ชวนรู้จัก Nostalgia ผ่านงาน NFT สุดจ๊าบ ของ “จ๊าบ มงคล”

“Nostalgia” (นอสตัลเจีย) ปรากฎการณ์ทางจิตวิทยา เมื่อเราหวนนึกถึงบางอย่างในอดีต จากการได้เห็นหรือได้ยินอะไรมา ทั้งๆ ที่อาจจะเคยมีหรือไม่เคยมีประสบการณ์โดยตรงกับสิ่งนั้นมาก่อนเลยก็ได้

แต่บทความนี้ไม่ได้จะพาคุณไปเจาะลึกศาสตร์ด้านจิตใจแต่อย่างใด แต่จะพาไปเปิดโลกใหม่กับงาน NFT ฝีมือ จ๊าบ - มงคล ศรีธนาวิโรจน์ ที่ถ่ายทอดความ Nostalgia ออกมาผ่านคาแรคเตอร์ David Medici ในงาน 2D Motion ที่มีเพลงมาประกอบเพื่อเพิ่มความจ๊าบเข้าไปอีก 

เปิดประตูสู่โลกคริปโทอาร์ตติส

ก่อนจะมาเป็นศิลปินบนบล็อกเชน จ๊าบจบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปกร และมีงานหลักเป็นนักวาดภาพประกอบอยู่ที่ a day magazine นามปากกาว่า ‘JARB’ แต่เมื่อวันหนึ่งที่คนรอบตัวเริ่มก้าวสู่โลก NFT และสามารถทำเงินได้อย่างเป็นกอบเป็นกำบนโลกของสกุลเงินดิจิทัล เลยเป็นโอกาสให้เข้าไปรู้จักกับคอมมูนิตี้ NFT and Crypto Art Thailand บนเฟซบุ๊ก เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จนท้ายที่สุดก็ได้มาหยิบจับงาน NFT และลงสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

“เราเห็นเพื่อนขายงานได้ในราคาที่ค่อนข้างน่าตกใจสำหรับอาชีพนักวาดภาพประกอบประมาณหนึ่งเลย เพราะถ้าพูดตามตรงประเทศไทยไม่ได้ให้ค่ากับศิลปะขนาดนั้น ยิ่งกับวงการภาพประกอบมักจะโดนกดราคา มันเลยทำให้รู้สึกว่านี่เป็นจุดที่น่าจะทำให้เราเติบโตได้ เหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องลงสนามนี้”

งานภาพประกอบ a day magazine 

สร้างงานจาก Nostalgia 

เมื่อได้ศึกษาโลกใหม่นี้อย่างเต็มที่ก็ถึงเวลาสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งแน่นอนว่าเขาไม่ลืมที่จะเอาความเป็นตัวเองมาใช้ ทั้งการวาดภาพ 2D คาแรกเตอร์ที่พยายามบิวท์มาตลอดอย่าง David Medici รวมถึงความ Nostalgia ที่พบเจอมาทั้งชีวิต จนออกมาเป็นงาน 2D Motion ที่มีเพลงในสไตล์ที่เขาชอบใส่เข้าไปด้วย 

Nostalgia มันคือการที่คิดถึงโมเมนต์อะไรบางอย่าง ซึ่งสิ่งนั้นอาจจะไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเราแต่เรารู้สึกถึงมันได้ เช่น เวลาที่ฟังเพลงเพลง City Pop แล้วนึกถึงอดีตยุค 80s ทั้งๆ ที่เราเกิดไม่ทันยุคนั้นด้วยซ้ำ แต่กลับรู้สึกถึงมันได้ ซึ่งเราชอบความรู้สึกนี้ตั้งแต่เด็กแล้ว แค่ไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไร จนโตมาถึงได้เจอกับคำนี้ เลยรู้สึกว่าอยากทำงานที่ต่อยอดจาก Nostalgia ให้เหมือนเป็นเครื่องบันทึกความรู้สึกในช่วงเวลาต่างๆ ว่าเราเคยรู้สึกแบบนี้กับอะไรบ้าง ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือ เป็นงานสไตล์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวเพลง City Pop ยุค 80s ที่มีความเป็น Vaporwave หรือ แนวดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ตมีมที่ได้รับความนิยมในปี 2010 เข้ามาผสม”

street dancer · Hiromi Iwasaki

ทำไมต้อง 2D Motion

จ๊าบบอกว่าตอนแรกจะทำเป็นภาพนิ่งเพราะ ภาพเคลื่อนไหวมันยากสำหรับเขา แต่พอมาเห็นตลาด NFT กลับรู้สึกว่าภาพเคลื่อนไหวสามารถดึงดูดนักสะสมและผู้เสพงานได้มากกว่า สุดท้ายเลยเลือกทำชิ้นงานเป็นภาพเคลื่อนไหว

stay with me Miki Matsubara

ผลงานสุดจ๊าบ

Summer Nostalgia เป็นงานที่เล่าให้เห็นถึงสไตล์ของ City Pop ที่รวบรวมสิ่งต่างๆ ที่เห็นแล้วมีความ Nostalgia เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง หุ่นปูน David และสระน้ำ ได้รับอิทธิพลมาจากภาพปกของอาจารย์ Eizin Suzuki ซึ่งเป็นปรมาจารย์ของงาน City Pop งานชิ้นแรกเลยทำขึ้นให้เป็นเกียรติกับอาจารย์

งานต้นแบบของอาจารย์ Eizin Suzuki

Nostalgia Road เราพยายามเชื่อม City Pop กับ Vaporwave ว่าเรารู้จัก City Pop ได้เพราะ Vaporwave ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่เกิดจากการนำของเก่ากับของใหม่มาผสมกัน เช่น เอาเพลงยุค 80 มารีเมคด้วยการยืดให้ย้วยหรือตัดให้มันสะดุด เพื่อสร้างความแปลกใหม่

จากนี้จะมีอะไรให้เราติดตามอีก

หลังจากที่ปล่อยงานบน Foundation ไป 2 ชิ้น ตอนนี้กำลังทำงานชิ้นที่ 3 ซึ่งยังเป็นคอนเซ็ปต์ Nostalgia เหมือนเดิม แต่จะเกี่ยวกับดนตรีอีกประเภทที่จัดอยู่ใน Vaporwave นั่นก็คือ “Mallsoft” มันก็คือเพลงบรรเลงที่เปิดในห้างสรรพสินค้าสมัยก่อน ที่เมื่อฟังแล้วเรารู้สึก Nostalgia มาก เลยอยากจะเซฟมันไว้ผ่านตัวงาน แล้วก็มีซุ่มทำคอลเล็กชันหนึ่งอยู่ประมาณ 10 ชิ้น คิดว่าจะลงขายใน Opensea เป็นคอนเซ็ปต์ Nostalgia เหมือนเดิม แต่จะพูดถึง City Pop มากขึ้น โดยเอาพวกอาร์ตเวิร์ก แผ่นเพลง เพลง และอื่นๆ มาแปรรูปให้มันเชื่อมโยงกับคาแรกเตอร์ David ของเรา

Futari

วาดภาพประกอบ VS NFT

“ต่างกันมากครับ เพราะการวาดภาพประกอบจะมีสเต็ปประมาณหนึ่ง คือต้องทำตามโจทย์ลูกค้า และทำให้เสริมกับตัวคอนเทนต์ ส่วนหน้าที่ด้านการตลาดก็มีทีมซัพพอร์ท แต่พอมาทำ NFT มันเป็นการทำงานด้วนตัวเองเต็มที่เลย ตั้งแต่ตั้งโจทย์ ลงมือวาด จนถึงการโปรโมทงาน ซึ่งเป็นศาสตร์ใหม่สำหรับเรา”

Absorbed duration of time 

วันที่ขายงานได้

จ๊าบเล่าถึงวันที่มีนักสะสมมาซื้อผลงานทั้ง 2 ชิ้นด้วยรอยยิ้มว่า เป็นนักสะสมคนเดิมทั้งสองชิ้น มันเลยทำให้เขาเริ่มเจอว่าคนที่จะเก็บงานที่เป็นตัวตนของเขาจริงๆ เป็นแบบไหน 

“มันเป็นงานที่ตั้งโจทย์ขึ้นมาเอง เราเลยรู้สึกว่านักสะสมเข้าถึงสิ่งที่เราจะถ่ายทอดจริงๆ เหมือนเราพูดกับเขาแล้วเขารู้สึก มันเลยทำให้เรารู้สึกประสบความสำเร็จประมาณหนึ่งว่ามีคนเข้าใจงานของเรา ‘มีคนชอบงานกูแล้ว’ (หัวเราะ)” 

ความหวัง ความฝัน และการปลดล็อก

ปัจจุบันจ๊าบลงขายงานบน Foundation ไปแล้ว 2 ชิ้น และขายได้ทั้งหมด แต่เจ้าตัวบอกว่านอกจากรายได้แล้วเขายังได้รับสิ่งที่มากกว่านั้น เพราะตอนแรกคิดว่าถ้าขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แค่อย่างน้อยก็ได้ปลดล็อกสกิลในการทำโมชั่น ก็ถือว่าประสบความสำเร็จประมาณหนึ่งแล้ว แต่พอขายงานได้มันเลยกลายเป็นความหวังกับตัวเขามากๆ ความหวังในการที่อยากจะทำโปรเจกต์ของตัวเองจริงๆ เหมือนได้เติมไฟให้ตัวเองในสิ่งที่คิดและต้องการจะสื่อสารมันมีคนเห็น ทำให้อยากทำงานนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกว่าความฝันที่อยากจะเป็นศิลปินกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนั้นเขายังมองว่า NFT มาช่วยปลดล็อกให้ครีเอเตอร์ในแขนงต่างๆ ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากขึ้นด้วย เพราะตอนนี้คนไทยเริ่มเห็นคุณค่าของศิลปะมากขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนที่สภาพสังคมและปัญหาเชิงโครงสร้างกดขี่ศิลปินจนมีคำพูดที่ว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’

last summer whisper

คิดอย่างไรกับการแปรผันของคริปโทที่มีผลกับงาน NFT 

“ไม่ได้มองว่ามันเป็นข้อด้อยนะ เรากลับมองว่ามันไม่ต่างอะไรจากวงการศิลปะแบบปกติเลย เพราะมีนักสะสมมีครีเอเตอร์ มีคอมมูนิตี้ และมีการเก็บงานเพื่อเก็งกำไรเหมือนกัน แค่ประเทศไทยยังไม่คุ้นชินกับกระบวนการเหล่านี้”

Plastic Love

ฝากถึงศิลปินที่มีแนวทางของตัวเองแต่ยังขายงานไม่ได้

“ตอนแรกที่ผมลงขายงานใช้เวลานานเหมือนกันกว่างานจะออก มันก็มีช่วงท้อบ้าง ลงงานไปแล้วคนชมเยอะแต่สุดท้ายไม่มีใครมาเก็บงานไป แต่เราเชื่อเสมอว่าสักวันหนึ่งจะมีคนมาเจองานเรา และงานของเราพูดคุยกับเขาจริงๆ เลยอยากให้ทุกคนอย่าเพิ่งท้อแท้กับมัน งานอาจกำลังค้นหาคนที่เหมาะสมกับมันอยู่ และถ้าคุณเจอนักสะสมแล้วก็จะรู้จักตัวเองขึ้นเรื่อยๆ และเจอกับสไตล์ที่ตัวเองชอบจริงๆ”

Happy birthday 128 years

ติดตามและอัปเดตผลงานสุดจ๊าบของคุณจ๊าบทั้งหมดได้ที่

Facebook: JARB
Instagram: jarb_
Twitter: @Jarb__
Foundation: @jarb