กระแสความนิยมของศิลปินฮิปฮอปเกาหลีในกลุ่มคนทั่วไปในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีศิลปินจากวงการ K-Hiphop เดินทางมาเปิดการแสดงมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นในงาน ‘Water Bomb Bangkok’ เทศกาลสุดชุ่มฉ่ำจากเกาหลี หรือเทศกาลฮิปฮอปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ‘Rolling Round Thailand’ และเร็วๆ นี้ก็กำลังจะมีเทศกาลฮิปฮอป ‘PANDORA’ ที่รวมตัวศิลปินฮิปฮอปเกาหลีมากกว่า 30 คน มาเปิดการแสดงที่ไทยในวันที่ 14-15 กรกฎาคม
แต่กว่าวงการ K-Hiphop จะกลายเป็นที่นิยมอย่างในปัจจุบันนั้น ทิศทางของเพลง และรูปแบบของการจัดการศิลปินได้รับการพัฒนามานานกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ตำนานวงบอยกรุ๊ป ‘Seo Taiji and Boys’ นำสไตล์เพลงฮิปฮอปแบบอเมริกันช่วงต้นยุค 90s มาทำเพลงพร้อมกับสร้างโชว์ที่ผสมผสานท่าเต้นสไตล์ บีบอย-เบรกแดนซ์ เป็นวงแรกในเกาหลี จนได้รับความนิยมอย่างถล่มทลาย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานความเป็นฮิปฮอปเข้าสู่สไตล์ของ K-Pop ที่เป็นเทรนด์ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในอีกด้านหนึ่งศิลปินที่ยืนบนรากฐานของความเป็นฮิปฮอปแท้ๆ กลับไม่เป็นที่นิยม แต่การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ค่อยๆ ก่อตัว องค์ประกอบต่างๆ ที่มาพร้อมกับเทรนด์ฮิปฮอปฝั่งอเมริกาค่อยๆ ถูกผสมผสานเข้าไปในความชื่นชอบของกลุ่มวัยรุ่น ก็กลายเป็นรากฐานสำคัญที่นำมาสู่กระแสของ K-Hiphop ในปัจจุบัน
เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘เกโค่’ และ ‘ชเวจา’ 2 แร็ปเปอร์ระดับตำนานของเกาหลีที่ทำวงฮิปฮอปดูโอ้ด้วยกันในชื่อ ‘Dynamicduo’ ก้าวจากวงการฮิปฮอปอันเดอร์กราวด์ ขึ้นมาสู่การทำงานเพลงในกระแสหลัก และสร้างสถิติเป็นศิลปินฮิปฮอปที่มีอัลบัมขายดีที่สุดด้วยอัลบั้มเดบิวต์ ‘Taxi Driver’ ในปี 2004 ทำสถิติยอดขายเดือนแรกหลังเปิดตัวมากกว่า 50,000 ชุด แต่ถึงจะสร้างสถิติขึ้นมาได้ การยอมรับศิลปินฮิปฮอปในเกาหลีตอนนั้นก็ยังคงเป็นรองศิลปินในกระแสหลักอยู่มาก ซึ่งสมาชิกของวงได้เล่าให้ฟังว่า “ในตอนที่พวกเราเริ่มต้นกัน ศิลปินฮิปฮอปไม่เป็นที่นิยมในเกาหลีเลยครับ ไม่เป็นที่นิยมเลยจริงๆ ขนาดที่ไปแสดง เขาก็ไม่จัดห้องพักศิลปินไว้ให้กับเรา แต่พอมาถึงตอนนี้ผมรู้สึกว่าความนิยมของ K-Hiphop มันไปถึงระดับโกลบอลแล้ว ด้วยการพัฒนาของแพลตฟอร์มต่างๆ อย่าง YouTube ทำให้ศิลปินฮิปฮอปในเกาหลีก็ได้รับความสนใจจากทั่วโลกไปด้วย”
Dynamicduo & Microdot / Dynamicduo
Photo Credit: Microdot / Hallyu K Star – Amoeba Culture
ด้วยกระแสความนิยมนี้ Dynamicduo ก็ได้เล่าให้ฟังถึงการผสมผสานที่ทำให้เกิดสไตล์ความเป็นเอกลักษณ์ของ K-Hiphop ซึ่งเขาเทียบการเกิดเอกลักษณ์นี้คล้ายกับการเกิดขึ้นของ ‘บูแดจิเก’ เมนูหม้อไฟสุดฮิตของเกาหลีที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกเช่นกัน
“บูแดจิเก มันเป็นอาหารเกาหลีที่เกิดขึ้นจากค่ายทหารอเมริกันที่เข้ามาตั้งในเกาหลี เราเอาวัตถุดิบที่ได้จากในค่ายทหารเอามาปรุงกับกิมจิ แล้วก็เอามาทำเป็นแกงแบบอาหารเกาหลี เป็นอาหารที่ถูกผสมผสานขึ้นมาจากวัฒนธรรมที่หลากหลายกลายเป็นหนึ่งในเมนูอาหารเกาหลี ขึ้นชื่อที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อนในโลกนี้ ผมมองว่า มันก็เหมือนกับฮิปฮอปเกาหลีในตอนนี้ เพราะมันเริ่มต้นจากวัฒนธรรมที่เราได้มาจากอเมริกา แต่ถึงรากของมันจะมาจากอเมริกาก็จริง ถ้ามองในตอนนี้ฮิปฮอปเกาหลีก็กลายเป็นอีกวัฒนธรรมหนึ่งของเราไปแล้ว เป็นวัฒนธรรมที่มีการซึมซับความหลากหลายเข้ามากลายเป็นอะไรที่สนุกขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับ บูแดจิเก”
Dynamicduo ยังได้ยกตัวอย่างการทำงานเพลงของพวกเขาที่สไตล์เพลง สไตล์บีท ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมีการหยิบจับ หรือทดลองเอาส่วนผสมใหม่ๆ มาลองใส่เข้าไป ซึ่งก็คล้ายกับวัตถุดิบในการทำบูแดจิเก ที่เริ่มต้นจาก แฮมกระป๋อง ถั่วกระป๋อง ไส้กรอก อาหารที่เข้ามาพร้อมค่ายทหารอเมริกัน เปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมวัตถุดิบไปตามยุคสมัย อย่างเทรนด์การเอาชีสเข้ามาใส่ หรืออาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง มาทดลองใส่ลงไปตามจินตนาการที่คิดว่า ‘มันน่าจะเข้ากันดีนะ’ เช่นเดียวกับการพัฒนาของเพลงฮิปฮอปเกาหลีที่นำสไตล์เพลงที่เป็นเทรนด์ในแต่ละยุคเข้ามาผสมผสาน และใส่กลิ่นอายที่เป็นเกาหลีลงไปอย่างเมโลดี้พื้นเมือง แซมเปิ้ลจากเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือแม้แต่ประโยคในบทกวีที่สะท้อนความเป็นเกาหลีออกมาในเพลง
อีกจุดหนึ่งที่ทำให้ K-Hiphop ก้าวสู่กระแสโกลบอลอย่างรวดเร็วคือ การมาของศิลปินฮิปฮอป เกาหลี-อเมริกัน ที่เติบโตในเมืองฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาอย่าง ลอสแองเจลีส และรายการฮิปฮอปเซอร์ไววัล Show Me The Money ของสถานีโทรทัศน์ Mnet ที่เปิดโอกาสให้ศิลปินฮิปฮอปอันเดอร์กราวด์ หรือศิลปินฮิปฮอปโนเนมที่ทำเพลงในห้องนอนได้สร้างชื่อให้กลายเป็นที่รู้จักผ่านการแข่งขันที่เต็มไปด้วยดราม่าในรายการ ซึ่งรายการนี้ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฮิปฮอปในเกาหลีมาแล้ว และ Dynamicduo เองก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมโปรดิวเซอร์ที่สร้างทีมขึ้นมาแข่งขันในรายการนี้ถึง 3 ซีซั่น และพา ‘โจกวางอิล’ แรปเปอร์ที่เคยฝันอยากเป็นเกมเมอร์อีสปอร์ตกลายมาเป็นแชมป์ของรายการในซีซั่นที่ 10 ซึ่งในไทยเองรายการนี้ก็ได้รับความสนใจมายาวนานตั้งแต่ซีซั่นที่ 3 และในไทยยังได้ลิขสิทธิ์มาทำเวอร์ชั่นไทยในชื่อ ‘โชว์มีเดอะมันนี่ ไทยแลนด์’ ที่หลายๆ คนคงมีโอกาสได้ดูกันมาแล้ว
สุดท้ายนี้สั้นๆ สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองฟังเพลงจากวงการ K-Hiphop ลองเปิด Spotify เพลย์ลิสต์ ‘KrOWN’ กับ ‘Tren Chill K-Hip Hop’ ลองฟังดูกันได้ มีให้ลองชิมลองฟังกันแบบหลากหลายสไตล์ เปิดโลกฮิปฮอปเกาหลีกันในช่วงที่คุกรุ่นสุดๆ ของวงการ