หลังจาก Sarah Burton (ซาราห์ เบอร์ตัน) ประกาศลาออกจากตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์ Alexander McQueen ได้ไม่นาน บริษัทแม่อย่าง Kering ก็ประกาศชื่อผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนทันที นั่นก็คือ Sean McGirr (ฌอน แมคเกียร์) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายเมนส์แวร์ของแบรนด์ JW Anderson มาก่อน
แต่การเข้ามาทำงานที่ Alexander McQueen ของฌอน แมคเกียร์ ก็มาพร้อมกับดราม่าว่า ทำไมครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์แฟชั่นในเครือ Kering ถึงมีแต่ผู้ชาย (ผิวขาว) โดยก่อนหน้านี้ Sabato de Sarno (ซาบาโต เดอ ซาร์โน) ก็เพิ่งจะเดบิวต์คอลเล็กชั่นแรกในฐานะครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ของ Gucci ไป
โดยนอกจาก Gucci และ Alexander McQueen ที่เป็นแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรี่ที่อยู่ภายใต้เบริษัท Kering แล้วยังมี Balenciaga, Bottega Veneta, Brioni และ Saint Laurent ซึ่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายผิวขาวทั้งสิ้น และในช่วงเวลาที่ผ่านมาในการทำงานของทั้ง 6 แบรนด์แฟชั่นในเครือ มีครีเอทีฟไดเร็กเตอร์มาแล้ว 29 คน เป็นผู้หญิงเพียง 6 คน
การที่แต่ก่อนยังมีซาราห์ เบอร์ตัน เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์หญิงเพียงคนเดียวในแบรนด์ในเครือบริษัทนี้ แล้วต่อมากลายเป็นชายผิวขาวอย่างฌอน แมคเกียร์ ซึ่งทำให้กลายเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ชายล้วนนั้น ก็ทำให้เกิดดราม่าขึ้นมาว่า ทำไมจึงไม่มีความอินคลูซีฟทั้งในเรื่องเพศและสีผิว
ในขณะที่หากมองไปยังบริษัทคู่แข่งอย่าง LVMH จะเห็นว่าในส่วนของแบรนด์แฟชั่นระดับลักชัวรี่ ซึ่งมีทั้ง Berluti, Celine, Christian Dior, Emilio Pucci Fendi, Givenchy, JW Anderson, Kenzo, Loewe, Loro Piana, Louis Vuitton, Marc Jacobs, Off-White, Phoebe Philo, Stella McCartney มีผู้หญิงที่เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ถึง 5 แบรนด์ และมีชายผิวสีถึง 2 คน คือ ฟาร์เรล วิลเลี่ยมส์ (Pharrell Williams) ที่ Louis Vuitton ฝั่งเสื้อผ้าผู้ชาย และ อิบราฮิม คามารา (Ibrahim Kamara) ที่ Off-White และยังมีผู้ชายเอเชีย คือ นิโกะ (Nigo) ที่ Kenzo อีกด้วย
ประเด็นดราม่านี้ถูกจุดขึ้นโดยอินตาแกรมแอคเคาต์ @1granary ซึ่งเป็นของ Olya Kuryshchuk อดีตนักเรียนแฟชั่นจากเซ็นทรัล เซนต์ มาร์ติน ซึ่งไม่เพียงชี้ถึงประเด็นการที่ Kering มีแต่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์แฟชั่นที่เป็นผู้ชายทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นภาพความไม่เท่าเทียมกันในอุตสาหกรรมแฟชั่นด้วยว่าผู้หญิงที่ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นหลายคนในระดับตำแหน่งที่เท่าๆ กับ ฌอน แมคเกียร์ ก่อนจะได้รับการโปรโมท ทำงานหนักภายใต้หัวหน้าที่เป็นผู้ชายที่ได้รับเงินเดือนที่สูงกว่า 10 เท่า แล้วเมื่อมีการโปรโมทตำแหน่งใหญ่ๆ กลับกลายเป็นว่าผู้ชายทั้งแผงกุมตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของทั้งบริษัทไว้หมด
นอกจากนั้น Sarah Mower นักเขียนแฟชั่นชื่อดังยังร่วมผสมโรงในประเด็นนี้อีกด้วย โดยการโพสต์ภาพผลงานของดีไซเนอร์หญิงชื่อดังหลายคน ทั้ง Ann Demeulemeester, Isabel Toledo, Sophia Kokosalaki พร้อมตั้งคำถามคล้ายๆ ว่าทำไมดีไซเนอร์หญิงที่มีความสามารถเหล่านี้ถึงไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของแบรนด์ระดับโลกได้
และยังมีหลายคนที่ตั้งคำถามต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งหมดด้วยว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่วงการแฟชั่นโปรโมทสิ่งที่เรียกว่าความเท่าเทียมและความหลากหลายเป็นประเด็นหลัก ทั้งเรื่องเพศ สีผิว เชื้อชาติ ผ่านทั้งการใช้นางแบบนายแบบบนรันเวย์ หรือในการถ่ายแอดโฆษณา แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่โปรโมทนั้นไม่ถูกนำไปใช้ในขั้นของตำแหน่งใหญ่ๆ อย่างครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ ที่กลับกลายเป็นว่าผู้ชายผิวชาวเท่านั้นที่มีโอกาสสูงที่จะได้ครองตำแหน่งนี้
แต่ใช่ว่าการจุดประกายการดีเบตครั้งในประเด็นนี้จะมีผู้เห็นด้วยกับ Olya Kuryshchuk ไปทั้งหมด เพราะก็มีหลากหลายความคิดเห็นกล่าวว่า นี่เป็นเรื่องของธุรกิจ ประเด็นเรื่อง Gender Balance อาจจะมีความเหมาะสมในการนำมาพิจารณาหากเป็นในตำแหน่งที่มีผลกระทบเชิงนโยบายและมีสภาพบังคับต่อประชาชนทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ หรือบรรดารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ซึ่ง Gender Balance จะมีประโยชน์ในเชิงการออกนโยบายที่คิดถึงผู้หญิงมากขึ้น เช่น หากมีรัฐมนตรีแรงงานเป็นผู้หญิง ก็อาจจะออกนโยบายที่คำนึงถึงแรงงานทีเป็นผู้หญิงมากขึ้น
แต่ในประเด็นนี้เป็นเรื่องของธุรกิจ แม้ ฌอน แมคเกียร์ จะก้าวขึ้นมาทำงานในฐานะครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์ Alexander McQueen ซึ่งเป็นแบรนด์ที่โฟกัสไปที่เสื้อผ้าผู้หญิงเป็นหลัก หรือผู้ชายคนใดก็ตามในแบรนด์อื่นๆ แต่หากผลงานที่ออกมาไม่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้หญิงจริงๆ ผู้หญิงไม่ชื่นชอบงานออกแบบนั้นๆ ไม่ถูกจริต ผู้หญิงเองก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อ และสามารถหันไปซื้อแบรนด์อื่นๆ ที่มีการออกแบบที่ตรงกับรสนิยมของตัวเองได้ และที่ผ่านมาแบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในงานออกแบบก็มาจากดีไซเนอร์ที่เป็น ‘ชาย’ ก็มี
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีการกล่าวอ้างว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในบริษัท Kering ที่มีแต่ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์แฟชั่นที่เป็นชาย (ผิวชาว) ล้วนในตอนนี้ ก็ขัดกับสิ่งที่ Kering เคยประกาศไว้ก่อนหน้นี้ว่าพร้อมที่จะ "ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับชายและหญิงในทุกระดับ"
ในขณะที่ทางแบรนด์ Alexander McQueen เองก็ออกมาให้ข้อมูลว่าปัจจุบัน ในบริษัทมีคนทำงานที่เป็นหญิง 63% และอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการ 57% ตำแหน่งคณะกรรมการบริหาร 38% และบอร์ดไดเร็กเตอร์ 40% โดยทางแบรนด์เองก็มีเป้าหมายไปสู่ Gender Balance ให้ได้ภายในปี 2025
อ้างอิง