Culture

การดื่มหลังเลิกงานในญี่ปุ่น คือหนทางในการปลดปล่อยความเครียดจากการทำงาน

ปัญหาความเครียดในการทำงาน (Work-related Stress) เป็นเรื่องที่พบมากในทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศโลกที่ 1 ที่มีความเจริญแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือจะเป็นประเทศโลกที่ 2 อย่างประเทศจีน ต่างก็ยังพบกับภาวะความเครียดในการทำงาน จะเรียกว่าเป็น ‘นอร์ม’ ของชีวิตก็น่าหดหู่ใจ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การทำงานย่อมมาพร้อมกับความเครียด

แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาชวนคุยในมุมมองของประเทศที่กล่าวไป ข้างต้น แต่เราจะชวนคุยในมุมมองของประเทศญี่ปุ่นกัน ว่าปัญหาความเครียดในที่ทำงาน ประชากรของประเทศญี่ปุ่นมีแนวทางในการจัดการกันอย่างไร?

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมการทำงานของคนญี่ปุ่นกันก่อนดีกว่า ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร

Photo Credit: BBC

วัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่น

วัฒนธรรมการทำงานในประเทศญี่ปุ่นมีรากฐานมาจากธรรมเนียม วิถีชีวิต และวัฒนธรรมประเพณี เป็นลักษณะที่สานต่อความเป็นธรรมเนียมทางสังคม และความปรารถนาที่ดีในการทำงานร่วมกัน โดยสิ่งที่จะได้พบเจอในวัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่น จะมีลักษณะแบบนี้

  1. การให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์: การทำงานในประเทศญี่ปุ่นมีการให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่องานและความซื่อสัตย์ต่อองค์กรมาก หากผู้อ่านเคยดูละครหรือการ์ตูนของประเทศญี่ปุ่น รูปแบบการทำงานจะให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบงานมาก ทั้งทุ่มเททำงานถึงแม้จะล่วงเวลา ในส่วนขององค์กรเองก็มีนโยบายการสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงาน เช่น เปิดเพลงประจำบริษัทและให้พนักงานร้องร่วมกัน เป็นต้น
  2. การเคารพต่อผู้อาวุโส: วัฒนธรรมการทำงานในประเทศญี่ปุ่นยึดถือการให้ความเคารพต่อผู้บังคับบัญชาและผู้ที่มีความอาวุโสกว่ามาก อาจจะเป็นแนวคิดโซตัสเลยก็ว่าได้ ระบบรุ่นพี่รุ่นน้องมีผลต่อการทำงานอย่างมาก ทั้งส่งผลดีและเสียแตกต่างกันไป
  3. การทำงานเป็นทีม: เน้นการทำงานร่วมกันและมอบความร่วมมือซึ่งกันและกันภายในทีม
  4. การตระหนักถึงความสำเร็จของกลุ่ม: เน้นความสำเร็จขององค์กรเป็นหลัก ไม่สนใจความสำเร็จส่วนตัว องค์กรเติบโตทุกคนเติบโตตาม
  5. ชั่วโมงการทำงานยิ่งมากยิ่งดี: มีความเชื่อในวัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่นที่ว่าชั่วโมงในการทำงานยิ่งมาก ยิ่งส่งผลดี เพราะเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความทุ่มเทที่มีในกับองค์กร

ทั้งหมด 5 ข้อนี้ถือว่าเป็นวัฒนธรรมการทำงานของชาวญี่ปุ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อคนภายนอกมองมา นอกเหนือจากวัฒนธรรมการทำงานแล้ว ญี่ปุ่นยังมีวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานที่โดดเด่นอีกด้วย

Photo Credit: TripSavvy

วัฒนธรรมการดื่มหลังจากเลิกงาน ‘Nomikai’

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ไวน์ เหล้า หรือสาเก ในประเทศญี่ปุ่นมีความสำคัญกับวัฒนธรรมและสังคมอย่างมาก การดื่มแบ่งเป็นหลายประเภทแบ่งได้เป็น การดื่มหลังเลิกงาน การดื่มในงานทางธุรกิจ และการดื่มตามประเพณี

การดื่มหลังจากเลิกงาน หรือ ‘Nomikai’ เป็นการดื่มที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด มีความนิยมในหมู่คนทำงานอย่างมาก เพราะมันเป็นการปลดปล่อยความเครียดที่สะสมมาตลอดระยะเวลาทำงาน ถึงแม้การดื่มประเภทนี้จะเป็นการรวมกันตั้งแต่ทีมพนักงานไปจนถึงผู้บริหารเลยก็ได้ แต่บรรยากาศของการดื่มกลับเต็มไปด้วยความปล่อยวางในหน้าที่การงาน เป็นการฉลองหลังจากเลิกงานแล้วอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ วัฒนธรรมการดื่มของประเทศญี่ปุ่นยังมีประเภทอื่นๆ อีกตามที่เราบอกไป เช่น ‘Hanami’ การชมดอกซากุระ หรือ ‘Matsuri’ งานเฉลิมฉลองประเพณี ที่จะนำเครื่องดื่มมาดื่มร่วมกันตรงบริเวณที่มีการจัดกิจกรรมประเพณีเหล่านั้น ทำให้การดื่มแอลกอฮอล์เป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมที่สำคัญของประชาชนชาวญี่ปุ่นมาก

Photo Credit: UCL Blogs

ปัญหาความเครียดในประเทศญี่ปุ่น

ปัญหาความเครียดในการทำงาน ในประเทศญี่ปุ่น มีผลมาจากวัฒนธรรมการทำงานและกรอบแนวคิดของสังคม อย่างเช่นปัจจัยการทำงานที่มีแรงกดดันสูง การแข่งขันสูง การทำงานทั้งวันทั้งคืน ความสำเร็จไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นบริษัท และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เคร่งมากจนไม่มีความยืดหยุ่นแม้แต่น้อย เป็นต้น เป็นสาเหตุของปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดในการทำงาน

“สถิติผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่น ในปี 2565 อยู่ที่ 21,584 คน เพิ่มขึ้น 577 คน จากปี 2564 โดยแบ่งเป็นเพศหญิง 7,041 คน ลดลง 27 คน และเป็นเพศชาย 14,543 คน เพิ่มขึ้น 604 คน”

สถิติที่เห็นข้างต้นนี้ เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง แต่ส่วนหนึ่งมาจาก ‘ความเครียดในการทำงาน’ ที่มีผลมาจากวัฒนธรรมการทำงานตามที่เราได้กล่าวไป นั่นทำให้วัยทำงานของคนญี่ปุ่นเป็นโรคเครียดสะสม สิ่งที่จะช่วยเยียวยาพวกเขาได้จากความเครียด คือ ‘การดื่ม’

Photo Credit: The Drinks Business

Drinking Culture คือทางเลือกในการปลดปล่อย

‘Nomikai’ คือหนทางแห่งการปลดปล่อย หลุดพ้นจากความเครียดแล้วเมาหลุดโลก เป็นความคิดที่ช่วยให้คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งรอดพ้นจากภาวะความเครียดสะสม ถึงแม้วิธีการระบายความเครียดจะมีหลากหลายแต่ด้วยวัฒนธรรมการทำงานตัวร้ายที่สร้าง ‘Work ไร้ Balance’ ขึ้นมาทำให้ตัวเลือกหนึ่งเดียวของการระบายความเครียดคือ การดื่มหลังเลิกงาน

เมื่อไม่กี่ปีก่อนเราจะเคยเห็นภาพที่เป็นกระแสโด่งดังในโลกอินเทอร์เน็ต ที่มีคนญี่ปุ่นบางคนเมาปริ้นไม่รู้สึกตัวใดๆ นั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงการปลดปล่อยที่สอดคล้องอยู่คู่กับวัฒนธรรมการดื่ม ถ้าเกิดการปลดปล่อยความเครียดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ ก็ใช้วัฒนธรรมการดื่มที่ยึดโยงกับการทำงานและการเข้าสังคม เป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยเสียเลยก็แล้วกัน

นอกจากนี้ด้วยความที่สังคมให้ความสำคัญกับความอาวุโส หรือระบบโซตัสมากๆ วัฒนธรรมการดื่มจึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางการทำลายกำแพงระหว่างช่วงวัย หรือระหว่างตำแหน่งหน้าที่ได้อีกด้วย เพราะการดื่มสังสรรค์หลังเลิกงานสามารถมีร่วมได้ตั้งแต่ทีมของเราไปจนถึงผู้บริหาร ซึ่งทุกคนเข้าใจในวัฒนธรรม Nomikai ดีว่ามันเป็นการสังสรรค์ การเฉลิมฉลองที่ต้องการจะปลดปล่อยความเครียดจากการทำงานให้หมดไป

จึงเป็นอีกหนึ่งมุมมองที่ทำให้ระบบอาวุโสในสังคมมีบทบาทที่ตึงเครียดน้อยลงไป และสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรได้อย่างแท้จริง

Photo Credit: travel-kansai

การดื่มที่สร้างผลดีก็มีในโลก

ปัญหาหลักๆ ของความเครียดมาจากสภาพสังคมของประเทศญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันที่สูง จนสร้างความเครียดให้กับผู้คน เมื่อการแข่งขันสูงการทำงานก็ยิ่งต้องเครียดตาม ไม่แปลกที่วัฒนธรรมการทำงานของประเทศญี่ปุ่นที่ดูมีความเข้มข้นจะสร้างความเครียดให้กับผู้คนในสังคมได้

“แต่มันก็ทำให้เห็นว่าการดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้สร้างผลเสียเสมอไป”

ปัญหาความเครียดในการทำงานของประชากรญี่ปุ่นนั้นไม่สามารถมองข้ามได้ มีหลายคนที่ต้องประสบกับความกดดันและความเครียดจากการทำงาน ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มงวดและกรอบแนวคิดของสังคมญี่ปุ่น การตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพต่อปัญหานี้คือการตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการความเครียดในที่ทำงานอย่างเข้มงวด

วัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานจึงเป็นทางเลือกที่แพร่หลายในการปลดปล่อยความเครียดและสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมภายในทีมงาน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความเครียดในการทำงานไม่ควรพึ่งพาเพียงแค่การดื่มเท่านั้น ต้องมีการยกระดับการส่งเสริมสุขภาพจิตและการพัฒนาทักษะในการจัดการความเครียด

นอกจากนี้ หากสังคมมีความเข้มงวด และความตึงเครียดน้อยลง สถิติที่บันทึกถึงจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายก็อาจจะลดลงได้ โดยต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อมทำงานที่เปิดกว้างและสนับสนุนการพัฒนาส่วนบุคคล ในทางกลับกัน การเลือกใช้วัฒนธรรมการดื่มเป็นทางออกบางครั้งอาจสร้างปัญหาอื่นๆ ได้

ท้ายที่สุดนี้ การจัดการความเครียดในการทำงานของประชากรญี่ปุ่นนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญในทุกระดับ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สมดุลและการส่งเสริมสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยลดปัญหาความเครียดในการทำงานได้ในระยะยาว

อ้างอิง

Japan Dev

กรมประชาสัมพันธ์

Motto Japan

Wired UK