ท่องเที่ยว "วิถีสีชมพู" กับ "คุณครูสอญอ" ณ ขอนแก่น ดินแดนอีสานบ้านเฮา

จังหวัดขอนแก่น คือ จังหวัดท่องเที่ยวทางภาคอีสานอันดับต้นๆ ที่ใครหลายคนนึกถึง แต่หากพูดถึงการท่องเที่ยวทางเลือก ที่สด ใหม่ แปลกและไม่ซ้ำใคร ได้ท่องเที่ยวและได้เรียนรู้วิถีชีวิตผู้คน ชุมชน และความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม เราขอพาทุกคนออกเดินทางท่องเที่ยวไปที่ ตำบลดงลาน อำเภอสีชมพู กับไกด์กิติมศักดิ์อย่างคุณครู สอญอ - สัญญา มัครินทร์ วัย 37 ปี คุณครูสอนระดับชั้นมัธยมโรงเรียนสีชมพูศึกษา

"ท่องเที่ยววิถีสีชมพู" เกิดจากความชื่นชอบการท่องเที่ยวของครูสอญอ ที่ได้แรงบันดาลใจจากการไปเที่ยววังเวียง สสปป.ลาว ช่วงปี 2555 เมื่อเขาได้เห็นบรรยากาศ ทัศนียภาพ และความเป็นบ้านนอกของที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว ทำให้ในหัวของเขาผุดไอเดียอยากสร้างสถานที่ท่องเที่ยวจากบ้านเกิดของตัวเอง ต่อมาปี 2557 เขา เพื่อนๆ และน้องๆ เริ่มลงพื้นที่สำรวจเส้นทางการท่องเที่ยว โดยมีจักรยานเป็นยานพาหนะหลัก และเริ่มเทสทริปการท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม จนปี 2563 ที่ผ่านมา โควิดทำให้คิดจริงจังกับการทำการท่องเที่ยวในชุมชนมากยิ่งขึ้น จึงสำรวจใหม่อีกครั้งเพื่อเก็บภาพอย่างจริงจัง และนำไปแชร์ในโซเชียล จนผู้คนรอบๆ ตัวเริ่มให้ความสนใจ และเตะตาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จุดนั้นทำให้ครูสอญอและทีมงานทำการท่องเที่ยววิถีสีชมพูมาจนถึงทุกวันนี้

“เราชัดเจนว่าจะกลับมาบ้านและตอบแทนบ้านเกิดเรา หรือ เราอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเรายังไงให้มันมีเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น”

Photo credit: Sanya Makarin

เมืองขอนแก่น คือ อีกส่วนที่ช่วยต่อยอดทำการท่องเที่ยว

"เราโตมากับวิถีบ้านนอกและธรรมชาติ รากเราอยู่ตรงนี้ พอไปอยู่ตัวเมืองขอนแก่น เหมือนบ้านที่ไม่ใช่ราก แต่เป็นบ้านที่ประกอบร่างสร้างเรา ด้วยเพื่อนวัยเดียวกันและผู้ใหญ่กว่าหลากหลายอาชีพ รวมทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดการเชื่อมโยงตรงบ้านที่เป็นรากของเรา กับกิ่ง ก้าน ใบ ทำให้มีอัตลักษณ์ ดอกผลที่ชัดเจน ถ้าไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมอาจไม่ได้ทำการท่องเที่ยวแบบนี้้ เพราะที่นั่นช่วยเปิดโลกทัศน์ ทำให้เห็นมุมมองเพื่อนำมาปรับใช้กับบ้านเกิดหรือรากของเรา" 

“ธรรมชาติและพื้นที่ที่ไม่มีนายทุนมาทำธุรกิจ ที่ทำแค่เกษตรกรรม ทำให้พื้นที่มีความดิบ ไม่ปรุงแต่ง จึงเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างแท้จริง”

Photo credit: Sanya Makarin

การท่องเที่ยวแบบ "วิถีสีชมพู"

"ชุมชนของเราเป็นชุมชนเกษตรกร ติดเขาและป่า ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จึงหนีไม่พ้นเรื่องผลผลิตทางการเกษตรกรรม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่เชื่อมโยงเรื่องอาหาร เรื่องสถานที่ท่องเที่ยว หรือ แม้กระทั่งกิจกรรมที่ใช้คนในพื้นที่ที่เรียนศิลปะ รวมทั้งผมด้วย เราเอาจุดแข็ง ทักษะ และความสนใจออกแบบให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยวิถี"

"ที่นี่โดดเด่นเรื่อง 'หน่อไม้' เพราะที่ภูเขาหน่อไม้เยอะมาก เป็นหมู่บ้านที่หาหน่อไม้และต้มขายภายในชุมชน เมื่อนักท่องเที่ยวมาที่นี่ เราก็จะชวนเขากินหน่อไม้ หมกหน่อไม้ ซุปหน่อไม้ แกงหน่อไม้ และหลากหลายเมนูที่เกี่ยวกับหน่อไม้ ส่วนเนื้อสัตว์อื่นๆ และผลผลิตอื่นๆ ก็อยู่ในชุมชนเครือข่ายของเราเช่นกัน อาหารพวกนี้จึงสด ใหม่ และปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีอาหารและผลไม้ตามฤดูกาล อย่างช่วงนี้ก็เป็น ลำใย แก้วมังกร น้อยหน่า 'น้ำพริก' ลูกผสมระหว่างอุบลกับโคราช ผสมผสานหน่อไม้และผักพื้นบ้าน เป็นอีกเมนูที่ขึ้นชื่อ”

Photo credit: เที่ยววิถีสีชมพู

ศิลปะบำบัด

"งานศิลปะมี 3 กิจกรรม คือ ศิลปะจากหินสีธรรมชาติ เราจะออกแบบให้ทำช่วงบ่ายริมลำธารเย็นๆ หรือ ลำน้ำพอง เพราะที่อำเภอสีชมพูจะมีจุดหนึ่งที่น้ำพัดตะกอนหินและมีหินเล็กๆ เป็นหินกรวดหินทราย ที่ให้สีธรรมชาติ ทั้งสีแดง น้ำตาล เหลือง เขียว สีม่วง ชวนนักท่องเที่ยวนั่งฟังเสียงน้ำไหล สุนทรียะกับธรรมชาติด้วยการนำหินสีธรรมชาติมาฝนให้ได้สี เพื่อทำงานศิลปะ จากนั้นก็จะนั่งล้อมวงเพื่อให้เขาสะท้อนตัวเองหรือสิ่งที่อยากจะถ่ายทอดออกมา เกิดการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเความสัมพันธ์ที่ดี เราอยากให้นักท่องเที่ยวรู้ว่า นอกจากความงดงามแล้วมีคุณค่ากับเราอย่างไร อีก 2 กิจกรรมที่เหลือจะเกี่ยวกับใบไม้ เราจะชวนเขาทำแกลลอรี่ใบไม้ เพื่อให้เขาเห็นความงามของธรรมชาติและความงามเล็กๆ ในชุมชน"

นอกจากนี้ที่นี่ยังมี "หน่อไม้แปรรูปพร้อมรับประทาน" จัดจำหน่าย ที่สดใหม่จากชาวบ้านและเกษตรกรที่ตั้งใจทำสุดฝีมือ หรือถ้าใครอยากได้งานฝีมือกลับบ้าน "เสื่อทำมือจากต้นกกหรือต้นไหล" ที่ไม่ผ่านการย้อมสีหรือปรุงแต่งใดๆ ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ "ข้าวอินทรีย์" จากเกษตรกรปลอดสารพิษที่หอมนุ่มหุงขึ้นหม้อ หรือกล้วยน้ำว้าอบแบบฉ่ำๆ ที่หวานละมุนลิ้น ก็ควรแก่การซื้อเป็นของฝากเช่นเดียวกัน 

“บทบาทครูคือ เราอยากสร้างเครือข่ายและคนรุ่นใหม่ โดยนำการศึกษาบูรณาการกับการท่องเที่ยว เพื่อให้พื้นที่เกิดการเรียนรู้ แชร์ไอเดีย และแลกเปลี่ยนกันในชุมชน” 

Photo credit: เที่ยววิถีสีชมพู

การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน 

"สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทำให้หนุ่มสาวในชุมชนรับรู้ว่าบ้านเรามีศักยภาพ มีทุน มีทรัพยากรเยอะมาก พอเราทำมันก็เริ่มมีเครือข่ายและเกิดการรวมตัวของคนหนุ่มสาว จากเดิม 3-4 คน แต่ตอนนี้มี 20 กว่าคนและเริ่มไปไกลถึงระดับอำเภอ มันเกิดการต่อยอดและเริ่มดึงคนที่ทำงานเชิงอนุรักษ์จริงๆ มากยิ่งขึ้น เยาวชนในพื้นที่ จาก 7-8 คน พอเห็นเราทำก็กลายเป็น 30 กว่าคน เขาสนใจและขอเข้ามาเป็นทีม อยากมีส่วนร่วม ตอนนี้รายได้ก็เริ่มกระจาย ไปถึงน้องๆ ร้านอาหาร คนขับอีแต๊กนำเที่ยว มันเลยค่อนข้างกระจายหลากหลายกลุ่มมาก"