คราฟท์เบียร์ คือ การใช้ฝีมือและความปราณีตอย่างพิถีพิถัน ผสานความคิดสร้างสรรค์เพื่อรังสรรส่วนผสมและเพิ่มอรรถรสให้กับเบียร์ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคอนักดื่มทั้งหลาย โดยมีส่วนผสมพื้นฐานที่สำคัญคือ มอลต์ ฮอปส์ ยีสต์ และน้ำ
I Jet Do คืออีก 1 แบรนด์คราฟท์เบียร์น้องใหม่ ที่มีกลิ่นอายความเป็นอีสาน จากฝีมือสุดครีเอทของ เจ็ท พงศธร อ่างยาน หนุ่มโปรแกมเมอร์จังหวัดขอนแก่นที่ชื่นชอบการดื่มเป็นชีวิตจิตใจและหลงใหลจนอยากทำคราฟท์เบียร์เป็นของตนเอง โดยเริ่มทำแบรนด์ช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ซึ่งมีคุณยอดเจ้าของร้านยอดบาร์ ผู้จุดประกายที่เป็นเหมือนครูและผู้อยู่เบื้องหลัง และยังช่วยถ่ายทอดวิชาและองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการทำคราฟท์เบียร์ให้กับตนเอง จนได้เป็นแบรนด์ "I Jet Do" ที่มาจาก "เจ็ทโด้" คำคุ้นหูที่เพื่อนๆ ชอบเรียกอยู่บ่อยๆ ซึ่งแบรนด์ทำมานาน 4 ปีแล้ว
“เรารู้สึกว่าการกินเบียร์ไม่ได้กินเพื่อเมาเพียงอย่างเดียว เรากินเพื่ออรรถรสมันจะมีอะไรที่มากกว่า”
เริ่มจากการเป็นลูกมือก่อนเป็นเจ้าของแบรนด์
"มีช่วงหนึ่งผมจะติดตามพี่ยอด (ทีมยอดเบียร์) ตลอด ช่วงนั้นยังจัดงานคราฟท์เบียร์งานคอลแลบได้ การจะทำเบียร์ถูกกฎหมายต้องทำที่เมืองนอก ผมได้มีโอกาสตามพี่ยอดไปโรงเบียร์ขนาดใหญ่ ช่วงนั้นผมคลุกคลีในวงการนี้ได้สักพักหนึ่ง เลยขอเขาไปดูเพราะอยากรู้ว่าโรงเบียร์ใหญ่ๆ เขาทำกันยังไง เผื่ออนาคตเราอยากจะทำบ้าง เลยได้ไปที่เกาะกง กัมพูชา ไปถึงรู้สึกว้าวมากว่าเครื่องจักรพวกนี้ทำเบียร์ได้ยังไง ผมก็ไปเป็นลูกมือเขา พอขากลับจากเกาะกงเลยบอกพี่ยอดตรงๆ ว่าอยากทำแบรนด์คราฟท์เบียร์เป็นของตัวเอง"
“เราเป็นคราฟท์เบียร์น้องใหม่ ช่วงแรกๆ ต้องออกงานเฟสติวัล งานประกวดคราฟท์เบียร์ บ่อยหน่อย ผมเลยลุยทำเบียร์ไปโชว์เขา ไปให้อาจารย์เบียร์ต่างๆ ชิม”
ใช้ผลไม้อีสานบ้านเฮาและวัตถุดิบท้องถิ่น
"หลังจากที่ผมสร้างแบรนด์ ผมก็พยายามหาคาแรกเตอร์ของตัวเอง ช่วงนั้นผมทำเบียร์ที่เป็นไพลอทมีชื่อว่า 'บักเล็บแมว' เป็นผลไม้ท้องถิ่นของอีสาน ผมเป็นคนอีสานก็อยากจะทำอะไรที่มันเป็นอีสานๆ พี่ยอดให้โจทย์นี้มา ผมเลยเลือกผลไม้ที่ชอบกินตอนเด็กๆ มาทำ ผมจะเข้าป่าไปหามา ความยากคือ จะได้กินเฉพาะช่วงพฤศจิกายนถึงมกราคมเท่านั้น ล่าสุดได้ไพลอทเพิ่มอีก 1 ตัว ใช้ 'เม็ดผักชีลาว' เป็นส่วนผสม เราพยายามหาอะไรที่เป็นของท้องถิ่นเรามาสร้างคาแรกเตอร์คราฟท์เบียร์ เป็นเบียร์ตามฤดูกาลอีกตัวหนึ่ง"
เวิร์คชอปต่อยอดเบียร์ Commercial
"ตอนไปเวิร์คชอปที่อิสระอเคเดมี่ ของบุญรอดฯ ผมไปเจอฮอปส์ตัวหนึ่งที่มีคาแรกเตอร์ที่มีกลิ่นดี เลยใช้ฮอปส์ตัวนี้เป็นเบสในการทำเบียร์ จนได้ 'ลำเพลิน' เบียร์ Commercial ตัวแรกเพิ่มอีกตัว เป็นเบียร์ที่ใช้ฮอปส์ตัวใหม่ที่เขาเพิ่งผลิตในปีนั้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ได้จากอาจารย์ยอดของผม ที่แกแนะนำว่าควรจะมีเบียรที่ถูกกฎหมาย หลังจากเปิดเพลงหมอลำฟังเพลินๆ ก็ได้ชื่อลำเพลินมาครับ"
โควิดเกิด "มิตรภาพ"
"ตัวที่เพิ่งออกมาช่วงโควิด ชื่อ ‘มิตรภาพ’ เป็นเบียร์ที่เกิดจากทำลำเพลินเสร็จพอดี ตอนนั้นตั้งใจจะกลับบ้านแล้วนึกถึงถนนเส้นมิตรภาพซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้กลับบ้าน การที่เราจะมีมิตรภาพได้เราต้องมีคนมากกว่า 1 คน งั้นผมชวนเพื่อนๆ มาทำ 3 คน 1 ในนั้นก็คือพี่ยอด ยอดเบียร์ อาจารย์ผม คนที่ 2 พี่สมร มั่นยืน เป็นแก๊งค์เบียร์ฝั่งทางยโสธร และคนที่ 3 พี่เอม แม๊กซ์เบียร์ เบียร์สุรินทร์ ซึ่งทุกคนก็ต้องใช้เส้นมิตรภาพเป็นเส้นทางในการกลับบ้าน"
“ถ้าคุณมา ‘นาตาเพชร’ จะได้กินอาหารฝีมือคุณแม่จากวัตถุดิบท้องถิ่น มีกิจกรรมพายเรือแก่งน้ำต้อน ดูพระอาทิตย์ตก หรือข้ามฝั่งไปดูวัวควาย ดูนก แล้วขึ้นฝั่งมากินเบียร์ ผมจะใช้เบียร์เป็นตัวเชื่อมในการทำกิจกรรมต่างๆ”
จาก I Jet Do สู่ นาตาเพชร คอมมูนิตี้คราฟท์เบียร์
"ผมทำเฟสติวัลคราฟท์เบียร์ชื่องาน จั๊กโบก (หมายถึง สักแก้วไหม เป็นภาษาอีสาน) ที่ทำเพราะอยากกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ พอกลับมามาดูพื้นที่ตัวเองก็พบว่าน่าจะสร้างอะไรได้ เลยพยายามจัดงานคราฟท์เบียร์และเฟสติวัลในพื้นที่ของเราเอง จัดสอนคราฟท์เบียร์ มีดนตรี มีคราฟท์เบียร์ มีอาหารและกิจกรรมต่างๆ พอคนเริ่มสนใจ เลยทำพื้นที่นี้ให้กลายเป็นคอมมูนิตี้โซนขอนแก่น โดยใช้ที่ของพ่อเพชร 'นาตาเพชร' เพื่อต่อยอดแบรนด์เรา ทั้งเรื่องการสอนทำเบียร์ บาร์เบียร์ ร้านอาหาร หรือแม้กระทั่งกิจกรรมเกษตรกรรม เราอยากต่อยอดให้เป็นแหล่งการเรียนรู้และท่องเที่ยว เพราะเวลาไปเที่ยวตามต่างประเทศจะเจอเครื่องดื่มท้องถิ่นของเขา มาที่นี่ก็จะได้กินเบียร์ของนาตาเพชร"
“ผมมองว่าไร้สาระนะ มันคือกฎหมาย มันก็มีคนต่อสู้เรื่องพวกนี้อยู่แล้ว เหมือนถูกจำกัดสิทธิของเรามากเกินไป เราไม่ได้เชิญชวน ข้อกฎหมายมันไม่ควรบังคับ เพราะเราไม่ได้ทำผิดอะไรขนาดนั้น”
คราฟท์เบียร์ในไทยเป็นยังไง
"ช่วงนี้คนสนใจเยอะมาก อยากจะทำแต่กฎหมายไม่เอื้อ ตอนผมกลับมาที่ขอนแก่น ผมอยากจะค้นหาคนที่ทำคราฟท์เบียร์ในขอนแก่นว่ามีใครทำบ้างนอกจากเรา ซึ่งจังหวัดอื่นๆ เขาจะรวมกลุ่มกันจัดงานและช่วยกันทำ ตอนนี้ก็ได้คนที่สนใจเข้ามาทำจำนวนหนึ่ง แต่ช่วงหลังๆ คนเริ่มทำเยอะขึ้นแล้ว อาจเป็นเพราะเรื่องกฎหมายที่เขากำลังต่อสู้กัน และเพจประชาชนเบียร์ที่เขาช่วยกันผลักดันเรื่องการทำคราฟท์เบียร์ ผมอยู่ที่บาร์นาตาเพชรก็จะมีน้องๆ ที่ทำคราฟท์เบียร์เอาเบียร์มาให้ชิม เราก็ช่วยเทส ช่วยดูเท่าที่เรารู้จากประสบการณ์ของเรา"
สถานการณ์โควิดกับคราฟท์เบียร์
"ผมเข้ามาทำก็มีโควิดมาเลย ก่อนหน้านี้ยังจัดงานคราฟท์เบียร์ได้ ตอนนี้ทำอะไรไม่ได้เลย จะรวมกลุ่มยังยากเลย คนที่จะเข้ามาหาก็ต้องพรรคพวกกัน การขายเครื่องดื่มก็ต้องขายตามระเบียบที่เขากำหนด ผมเพิ่งทำมิตรภาพออกมา มันควรจะขายหมดแล้ว แต่มันยังค้างอยู่ เพราะกระจายของไม่ได้ ร้านค้าปิด ร้านเครื่องดื่มก็ปิด แต่ผมโชคดีตรงที่อยู่บ้าน แทนที่จะได้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำไม่ได้ อย่างช่วงนี้ถึงฤดูกาลทำนา จริงๆ ตั้งใจจะชวนเพื่อนๆ จังหวัดใกล้เคียงมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างรายได้เข้าจังหวัด โรงแรมที่พักก็จะมีรายได้จากการที่คนจองเพื่อมาพัก ธุรกิจมันก็จะได้ไปต่อได้"
I Jet Do และ นาตาเพชร ในอนาคต
"ผมกำลังหาคนออกแบบต่อจาก ‘มิตรภาพ’ ครับ ตัวโปรดักส์ที่จะออกใหม่ต้องคิดเรื่อยๆ ในแต่ละซีซั่น มันเหมือนงานศิลปะ เราต้องมาคิดคอนเซ็ปต์ว่า จะเกี่ยวกับของเดิมที่เราทำหรืออยากจะฉีกออกจากเรื่องเดิมเลย ซึ่งการทำต้องมีเพื่อนๆ หรือคนที่เรารู้จักมีส่วนร่วม มันจะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาและตัวเราเองด้วย และที่จะทำคือคราฟท์เบียร์เฟสติวัลครับ จริงๆ ผมจัดงานตลอด แต่เป็นงานเล็กๆ เหมือนเพื่อนมากินข้าวบ้านเพื่อน อยากให้งานเกิดขึ้นเพราะทุกคนจะได้มีความสุขกับการท่องเที่ยวการใช้ชีวิต ส่วนนาตาเพชรอยากให้เป็นที่พักด้วย ซึ่งตอนนี้ยังทำไม่ได้ เพราะเรื่องแรงงานและเม็ดเงิน และไม่รู้ว่าทำเสร็จโควิดจะหายไปแล้วยัง"
อยากจะลิ้มลองรสชาติของคราฟท์เบียร์อีสานสไตล์ I Jet Do ก็ไปตามดูได้ที่เพจ I Jet Do กันได้เลยและอย่าลืมปักหมุด ‘นาตาเพชร’ ไว้ด้วยนะ เผื่อมีโอกาสไปเที่ยวขอนแก่นกับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่คอนักดื่มและสายเที่ยวทั้งหลายไม่ควรพลาด!
ติดตามคอมมูนิตี้และลิ้มลองรสชาติคราฟท์เบียร์ได้ที่ I Jet Do, นาตาเพชร, Phongsathorn Angyarn