ในยุคที่เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในชีวิต อินเตอร์เน็ตสามารถพาคุณท่องโลกกว้างไปไกลถึงดาวอังคาร ทุกอย่างอยู่ในโลกออนไลน์ทำให้หลายคนอาจหลงลืมธรรมชาติ ต้นไม้ ป่าเขา เกษตรกรรม และวิถีชีวิตของคนในต่างจังหวัด หรือความมหัศจรรย์ของพืชในเมืองไทย วันนี้เราจะพาคุณเจาะลึกไปกับวิถีการย้อมครามของคนจังหวัดสกลนคร งานหัตถกรรมที่มีชีวิตตามวิถีคนพื้นเมือง
พี่นก-สกุณา สาระนันท์ คือผู้ก่อตั้ง “Kramsakon” คนต้นเรื่องที่ทำให้เกิดโครงการนี้ และเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ พี่นกไม่ได้ตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าจะมาทำธุรกิจผ้ายอมคราม ด้วยวัตถุประสงค์แรกคืออยากมาพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน “ย้อนไปเมื่อ 6-7 ปีก่อนเราเห็นโอกาส เราเห็นจุดอ่อน เราเห็นปัญหา มันทำให้พี่นกเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จนกระทั่งได้มาทำเป็นร้าน “Kramsakon” บางอย่างมันต้องอาศัยว่าเราลงไปทำจริงๆ เราจะมารอหน่วยงานตามระบบราชการมันอาจจะไม่ทันต่อเวลา ทำให้พี่นกตัดสินใจที่จะเข้ามาทำด้วยตัวเอง จนกระทั่งวันนี้ร้าน
“Kramsakon” ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่เชื่อมโยงเครือข่ายลูกค้า ผู้บริโภคกับต้นน้ำ ตั้งแต่เกษตรกรปลูกคราม ทอผ้า ย้อมคราม แปรรูป เราก็เป็นจุดเชื่อมโยงตรงนี้ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเสียโอกาส”
การคลุกคลีอยู่ในบ้านเกิดทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตพื้นบ้าน ผนวกกับสิ่งที่พี่นกต้องการที่จะพัฒนาอาชีพของคนในชุมชนให้มีศักยภาพ จึงเริ่มศึกษาเรื่องการย้อมครามในพื้นที่ต่างๆเพื่อที่จะรู้จักกับผ้าย้อมครามให้มากขึ้น ตั้งแต่การปลุก การตัด จนถึงการหมัก และย้อมลงบนฝ้ายในที่สุด
“พี่เป็นคนสกลนครโดยกำเนิด เกิดในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัด ก็จะพอเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมการทำผ้าย้อมครามอยู่บ้าง เพราะเคยเห็นผ้าย้อมครามมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ แต่ก็ห่างหายจากตรงนี้ไปเนื่องจากได้มาเรียนที่คณะเกษตรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโทคณะไบโอเทคโนโลยี ที่พระจอมเล้าฯชลบุรี ช่วงเรียนจึงไม่ได้สัมผัสในเรื่องของการย้อมครามอีกเลย จนเราต้องกลับไปอยู่ที่บ้านเนื่องจากคุณพ่อเป็นนักการเมืองของจังหวัด และอยากที่จะพัฒนาอาชีพของชาวบ้านให้ยั่งยืน เราจึงอาสามาทำตรงนี้ นี่คือจุดเริ่มต้องการเราจนถึงทุกวันนี้ค่ะ”
“ตอนนั้นปี 2556 เราได้เข้าไปปรึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่จังหวัดสกลนคร ว่าเราอยากพัฒนาอาชีพของคนในชุมชน เราจะมีวิธีทำอะไรได้บ้าง พอเข้าไปศึกษาในพื้นที่ ทำให้เราได้รู้จักกับผ้าย้อมครามมากขึ้น มองเห็นว่าผ้าผืนสีน้ำเงินธรรมดาที่เห็น จริงๆ แล้วมันมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ความเป็นธรรมชาติ และเรื่องของสีที่เข้าถึงผู้คนได้ง่าย จากจุดนั้นทำให้เรามองเห็นโอกาส ด้วยความที่เราเป็นนักวิทยาศาสตร์ ประกอบกับเราเคยทำธุรกิจด้านเสื้อผ้า ทำให้เรามองเห็นโอกาสของผ้าย้อมครามในจังหวัดสกลนคร”
“นอกจากนี้ผ้ายอมครามยังมีจุดเด่นในเรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเข้ากับยุคสมัยนี้ ที่จังหวัดสกลนครเรามีศักยภาพในไลน์ผลิต ที่มาจากชุมชน ในแง่ของคุณภาพและปริมาณ การทำผ้าในทุกอำเภอของสกลนครมีคนที่ทำได้จริงๆ แต่ด้วยจังหวะเวลาที่สีสังเคราะห์เข้ามามีบทบาท ทำให้การย้อมสีตามธรรมชาติลดลง อันนี้เกี่ยวเนื่องกับการตลาดด้วย เพราะชาวบ้านทำแต่ไม่มีที่ขาย ไม่ได้ราคาสมคุณค่ากับของมัน เพราะการทำผ้าย้อมครามนั้นมีวิธีการที่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การปลูกต้นคราม หรือพืชตะกูลถั่วนี้ จนกระทั่งเก็บเกี่ยวให้ได้เนื้อคราม มาก่อหม้อเพื่อย้อม เพื่อทอ แต่ละขั้นตอนต้องใช้เทคนิค ภูมิปัญญาขั้นสูงก็ว่าได้ในการผลิต แต่ราคาและคุณค่าที่ได้ ไม่คุ้มกับคุณค่าจริงๆ ของมัน นี่เองทำให้ผ้าย้อมครามเกือบจะหายไปจากวิถีชีวิตของคนสกลนคร”
“ผ้าย้อมครามมีคุณสมบัติที่หลายคนอาจไม่รู้ การย้อมครามต้องย้อมกับเส้นใยธรรมชาติ ย้อมกับฝ้าย เส้นใยพวกนี้จะมีรูพรุน ทำให้ลมผ่านไม่ร้อน ตัวครามก็ป้องกันแสงยูวี ทำให้ชาวบ้านที่สวมใส่ไปไร่ ทำนาก็จะไม่ร้อน ไม่แสบผิว ไม่มีกลิ่นอับ เพราะเม็ดสีครามมีคุณสมบัตรยับยั้งแบคทีเรีย คนเฒ่าคนแก่จึงยังคงใส่ผ้าย้อมครามกันจนถึงทุกวันนี้”
“1-2 ปีที่ผ่านมานี้ ผ้าย้อมครามได้รับความนิยมมากในหมู่ของคนมีกำลังซื้อ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่คนรุ่นใหม่ที่สนใจในเรื่องธรรมชาติหันมาสนับสนุน และเลือกใช้สิ่งของที่ผลิตมาจากผ้าครามอย่างแพร่หลาย”
“พอได้มีโอกาสลงไปในชุมชน เห็นโอกาสของผ้าย้อมคราม เราก็เลยมาผลักดันงบประมาณของจังหวัด เพื่อมาส่งเสริม สนับสนุนโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างการรับรู้ การประชาสัมพันธ์ให้กับผ้าย้อมคราม สรุปเลยคือว่าผ้าย้อมครามเราทำกันมานานในภาคอีสาน ไม่ใช่เฉพาะที่สกลนคร แต่ที่นี่โชคดีตรงที่ว่าเรามีศูนย์ศิลปาชีพถึง 2 แห่ง คนที่นี่จึงมีพื้นฐานงานหัตถกรรมอยู่ด้วย มันก็เลยเป็นจุดแข็ง จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เราอยากจะส่งเสริม เพราะมันอยู่ในวิถีชีวิตของคนพวกเขาอยู่แล้ว และเป็นเมืองที่ถูกส่งเสริมในเรื่องหัตถกรรมมาอย่างยาวนาน ทำให้จังหวัดสกลนครติดลมบนในเรื่องของผ้าย้อมครามได้เร็วยิ่งขึ้น”
นอกจากเรื่องของการพัฒนาด้านการผลิตแล้ว วิธีการย้อมครามก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หัวใจหลักคือการเอาใจใส่และสังเกต การอยู่ในวิถีแบบคนพื้นเมืองทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของเรื่องเหนือธรรมชาติ เช่นการย้อมคราม ชาวบ้านเชื่อกันว่าครามมีชีวิต ต้องหมั่นสังเกต ขยัน เพราะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อดูต้นครามว่าสามารถตัดได้รึยัง ถ้าเลยเช้ามืดไปแล้วแม่ครามจะไม่ใส่สีเป็นต้น ตอนนี้ความเชื่อเหล่านี้พี่นกมีหลักของวิทยาศาสตร์สามารถแจงได้ว่าทำไมต้นครามถึงไม่ให้สี รวมไปถึงวิธีการย้อมที่ซับซ้อน และต้องเอาใจใส่อย่างจริงจัง
“กระบวนการของการย้อมครามแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลักๆ ขั้นตอนแรกคือทำเพื่อให้ได้เนื้อคราม ขั้นตอนที่ 2 คือการนำเนื้อครามไปย้อม และทอจนได้ผืนผ้า ตัวเนื้อครามเราได้จากต้นคราม ซึ่งเป็นพืชตะกูลถั่ว ในโลกเราจะมีพืชที่ให้สีครามอยู่ค่อนข้างเยอะ เพียงแต่ต้นครามจะเป็นพืชที่เกิดได้ดีในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองไทย และเป็นครามสายพันธุ์ดีที่เกิดที่สกลนครเท่านั้น ให้ปริมาณ เม็ดสีครามต่อผิว ต่อต้นของครามสูง และให้สีที่มีคุณภาพ”
“การปลูกครามจะปลูกช่วงต้นฝน มันสอดคล้องกับวิถีการทำนาของชาวบ้าน คือเราจะปลุกครามก่อนที่จะมีการหว่านข้าว และจะเก็บเกี่ยวครามก่อนเกี่ยวข้าว มันจะเป็นการสับหว่างของอาชีเกษตรกรรมการทำนา พอปลูกคราม 3-4 เดือนก็จะพร้อมให้เก็บเกี่ยว วิถีชาวบ้านคือการสังเกตจากหยดน้ำปลายใบของต้นคราม แทนที่หยดน้ำจะเป็นสีใสๆ แต่มันกลับเป็นสีครามปนอยู่ ในโคนต้นก็จะมีสีน้ำเงินของครามติดอยู่บ้าง สิ่งนี้คือตัวบ่งบอกว่าเราพร้อมเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ชาวบ้านเค้าก็จะมีความเชื่อว่าจะต้องเก็บเกี่ยวครามตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะมีคำพูดที่ว่าคนทำครามจะต้องเป็นคนขยัน ไม่งั้นแม่ครามก็จะไม่ให้สีคราม ซึ่งพี่จบทางด้านวิทยาศาสตร์มา พี่รู้ว่าทำไม เพราะว่ากระบวนการเกิดมันตัวตั้งต้นที่จะให้สีครามมันเกิดขึ้นในกระบวนการหายใจคือเวลากลางคืน เมื่อเจอแสงอาทิตย์ตอนเช้ากระบวนการนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นกระบวนการสังเคราะห์แสง ซึ่งทำให้สารตั้งต้นที่ทำให้สีครามเกิดมันเปลี่ยนไปเป็นตัวอื่นก็เลยไม่ให้สี”
“กระบวนการตั้งแต่การตัดต้นคราม เป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก มีเทคนิคเยอะมาก ไม่มีใครที่สามารถเก็บเกี่ยวเม็ดสีครามได้ในครั้งแรก มันจะต้องเรียนรู้หลายรอบมาก หลังจากได้เนื้อครามแล้วก็ต้องมาสู่กระบวนการหมัก ไปจนถึงการต้มหม้อ ต้องใส่ใจและสังเกตอย่างมาก จนถึงย้อมตั้งแต่เส้นใยที่มาจากปุยฝ้าย จนถึงการทอเป็นผืนผ้า”
“การย้อมครามคือการนำสีครามบรรจุไปในช่องว่างของเส้นใย นี่คือหลักการที่ถูกต้อง การย้อมครามแบบดั้งเดิมของสกลนครบอกเลยว่าเราจะได้ผ้าย้อมครามที่สีไม่ตก อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ในปัจจุบันเรามีโครงการ “สกลนครโมเดล” ที่เข้าไปสนับสนุน ศึกษาข้อมูลเชิงลึกว่าการย้อมครามที่ถูกวิธี เพื่อให้ได้เนื้อครามที่ได้มาตรฐานมันเป็นยังไง เราเชื่อว่าที่อื่นยังไม่มี ด้วยข้อนี้แหละเราสามารถพูดได้เต็มปากว่า คราม หรือผ้าย้อมครามของสกลนครมีคุณภาพและได้มาตรฐานมากที่สุดจริงๆ”
“โครงการ “สกลนครโมเดล” เราทำอยู่หลายเรื่อง เป้าหมายคือเราจะนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าไปช่วยเกษตรกร รวมถึงชาวบ้านในการทำหัตถกรรมและการเกษตร เพื่อให้ผลผลิตของเค้ามีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ครามก็เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ อย่างเช่นในหม้อย้อมมันมีจูลินทรีย์ชนิดไหน ตัวไหนแอคทีฟ เราก็จะแยกออกมาอย่างนี้เป็นต้น หรือว่าตั้งแต่กระบวนการแรกในการปลูกต้นครา,ว่า เราจะปลูกยังไงให้ได้ผลผลิตสูงสุด เราจะทำให้ครามมีมาตรฐานที่สุดได้ยังไง เรามุ่งหวังว่ามันจะไปช่วยให้ผลผลิตของเกษตรกรมีคุณภาพ มีมาตรฐาน สามารถผลิตซ้ำเหมือนเดิมได้”
“สุดท้ายเราก็หวังว่าผ้าย้อมครามสกลนครจะมีมาตรฐาน เราจะได้ผ้าย้อมครามที่มีความหลายหลายของเส้นใยตอบโจทย์ของตลาด เช่นถ้ามีดีไซน์เนอร์ต้องการผ้าของเรา เค้าจะได้ไม่ต้องมาทำตั้งแต่เริ่มต้น เค้าสามารถนำผ้าที่ผลิตแล้วไปต่อยอดได้เลย ที่ผ่านมาถ้ามีคนมาถามว่าต้องการผ้าเฉดนี้ สามารถทำให้ได้มั้ย ชาวบ้านอาจจะบอกว่าไม่ได้ ผ้าย้อมครามเป็นผ้าธรรมชาติไม่สามารถควบคุมในเรื่องสีได้ แต่ปัจจุบันด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์ เราจะทำให้ชาวบ้านทำเฉดสีได้ มีรหัสที่สามารถคุยกับลูกค้าได้ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราเชื่อว่าคนที่จะมาผลักดังเรื่องผ้าย้อมครามมันจะง่ายขึ้น”
นอกจากเราจะได้รู้จักกับการย้อมครามแล้ว เรายังได้รู้จักกับพี่นก คนต้นเรื่องที่ต้องการพัฒนาชุมชน และสร้างความมั่นคงให้กับชาวบ้าน ผ้าย้อมครามถือได้ว่าเป็นการอนุรักษ์ความเป็นไทย เข้าถึงธรรมชาติ และคงไว้ซึ่งงานฝีมือ หัตกรรมของชาวสกลนครผ่านวิถีชีวิตจนเกิดเป็นผ้าย้อมครามที่เราได้เห็นกันในวันนี้