สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่บุคคลหลากหลายอาชีพ ศิลปินก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในสถานการณ์นี้ เนื่องจากภาครัฐสั่งปิดสถานบันเทิง ส่งผลให้นักดนตรีและทีมงานไม่มีงานและตกงานจำนวนมาก ช่วงที่ผ่านศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายวงได้คอมเมนต์ตอบโต้ผ่าน Facebook Fanpage อย่างสนุกสนาน กลุ่มศิลปินอินดี้ไทยนำโดย Safeplanet, H3F และ Kunst จึงเชิญชวนศิลปินเหล่านี้และบุคคลที่ได้รับผลกระทบออกมาส่งเสียงผ่านแคมเปญที่จัดขึ้น เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบการและอาชีพที่ได้รับผลกระทบ
Kunst (คุ้นสท์) วงดนตรีอินดี้แนว Shoegaze เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่ได้รับผลกระทบและออกมากเรียกร้องในแคมเปญนี้ อิ๊ก (นักร้องนำ), นิว (มือกีตาร์, ร้อง) และไมค์กี้ (มือเบส) สมาชิกส่วนหนึ่งของวง Kunst ได้มาพูดคุยกับเราในครั้งนี้
การเปลี่ยนแปลงต่ออาชีพนักดนตรีตั้งแต่เกิดสถานการณ์โควิด
นิว: สำหรับวงได้รับผลกระทบหนัก ช่วงสิ้นปีวางแผนจะทัวร์อีสาน แต่ต้องล่ม เพราะมาตราการของ ศบค ไม่อนุญาตให้ผับหรือสถานบันเทิงเปิดทำการได้ แปลว่านักดนตรีไม่มีสถานที่ที่จะไปเล่นดนตรี
อิ๊ก: พอเล่นสดไม่ได้ มันส่งผลกระทบมากกว่าเรื่องรายได้ การเล่นสดเป็นการช่วย PR เพลงให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เราไปเล่นงานนึงเราไม่ได้เล่น Solo Concert แต่เราเล่นรวมกับวงอื่นๆ เช่น พอเราไปเล่นกับ วงที่มีชื่อเสียง เราก็จะมีโอกาสที่จะได้ Fan Base มากยิ่งขึ้น ทำให้วงกลายเป็นที่รู้จัก Ecosystem ตรงนั้นมันช็อตไป เหมือนทำเพลงออกมาไม่ได้รับการโปรโมทต่อ ตอนนี้ทุกคนต้องมาลุยใน Digital Marketing ซึ่งไม่ได้การันตีว่ามันจะเวิร์ค
“การเล่นสดเหมือนเป็นการโปรโมทตัวเอง ซึ่งวงวงอินดี้หลายๆ วงไปเล่นเพื่อโปรโมทมากกว่าหารายได้ วงที่ทำ Digital Marketing จะเป็นวงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่แล้วประมาณนึง บางวงยังไม่ถึงขั้นนั้นต้องอาศัยการเล่นสด”
- นิว วง Kunst
พูดคุยกับวงดนตรีอื่นๆ ว่าอย่างไรบ้าง
นิว: ส่วนใหญ่ก็รวมหัวกันด่ารัฐบาล
ไมค์กี้: การเล่นดนตรีไม่ใช่แค่เราสนุกกันแต่มันคือการแลกเปลี่ยน มันสร้าง Community แต่ตอนนี้เหมือนมันหยุดพัฒนา ผมก็ทำดนตรีอีกวงหนึ่ง พึ่งปล่อยเพลงไปก็เงียบ ช่วงที่ผ่านมามีศิลปินหน้าใหม่ค่อนข้างมาก แต่ปล่อยเพลงไปแล้วก็เงียบ ทุกคนทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ก็หมดไฟไปเรื่อยๆ
อิ๊ก: ศิลปินบางคนเริ่มมีการขายเครื่องดนตรีทิ้ง เนื่องจากไม่มีสถานที่หรืองานให้ออกไปเล่น แล้วเครื่องดนตรีที่ขายได้ก็รายได้มาเจือจุนแทน
ภาครัฐมีการช่วยเหลือหรือเยียวยาอะไรบ้าง
ทุกคน: ไม่มีเลย
นิว: มีแค่การรวมกลุ่มไปเรียกร้อง 2-3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นนักดนตรีอาชีพกลางคืน เค้าก็รับปากว่าจะกลับมาเปิดสถานบันเทิง แต่นั่งแบบ Social Distancing ประกาศได้แป๊บเดียว จากนั้นเจอโควิดช่วงสิ้นปี สิ่งนั้นก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย
ทำไมภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดนตรี
นิว: หน่วยงานรัฐน่าจะมองดนตรีเป็นส่วนช่วยทางสังคมและเศรษฐกิจได้ ดนตรีไม่ใช่สิ่งที่มีขึ้นมาเพื่อให้จรรโลงใจ แต่ช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ คือ ประเทศเกาหลี ทุกวันนี้อุตสาหกรรมดนตรีของเกาหลีเข้ามาขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจของประเทศได้สูงมาก สิ่งนี้คือสิ่งที่ประเทศเราขาดอยู่ ไม่เคยเหลียวแลในเรื่องของวงการบันเทิง นอกจากส่งเสริมเรื่องจริยธรรม
“ประเทศเราไม่เอื้อให้ทำอาชีพนักดนตรี Full Time ได้ เพราะต้องให้เวลากับงานประจำด้วย ส่งผลให้ไม่สามารถโฟกัส ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อทำเพลงได้เต็มที่”
- อิ๊ก วง Kunst
อยากฝากอะไรถึงหน่วยงานรัฐ
อิ๊ก: เราไม่คาดหวังให้รัฐบาลช่วยอะไรเราแล้ว เพราะที่ผ่านมาศิลปินอินดี้ทำเองตลอด ตั้งแต่เอาตัวเองไปขายงานที่เมืองนอก ไปทัวร์ญี่ปุ่น ไต้หวัน ซึ่งผลตอบรับดี เราเลิกหวังไปแล้วสิ่งที่อยากให้ช่วยจริงๆ คือ วัคซีน
นิว: วัคซีนเป็นเรื่องที่เราควรพูดพร้อมกัน ไม่ใช่เป็นสิ่งที่รอ 2-3 เดือนแล้วจะได้ เราต้องรออีกเป็นปี ควรฉีดให้เร็วที่สุดทั้งคนที่เสี่ยงระดับต้นๆ และคนที่ไม่เสี่ยงควรได้รับวัคซีนเท่าเทียมกัน
ความคาดหวังในอนาคตเกี่ยวกับวงดนตรีของตัวเอง
นิว: วงของเรานับว่าพึ่งเริ่มต้น สำหรับคนที่พึ่งเริ่มต้นหนทางก็ยากอยู่แล้ว พอยิ่งมีโควิดก็ยิ่งยากมากกว่าเดิม ความคาดหวังในอนาคตอยากให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีนที่เร็วที่สุดและดีที่สุด เราไม่ต้องการพึ่งภาครัฐให้มาสปอนเซอร์วงเราหรือวงการดนตรี เราแทบจะยินดีที่ต้องวิ่งด้วยลำแข้งของตนเอง แต่เราวิ่งไม่ได้เพราะ ปัญหาที่เกิดขึ้นเราเองก็ไม่สามารถแก้ได้ ต้องพึ่งทางรัฐเป็นคนแก้ให้ เราแค่อยากใช้ชีวิตกลับมาปกติอยากที่เคยใช้
“เราแค่อยากใช้ชีวิตกลับมาปกติ ตอนนี้ทุกอย่างผิดปกติมากไปแล้ว กินเวลามากเกินไปในชีวิต ผมไม่อยากตายไปในสภาพแบบนี้ มันแย่เกินไป มันไม่ใช่ชีวิตที่เราเลือก และเราไม่มีสิทธิ์เลือกอะไรเลย”
- ไมค์กี้ วง Kunst
ติดตามฟังเพลงและอัพเดทข่าวสารของวงได้ที่ Kunst