‘โจเซฟ สิรินัฎฐ์’ ชีวิตบนเส้นทางสเก็ตบอร์ดกับตัวตนที่ไร้ขีดจำกัด

สเก็ตบอร์ดเป็นหนึ่ง Skate Culture ที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนานในเมืองไทย ด้วยกระแสในปัจจุบันทำให้สเก็ตบอร์ดจาก Sub Culture กลายมาเป็น Mainstream ผู้คนหลายช่วงวัยเริ่มฝึกเล่นและหาซื้อเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ  แต่ละพื้นที่ถูกรังสรรค์ให้เป็นสนามสเก็ต และกลายเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ในเมืองไทย 

เมื่อกล่าวถึงไอคอนวงการสเก็ตบอร์ดเมืองไทย ชื่อที่หลายใครนึกถึงคือ  โจเซฟ - สิรินัฎฐ์ อภิอันทรเดช หนุ่มสเก็ตบอร์ดสุดคูลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงการเสก็ตบอร์ดเมืองไทย ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นทั้งสไตล์การเล่น ความสนุกสนาน และความหลงใหลที่มีต่อสเก็ตบอร์ด จนทำให้ใครหลายคนยกย่องโจเซฟเป็นไอคอนแห่งวงการสเก็ตบอร์ด 

ก้าวแรกสู่วงการสเก็ตบอร์ด

“เริ่มแรกผมเล่นฟุตบอลก่อน ต่อมาเริ่มเล่น Rollerblades พอมีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัยไปเจอรุ่นพี่กลุ่มนึงเขาเล่นสเก็ตบอร์ด ผมเริ่มสนใจก็เลยไปขอเขาเล่น พอเล่นเสร็จ เราก็ไม่รู้ซื้อเสก็ตที่ไหนยังไง ผมก็ไปซื้อที่เป็นของเล่นอันละ 500-600 บาท ในห้างมาเล่นกับพี่เขา นับตั้งแต่นั้นก็เล่นมาเรื่อยๆ เขาก็สอน เขาเปลี่ยนแผ่นให้ สอนการ Ollie สอนการไถ สอนเบสิคทุกอย่างเลยครับ”

“พอเราได้มาเล่นสเก็ตบอร์ด ผมคิดว่าเวลาเราได้ท่าใหม่มันเป็นเหมือนแรงจูงใจอย่างนึง แล้วสังคมที่เราอยู่ด้วยทำให้ไปข้างหน้าได้ มันไม่หยุดอยู่กับที่มีอะไรมาใหม่เรื่อยๆ ทำให้เราอยากรู้อยากลองกับมันตลอดเวลา และทำให้เราติดเป็นนิสัย เล่นทุกวัน อยู่กับมันตลอดเวลา” 

นิยามคำว่า ‘สเก็ตบอร์ด’

“สเก็ตบอร์ดผมไม่คิดว่ามันเป็นกีฬา ผมมองว่าเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่า เราได้สังคม ได้เพื่อน พออยู่เป็นกลุ่มก้อนทำให้ชีวิตไม่น่าเบื่อ”

“สเก็ตบอร์ดเป็นศิลปะที่ควบคู่กันไปหมด คนทั่วไปจนถึงคนสูงอายุสามารถเล่นได้ มันไม่ได้อยู่ในกรอบ มันไม่เหมือนกับฟุตบอลที่เล่นอยู่ในกรอบ คนวิ่งก็อยู่ในลู่ มันสามารถไปไหมมาไหนได้ เราสามารถพลิกแพงท่า ดูเทคนิคคนอื่นแล้วปรับใช้ การเล่นสเก็ตเป็นเหมือนอิสระ สามารถใช้ทุกส่วนในร่างกาย”

ความยากของสเก็ตบอร์ด

ความยากมันอยู่ที่ท่าและความสูงด้วย บางทีเราต้องกระโดดบันไดหลายๆ ขั้น เรากระโดดเหล็กที่ติดกับบันได้ที่เรียกว่า handrail เป็นความท้าทายกับเราด้วยว่าเรากล้าหรือเปล่า เรากลัวเจ็บไหม แต่พอไปอยู่จุดนั้นแล้ว มันหนีไม่ได้แล้ว เราต้องเล่นมันให้ได้

“กว่าจะทำได้ใช้เวลานานมากครับ ผมเคยไถไปไถกลับไม่กล้ากระโดดสักทีนึง จนได้ลองครั้งนึง เรารู้เลยว่าต้องเปลี่ยนทริคยังไง มุมมองยังไง เพียงแค่เรากระโดดขึ้นไปครั้งแรกก่อน ถ้าเราไม่ลองไม่รู้อะไรเลย มันอยู่ตรงหน้าเราแล้ว เราเลยลองกระโดดขึ้นไปก่อน พอพลาดเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนได้ พอเล่นเรื่อยๆ ความกลัวก็จหายไปทีละนิด เหมือนมันชินกับอุปกรณ์ตัวนี้แล้วว่ามันต้องขึ้นไปยังไง”

เจอท่ายากๆ เราท้อบ้างไหม?

“มันยากเกือบทุกท่า แต่สุดท้ายมันได้ บางทีเราฝึกท่าใหม่วันเดียวไม่ได้แน่นอน เราต้องกลับมาซ้ำให้มันชิน ทำตลอด มันยากทุกท่าเลยกว่าจะได้มา มันใช้เวลานาน ยิ่งคนหัดเล่นใหม่จะมีท่าพวก Ollie บางคนใช้เวลา 3-4 เดือนกว่าจะกระโดดได้ บางคนใช้เวลาเป็นปีเลย แต่ถ้าคนเข้าใจมันอาจจะใช้เวลาไม่นานมาก”

“ส่วนมากคนที่เล่นสเก็ตทุกวันนี้ไม่ค่อยกล้าที่จะไปอยู่กับคนหมู่มาก ผมทำงานที่ร้านมีคนมาพูดว่า ‘ที่นี่มีคนมาเล่นสเก็ตนะ แต่ผมไม่กล้าเข้าไปเพราะเข้าเก่งกัน’ ผมก็คิดว่าไม่น่าเกี่ยวนะ” 

“เราต้องอยู่กับคนเก่ง ให้เขาสอนมันถึงจะเป็นเร็ว ไม่ใช่แค่ดูในยูทูป แต่ไม่ได้ปฏิบัติจริง มันทำให้เรายากที่จะพัฒนา”

อุบัติเหตุจากการเล่นสเก็ตบอร์ด

อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขนาดเราไถ่เฉยๆ ก็ยังเกิดขึ้นได้ ต่อให้เราให้เรารู้ว่าต้องเซฟตัวยังไง ผมก็ยังล้มอยู่ทุกวัน เป็นเรื่องปกติมาก ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้เลย มันควบคุมไม่ได้ ใครที่ไม่เคยเล่นก็ใส่เซฟตี้มันช่วยได้ดีที่สุดครับ

“ผมเคยขาหักกับเข่าหลุด ขาหักตอนอายุประมาณ 14 - 15 ปี เข่าหลุดประมาฯ 22- 23 ปี แต่ก็กลับมาเล่นอยู่ดี มันหยุดไม่ได้ พอได้แตะสเก็ตมีแต่ความรู้สึกอยากให้หายเร็วๆ จะได้กลับมาเล่น”

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ด

“บางคนมองว่าสเก็ตบอร์ดน่ารำคาญบ้าง สเก็ตเป็นแหล่งมั่วสุมบ้าง ตีสองตีสามยังกระโดดข้างบ้านเขา รปภ. ไล่ บางทีก็แจ้งตำรวจ แต่คนเล่นสเก็ตบอร์ดก็ชอบอะไรที่มันท้าทาย เหมือนเป็นเด็กดื้อ ส่วนใหญ่พวก รปภ. จะมีปัญหากับเราเยอะ แต่เราก็เข้าใจว่าเขาทำตามหน้าที่”

“ปัญหาที่เกี่ยวกับคนเล่นสเก็ตบอร์ดอีกอย่างคือ การล้ม หลายคนล้มไม่เป็น ทุกวันนี้ผมเห็นคนที่ซื้อ surf skate หรือสเก็ตบอร์ด เพราะกระแสมันแรงมาก บางคนไปเล่นหรือดรอปแบบยังไม่รู้เบสิค ส่งผลให้แขนหักหรือขาบ้าง อยากแนะนำให้เขาใส่เซฟตี้มากกว่า หรือให้คนมาประคองเล่นดีกว่า เพราะทุกวันนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นเยอะมาก”

ประสบการณ์การเล่นเก็ตบอร์ดในต่างประเทศ

“ครั้งแรกไปเล่นสเก็ตบอร์ดต่างประเทศคือ ประเทศอินโดนิเซีย เป็นงาน Premier Video ของร้าน Preduce บ้านเมืองเขาก็จะอยู่ยากนิดนึง ไหนจะเรื่องรถ การเดินทางเป็นอุปสรรค แต่เราก็ไปเจอสเก็ตเตอร์บ้านเขา เขาเฟรนลี่มาก เทคแคร์เราทุกอย่างเลย เหมือนกับเราสนิทกับเขามานานมาก พาเราไปเล่นที่ต่างๆ ที่ไม่เหมือนประเทศไทย มีอะไรที่มันยากกว่า ตื่นเต้นกว่า”

“ส่วนประเทศที่ชอบมากที่สุดคือ ประเทศญี่ปุ่น บรรยากาศบ้านเขาด้วย แต่ละสถานที่มันคลีนมาก ชอบที่สุดคือชายหาดโชนัน เมืองโยโกฮามะ สนามสเก็ตเขาติดทะเล ไลฟ์สไตล์แต่ละคนคือเท่ไปหมด รวมถึงการแต่งตัวด้วยสกิล การเล่นของคนที่นู้นเหมือนเอเลี่ยนเลยครับ เขาเก่งเกิน เก่งกว่าบ้านเราเยอะ มันคนละเจเนอเรชัน ทั้งการฝึกของเขา สถานที่ที่เอื้ออำนวยด้วย”

“สิ่งที่แตกต่างเวลาไปเล่นต่างประเทศคือ วัฒนธรรม แต่ในต่างประเทศจะฟรีกว่าบ้านเรา คุณสามารถเล่นได้เลย ถ่ายทำได้เลย เหมือนเราไปโปรโมทสถานที่เขาด้วย”

สถานที่โปรดในการเล่นสเก็ตบอร์ดที่เมืองไทย

ผมชอบจังหวัดฉะเชิงเทรา มันติดริมแม่น้ำ มีหลายจุดให้เราเล่น พื้นที่เรียบมาก เป็นพื้นหินอ่อน ไถไม่มีสะดุดเลย แล้วก็ไม่มีใครมาไล่ มีเด็กสเก็ตเล่นที่นู้นด้วย เพราะบรรยากาศมันร่มรื่นด้วย มีลมโกรกตลอด ติดริมแม่น้ำ ฝั่งตรงข้ามก็มีคนขับเจ็ทสกีเล่น การเล่นสเก็ตติดริมแม่น้ำมันไม่ค่อยเหนื่อย ลมมันโกรกตลอด ไม่ค่อยร้อนมาก

ความต่างระหว่างการเล่นสเก็ตบอร์ดเมืองไทยและต่างประเทศ

“ต่างเยอะเลยครับ ทั้งเรื่องสกิล บ้านเมืองเขา สังคม สำหรับผมใครๆ ก็อยากมาประเทศไทย บ้านเราเปิดอยู่แล้ว แต่พูดถึงสกิลหรือสถานที่เอื้ออำนวย ต่างประเทศจะเอื้ออำนวยกว่า เขาจะเปิดมากกว่าเรา เขาส่งเสริมทุกสิ่งทุกอย่าง”

“เมืองไทยคือทุกวันนี้มันเปิดมากกว่าเดิม ด้วยกระแสในปัจจุบันด้วย ทุกวันนี้มีสนามสเก็ตจะเป็นร้อยที่แล้ว มีทุกจังหวัด มีทุกที่เลย แต่ก่อนคือบ้านเรากว่าจะไปขอสถานที่เขาคือโดนปฏิเสธตลอด เหมือนสเก็ตบอร์ดไม่เคยอยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ แต่ทุกวันนี้เราแทบจะไม่ต้องอ้าปาก ถือแผ่นสเก็ตไปจะทำอะไรทำเลย ตอนนี้บ้านเราเริ่มมีครูสอนสเก็ตด้วย เป็นโรงเรียนสอนเหมือนต่างประเทศ ทำให้มีรายได้เข้ามาสำหรับคนที่เล่นสเก็ต มันก็ดีไปอีกแบบนึง”

“สิ่งที่แตกต่างเวลาไปเล่นต่างประเทศคือ วัฒนธรรม แต่ในต่างประเทศจะฟรีกว่าบ้านเรา คุณสามารถเล่นได้เลย ถ่ายทำได้เลย เหมือนเราไปโปรโมทสถานที่เขาด้วย”

ผลกระทบช่วงโควิดกับวงการสเก็ตบอร์ด

“มีผลกระทบมากครับ อย่างแรกคือสนามปิด เล่นที่ไหนไม่ได้เลย จะเล่นแบบไม่ใส่หน้ากากอนามัยก็มีปัญหาอีก บางทีก็เกรงใจสถานที่ พอเราเข้าไปสวนสาธารณะคือถือสเก็ตบอร์ด รปภ เห็นก็จะห้ามแล้ว เพราะสวนสาธารณะปิด ด้านอาหารการกิน ร้านปิด เล่นเสร็จต้องมานั่งกินข้าวที่บ้าน ไม่มีที่ hang out แย่ไปหมดเลย ส่วนเรื่องการแข่งขันก็ไม่มี เพราะส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยให้จัด จำกัดคนร่วมงานด้วย แต่ก่อนทุกปีเราจะมีงาน Go Skate Day จะรวมเด็กสเก็ตทั้งประเทศไทย พอเจอโควิดก็ไม่สามารถจัดได้ ก็เลยเฟลกันหมดทั้งวงการ” 

ตอนนี้โจเซฟทำอะไรอยู่บ้าง?

“ตอนนี้ทำที่ร้าน Preduce สามารถซื้อแผ่นสเก็ตและอุปกรณ์ได้ที่ร้าน มีงานถ่ายนิดหน่อย แล้วก็มีขายจิวเวอรี่สเก็ตด้วยชื่อแบรนด์ Manneq”

“นอกจากสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันแล้วผมอยากเปิดร้านคาเฟ่ แล้วก็มี Mini Ramp หลังร้านให้ลูกค้ามาเล่น เปิดเป็น Airbnb สมมติเพื่อนมาต่างจังหวัดก็เช่าอยู่ได้ และมีร้านสเก็ตเล็กๆ ด้วย”

อยากฝากอะไรถึงคนที่กำลังจะเล่นสเก็ตบอร์ด

“ไม่ต้องลังเลครับ ซื้อแผ่นมาเล่นเลย เริ่มศึกษาในยูทูปก่อนก็ได้ ถามเพื่อนรอบข้าง ถามคนที่เล่นสเก็ตบอร์ดอยู่แล้วว่าไปซื้อที่ไหน สำหรับคนที่เคยเล่นให้แนะนำคนที่ไม่เคยเล่นด้วย พยายามใส่เซฟตี้ เวลาเกิดอุบัติเหตุมามันช่วยไม่ทัน ใครเจอก็ช่วยแนะนำ สเก็ตบอร์ดมันโอเพ่นอยู่แล้ว มันเป็นครอบครัว ไปที่ไหนใครก็รู้จัก ไปจังหวัดนี้ เจอหน้าคร่าตาก็รู้จักกันหมด ใครอยากเล่นก็เล่นเลย แต่ต้องศึกษาก่อน”

สเก็ตบอร์ดสำหรับบางคนอาจเล่นเพื่อความสนุกและผ่อนคลายเท่านั้น แต่สเก็ตบอร์ดสำหรับโจเซฟคงเปรียบเหมือนอวัยวะที่ 33 สเก็ตบอร์ดกลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของโจเซฟและยังสร้างความสุขในทุกๆ วัน เรียกได้ว่าถ้าไม่มีสเก็ตบอร์ดก็ไม่มีโจเซฟ สิรินัฎฐ์ ในทุกวันนี้ติดตามและซัพพอร์ทโจเซฟได้ที่ joseph_sirinut, Joseph Chef Microwave, Preduce, manneqskate