Culture

“IVORY BLACK” – Drag ศิลปะบนเรือนร่างที่ไม่ถูกจำกัดด้วยเครื่องเพศ

‘วัฒนธรรมแดร็ก’ (Drag culture) นับว่ารุ่งเรืองมากในต่างประเทศ จนกระจายชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ความหมายของคำว่า ‘แดร็ก’ (Drag) ก็ได้มีการแปรเปลี่ยน เมื่อก่อนผู้คนมักจะเข้าใจว่าแดร็กคือ ‘ชายแต่งหญิง’ แต่ในวันนี้ มีแดร็กอีกมากที่ไม่ใช่เพศชาย จึงเกิดข้อสงสัยที่ว่า แท้จริงแล้วแดร็กเป็นสิ่งที่จำกัดไว้สำหรับผู้ชายหรือไม่?

เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามนั้น เราจึงมาพูดคุยกับ ‘Ivory Black’ หรือ ‘ราม’ หนึ่งในแดร็กควีน (Drag Queen) ผู้มีความสามารถอันน่าทึ่งและแพชชั่นในการแต่งหน้าสไตล์แดร็ก ถึงเรื่องเพศกับการแต่งแดร็ก และการค้นพบอีกตัวตนหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากปลายแปรงที่สะบัดบนใบหน้า

จุดที่ทำให้รู้จักกับ ‘Drag’

“เราไม่เคยได้ยินหรือรู้จักแดร็กมาก่อนเลย อาจจะเคยเห็นแดร็กควีนอย่างพี่ไจ๋ ซีร่า ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่ามันคือแดร็ก รู้แค่ว่าเขาแต่งเหมือนผู้หญิงจังเลย เขาสวย เรามารู้จักแดร็กจริงๆ ก็ตอนมหา’ลัยปีแรก ช่วงอายุ 18-19 เพราะว่าเราเป็นแฟนคลับ ‘เลดี้ กาก้า’ (Lady Gaga) แล้วมันมีตอนหนึ่งที่เธอไปเป็นกรรมการรับเชิญของรายการ “RuPaul’s Drag Race” ซีซั่น 9 เราเข้าไปดู 15 นาทีแรก ก็รู้สึกว่ามันดูสนุก ดูมีสีสัน ทำให้ตัวเราในตอนนั้นที่ยังไม่ได้เข้าสู่โลกสีรุ้งอยากลองแต่งบ้าง พอเข้ามหา’ลัยแล้วมีโอกาสได้ทำกิจกรรมก็ลองดู จนถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุดทำสักที ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ)”

เริ่มต้นที่แพชชั่นด้านการแต่งหน้า

“เรามีแพชชั่นเรื่องการแต่งหน้ามาก แต่ด้วยความที่อยู่ต่างจังหวัด เราเลยไม่ได้มีโอกาสได้เห็นอะไรมากเท่าคนในเมือง เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าตัวเองอยู่ในโลกที่ต้องทำตัวเป็นเด็กผู้ชาย ต้องแมน ต้องอยู่ในกรอบของเกย์ที่ยังไม่เปิดเผยตัวตน แต่เรามีเพื่อนผู้หญิงเยอะ เราก็จะทำหน้าที่ซื้อเครื่องสำอางให้เพื่อน เพราะสมัยนั้นมีร้านเดียวที่ขายลิปฯ แบรนด์ดังมากๆ อย่าง “Wet n Wild” แล้วทุกครั้งที่ไปซื้อจะรู้สึกว่ามันสวยจังเลย ก็เลยซื้อสีที่ชอบเก็บไว้ เราจะมีกล่องเล็กๆ ไว้เก็บเครื่องสำอาง ซ่อนเอาไว้ในตู้เสื้อผ้า ไม่ใช้ด้วยนะ แค่เอามาดู พอมาลองจับต้นชนปลายแล้ว เรารู้สึกว่ามันน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแต่งหน้าของเรา เราชอบเขามาตั้งนานแล้ว มันเป็นสัญชาตญาณโดยธรรมชาติ ก็เลยลองแต่งหน้าเล่นๆ บ้าง มีช่วงแรกๆ ก่อนแต่งแดร็ก เราก็ลองคอสเพลย์เป็น ‘โจ๊กเกอร์’ (Joker) แล้วเราก็ไม่ได้ใช้เครื่องสำอางด้วยซ้ำ เริ่มจากการเอาสีอะคริลิคที่ใช้วาดรูปมาเพ้นท์ตัว ซึ่งไม่ควรนะ (หัวเราะ)”

ค้นพบอีกหนึ่งตัวตนด้วยการแต่ง Drag

“เราแต่งแดร็กเพราะต้องการเปิดเผยตัวเองอยู่แล้ว แต่จะเป็นด้านของความคิดสร้างสรรค์มากกว่าตัวตน เพราะว่าแดร็กเราก็เป็นตัวประหลาดมากกว่า (หัวเราะ) แต่กล้าพูดว่ามันช่วยมากๆ ในการทำให้เราเป็นตัวเราในปัจจุบันนี้ เป็นเราในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ไม่เคยรู้ว่ามีอยู่ในตัว แล้วเราก็ไม่เคยเห็นเขามาก่อน พอแต่งแดร็ก มันก็เหมือนได้พาเขาออกมา แล้วเมื่อช่วงที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสไปทำโชว์ที่สีลม มันเป็นโมเมนต์ที่เราคุยกับพี่ๆ LGBTQ+ แล้วเพิ่งจะนึกขึ้นได้ว่า เฮ้ย ฉันอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยคนเพศหลากหลาย เป็นครั้งแรกที่เราได้เป็นตัวเองมากๆ เป็นความรู้สึกที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน นี่หรือคือความรู้สึกของคนที่เขาเฉลิมฉลองไพรด์ หรือคนที่คัมเอาท์ (Come out) แล้วได้รับการปลดปล่อย ก็รู้สึกว่ามันช่วยให้เราไปถึงตัวเรา”

“เราเคยเขียนในโพสต์เรียนจบเอาไว้ว่า “ตลอดมาที่เรามาถึงที่นี่ได้เป็นโอกาสที่เราได้รู้จักเขา แล้วเขาก็เป็นครึ่งหนึ่งของเราแล้ว It's just me (นี่ก็คือตัวเรา)” เมื่อก่อนเราอาจจะชอบพูดว่าการแต่งแดร็กคือการเล่นกับคาแรคเตอร์ ซึ่งสำหรับบางคนก็เป็นอย่างนั้น แต่ตอนนี้เราเปลี่ยนแล้ว เราไม่ได้รู้สึกว่ากำลังเล่นกับคาแรคเตอร์ นี่คืออีกหนึ่งตัวตนของเรา มาจากมัลติเวิร์สไหนก็ไม่รู้ แต่มันคือเรา เราก็เลยแฮปปี้กับมันมากขึ้น สำหรับเราแล้วแดร็กคือ “Highest form of gay” จากเด็กบ้านนอกตัวเล็กๆ ตอนนี้กล้าพูดว่า “Ivory Black” ที่เป็นตัวตนแดร็กจะอยู่กับเราตลอดไป”

ทำไมชื่อ Drag ถึงเป็น “Ivory Black”

“ ‘Ivory Black’ มันเป็นชื่อของสีน้ำมัน ตอนที่คิดชื่อแดร็กเราชอบความดาร์ก ความเป็นสีดำ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะใช้ชื่ออะไร อยากได้ชื่อที่มีความสวยงาม ฟังแล้วมันเพราะ แต่ก็มีความมืดมนในตัว เพราะเราสร้างคาแรคเตอร์มาจากช่วงที่แย่ที่สุดในชีวิต 

ทีนี้เราไปเก็บห้องแล้วก็เจอสีน้ำมันสีดำ ชื่อของมันคือ “Ivory Black” รู้สึกว่ามันฟังดูรื่นหูปนไปกับความขัดแย้ง เพราะงาช้าง (Ivory) เป็นสีขาว แต่พอถูกทำออกมาเป็นสีดำก็ดูคอนทราสต์ดี อีกอย่างคือ ‘Ivory’ เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ ความอ่อนโยน ความเป็นผู้หญิง พอบวกกับสีดำที่สื่อถึงความมืดมน รวมกันเป็น “Ivory Black” งาช้างสีดำ ที่ยังคงงดงามแม้ว่าจะมืดมนต่างกับงาช้างคู่อื่น แต่ตอนนี้ชอบให้ทุกคนเรียกว่า “Ivory” มากกว่า มันสั้นดี”

แต่งหน้าเก่งขนาดนี้ เคยเรียนแต่งหน้าไหม?

“เรียนรู้การแต่งหน้าด้วยตัวเองหมดเลยค่ะ อย่างที่บอกว่าเราเริ่มมาจากการดูแดร็กแล้วพยายามแต่งตาม ช่วงแรกมันก็จะไม่ค่อยดีเท่าไร (หัวเราะ) แล้วเราก็อยากบอกว่า “พยายามต่อไป” เพราะเริ่มแรกเราก็ไม่ได้แต่งสวย แต่งอยู่ในห้องทุกวันแล้วก็เอาลงโซเชียลฯ ให้คนด่าเล่นๆ ว่าไม่สวย มันเป็นแรงขับเคลื่อนของเรา ทุกวันนี้ก็ยังดูคลิปสอนแต่งหน้าอยู่เลยนะ เราคิดว่าตัวเองแต่งหน้าโอเคในระดับหนึ่ง ถ้าในด้านแดร็ก เรามองว่าความถนัดของเราคือการแต่งหน้า แต่ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาตัวเอง เพราะว่าพอเจอแดร็กที่เก่ง เราก็รู้สึกว่ามันมีความกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ แดร็กไม่ใช่แค่การแต่งเป็นผู้หญิงแล้ว มันเป็นเรื่องของความสร้างสรรค์”

สิ่งที่ชอบที่สุดในการแต่ง Drag

“สิ่งที่ชอบในการแต่งแดร็กคือการได้อยู่กับตัวเอง เรารู้สึกว่าโลกความเป็นจริงมันวุ่นวายมาก ทุกคนก็เลยต้องมีวิธีที่จะได้อยู่กับตัวเอง การมานั่งแต่งแดร็กหรือแต่งหน้าทำให้เราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ บางทีเวลาเราเหนื่อยกับการทำงาน เหนื่อยกับคน ดึกแค่ไหนเราก็มานั่งส่องกระจกอยู่คนเดียวแล้วแต่งหน้า พอได้เจอ Ivory แล้วหายเหนื่อย เราคิดว่าถ้ามันไม่ใช่แพชชั่น ถ้าไม่ใช่การอยู่กับตัวเองจริงๆ ฉันก็ไม่สามารถแต่งหน้าตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 3 ได้ มันคือการได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้วก็ปลดปล่อยตัวเอง ซึ่งมันดีมาก”

จุดต่างระหว่างการแต่ง Drag กับการแต่งหน้าทั่วไป

“อันนี้คือความคิดเห็นของ Ivory นะ สิ่งที่ทำให้แดร็กเป็นแดร็ก คือเสน่ห์ของขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงจากร่างหนึ่งสู่อีกร่างหนึ่ง ซึ่งต้องใช้ความสร้างสรรค์เยอะมากๆ ถามว่าใช้เครื่องสำอางที่ปกติใช้ในชีวิตประจำวันไหม ก็ใช้ เพราะว่าบิวตี้บล็อกเกอร์ใช้กันเยอะ แต่เรามองว่าการแต่งแดร็กจะมีความใหญ่ เพราะถ้าไม่ใหญ่ มันจะดูเหมือนไม่ใช่การแต่งแดร็ก (หัวเราะ) เราบอกคนที่มาถามเรื่องการแต่งแดร็กเสมอว่า “แต่งให้ชัด แต่งให้คม” ความต่างของสีต้องชัด ต้องไม่ซอฟต์ ไฮไลต์ก็ต้องเห็นชัด ชนิดที่ว่าพอแต่งหน้าเสร็จแล้ว เธอต้องเห็นฉันจากหน้าปากซอย”

“แต่สมัยนี้เปลี่ยนไปเยอะ แดร็กควีนบางคนแต่งหน้าเบาลงมาก เขาเน้นที่การแต่งหน้าให้มีความเป็นผู้หญิงมากกว่า ซึ่งเราก็มองว่าไม่เห็นผิดเลย เพราะแดร็กเป็นศาสตร์แห่งการเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์และความบันเทิง แดร็กก็คือศิลปะ มันขึ้นอยู่กับศิลปินคนนั้นว่าเขาจะนำเสนอตัวเองว่าอะไร แต่งหนักหรือเบาก็ได้ บางคนเข้ามาคุยแล้วบอกว่า “หนูเป็นผู้หญิงแต่งแดร็ก แต่หนูกลัวคนจะมองว่ามันไม่แดร็ก” เราก็เลยถามเขาว่า “เรียกตัวเองว่าอะไร” คุณเรียกตัวเองว่าช่างแต่งหน้าได้อยู่แล้ว แต่คุณนิยามตัวเองว่าอะไร”

“ถ้าคิดว่าเป็นแดร็ก คุณก็คือแดร็ก เรารู้สึกว่ามันอยู่ที่การนิยามตัวเองของแต่ละคน”

Drag – ศิลปะไร้กรอบเพศ

“ถ้าเป็นเมื่อก่อน แดร็กคือการให้ผู้ชายเล่นเป็นตัวละครหญิง เพราะสมัยก่อนเขาไม่ให้ผู้หญิงแสดงละคร คนที่แต่งแดร็กเลยเป็นผู้ชาย แล้วมันก็ค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนจนมาเป็นแดร็กในปัจจุบัน ที่ผู้หญิงก็แต่งแดร็กได้ เรียกว่า ‘ไบโอควีน’ (Bio queen) คือใครๆ ก็สามารถแต่งแดร็กได้ไม่ว่าจะเพศอะไร เราอยากให้คนทำลายกำแพงความคิดเดิม อยากให้แดร็กเป็นสิ่งที่ทำแล้วได้แสดงตัวตน เราจะบอกทุกครั้งเวลาที่ไลฟ์แต่งหน้าว่า “ถ้าอยากแต่งก็ลองเลย” เพราะว่าคุณอาจจะเจอศิลปะชนิดหนึ่งที่ทำให้ได้ปล่อยอะไรบางอย่างในตัว”

“เรารู้สึกว่าแดร็กเหมาะสำหรับทุกคน ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเกย์หรือกะเทย ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่ถกเถียงกันในโลกของแดร็ก แต่เรามองว่าแดร็กไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใครหรือเพศไหนเป็นคนแต่ง”

“เราแค่มองไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมา คอนเซ็ปต์ของเขา เรื่องที่เขาอยากจะเล่า โดยตัดเรื่องเพศหรือเรื่องที่อยู่ระหว่างขาของเขาไป แค่ไม่แต่งแดร็กเพื่อล้อเลียนหรือเอาไปหากินโดยไม่เคารพก็พอ เพราะแดร็กก็เป็นการเมืองในตัวของมันเอง คือการเล่นและทำลายกำแพงทางเพศสภาพ ไม่ใช่แค่การแต่งตัวแต่งหน้า ทุกคนล้วนมีเรื่องที่จะเล่าผ่านการแต่งแดร็ก”

ลุคที่แต่งแล้วชอบมากที่สุด

“ลุคนี้เลย รู้สึกว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะว่าเราทำเอง มันสวยแล้วก็มีความเป็นตัวเรามาก แถมได้เอาไปใช้งานจริงในโลกของการแสดง ไม่น่าจะมีใครเคยทำอย่างนี้ด้วย ทุกลุคของเราดีไซน์เองทั้งแต่หัวจรดเท้า ทำผมแต่งหน้าเอง ตัดเย็บเองด้วย แล้วก็จะสร้างออกมาหลายๆ ลุคให้ไม่ซ้ำ เพราะแดร็กเราเป็น Artistry drag เราอยากให้คนมาดูการแสดงและลุคของเราในแต่ละโชว์”

“ส่วนอันนี้ไม่ใช่ลุคเต็ม แต่เราชอบเพราะเป็นลุคแวมไพร์ มันดาร์กมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่า Ivory เป็นมาตั้งแต่แรก คือความ “แดร็กคูล่า” (The Boulet Brother’s Dragula) เป็นรายการแข่งสำหรับแดร็กที่แต่งแนวดาร์กๆ ซึ่งเราเป็นอย่างนั้นมาตลอด ทั้ง 2 ลุคนี้เป็นลุคที่เราภูมิใจ เพราะยังจำวันที่นั่งคิดแล้วก็วาดร่างสเก็ตช์ทั้งคืนได้ ว้าวมากตอนตัดชุดเสร็จ มันแสดงให้เห็นถึงความเติบโตในการเป็นแดร็กของเราด้วย เป็นลุคที่ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็คงทำไม่ได้ หรือคิดไม่ได้ด้วยซ้ำ”

ถ้าแต่งแดร็กได้ด้วยอุปกรณ์แค่ชิ้นเดียว จะเลือกอะไร?

“สีน้ำมันเพราะมันมีเวอร์ชั่นที่เป็นรองพื้นจริงๆ ด้วย แถมหาง่าย แล้วก็ไม่แพง เหมือนทาสีบนหน้าเราให้เป็นงานศิลปะ ถ้าอยากได้รองพื้นสีที่เข้ากับผิวเรา ก็เอาสีมาผสมกัน ถ้าอยากได้ลิปสติกหรืออายแชโดว์ ก็ใช้สีน้ำมันมาเกลี่ยได้ บางครั้งเราใช้เทคนิคนี้เพื่อให้สีสันบนหน้าเด่นชัดขึ้น แต่ข้อเสียคือพอไม่มีแป้งเซ็ต เวลาอากาศร้อนมันจะเยิ้ม แล้วถ้าเลือกได้อีกอย่างหนึ่งก็จะเลือกขนตา เพราะเรารู้สึกว่าถ้าไม่มีมัน ลุคแดร็กก็จะดูไม่สำเร็จ ขนตากับกะเทยเป็นของคู่กันนะ (หัวเราะ)”

Mindset ที่อยากส่งต่อให้กับมือใหม่หัดแต่ง

“เราคิดว่าทุกคนจะต้องมี ‘แรงบันดาลใจ’ เหมือนมีศิลปินในดวงใจที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ไม่ต้องเป็นแรงบันดาลใจในทางแดร็กก็ได้ อาจจะเป็นทางศิลปะ อย่างเช่นเราก็มีแดร็กควีนชื่อดังระดับโลกที่ประสบความสำเร็จเป็นแรงบันดาลใจ อย่าง ‘ไวโอเล็ต ชัชกี’ (Violet Chachki) ที่แต่งแดร็กเพราะไปเที่ยวบาร์เกย์เป็นครั้งแรกในชีวิต เขาเห็นแดร็กควีนแล้วรู้สึกขัดใจว่าไม่มีแบบที่ชอบ ก็เลยเป็นเองเสียเลย แล้วเขาก็ชนะในรายการ “RuPaul’s Drag Race” กลายเป็นหนึ่งในไอคอนแดร็กที่ทุกคนชอบ แต่เรามองว่าหาแรงบันดาลใจดีกว่าว่าอยากจะทำอะไร แค่หาต้นแบบแล้วลองฝึกแต่งจากตรงนั้นก่อนก็ได้ ค่อยๆ ฝึกไปแล้วมันจะดีขึ้นเอง”

“ถ้าไม่มั่นใจแต่อยากลองแต่งแดร็ก ก็จะบอกว่า “ทำเลยค่ะ” ไม่ต้องกังวลว่ามันจะมีขอบเขตหรือเปล่า อย่างที่บอกว่าถ้าคุณทำเพื่อเฉลิมฉลองหรือปลดปล่อยความเป็นตัวเอง ก็ทำเลย เราดีใจมากด้วยซ้ำ เพราะว่ามันจะเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งที่ส่งต่อไป ไม่ต้องกังวลว่าคนจะมองว�