุกอย่างผ่ามองมือ จนเกิดมาเป็นคอลเลกชันล่าสุดอย่าง “พริกฝรั่ง”

 “Huh! What do you say?” 

(ไหนทวนให้ฟังอีกทีสิ เมื่อกี้พูดว่าอะไรนะ)

“มันเกิดจากแต่ก่อนผมมีเพื่อนที่เล่นมุกแป้ก ผมก็จะแบบ ฮะ!! พูดเหี้ยไรเนี่ย แล้วก็จะทำหน้าเหมือนสงสัยว่าเล่นมุกอะไรของมัน ก็เลยเกิดเป็นชื่อนี้ขึ้นมา แต่จริงๆ ผมก็คิดว่าคำนี้มันสะท้อนมาถึงแบรนด์ของผมด้วย ประมาณว่าคนอื่นพูดถึงเรายังไงนะ สินค้าของเรามันดีหรือไม่ดีกันแน่นะ ไหนลองพูดให้ฟังอีกทีสิ” (หัวเราะ)

“ศรัทธาของผมแม่งแพงกว่าการซื้อกระเป๋าอีก” เขาพูดประโยคทีคารมคมคายกับเราจนตราตรึงเลยทีเดียวว่า “ผมเคยโดนปฏิเสธการทำกระเป๋าให้จากร้านแห่งหนึ่ง ผมเลยคิดว่าไม่เป็นไร งั้นเราลองมาทำเองดู”

“ผมเคยอยากได้กระเป๋าแล้วไม่มีอะไรที่ถูกใจเลย ดังนั้น จึงทำกระเป๋ามาเพื่อใช้เองก่อน เป็นความคิดแบบง่ายๆ ครับ ถ้าผมทำโปรดักส์อะไรออกมาขายแล้วเรายังไม่ใช้ เราไม่ควรจะขายของได้เลยนะ ขนาดตัวเองยังไม่ซื้อกระเป๋าของตัวเองเลย ดังนั้นทุกวันนี้ ถึงแม้จะเอามาให้ผมฟรีๆ ผมก็รู้สึกว่าผมไม่ได้ศรัทธาแบรนด์อื่นแล้ว เพราะเราทำกระเป๋าเอง ลูกค้ามาเห็นเขาจะเริ่มคิดแล้วว่าเราควรจะใช้แบรนด์คุณอยู่หรือเปล่า”

เปิดเลนส์ wide ของแบรนด์ HUH

ณ ตอนนี้จอร์จเองเริ่มพาแบรนด์ไปสู่งาน Handcraft มากขึ้นเพื่อให้ได้งานที่คราฟท์และเริ่มที่จะสร้างสินค้าด้วยสองมือของเขาจริงๆ ไม่ว่าจะการออกแบบ ตัดเย็บ หรือสกรีนลายก็ใช้เทคนิคแบบ Silk Screen ที่จะต้องผ่านมือของเขาทุกกรรมวิธี จากในตอนแรกที่ยังมีการพึ่งดิจิทัลอยู่บ้าง จึงถอยกลับสู่วิธีที่เรียบง่ายเพื่อได้ความคราฟท์ที่ลงตัวที่สุด โดยเขาถึงภาพกว้างในอนาคตของแบรนด์ฮะที่แตกต่างออกไปจากเดิม

“ปกติ Core Project ของผมคือ กราฟฟิกของผมบน Recycle Product หรือ Upcycle Product ซึ่ง ในอนาคตถ้าต้องมีคอลเลกชันใหม่ๆ ก็อยาก Collaborate กับศิลปินคนอื่นๆ มากขึ้น ต้องยอมรับว่าพอผมโตขึ้น แรงบันดาลใจมันก็น้อยลงไปเรื่อยๆ ดังนั้น ผมคิดว่าผมควรเปิดใจยอมรับจากสิ่งอื่นๆ ดูบ้าง ไม่ต้องยึดติดว่าต้องเป็นผมที่วาดและดีไซน์อยู่คนเดียว เพราะผมเชื่อว่าคนที่เข้ามาร่วมงานด้วยจะเป็นแรงผลักดันที่ดีให้กับแบรนด์ผมครับ”

ถ้าอยากใช้กระเป๋าสักใบของร้านจะแนะนำรุ่นไหน

“จริงๆ ก็ซื้อทุกใบไปเลยครับ คนจะขายของอะเนอะ”

จอร์จบอกว่า อยากให้สำรวจจากการใช้งานของทุกคนเป็นหลัก เพราะแต่ละคนก็มีวิถีชีวิตแตกต่างกันไป เช่น ชอบใส่ Laptop ชอบพกพา iPad หรือแม้กระทั่งอาจจะอยากแค่สะพายเก๋ๆ ก็ได้ ซึ่งทางจอร์จเองจึงอยากให้ทุกคนได้สำรวจความเป็นตัวเองก่อน ทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งการพกพาสิ่งของก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถบ่งบอกความเป็นตัวเอง และความเข้ากันกับกระเป๋าแต่ละรุ่นของเขาได้ เนื่องจากเขาเองก็มีความคิดที่ว่าถ้าเลือกซื้อกระเป๋าจากทางแบรนด์ไปแล้ว ก็มีความคาดหวังที่จะให้ผู้ซื้อได้ใช้ไปนานๆ 

จอร์จพยายามบอกกับเราเสมอว่าเขาอาจจะไม่ใช่แบรนด์ที่ใช้วัสดุจริงทั้งหมด 100% เพราะยังต้องมีวัสดุอื่นๆ ที่เข้ามาพลิกแพลง และประกอบร่างก่อนจะทำให้เกิดเป็นกระเป๋าได้ เนื่องจากลำพังวัสดุที่เหลือใช้อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการมาควบรวมให้เป็นกระเป๋าได้ จึงต้องหยิบวัสดุอื่นๆ มาพลิกแพลง แต่สุดท้ายแล้วเขายังคงไม่ทิ้งหัวใจหลักของแบรนด์ที่จะเลือกหยิบวัสดุที่เกือบจะนอนเป็นเศษขยะรอวันทิ้ง มาประยุกต์และดัดแปลงเพิ่มให้มีมูลค่ามากที่สุด เพื่อไม่ให้วัสดุเหล่านั้นศูนย์เปล่าและถูกทิ้งขว้างไปเฉยๆ จนกลายมาเป็น HUH.WHATDOYOUSAY อย่างทุกวันนี้ ท้ายที่สุดแล้วแบรนด์ฮะก็จะนำวัสดุเหลือใช้เหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ติดตามและอัพเดทคอลเลกชันของแบรนด์ทั้งหมดได้ที่ HUH, huh.wdus