ศาสนาเป็นสถาบันหนึ่งในสังคมที่ถ่ายทอดระบบความคิดและความเชื่อทางศีลธรรม เดิมศาสนาจากเคยเป็นสิ่งที่ใช้ในการอธิบายโลกทั้งใบ แต่ปัจจุบันโลกที่มีลักษณะเป็นพลวัต วิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อมุมของคนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลผู้คนมีมุมมองเกี่ยวกับศาสนาที่เปลี่ยนแปลงไปตามไปด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าศาสนายังคงมีอิทธิพลต่อสังคมปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากมองย้อนกลับไปสัก 10 ปีก่อน การที่ใครสักคนไม่นับถือศาสนามักโดนสังคมตั้งคำถามเชิงลบมากมาย ทำไมไม่นับถือศาสนา ทำผิดอะไรมาหรือเปล่า? หรือแม้กระทั่งมองคนที่ไม่นับถือศาสนาว่าเป็นคนจิตใจไม่ดี ปัจจุบันคนเริ่มหันมาไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ คำถามเหล่านี้ก็ไม่ได้หมดไป วันนี้เราจึงชวนคนรุ่นใหม่มาพูดคุยมุมมองเรื่องการไม่นับถือศาสนา เพื่อจะได้เห็นแง่มุมชีวิตของคนที่ไม่นับถือศาสนาเพิ่มมากขึ้นไม่ใช่แค่การประทับตราว่าเขาเป็นคนไม่ดี
ดิว (นามสมมติ) พนักงานเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ อายุ 24 ปี ก่อนหน้านี้เธอนับถือศาสนาพุทธ ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เธอบอกว่าไม่อินกับศาสนาอยู่แล้ว แต่เริ่มไม่นับถือศาสนาจริงจังช่วงเรียนมหาวิทยาลัย จุดเปลี่ยนที่ทำให้ไม่นับถือศาสนาของเธอคือ ‘ครอบครัว’ เธอเล่าให้ฟังว่า“ตอนช่วงมหาวิทยาลัยเราทะเลาะกันครอบครัว แม่เราพูดว่า ‘อย่าเถียงพ่อแม่นะมันบาป’ ซึ่งเราก็สงสัยว่าบาปอะไรก็มันไม่ถูกต้อง เราแค่พยายามอธิบายเหตุผลของตัวเอง หลังจากนั้นแม่เราก็ส่งธรรมมะมาในไลน์ประมาณว่า การทำร้ายร่างกายพ่อแม่เวลาทางกายและวาจาเป็นบาปอันใหญ่หลวง เราสงสัยว่าพ่อแม่ทำเราทุกข์มันไม่บาปเหรอ”
ดิวบอกกับเราว่า ครอบครัวของไม่รับรู้ถึงการไม่นับถือศาสนาของเธอ เพราะรู้สึกว่าครอบครัวไม่น่าจะเข้าใจ แต่เพื่อนรอบตัวรับรู้ว่าเธอไม่นับถือศาสนา เธอมองว่าศาสนาไม่ได้จำกัดเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นเพียงกรอบให้ดำเนินชีวิตกว้างๆ แต่สิ่งที่จำกัดเสรีภาพในการนับถือศาสนาคือ สถาบันครอบครัว
“ตอนนี้เราศรัทธาต่อตัวเอง กว่าจะถึงจุดนี้ได้เพราะความขยันและความตั้งใจของตัวเอง ไม่ได้เพราะผลบุญของศาสนาแต่อย่างใด สิ่งที่ยึดเหนี่ยวเราตอนนี้คือเพลง เพลงอยู่ในทุกโหมดความรู้สึกช่วยฮีลใจในหลายๆ อย่าง รวมถึงศิลปินเกาหลีด้วย พวกเขาคือกำลังใจของเราในทุกๆ วัน”
“อนาคตคิดว่าศาสนาจะกลายเป็นพื้นที่ส่วนตัว แล้วแต่ใครศรัทธามากกว่า การอยู่ร่วมกันจริงๆ แล้วต้องใช้กฎหมายในการควบคุม”
นัตตี้ - นัทราวดี เฉิดฉายพันธุ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา อายุ 21 ปี ก่อนหน้านี้เธอนับถือศาสนาพุทธแต่เคยเรียนที่โรงเรียนคริสต์ ถึงแม้เธอจะไม่ได้นับถือศาสนา แต่ไม่ได้มองศาสนาเป็นเรื่องตลก ศาสนาเป็นเรื่องอ่อนไหว มีข้อดีและเสียแตกต่างกันไป เธอบอกเล่ามุมมองเกี่ยวกับศาสนากับเราว่า
“เรารู้สึกว่าศาสนาแต่ละศาสนามีข้อดีที่แตกต่างกัน แต่คำสอนค่อนข้างไปทางเดียวกัน เราเลยรู้สึกว่าทำไมต้องเลือกศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ทั้งที่เราสามารถทำได้ทุกศาสนาแล้วแต่ความพอใจของเรา ต่อให้เกิดมาพูดว่าเรานับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งเราได้แต่คำสอนมาไม่เคยสัมผัสจริง เราก็รู้สึกว่าคำสอนก็เป็นแนวทางในการใช้ชีวิตที่ดี มันอยู่ที่เราเลือกใช้และขึ้นอยู่กับตัวเรา ต่อให้เขาสอนสิ่งที่ดีแค่ไหน ถ้าจิตใจเราแย่ก็แย่อยู่ดี”
ครอบครัวและคนรอบข้างของนัตตี้รับรู้ว่าเธอไม่นับถือศาสนา แต่ไม่ได้มีท่าทีตกใจอาจแค่แปลกใจบ้าง เธอคิดว่าการไม่นับถือศาสนาในปัจจุบันเป็นเรื่องที่คนยอมรับมากขึ้น ต่อให้เธอนับถือศาสนาหรือไม่ เธอก็คือคนเดิม ไม่ใช่ว่าการไม่นับถือศาสนา เธอจะไปปล้นหรือทำร้ายใครโดยไม่รู้สึกผิด
“การไม่นับถือศาสนา ไม่ได้แปลว่าเราไม่มีจิตสำนึก”
นัตตี้บอกกับเราว่า เธอไม่ได้ศรัทธาอะไรเป็นพิเศษ ความศรัทธาเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา พอคนเติบโตขึ้นเราได้เรียนรู้และสัมผัสกับสิ่งต่างๆ มากขึ้น เราจะมีมุมมองความคิดที่เปลี่ยนไป แต่เธอคิดว่าศาสนายังจำเป็นต่อสังคม สังเกตได้จากเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ มีอิทธิพลมาจากศาสนาร่วมด้วย เช่น เทศกาลคริสมาสต์ เทศกาลเดือนรอมฎอน เทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบของภาคใต้ เป็นต้น
“เราเป็นคนเชื่อตัวเองมากกว่า สมมติเรื่องการสอบ ถ้าเชื่อแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่อ่านหนังสือเราจะเอาอะไรไปสอบ เราศรัทธาสิ่งใดสิ่งหนึ่งถ้ามันนำทางเราก็ดี แต่ถ้าไม่เชื่อตัวเองเลย เชื่อแต่สิ่งที่ไกลตัวเกินไป เราดำเนินชีวิตค่อนข้างยาก ทุกคนต้องเจอเรื่องเครียดหรือไม่ดีกันหมด ถ้าเราไม่แก้ปัญหาด้วยตัวเองใครจะแก้ปัญหาให้เรา”
“ศาสนาในมุมมองเราเป็นแค่ความเชื่อซึ่งไม่รู้ว่ามีจริงไหม เราแค่ทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าดีทั้งกับตัวเองและผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เราคิดว่าการใช้ชีวิตแบบนี้ทุกคนก็แฮปปี้แล้ว”
มุมมองจากทั้งดิว (นามสมมติ) และนัตตี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่ไม่นับถือศาสนาเท่านั้น เห็นได้ว่าการไม่ถือศาสนาของแต่ละคนมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ศาสนาอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ แต่พวกเธอไม่ได้มองศาสนาเป็นสิ่งที่ควรหมดไปจากสังคม ท้ายสุดชีวิตของผู้คนล้วนแตกต่างกัน เราไม่อาจตัดสินใครสักคนว่าดีหรือไม่ดีจากการนับถือศาสนาเท่านั้น