Culture

พิเศษเพื่อคุณผู้ชาย (ชาวเกาหลีใต้)! เพียงแค่มีลูก 3 คน ให้ได้ก่อน 30 ก็ไม่ต้องเข้ารับราชการทหารแล้ว

ประเทศเกาหลีใต้เผชิญกับปัญหาสำคัญเกี่ยวกับ ‘จำนวนประชากร’ ที่มีอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากร ทำให้สถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก ทั้งเรื่องทรัพยากรมนุษย์ที่น้อยลงเนื่องจากอัตราการเกิดน้อย และเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัญหานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี ในปี 2022 สำนักงานแห่งชาติของเกาหลีใต้เผยว่า มีจำนวนเด็กที่เกิดใหม่เพียงแค่ 249,000 คน ทำให้สถานการณ์ของเกาหลีใต้เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก

รัฐบาลเกาหลีหัวใสแก้ปัญหาประชากรด้วยข้อเสนอพิเศษ (เพื่อผู้ชาย)

อย่างที่เราบอกไปว่าเกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาที่น่าหนักใจเกี่ยวกับจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างมาก ทำให้รัฐบาลต้องออกมาแก้ไขปัญหานี้ โดยนโยบายที่ถูกพูดถึง และเป็นกระแสบนโลกออนไลน์ของเกาหลีมากที่สุดคือ นโยบาย ‘มีลูก 3 คน ก่อน 30 ได้ยกเว้นเกณฑ์ทหาร’

เนื้อหาของนโยบายคือ ชายเกาหลีใต้คนใดที่มีลูก 3 คน ก่อนอายุ 30 จะได้รับการยกเว้นเข้ารับคัดเลือกการเกณฑ์ทหาร พร้อมทั้งเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อการสงเคราะห์บุตร 1 ล้านวอน (ประมาณ 25,000 บาท) ต่อเดือน สำหรับผู้ชายที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และต้องลาไปเลี้ยงดูบุตร

Photo Credit: The Korea Herald

“ประเทศเกาหลีใต้มีกฎหมายเกี่ยวกับการเข้ารับราชการทหารของผู้ชายที่ถือสัญชาติเกาหลีใต้ทุกคนในช่วงอายุระหว่าง 18 – 28 ปี โดยช่วงเวลาในการเข้ารับราชการทหารจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี”

จากนโยบายที่รัฐบาลได้เผยแพร่ออกมา เทียบกับกฎหมายการเข้ารับราชการทหารของผู้ชายเกาหลีใต้แล้วนั้นทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักหน่วงในหลายประเด็น

ประเด็นเกี่ยวกับความไม่สมเหตุสมผลของระยะเวลาที่นโยบายระบุไว้ ผู้ชายต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในช่วงอายุ 18 – 28 ปี นโยบายระบุว่า มีลูก 3 คนก่อนอายุ 30 จะได้รับการยกเว้น หากเราทำการคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของนโยบาย การมีลูก 1 คนนั้นใช้ระยะเวลาประมาณ 2 - 3 ปี นับตั้งแต่การตั้งครรภ์ไปจนถึงการฟื้นฟูหลังคลอดเรียบร้อยแล้ว การมีลูก 3 คนจึงกินเวลากว่า 6 – 9 ปี ดังนั้น คุณต้องมีลูกตั้งแต่อายุ 18 ปี หรือเด็กกว่านั้น เพื่อทำให้การมีลูก 3 คนก่อนอายุ 30 เป็นไปได้ มันจึงไม่สมเหตุสมผล และเป็นนโยบายที่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง แถมยังสร้างปัญหาให้ในประเด็นต่อไป

ประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต ประชากรอายุ 18 หรือต่ำกว่านั้นยังอยู่ในช่วงที่เป็นผู้เยาว์ (Minor) น้อยมากที่จะมีประสบการณ์การทำงาน หรือปัจจัยในการใช้ชีวิตที่พร้อมสำหรับการมีครอบครัว หมายความว่า พวกเขาต้องเริ่มผลิตลูกตั้งแต่ยังไม่พร้อม เราสามารถบอกได้เลยว่า ถ้าผู้ปกครองของผู้ชายคนนั้นไม่ได้รวยขนาดที่สามารถเลี้ยงดูลูก ผู้ให้กำเนิดหลาน และหลานได้ ครอบครัวนี้จะต้องมีปัญหาแน่นอน และรัฐบาลก็ไม่ได้มีเงินสมทบช่วยเหลือที่พอดีสำหรับคนทั้งครอบครัว ดังนั้น เราอาจจะนิยามนโยบายนี้ได้ว่า สิทธิพิเศษของเหล่าลูกหลานคนรวยที่มีปัจจัยรอบด้านเพียบพร้อมสำหรับการสร้างครอบครัว

Photo Credit: the interpreter

การเป็นเครื่องมือแห่งการประสบความสำเร็จของบุรุษโดยสตรี

“ผู้หญิงไม่ใช่เครื่องมือในการคลอดบุตรหรือวิธีการยกเว้นการเกณฑ์ทหาร”

คำพูดของ คิมซองฮวาน ประธานคณะกรรมการนโยบายของพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลีที่เคยกล่าวเอาไว้ พร้อมทั้งได้แสดงความคิดเห็นถึงนโยบายนี้ของเกาหลีว่า มันแย่ขนาดไหนที่เห็นผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือทำให้ผู้ชายได้ผลประโยชน์ และคงเป็นประเด็นที่ทำให้สังคมเกาหลีไม่เห็นด้วยที่สุด หากเรามองดูภาพรวมของนโยบายนี้ เราจะเห็นเพียงความเจ็บปวดของผู้หญิงมากมายที่ต้องอุ้มท้องเด็กเพียงเพื่อให้ผู้ชายได้รับสิทธิพิเศษ 

เราต่างรู้ดีว่า สังคมเกาหลีมีความเป็นปิตาธิปไตยสูง และพยายามที่จะแก้ไขภาพลักษณ์ด้วยภาพยนตร์ หรือละครที่ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น กลับกันนโยบายการบริหารประเทศก็ยังแสดงออกให้เห็นถึงความชายเป็นใหญ่อย่างน่าสะอิดสะเอียน ที่เห็นว่าผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือในการผลักดันให้ผู้ชายประสบความสำเร็จในชีวิต

Photo Credit: วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความนี้เราได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัชนีกร แซ่วัง ผู้เชี่ยวชาญด้าน มรดกวัฒนธรรมศึกษา ประวัติศาสตร์ศิลปะ การจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพศ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพูดคุยถึงความคิดเห็นที่มีต่อนโยบาย ‘มีลูก 3 คน ก่อน 30 ได้ยกเว้นเกณฑ์ทหาร’

หลังจากอ่านร่างนโยบาย ‘มีลูก 3 คน ก่อน 30 ได้ยกเว้นเกณฑ์ทหาร’ นี้แล้วมีความคิดเห็นอย่างไร?

เบื้องต้นมีความคิดเห็นว่า นโยบายที่ทางรัฐบาล (เกาหลีใต้) ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาประชากรของเขา เป็นการมองแบบมิติเดียว ด้วยลักษณะที่ว่า การเข้ารับราชการทหารของผู้ชายเกาหลีคือ เรื่องปกติที่ผู้ชายเกาหลีทุกคนต้องเข้าร่วม ไม่ว่าคุณจะเป็นนักร้องดังระดับโลกคุณก็ต้องเข้ารับราชการทหาร เพราะกฎหมายระบุไว้ชัดเจน นอกเสียจากว่า คุณจะเป็นนักกีฬาที่โด่งดังได้รับเหรียญ และทำชื่อเสี่ยงให้แก่ประเทศชาติที่พอที่จะละเว้นข้อกฎหมายการรับราชการทหารไว้ได้ ด้วยลักษณะอย่างนี้ทำให้รัฐบาลเกาหลี ใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ในการพัฒนานโยบายแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มประชากรแลกกับสิทธิพิเศษที่คุณจะได้รับ หากคุณทำตามเงื่อนไขได้ แต่ท้ายที่สุดเมื่อมองดูแนวคิดของการพัฒนานโยบายนี้ขึ้นมาจริงๆ แล้ว เป็นการพัฒนานโยบายที่มองอย่างแบนราบเป็นมิติเดียว

ประเด็นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของนักกีฬาในเกาหลีใต้ว่าเป็นอาชีพที่ถูกให้ความสำคัญอย่างมากด้วยใช่ไหม?

ใช่ค่ะ เราจะเห็นได้ถึงวัฒนธรรมองค์กรของเกาหลีใต้ได้อย่างชัดเจนผ่านค่านิยมนี้ ทั้งเรื่องลำดับขั้นของอายุ การนับถือรุ่นพี่รุ่นน้อง มันสร้างให้เกิดการแข่งขันที่สูงมาก มีการกลั่นแกล้งกันในสังคมนักกีฬาเอง เพราะการเป็นนักกีฬาแทบจะเป็นจุดสูงสุดของชาติ และแสดงถึงความกดดันของรัฐบาลเกาหลีที่กระจุกรวมกันในรูปแบบของการแข่งขันทางอาชีพการงาน หน้าตาทางสังคมของประชาชนในประเทศ แต่ส่วนตัวคิดว่า เกาหลีมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับอิทธิพลเรื่องความอาวุโสเหล่านี้มาจากวัฒนธรรมจีนตั้งแต่อดีตด้วยส่วนหนึ่ง

Photo Credit: WGCU

คิดว่านโยบายนี้มีโอกาสแก้ปัญหาเรื่องอัตราการเกิดของประชากรชาวเกาหลีใต้ได้หรือไม่?

โอกาสในการแก้ไขปัญหาประชากรของเกาหลีใต้จากนโยบายนี้ค่อนข้างน้อย เพราะเป็นการมองปัญหาในมิติเดียวอย่างที่บอกไปข้างต้น ไม่มีการวิเคราะห์ว่าปัญหานี้มันเกิดขึ้นจากมิติของอะไรบ้าง ทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และการออกนโยบายมาเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่ไม่มองกระแสของโลกเลย ที่ประสบปัญหาเรื่องประชากรเหมือนกัน ทางที่ดีพวกเขาควรจะต้องทบทวนจากกรณีศึกษาของประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ประเทศจีน ที่ปรับเปลี่ยนนโยบายการมีลูกของประชาชน จากเดิมที่วัฒนธรรมของเขาฝังลึกว่า ต้องมีลูกผู้ชายเท่านั้น แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะมีลูกเพศไหนก็ได้รับการเข้าสังคมเหมือนกัน หรือจะเป็นประเทศสิงคโปร์ที่มอบความสะดวกสบายให้กับครอบครัวที่มีลูก ทั้งหมดนี้เป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลเกาหลีควรที่จะศึกษาทบทวนแล้วนำมาปรับใช้ แทนที่จะสร้างนโยบายที่เป็นชาตินิยม และเป็นความคิดที่ยึดโยงกับความเป็นทหารแบบตะโกน ในความคิดของครูจึงบอกได้ว่า นโยบายนี้ไม่เวิร์ก

FYI: จากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้พบว่าในปี 2022 ค่าเฉลี่ยการมีลูกของผู้หญิงเกาหลีจะอยู่ที่ 0.78 ต่อผู้หญิง 1 คน ซึ่งลดลงจากปี 2021 ที่ค่าเฉลี่ยคือ 0.81 นับเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำสุดหนึ่งประเทศของโลก

Photo Credit: South China Morning Post

เพราะรากฐานสังคมของเกาหลีมีความเป็นปิตาธิปไตยหรือเปล่า?

มันมีส่วนที่เชื่อมโยงมาจากวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เกาหลีเคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีน ทำให้อิทธิพลการปกครองของจีนแทรกซึมในเกาหลี โดยเฉพาะอย่างยิ่งลัทธิขงจื๊อ ที่สามารถบอกได้ และกล้าพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยนะคะว่า ลัทธิขงจื๊อเกลียดผู้หญิง อ้างอิงจากหลักฐานสำคัญในช่วงของการขึ้นเป็นจักรพรรดินีบูเช็คเทียน ที่สามารถขึ้นเป็นผู้นำได้ แต่กลับกันพอมองในด้านของวัฒนธรรม คนจีนไม่ยอมรับจักรพรรดินี เพราะมันไม่มีกฎ หรือธรรมเนียมที่ผู้หญิงจะต้องขึ้นเป็นผู้นำ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจนักที่เกาหลีจะได้แนวคิดชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกลงไปอยู่ในสังคม ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะมีเทคโนโลยีที่พัฒนาแนวคิด และคุณภาพของผู้คนในประเทศ แต่มันไม่ทำให้ความชายเป็นใหญ่ในสังคมลดน้อยลงไปเลย ขนาดการขับเคลื่อนของรัฐบาลยังแสดงออกให้ถึงความเป็นผู้ช้าย ผู้ชาย

เงิน 25,000 บาท ที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ผู้ชายที่ต่ำกว่าอายุ 18 นับว่าเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้แก่เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือไม่?

ครูมองว่ามันเป็นนโยบายที่เป็นประชานิยมอย่างมาก มันเหมือนเป็นการให้เงินเด็กผู้ชายไป พร้อมกับคำพูดว่า ไปมีเมีย เป็นการมองมิติเดียวเหมือนเดิมกับประเด็นอื่นๆ และเป็นการจัดการปัญหาที่ไม่มีความยั่งยืนอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีการการันตีอะไรสักอย่าง ที่จะสามารถยืนยันกับสังคมได้ว่า ครอบครัวที่เกิดขึ้นจากเด็กที่ได้รับเงินไป 25,000 บาท จะไม่กลายมาเป็นปัญหาสังคม อีกทั้งไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า คู่นอนของเด็กชาย คือเด็กผู้หญิงที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเหมือนกัน ยิ่งเป็นการซ้อนทับของปัญหา และกระทบสู่สังคม อันเป็นผลมาจากการขาดความเป็นผู้ใหญ่ในเด็ก และการขาดความรับผิดชอบจากรัฐบาลถ้านโยบายนี้มันมีการแจกเงินในลักษณะนี้ขึ้นมาจริงๆ

และครูยังคิดว่านโยบายนี้เป็นนโยบายที่สนับสนุนกลุ่มคนชั้นสูงจนสามารถเรียกได้ว่าเป็น ‘นโยบายละเว้นการเกณฑ์ทหารของลูกคนรวย’ เพราะว่าเป็นการมองจากมุมมองของคนที่ไม่มีปัญหาด้านการเงิน และการทำงาน หากต้องมีลูก 3 คน เพราะครอบครัวพร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว เป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาลยังแก้ปัญหาโดยอ้างอิงจากประชากรที่อยู่ในระดับชนชั้นสูง ขาดมิติความเป็นคนรากหญ้าอย่างสิ้นเชิง

Photo Credit: The Washington Post

มันเป็นการกดดันฝ่ายหญิง และเสริมสร้างให้ผู้ชายมีปัญหาด้านศีลธรรมใช่ไหม? 

ในมุมมองของครู มันทำให้มีปัญหาด้านศีลธรรมอย่างแน่นอน เห็นได้ชัดเจนเลย เอาแค่เรื่องการแจกเงินให้เด็กไปทำลูก มันก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ขาดความเป็นผู้ใหญ่ในเด็กแล้ว หรือจะเป็นประเด็นที่ผู้หญิงเท่ากับเครื่องจักรผลิตลูก มันกระทบต่อต่อมศีลธรรมของคนในสังคมอย่างแน่นอน และมันยังสามารถส่งผลไปสู่การงานอาชีพของผู้หญิงได้อีกด้วย มีกรณีหนึ่งที่เคยอ่านเจอคือ อัตราการรับเข้าทำงานของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ มีโอกาสน้อยมาก แทบจะไม่มีโอกาสได้งานเลยในการเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์ เพราะองค์กรมองว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นปัญหาที่สามารถก่อให้เกิดการขาดแรงงาน จ่ายเงินเดือนโดยไม่ได้งาน

ดูเหมือนผู้หญิงจะไร้ค่าในสายตาของสังคมชายเป็นใหญ่ด้วยใช่ไหม?

มันเป็นนอร์มของสังคมเกาหลีใต้ที่ว่า ผู้ชายเป็นผู้นำ เป็นช้างเท้าหน้า เพิ่มคุณค่าให้ผู้ชาย ลดคุณค่าของผู้หญิง ผู้หญิงทำงานที่โดดเด่น 10 งาน ถึงจะสามารถเทียบเท่าผู้ชายทำงานเพียงแค่งานเดียว เป็นสังคมที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิงอย่างชัดเจน มันไม่แปลกเลยที่ผู้หญิงจะถูกจัดให้เป็นเครื่องจักรผลิตลูก สะท้อนให้เห็นผ่านนโยบายได้ดีเลย

Photo Credit: The New York Times

เกาหลีใต้ต้องดำรงการเกณฑ์ทหารไว้เพราะสถานการณ์การเป็นประเทศสงครามแต่ทำไมจึงพัฒนานโยบายที่ขัดแย้งกับสถานการณ์ประเทศ?

เห็นภาพเลยค่ะ แต่การเป็นประเทศสงครามของเขานี่มีเหตุผลนะคะ เพราะความขัดแย้งระหว่างเกาหลีด้วยกันเองก็ยังมีอยู่ เกาหลีเหนือก็ไม่มีทีท่าที่จะหยุดการเริ่มต้นสงคราม มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะมองประเทศตัวเองว่าเป็นประเทศสงคราม แต่สิ่งที่แปลกคือ การเพิ่มกำลังทหารด้วยการรับราชการทหารมันแก้ปัญหาได้จริงไหม แล้วยิ่งมีความย้อนแย้งให้เห็นจากการเผยแพร่นโยบายตัวนี้ออกมา มันทำให้เกิดความคิดที่ว่า สรุปแล้วทหารเกณฑ์ของพวกคุณไม่ได้มีความสำคัญกับการปกป้องประเทศในระดับที่ละเว้นได้เลยหรือเปล่า แต่ที่เห็นได้ชัดเจน และย้ำมาตลอดคือ การมองมิติเดียวที่มันไม่ยั่งยืน และไม่มีวี่แววที่จะสร้างโอกาสให้หลุดพ้นจากปัญหาได้ อีกทั้งพอเราที่เป็นคนนอกมองเข้าไป กลับเห็นเพียงแต่ความเป็นใหญ่ของผู้ชายที่แทบจะตะโกนออกมา

มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างถ้านโยบายนี้เข้ามาอยู่ในบริบทของประเทศไทย?

(หัวเราะ) คิดว่าอันดับแรกเลยคือ รถทั�