คุยกับ “อิทธิวรกุล” ครอบครัวไอซ์ฮอกกี้เยาวชนไทย ที่ไปไกลถึงต่างแดน

ทุกครั้งที่ดูซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างประเทศแล้วเจอตัวละครที่เป็นนักกีฬา ฮอกกี้น้ำแข็ง (Ice Hockey) ผู้เขียนก็มักจะหวนนึกถึงนักกีฬาไทย ที่ฝึกซ้อมกันตามลานน้ำแข็งจำลอง โดยที่สภาพภูมิอากาศข้างนอกไม่ได้เป็นใจต่อการพัฒนาขีดจำกัดของร่างกายสักเท่าไหร่ แต่ถึงกระนั้น ทีมฮอกกี้น้ำแข็งไทยก็ได้เริ่มสร้างเสียงฮือฮามาตั้งแต่ปี 1989 ด้วยการเป็นประเทศจากเขตร้อนที่ไปคว้าชัยในการแข่งขันระดับนานาชาติมาหลายรายการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยมีนักกีฬาทั้งรุ่นเล็กและรุ่นใหญ่สลับกันไปกวาดรางวัลกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือสองพี่น้องจากบ้าน “อิทธิวรกุล” ตัวแทนเยาวชนไทยที่ไปสร้างชื่อไกลในหลายประเทศ 

ครั้งแรกที่รู้จัก

แม้อากาศและภูมิประเทศจะไม่เป็นใจให้ไทยมี ‘น้ำแข็ง’ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ก็ไม่ได้ทำให้ “เก้านาย - อาชวิฐ อิทธิวรกุล” และ “แพทริค - ชัญญชาติ อิทธิวรกุล” นักกีฬาคนเก่งจากทีม Bangkok Warriors ท้อใจแต่อย่างใด มิหนำซ้ำกลับทำให้พวกเขาอยู่กับกีฬานี้มาได้นานถึง 3 ปี และไม่มีทีท่าจะเลิกในเร็ววัน

“รู้สึกสนุกและมีความสุขที่จะได้เล่น ได้ซ้อม และลงแข่ง”
นี่คือคำที่พวกเขาบอกกับเรา

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณสามปีก่อน เก้านายในวัย 7 ขวบ และแพทริคในวัย 5 ขวบ พร้อมคุณแม่ นิชา เนศวร์ณิชา วิวรรธนภัคกุล สามแม่ลูกได้พากันไปที่ลานน้ำแข็งในห้างสรรพสินค้า เพื่อลองเล่นไอซ์สเก็ตเป็นครั้งแรก คุณนิชาเล่าว่าแค่ชั่วโมงแรกก็ได้รับคำชมจากคุณครูว่าเด็กทั้งสองคนเรียนรู้ได้ไวมาก เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เล่นไอซ์ฮอกกี้ พอดีกับที่เด็กๆ สนใจอยากจะเล่นด้วย นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทั้งคู่ให้ได้รู้จักไอซ์ฮอกกี้ และกลายมาเป็นนักกีฬารุ่นเยาวชนจนถึงทุกวันนี้ เธอเล่าต่ออีกว่าน้องแพทริคเกือบจะไม่ได้เล่นเหมือนพี่ชายแล้ว เพราะอายุน้อยและตัวเล็กเกินไป แต่ใจน้องสู้มาก พยายามขอให้ครูสอน จนในที่สุดก็ได้เรียนสมดังใจ

สำคัญที่ใจรัก

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในเขตเมืองหนาวแล้ว การฝึกซ้อมไอซ์ฮอกกี้ในเมืองร้อนค่อนข้างจะเสียเปรียบอยู่หลายเรื่อง ทั้งสถานที่ เวลาในการฝึกซ้อม สภาพภูมิอากาศ และสภาพร่างกายของนักกีฬา ยังไม่รวมถึงอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย ที่หลายคนพากันพูดว่ากีฬานี้เหมาะกับคนบ้านรวย เพราะเท่าที่เห็นผ่านสื่อต่างๆ ทีมเยาวชนหลายคนคือดีกรีเด็กโรงเรียนนานาชาติ  

คุณแม่ของสองหนุ่มบอกกับเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือใจรัก ถ้าเด็ก ๆ รักที่จะเล่นกีฬา อย่างอื่นก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคขนาดนั้น สมัยนี้การจะพาลูกไปฝึกซ้อมก็ง่ายมาก เพราะในไทยมีลานน้ำแข็งอยู่หลายแห่ง เช่นที่เชียงใหม่ โคราช และกทม. อย่างล่าสุดก็มีโครงการก่อสร้างพื้นที่ลานฮอกกี้น้ำแข็งระดับมาตรฐาน ​IIHF​ “Theatre of​ dream”​ เพื่อยกระดับและพัฒนาวงการไอซ์ฮอกกี้ไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีโลก รวมทั้งยังมีสโมสรอีกมากมายที่พร้อมสนับสนุนเยาวชนไทยด้วย

ส่วนเรื่องเรื่องทุนทรัพย์ ผู้ปกครองควรมีความพร้อมในระดับหนึ่ง เพราะยอมรับว่าค่าชุด ค่าอุปกรณ์ค่อนข้างแพง และเด็กรุ่นนี้ก็โตไวมาก ทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อย นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างค่าเรียนและค่าซ้อม แต่ในกลุ่มของโค้ชและผู้ปกครองเองก็จะมีการนำอุปกรณ์ที่ใช้แล้วแต่สภาพดีมาขายเป็นมือสอง หรือส่งต่ออุปกรณ์ให้กับเด็กรุ่นใหม่ ที่อยากจะลองเล่นกันอย่างฟรีๆ ด้วย เพื่อช่วยลดรายจ่ายให้หลายครอบครัว 

“คิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนให้ลูก เพราะแม่มองว่ากีฬานี้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน มีน้ำใจนักกีฬา และได้รับมิตรภาพที่ดีจากเพื่อนนักกีฬาด้วยกันเอง” 

เคล็ดลับแชมป์เปี้ยน

“ไอซ์ฮอกกี้มีทั้งดีใจและเสียใจ แต่ทุกครั้งหลังแข่งก็จะกลับมาดูว่าตัวเองทำได้ดีแค่ไหน ถ้าจุดไหนไม่ดี ก็จะกลับมาแก้ไข

เป็นประโยคที่เด็กๆ บอกกับเราด้วยน้ำเสียงจริงจังและสายตามุ่งมั่น แสดงให้เห็นถึงการไม่หยุดพัฒนาตัวเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่านี่แหละ คือเคล็ดลับที่ทำให้พวกเขาได้แชมป์การแข่งขันและรางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมจากหลายสนาม ทั้งในและต่างประเทศ 

โดยตลอดสามปีมานี้ เก้านายได้รับรางวัลอันน่าภาคภูมิใจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ Champion U10: 4 on 4 FIRE Ice Hockey League 2020, Champion U10 Bangkok Youth Ice Hockey 2020, Champion U10: Thailand Youth Ice Hockey Championship 2020 (Best player), First runner-up U12: CHIANGMAI ICE HOCKEY CHALLENGE CUP 2019, First runner-up U10: Bangkok Fly Ice Hockey Tournament 2019 (Best player) ฯลฯ

ส่วนแพทริคก็แจ๋วไม่แพ้กัน เพราะรายนี้เดินหน้าคว้ารางวัลมาตั้งแต่ 5 ขวบ ทั้ง Best Defense of Tournament: Thailand Ice Hockey Tournament 2020, Champion U8: Bangkok Fly Ice Hockey Tournament 2019 (MVP of tournament), First runner-up รุ่น U8: WARRIOR CUP ASIA YOUTH ICE HOCKEY LEAGUE 2019 @Kunming Best Forward of Tournament U6: BEACH BASH 2018 และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทางด้านคุณแม่นิชา ยังได้เปิดเผยถึงเคล็ดลับที่น่าสนใจจากฝั่งของผู้ปกครองว่า สิ่งที่ต้องช่วยลูกๆ เตรียมพร้อม คือ “วินัยและเวลา ตามเป้าหมายของเด็กแต่ละคน” อย่างบ้านนี้เขาเลือกที่จะอยู่ในจุดของนักกีฬา เพราะฉะนั้นเวลาเที่ยวเล่นอาจต้องขาดหายไปบ้าง เขาต้องอดทน มีวินัยในการฝึกซ้อม ต้องตื่นเช้าและนอนดึกกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะบ้านเราอยู่พัทยา ต้องใช้เวลาในการขับรถเข้ากรุงเทพทุกสัปดาห์เพื่อซ้อมตามตาราง แล้วรีบกลับบ้านมาพักผ่อน เตรียมตื่นเช้าไปโรงเรียนที่อยู่ในเขตจังหวัดระยอง หรืออาจจะต้องหยุดเรียนบ้างในบางครั้งเพื่อไปแข่งขัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องขอบคุณทางโรงเรียนที่เข้าใจและสนับสนุนเด็กๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องอาหารและการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่แม่ต้องช่วยดูแลด้วย

“การคาดหวังของผู้ปกครองที่มีต่อเด็ก ควรจะลืมมันไปได้เลย เพราะเด็กยังไงก็คือเด็ก ไม่ควรไปมองว่าทำไมเขาไม่เป็นอย่างที่เราคิด หรือเอาลูกตัวเองไปเปรียบเทียบกับลูกคนอื่น แค่สอนให้เขารู้จักชนะ รู้จักแพ้ รู้จักให้อภัย ก็จะทำให้เขาสามารถยืนอยู่ในวงการนี้ได้อย่างสวยงามแล้ว” 

เด็กไทยไม่แพ้ใคร

การเติบโตบนเส้นทางนักกีฬาของสองพี่น้องบ้านอิทธิวรกุล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ทีมในประเทศเท่านั้น เพราะเคยได้เข้าร่วมแคมป์กับ “Toronto Maple Leafs” ทีมฮอกกี้ชั้นนำระดับโลก ที่ประเทศแคนาดา ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เด็กๆ ได้ฝึกซ้อม กิน อยู่ และทำกิจกรรมใกล้ชิดกับนักกีฬาอาชีพ นอกจากนี้ยังได้รับโอกาสให้ร่วมเป็นผู้เล่นในทีมของประเทศจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และไต้หวันอยู่หลายครั้ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้วงการไอซ์ฮอกกี้ระดับนานาชาติไม่น้อยเลยทีเดียว 

ทั้งสองพี่น้องบอกกับเราว่า “ไอซ์ฮอกกี้ คือ ความท้าทาย” ที่ทำให้ได้เรียนรู้ความต่างทางภาษา ต่างวัฒนธรรม และรู้จักปรับตัวให้เข้าการซ้อมที่ต่างกันไปตามโปรแกรมของโค้ชแต่ละประเทศ ซึ่งพวกเขาก็จะตั้งใจฝึกซ้อมแบบนี้ต่อไป เพื่อทำตามเป้าหมายที่จะได้ติดทีมชาติไทย ส่วนคุณนิชาในฐานะแรงสนับสนุนสำคัญ ได้บอกกับเราว่าเธอเองก็มีเป้าหมายด้วยเช่นกัน แต่คงไม่ใช่การเป็นผู้ปกครองของนักกีฬาทีมชาติ เพราะสิ่งสำคัญคือการได้เห็นลูกๆ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก และรับผิดชอบต่อสิ่งที่เขาเลือกอย่างไม่กดดัน นั่นคือที่สุดของเป็นแม่แล้ว

ขอบคุณบ้าน ‘อิทธิวรกุล’ ที่ทำให้วันนี้ประเทศเรามีนักกีฬารุ่นเล็กแต่คุณภาพล้น เพิ่มขึ้นถึง 2 คน 

และทำให้เรารู้ว่าทุกกีฬาสามารถเอาชนะได้ด้วย “ใจ” และ “แรงสนับสนุนจากครอบครัว”