Culture

รีวิวเพลง 'เก่า-ใหม่' เพลง 'ไทย-สากล' กับคนฟังเพลงตัวจริง 'เพจเลเล่เล้ - แนะนำเพลงไทยและสากล'

1 วันก่อนสิ้นสุดเดือนสิงหา ได้เวลานัดหมายกับพี่ชายคนเก่ง อย่าง พี่ 'เลเล่ – วรเชษฐ ไพศาขมาศ' ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ย่านพระราม 4 เพื่อพูดคุยถึงที่มาที่ไปของเพจรีวิวเพลงที่หลายๆ คนเริ่มจะคุ้นหน้าคาดตากันบ้างแล้ว จากการแชร์ของเพื่อนๆ หรือ จากการที่เข้าไปอ่านด้วยตนเอง ซึ่งก็ชวนให้ครื้นเครงและเพลิดเพลินใจอยู่ไม่น้อย ด้วยสไตล์การเขียนที่ตั้งใจจะบอกเล่าเรื่องราวของเพลง ศิลปิน รวมไปถึงอัลบั้มที่น่าสนใจ แบบไร้กฎเกณฑ์ของแนวเพลงและยุคสมัย ทำให้หลายๆ คนตั้งตารออย่างตั้งใจว่าวันนี้ 'เพจเลเล่เล้ - แนะนำเพลงไทยและสากล' จะรีวิวเพลงอะไร อัลบั้มไหน หรือ ศิลปินเป็นใคร ทำให้ EQ รู้สึกสนใจและอยากจะทำความรู้จักเพจเลเล่เล้ให้มากกว่านี้ไปพร้อมๆ กับผู้อ่าน

พี่เลเล่มาก่อนเวลานัดหมาย และได้หอบหิ้วเอาเทปคาสเซ็ท แผ่นซีดี และแผ่นเสียงใส่ถุงผ้าใบใหญ่วางไว้อยู่ข้างๆ ตัวอย่างไม่ห่าง ทำให้รู้เลยว่าของสะสมเหล่านี้ ถูกเปิดและบรรเลงแบบไม่เคยรู้สึกอ้างว้าง ความสุนทรีย์ยังคงขับเคลื่อนอยู่เสมอ จนพี่เลเล่อยากจะบอกเล่าผ่านตัวอักษร จากมุมมองที่อยากจะสะท้อนเรื่องราวของวงการเพลงทุกยุคสมัย ทั้งไทยและสากล ความภาคภูมิใจกับสิ่งที่เขาทำและสิ่งที่เขามี ส่งผ่านมาที่แววตา รอยยิ้ม ของเขา น้ำเสียงที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ขนาดที่ให้สัมภาษณ์ก็ดูสดใสและจริงใจ ให้ฟีลเหมือนได้นั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปยังอดีต จนกลับมาสู่ยุคปัจจุบัน ที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราโชคดีจัง ที่มีเพลงให้เราฟังอยู่ทุกวันนี้

จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเพจ ‘เลเล่เล้ - แนะนำเพลงไทยและสากล’

ผมเพิ่งเปิดเพจนี้เมื่อปีที่แล้ว ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2564 จุดเริ่มต้นมันมาจากหน้าเฟสบุ๊กของตัวเองก่อน เราเคยเขียนถึงอัลบั้มชุดหนึ่งของ Coldplay แล้วรู้สึกว่าเพลงในอัลบั้มนั้นเพราะดี (ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเพลง 'Fix You') เราก็เขียนเล่าประวัติของเพลงนั้น แล้วเพื่อนมาอ่านเพื่อนชมว่าเขียนดีเพราะเขาไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน เพื่อนเลยยุให้เปิดเพจเฟสบุ๊ก ตอนแรกก็ลังเล แต่หลังจาก 2-3 เดือนช่วงที่เพื่อนทัก ก็รู้สึกว่าอยากจะเขียนอะไรที่จริงจัง ตอนนั้นมีโฆษณาใหม่ตัวหนึ่ง ที่ใช้เพลง 'แอบหวัง' ของวง ANATOMY RABBIT เลยเอาเพลงนี้เป็นเพลงแรกในการเขียนเพื่อทำเพจเลย เพราะกำลังดังพอดี พอลองเขียนจริงจังก็รู้สึกว่าเราเขียนได้นี่ เลยมีอันที่ 2,3,4.... ต่อไปเรื่อยๆ อันที่ 2 เขียนของพี่สมเกียรติ อริยะชัยพาณิชย์ หรือ Mr. Z เริ่มมีคนชมแล้วว่าเขียนดี เลยเชิญเพื่อนๆ ในวงการศิลปินมากดไลก์เพจที่ทำ ทำให้ได้ฐานแฟนเพจจำนวนหนึ่ง ก็รู้สึกเริ่มสนุกเพราะเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำอยู่แล้ว เลยตั้งปณิธานว่าจะเขียนทุกวัน วันละโพสต์ ตอนแรกก็มั่วๆ หลังๆ เริ่มตั้งเวลาโพสต์ ในทุกๆ วันตอน 08.09 น. เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องเขียนของวันพรุ่งนี้ให้เสร็จเพื่อโพสต์ตามเวลาที่ตั้งไว้

เขียนไปประมาณเกือบ 100 วัน เราก็คุยกับลูก ลูกกลับตอบกลับมาว่าให้เราเขียนให้ครบปีหนึ่งก่อนค่อยมาคุย (หัวเราะ) คำพูดของลูกวันนั้น เลยเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เขียนครบปี 365 วัน กับ 365 เรื่อง เรารู้สึกภูมิใจมากเลยว่า เราทำได้โว๊ย ถ้านับถึงทุกวันนี้ก็ 500 วันแล้ว หรือ ปีกว่าๆ กับฐานแฟนเพจหลักหมื่นซึ่งถือว่าเร็วสำหรับผม เพราะเป็นออแกนิกล้วนๆ ไม่ได้ใช้เงินในการทำเพจเลย เขียนถึงศิลปินและแท็กไปยังศิลปินที่เขียนถึง เวลาเขาไปแชร์ต่อเราก็ดีใจ แต่เดี๋ยวนี้โพสต์ไปไม่ถึง 10 นาที ศิลปินที่เราเขียนถึงแชร์โพสต์ต่อแบบที่เราไม่ได้แท็กเลย

จุดเริ่มต้นของนักฟังเพลง และความชื่นชอบในเสียงเพลง

ผมฟังเพลงจริงๆ ตั้งแต่ ป.4 เพราะตอนนั้นมีวิชาขับร้อง คาบสุดท้ายของทุกๆ วันพุธ ครูจะสอนร้องเพลง ซึ่งเพลงในยุค ป.4 ของเรา จะเป็น วงดอกไม้ป่า วงอิมพอสซิเบิ้ล วงดิอินโนเซนต์ วงชาตรี จะเป็นยุคนั้นเลย พอเรียนร้องเพลงกับครูไปเรื่อยๆ เรารู้สึกชอบเพราะมันเพราะดี ทำให้ ป.4 เริ่มรู้จักเพลง ป.5 เริ่มหาเพลงฟัง และพ่อซื้อเทปให้ด้วย ตอนนั้นมีห้องเป็นของตัวเอง ทำให้เปิดฟังเพลงบ่อยๆ และความชอบก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ป.6 เริ่มซื้อเทปเอง และเราก็เริ่มซื้อเรื่อยๆ

จน ม.3 อยากเป็นดีเจ เราชอบฟังเพลงมาก แต่ช่วงเข้ามัธยมปลายการเรียนค่อนข้างดี ทำให้เลือกเรียนสายวิทย์ ซึ่งสอบเข้านิเทศไม่ได้ แต่ตอนจะเข้ามหาลัยเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะสถาปัตย์แบบวาดรูปไม่ค่อยเก่งเลยไม่ติด แต่ติดคณะบัญชี จุฬาฯ แทน แต่ตลอดระยะเวลาทางเดินของเรา เราไม่เคยทิ้งเพลงเลย เรียนบัญชีก็ยังฟังเพลงอยู่

จำได้ว่ามีเพื่อนที่ทำฝ่ายกระจายเสียงของคณะ ทุกเที่ยงเขาจะให้เอาเทปไปเปิดเหมือนเสียงตามสาย เราก็อาสาขอไปเปิดทุกวันเลย จนมีอยู่วันหนึ่งรุ่นน้องมาชมเพลงที่เราเปิด ว่าเราเปิดเพลงเพราะ ทำให้เราใจฟูมาก แต่เราก็ยังไม่ได้เป็นดีเจสักที

ช่วงที่เรียนจบ เพื่อนพาไปวิทยุประชาสัมพันธ์ 101 ของจุฬาฯ เขาหานิสิตที่เพิ่งจบใหม่เพื่อสัมภาษณ์ผู้บริหาร เราก็ลองเปิดเทปที่เราสัมภาษณ์ฟัง เรารู้สึกว่าเสียงตัวเองอู้อี้ติดจมูก เลยพับความฝันดีเจลง แต่ก็ยังฟังเพลงอยู่เรื่อยๆ

เทปม้วนแรกที่ซื้อคือ 'วงแกรนด์เอ็กซ์' อัลบั้ม เชื่อฉัน ม้วนที่ 2 'ร็อคเคสตร้า' อัลบั้ม เทคโนโลยี ม้วนที่ 3 'เด๋อ ดอกสะเดา' ซื้อมาเรียงจากลำดับก่อน-หลังที่ซื้อ แต่ไปๆ มาๆ มีความรู้สึกไม่ชอบ เรากลับชอบม้วนที่ซื้อทีหลังมากกว่าม้วนก่อนหน้า เลยรู้สึกว่าเราชอบตัดสินเหมือนกัน ว่าอันนี้เพราะกว่าอันนี้นะ ปริมาณเทปมากขึ้นก็จัดเรียงมากขึ้น

'เลเล่เล้' นามแฝง ที่แจ้งเกิดจาก Pantip.com

มาจนถึงยุค Pantip.com มีห้องตั้งกระทู้ ซึ่งสมัยก่อนมีห้องเฉลิมไทย ห้องที่รวบรวมเรื่องราวของ หนัง เพลง ดนตรี และความบันเทิงไว้ที่นี่ ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ 'เลเล่เล้' พอเล่นเว็บ Pantip ไปเรื่อยๆ เริ่มดัง เลยต้องมีนามปากกา เลยตั้งชื่อว่า 'เลเล่เล้' ซึ่ง Pantip เป็นสื่อเดียวในสมัยนั้นเลยที่ใช้ถามตอบเรื่องเพลง Search Engines ยังไม่มี เวลามีคนตั้งกระทู้ถามเรื่องเพลงอะไรก็ตามเราสามารถตอบได้หมดและตอบได้ละเอียด ซึ่งทุกอย่างอยู่ในหัวเราหมดแล้ว เราเล่าได้ถึงขนาดที่ว่าที่มาที่ไปของแต่ละเพลง พอเราตอบทุกกระทู้ไปเรื่อยๆ เลยกลายเป็นที่จดจำ ทำให้คนที่จะถามเรื่องเพลงดนตรี ต้องมาถาม 'เลเล่เล้' นะ

เด็กๆ เราฟังเพลงทั่วไป และฟังแกรมมี่ยุคแรกๆ อย่าง เบิร์ด เต๋อ แหวน นันทิดา เสร็จแล้วมายุคอาร์เอสโปรโมชั่น Alternative แล้วมายุค Bakery Music ยุคของพี่บอย โกสิยพงษ์ ที่เปลี่ยนโลกของประเทศไทยไปเลย มีโมเดิร์นด๊อกด้วย ทำให้รู้ว่าแต่ละยุคเพลงมันเปลี่ยนไปอย่างไร เลยตอบกระทู้ใน Pantip ได้หมด 'เลเล่เล้'  ตอบเรื่องเพลงได้

ปี 2000 เขาเริ่มให้ตั้งกระทู้ได้ เลยเริ่มทำกระทู้ 20 อัลบั้มยอดเยี่ยมของเพลงไทยปีนี้ คืออะไร ซึ่งปีนั้นเพลงไทยกำลังดิ่ง ไม่ค่อยมีคนฟังเพลงไทยแล้ว Bakery ก็เริ่มจะเจ๊ง มันเป็นช่วงคาบเกี่ยวของต้มยำกุ้งปี 1998 ปี 1999 Bakery กับ Dojo เริ่มฟื้น มันเลยทำให้คนทำเพลงคุณภาพน้อยลง ทำให้คนหันไปฟังเพลงฝรั่งดีกว่า แต่วงอินดี้เขายังทำเพลงกันอยู่นะ เราเลยใส่ลงไปในกระทู้ Pantip ของเราเพื่อแนะนำ เหมือนช่วยพยุงให้อุตสาหกรรมเพลงไทยยังคงอยู่ กระทู้เราก็ขึ้นเป็นกระทู้แนะนำ ติด 1 ใน 5 ทำให้เรารู้สึกดี ศิลปินเองก็รู้สึกดี เราเลยเขียนกระทู้ใน Pantip มาตลอด จนถึงปี 2023 ก็ยังเขียนอยู่ ตอนนี้เข้า Pantip ปีละครั้งเพื่อทำกระทู้นี้กระทู้เดียว เพราะเราฟังเยอะ ซื้อเยอะ และสามารถบอกได้ว่าอะไรดี

ประมาณปี 2007 บก. HAMBURGER MAGAZINE เขาติดต่อมาอยากให้ไปเขียนลงนิตยสาร เขียนเดือนละอัลบั้ม เขียนอยู่เกือบ 10 ปี จน HAMBURGER ปิดตัวไปแล้วทำเป็น Free Copy เราก็ยังเขียนในนั้น จนเขาเปลี่ยนไปทำออนไลน์ จนพี่โหน่งไปทำ thestandard.co ก็ตามไปอยู่กับเขา และยังคงช่วยเขียนในฝั่งที่เป็นเพลงอยู่ครับ พอเปลี่ยนเป็น THE STANDARD POP เราก็ยังอยู่ในนั้น ทุกวันนี้ก็ยังเขียนอยู่ครับ

ตอนปี 2000 เพลงไทยดาวน์มาก แต่มีสิ่งที่พยุงคือ Fat radio ที่ป๋าเต็ดทำ นิตยสาร A Day ก็มีคอลัมน์เกี่ยวกับเพลง ค่ายเพลง Smallroom เพิ่งจะเกิดปี 2000 พอเขาทำโปรเจกต์ Smallroom 001 คือเริ่มดัง แล้วผมก็เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในนั้นหรือฟันเฟืองที่ช่วยเขียนถึงด้วย

จุดเด่นของเพจเลเล่เล้

ผมมีความรู้ลึกของเพลงนั้นๆ แต่อันไหนที่ไม่รู้เราก็เสิร์ชหาข้อมูลพอสมควรในเรื่องเพลง และเราฟังเพลงกว้างมาตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่เรื่องของปีที่ฟัง แนวเพลง และเราก็ฟังเพลงฝรั่ง เราเลยสามารถเทียบเคียงได้ หยิบจับวงที่ใกล้เคียงมาแนะนำได้ เราเลยได้แนวการเขียนแบบนี้มาจากพี่ซอนนี่ อาทิตย์ พรหมประสิทธิ์ เพราะการเขียนแบบนี้ทำให้เราต้องตามหาในสิ่งที่เราไม่รู้จัก ซึ่งนั่นอาจจะเป็นจุดเด่นของเพจ และเราเขียนเอาแต่ใจตัวเองเหมือนกัน อาจเขียนถึงอัลบั้มที่คนไม่ค่อยรู้จักบ้าง หรือ เพลงที่ไม่ค่อยฮิตบ้าง อาจไม่ได้แนะนำที่แมสตลอด หรือ อาจเบรกด้วยเพลงฝรั่งบ้าง ทั้งเก่าและใหม่

'แนะนำเพลงไทยและสากล' ผมใช้คำนี้มาตั้งแต่สมัย Pantip ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่นักวิจารณ์ เพราะศิลปินเขาตั้งใจทำเพลงมา เราจะไม่พูดถึงเขาเลย แต่จะแนะนำสิ่งที่เราชอบ เราแนะนำ แนะนำ และแนะนำ อันไหนที่เราไม่ชอบเราจะไม่แนะนำเขา

10 อัลบั้มที่เลเล่เล้อยากแนะนำ

บอย โกสิยพงษ์ Rhythm & Boyd

วงไทยที่ชอบที่สุดคือ บอย โกสิยพงษ์ มันครบทุกอย่าง ทั้งเนื้อเพลง ทำนอง และเป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนวงการเพลงไทยไปด้วย แต่ก่อนเพลงไทยเขาใช้คีย์บอร์ดกดเสียงไวโอลิน แต่พี่บอยเอาไวโอลินมาเล่นจริงๆ ในยุคนั้นคนทำแบบนี้น้อย ซึ่งพี่บอยใช้ของจริงหมด เขาเลยเป็นคนที่สร้างมิติใหม่ในวงการเพลง และทำเนื้อเพลงได้สุดยอด ทำนองสวย เขาเป็น Rhythm & Blues ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักเลย เขาเป็นคนแรกๆ ที่ทำ เลยรู้สึกว่าเพอร์เฟกต์ในทุกๆ อย่าง

ธงชัย แมคอินไตย์ หาดทราย สายลม สองเรา

เบิร์ด – ธงชัย แมคอินไตย์ ชุดแรก เขาร้องเพลงเพราะมาก ออกมาชุดแรกคือดีเลย คนทำเพลงก็คือ พี่เต๋อ – เรวัต พุทธินันทน์ เขาก็ทำเพลงคุณภาพมาก

สุรสีห์ อิทธิกุล กัลปาวสาน

สุรสีห์ อิทธิกุล ชุดแรก กัลปาวสาน เขาจบการทำเพลงโดยเฉพาะเลย เรียนจบมาก็ทำเพลงวงบัตเตอร์ฟลาย แล้วเขาก็ทำงานเดี่ยวซึ่งล้ำมากๆ ณ ตอนนั้น แต่ฟังไม่ยาก มีความเป็นป๊อป มีรายละเอียดของดนตรีและมีความเป็น Progressive

Photo Credit: hof-records
เฉลียง อื่นๆ อีกมากมาย

วงนี้เพิ่งไปดูคอนเสิร์ตมา เป็นวงดนตรีตัวโน๊ตอารมณ์ดี ฟังแล้วยิ้มได้ทั้งวัน คนเขียนเพลงให้เฉลียงคือ ประภาส ชลศรานนท์ เจ้าของ เวิร์คพอยท์ และเป็นนักคิดที่เก่งที่สุดในประเทศไทย เขาเริ่มเขียนเนื้อเพลงพวกนี้ตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี แล้วเขาก็ทำเฉลียงชุดที่ 2 เป็นอัลบั้มที่ลงตัวที่สุดของเฉลียง เพลงดี มีความคิดเป็นปรัชญาแต่ไม่ได้ยากจนเกินไปที่จะฟัง

พราว

วง Britpop มีเจ – เจตมนต์ มละโยธา, เล็ก – สุรชัย กิจเกษมสิน ซึ่งสองคนนี้เล่นกีตาร์เก่งมาก กีตาร์ติดหูเป็นอะไรที่แปลกมากเลยนะ เราสามารถเดาโน๊ตเขาได้หมดเลย จำเนื้อร้องกับทำนองได้ไม่แปลก แต่จำซาวด์กีตาร์ที่เล่นมาตลอดได้คือเจ๋งมากๆ ซึ่งในยุคนั้นน้อยคนที่ทำได้ เป็นวงที่แปลกเพราะดังแต่ทำแค่ชุดเดียว แต่ปัจจุบันเขาทำเพลงอยู่ 3 เพลง

เพชร โอสถานุเคราะห์

เป็นงานเพลงที่เจ๋งมากๆ ปี 1987 เขารวยมาก และเพลงเขาก็เพราะ เพลงที่เขาทำออกมามันล้ำยุคมาก มีซีดี ยุค 80 เหมือนอังกฤษเลย ไม่เชยเลย ทุกวันนี้ยังฟังได้ตลอด

อินโนเซนต์ รักคืออะไร

ผมโตมากับเพลงแบบนี้ เราเริ่มฟังเทปของวงนี้ก่อน ซีดีเขาไม่ทำขายแต่ตอนหลังเขามีแผ่นเสียงแต่เราก็หาซื้อจนได้ เป็นอัลบั้มที่ฟังเป็นร้อยรอบ เพลงช้าก็เพราะ เพลงเร็วก็ดี มันจะมีอยู่เพลงหนึ่งคือ 'เมืองอะไร' ความยาวประมาณ 5-6 นาที ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจเพราะเพลงทั่วไปความยาวแค่ 3 นาที แถมตอนจบเหมือนเทปเสีย ทำให้สงสัยว่าเสียจริงไหม พอโตมาก็รู้ว่าเขาตั้งใจทำให้เป็นแบบนั้น และเพลงเขาก็ว่ากรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ณ ตอนนั้น จนถึงตอนนี้ก็จริงๆ นะ

เบิร์ด กะ ฮาร์ท ด้วยใจรักจริง

ออกมา 3 ชุดแรกคือสุดยอดทั้ง 3 ชุดเลย และเขาจะดังแค่ชุดที่ 1 กับ 3 แต่ชุดที่ 2 ด้วยใจรักจริง เป็นชุดที่ดังน้อยที่สุดแต่เรากลับชอบมากที่สุด เพลงมันอาจจะเย็นไปนิดทำให้ไม่โดดเด่นแต่ฟังได้เรื่อยๆ เพลินมากๆ

ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ คนเขียนเพลงบรรเลงชีวิต

คือสุดยอด ของ Progressive เมืองไทย ธเนศได้คอนเซ็ปต์มาจากอัลบั้ม The Wall ของ Pink Floyd คือ การเล่าเรื่องของคนๆ หนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ 12 เพลง ซึ่งคนๆ นั้นอาจจะบ้าไปแล้ว คือจะฟังทีละเพลงไม่ได้ ต้องฟังทั้งหมด นี่คือคอนเซ็ปต์อัลบั้มเลย เนื้อเพลงแต่ละคำสวยมากๆ พี่ปุ้ม ตาวัน เป็นคนเขียนทำนอง จริงๆ อัลบั้มนี้ก็ไม่ได้ดังมาก แต่ชุดแรกเขาดังมาก (แดนศิวิไลซ์) แต่ชุดที่ 2 (คือชุดนี้) ไม่ดัง แต่ก็มีคนรู้จัก เป็นอัลบั้มที่ผมชอบมากๆ และเขาเพิ่งทำแผ่นเสียง

ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์

วงร็อคแบบเฮฟวี่ ข้อดีของวงนี้คือ พี่โป่ง – ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ เขาเขียนเนื้อเพลงได้ดีมาก เป็นคนเขียนเพลงสุดยอดอีกคนของเมืองไทย เสียงเขาสูงที่สุดในประเทศแล้ว ณ โมเมนต์ตอนนั้น ฝั่งพาร์ทดนตรี โอฬาร พรหมใจ มือกีตาร์ เขาก็ลีดกีตาร์ได้ดีแบบขนลุกเลยอะ มีมือเบส มือกลอง คือครบ ซึ่งอัลบั้มนี้มีทุกอย่างอยู่ในนี้ มีเพลง 'หูเหล็ก' เนื้อหาประมาณ จะฟังเพลงแนวนี้จะทำไม! เพลง 'ฟ้าขอท้าทาย' ฟีลแบบคนต้องท้าทายฟ้าหน่อย เพลง 'เพราะรัก' เพลงใต้สะดือมากเลย ฉันเสียตัวแล้วแต่ฉันทำไปเพราะรักนะ เป็นเพลงอีโรติกที่สวยมากๆ จบเพลงนี้ต่ออีกเพลงคือ 'เหนือคำบรรยาย' เป็นเพลงขอบคุณพ่อแม่ทำ คือมันอยู่ในอัลบั้มเดียวกันได้อย่างไรวะ (หัวเราะ) แล้วมันฟังต่อกันได้สมูธด้วยนะ เขาทำเพลงด้วยกันจนถึงชุดที่ 2 แล้ว ก็แยกย้ายกันไปทำหิน เหล็ก ไฟ พอผ่านไป 5 ปี ก็มาทำวงเดอะซัน

Crub

วงที่ออกมาพร้อมกับโมเดิร์นด๊อก ตอนนั้นเป็นคอนเสิร์ต Radiohead Live in Bangkok แล้วหน้างานมีวงไทยสองวงอยู่ข้างหน้า คือ โมเดิร์นด๊อก กับ 'ครับ' แล้วโมเดิร์นด๊อกเป็นวงเปิดได้เล่นประมาณ 3 เพลง หน้างานขายเทป เลยซื้อมาอย่างละวง มีซีดีด้วย

เกณฑ์ของนักรีวิว

มีเกณฑ์เดียวเลยคือ เพลงนั้นมันดีครับ ถ้าเพลงไม่ดีเราก็ไม่เอามาแนะนำ เป็นเพลงที่ดีในความรู้สึกเรา โดยเลือกศิลปินดีๆ และเพลงดีๆ ขึ้นมา บางทีเราก็ตามกระแสเหมือนกัน ตอนนั้นเจ-ปิ่น ทะเลาะกัน เราก็ลงเพลงของเขาทั้งคู่เลย บางคนไม่รู้ว่าปิ่นเคยเป็นนักร้องด้วยนะ เขาเคยอยู่ Kidnappers หรือ ถ้าช่วงนั้นมีศิลปินเสีย แล้วเรามีข้อมูลอยู่ในมืออยู่แล้ว จังหวะมันตรงกันพอดี เราก็จะเขียนเพื่อระลึกถึงเขาและแสดงความเสียใจ แต่ปกติหลักๆ คือ เราเขียนตามใจตัวเอง

ในวันที่ยังไม่หยุดพัฒนาเรื่องการเขียน

มีเพจๆ หนึ่ง ชื่อ บทจะเขียนก็เขียน ที่เขาสอนคนเขียนบทภาพยนตร์ เราเห็นยังอยากไปเรียนเพิ่มเติมกับเขาเลย มันอาจจะเอาตรงนั้นมาปรับใช้กับงานของเราได้ เพราะเราไม่ได้อยากหยุดอยู่กับที่ ต่อให้เราเขียนเองไปเรื่อยๆ แต่อาจมีวันหนึ่งที่มันซ้ำเดิมแล้ว หมายถึงวิธีการนะ แต่เรื่องราวอาจไม่ใช่ หรือ ถ้าได้ไปเรียนวิธีการเขียนจากที่อื่นๆ อาจจะได้วิธีคิดหรือวิธีทำงานมากขึ้น

เราเขียนจากประสบการณ์ของตัวเองครับ ด้วยความที่เราเขียนมาเยอะแล้ว เราเขียนวิจารณ์เพลงกับ HAMBURGER มาตั้งแต่ปี 2007 ทำให้เริ่มรู้แนวการเขียนของตัวเอง การที่เราเขียนรีวิวเพลงลงเพจ 400 กว่าเพลง จาก ณ วันแรกที่เริ่มเขียน จนถึง ณ ตอนนี้ เรารู้สึกว่าเราพัฒนาขึ้น ทำให้เรารู้แนวทางว่าต้องเขียนอย่างไร ทำให้เราพัฒนากับงานไปเอง

เพลงเก่า-เพลงใหม่ เพลงไทย-เพลงฝรั่ง

ผมตั้งไว้ ผมรีวิวเพลงไทย 80% เพลงฝรั่ง 20% เพราะส่วนใหญ่คนที่กดไลก์จะชอบเพลงไทยกัน หรือ ถ้าเป็นเพลงฝรั่งต้องดังจริงๆ แต่เราก็ไม่ได้อยากเขียนแต่วงที่ดังๆ เพราะเขาดังอยู่แล้ว หรือ ถ้าจะเขียนถึงก็จะเขียนเพลงที่ไม่ดังของเขา นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของเพลงเก่า-ใหม่ และที่คนชอบกดไลก์เยอะคือเพลงเก่า อาจจะเพราะเขาอาจจะลืมไปแล้วหรือเคยชอบ เลยเป็นเพลงเก่า 80% เพลงใหม่ 20% ด้วย แต่จะเริ่มเขียนเพลงใหม่ให้เยอะๆ กว่านี้ เพราะอยากจะบอกแฟนเพจว่า คุณอย่าเพิ่งหยุดฟังเพลงนะ คุณควรจะต้องรู้จักเพลงใหม่ๆ บ้างนะ เพราะมีศิลปินทำมาดีๆ เยอะแยะ แต่บางทีเขียนเพลงใหม่ๆ ไป ซึ่งเป็นเพลงที่ดีมากๆ คนก็กดไลก์น้อย เลยต้องเน้นเพลงเก่ามากกว่า

เราแก้เบื่อด้วยการวางแพลนคอนเทนต์ของเรา วันอาทิตย์ กับ วันพุธ เป็นรีวิวอัลบั้ม วันอื่นจะเป็นเพลง ถ้าไม่ทำแบบนี้เราอาจขี้เกียจและเบื่อด้วย เพราะการแนะนำอัลบั้มทำให้เราจำเป็นต้องฟังทั้งอัลบั้ม ทำให้บังคับตัวเองมากขึ้น ทำให้เราตื่นตัวในการทำงานอยู่เสมอ

มากกว่าการฟังเพลง คือการเข้าใจศิลปิน

ผมเริ่มตกผลึกเรื่องนี้ได้ไม่นาน สิ่งที่ผมได้จากการฟังเพลงอันหนึ่งคือ เราเข้าใจศิลปินมากขึ้น และมากขึ้นเรื่อยๆ และเข้าใจด้วยว่ามันมีขึ้นมีลง คือ ศิลปินเขาทำเพลง ทำออกมาอยากให้ดัง เวลาเราเขียนเพจเราก็อยากให้คนกดไลก์เยอะๆ เราเข้าใจโมเมนต์นี้เลยนะว่าศิลปินเขาตั้งใจทำแหละแต่มันออกมาไม่ดัง เหมือนกับบทความของเราที่เราตั้งใจทำมากเลยนะ แต่คนกลับกดไลก์น้อยมากก็ไม่เข้าใจ แต่บางอันเขียนปกติหรือใช้เวลาเขียนไม่นาน ยอดไลก์กับยอดแชร์เยอะมาก เราเลยเข้าใจศิลปินเพราะมีเคยมาแชร์กับเราเหมือนกันว่า เพลงที่ตั้งใจทำมากๆ มันไม่ดัง แต่เพลงที่เขียนๆ ไปธรรมดากลับดัง เพราะฉะนั้น เราไม่ต้องตั้งใจมากก็ได้ มันอาจจะดังก็ได้ บางทีก็เป็นเรื่องของจังหวะด้วย

เมื่อมีคนชอบ ย่อมมีคนไม่ชอบ

ก็เรื่องปกติ ไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เราเขียนให้เขาอ่านฟรีๆ ก็แล้วแต่เขา ก็ปล่อยไป แต่ถ้าเจอแบบด่าเลยยังไม่เคยเจอครับ แต่ผมจำคำพูดของแสตมป์ อภิวัชร์ อันหนึ่งได้ดี ตอนที่เขาดังมากๆ เขาเคยเขียนประโยคนี้ในทวิตเตอร์ว่า 'ถ้าเราเปิดใจที่จะรับดอกไม้ เราก็ต้องเปิดใจที่จะรับก้อนหินด้วย' รู้สึกว่าประโยคนี้มันจริงและเป็นสัจธรรมมากๆ เพราะถ้าคุณเปิดประตูแล้ว ในวันที่เขายังเป็นศิลปินที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเขาอาจจะเปิดแง้มๆ พอมีชื่อเสียงเลยเปิดกว้าง และคุณก็มีโอกาสที่จะโดนก้อนหิน คุณก็ต้องเปิดใจรับมันด้วย ซึ่งผมรับได้นะ ณ เวลานี้

ทิศทางวงการเพลงไทยในปัจจุบัน

ผมว่าเพลงไทยมันดีขึ้นมา 2-3 ปีแล้ว พอหมดโควิดปั้บ ศิลปินไทยไปต่างประเทศเยอะ อย่าง Tilly Birds ไปสิงคโปร์ อันนั้นก็ Sold Out Scrubb ไปญี่ปุ่น ไปฮ่องกง บัตรก็ขายหมดเกลี้ยง เราดีใจกับศิลปินด้วยนะ เพราะพวกคุณไปได้ไกลกว่าประเทศไทย แต่ผมก็ยังมองไม่ค่อยออกว่าปีหน้ามันจะขึ้นได้มากกว่านี้ไหม ถ้าเทียบต่างประเทศแล้ว เรายังสู้เกาหลีไม่ได้เลย เขาไประดับ International แล้ว เรายังอยู่แค่เอเชีย ก็จะมี ภูมิ วิภูริศ กับ มิลลิ ที่ไปได้ไกลกว่าเพื่อน แต่นั่นมันคือ Individual

บ้านเราต้องสร้าง Individual อีก 20-30 คนถึงจะโอเค แต่ ณ วันนี้ยังไม่เห็นว่าใครจะทำได้ ยังไม่เห็นว่าใครจะสร้างได้ และยังไม่เห็นว่ารัฐบาลจะพร้อมซัพพอร์ตอะไรแบบนี้เลย แต่ก็ไม่แน่อาจจะมีขึ้นจริงๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวศิลปินด้วย

‘The Journey of T-Pop’ โดย Cadson Demak Records

Cadson Demak เดิมทีเขาทำฟอนต์ตัวหนังสือ ทำให้ทั่วประเทศไทย ฟอนต์ของเขาจะไม่ค่อยเหมือนคนอื่น แล้วเขารับออกแบบฟอนต์ให้องค์กรใหญ่ๆ ด้วย เจ้าของบริษัทเขาชอบฟังเพลง เขาเลยมี Cadson Demak Records เขาเลยมาคุยกับผมและทีมงานว่า อยากทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องเพลงจริงจัง เราก็อยากทำอะไรที่เป็นแนวคุยเพลงจริงจังเหมือนกัน พอมาเจอกันมันพอดี เลยมาจอยกันและทำ Episode แรกที่ทำเล่าเรื่องเพลงไทยและประวัติศาสตร์ต่างๆ ตอนที่ 10 เป็นตอนสรุป ส่วนตอนที่ 11-20 คือ เจาะลึกเรื่องเพลงยุคปี 1991 ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ โดยการรีเสิร์ชข้อมูลเพื่อนำมาเล่าให้ฟัง ตอนนี้กำลังเริ่มทำ Episode 3 ต้องติดตามครับว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร ส่วน The Journey of T-Pop อยู่ใน Cadson Demak Records ทำเพื่อเล่าเรื่องเพลง T-Pop ว่าเป็นอย่างไร มีจุดกำเนิดอย่างไร

กำลังจะกลับมาทำ DefSpot อีกครั้ง!

ปีที่แล้วผมทำ DefSpot ใน YouTube เหมือนเวลาเราขับรถ มันจะมีจุดที่เรามองไม่เห็น เราเลยมองว่า หูอาจเป็น DefSpot อาจมีเพลงที่เราไม่ได้ยิน เลยอยากแนะนำเพลงที่ไม่เคยได้ยินให้คนฟัง อัลบั้มเพราะๆ มีอะไรบ้าง อัลบั้มออกใหม่มีอะไรบ้าง อาทิตย์นี้มีอะไรบ้าง นั่งคุยเรื่องเพลงเก่ากับ ปอย Portrait และ ปิง Monotone นั่งคุยเรื่องเพลง เรื่องเทปสมัยก่อน เรื่องเบเกอรี่ ยุคแฟตเรดิโอ ฯลฯ ทำได้เกือบ 10 ตอนก็หยุดไปเพราะต้องทำงานประจำด้วย เลยเบรกไปก่อน แต่ตอนนี้คิดว่าจะกลับมาทำอีกครั้งครับ

หัวใจสำคัญของการทำเพจ

คอนเทนต์และเรื่องเพลง เพราะคนรู้จักเพลงอยู่แล้ว แต่เขาอยากจะอ่านที่เขียนว่ามันเพราะอย่างไร เราจะสื่อสารอย่างไร ตัวเราเองบางทีก็ฟังไม่ทะลุปรุโปร่ง เพราะมีคนฟังลึกกว่าเรา แม้กระทั่งการโฟกัสไปที่เสียงกลอง ทำให้เราต้องกลับไปฟังอีกที เราเลยอยากจะเล่าสิ่งเล็กๆ หรือ สิ่งที่คนอาจมองข้ามไปตรงนี้ คอนเทนต์จึงเป็นหัวใจของการทำเพจ กับ อีกอันคือ การเลือกเพลงมาเขียน

สิ่งที่ได้รับจากการทำเพจเลเล่เล้

ยังไม่ได้เงินเลยอะ (หัวเราะ) แต่ได้บัตรคอนเสิร์ตจากคนโน้นคนนี้หรือศิลปินชวน ด้วยความที่เราเขียนถึงเขามั้ง แบบโคตรใจฟูเลยเวลาเขาชวนไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดค่าไม่ได้ อาจมีคนติดต่อเราเข้ามาบ้างเพื่อทำงานต่อ อย่าง EQ ติดต่อมาสัมภาษณ์เราก็ดีใจครับที่มีคนอยากรู้จักเรามากขึ้น

อนาคตของ ‘เลเล่เล้ - แนะนำเพลงไทยและสากล’

หน้าตาของเพจหรือคอนเทนต์ตอบยากจริงๆ เพราะตอนนี้มันอยู่ตัวแล้ว โพสต์วันละเรื่อง ไม่หนักเกินไปหรือน้อยเกินไป ขอเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก่อนแล้วกัน

มีสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำคือ ผมอยากออกหนังสือไม่เกินปีนี้หรือปีหน้า เป็นพ็อกเก็ตบุ๊กครับซึ่งเขียนเนื้อหาไว้หมดแล้ว เหลือติดต่อสำนักพิมพ์เพื่อพิมพ์หนังสือ ออกแบบหน้าปกและรูปเล่ม และอาจต้องรีไรต์อีกนิดหน่อย ชื่อหนังสือคือ 365 อัลบั้มยอดเยี่ยมของประเทศไทย เป็นการรวบรวมทุกยุคทุกสมัยเลย

ถ้าเราเขียนได้ดี เดี๋ยวคนเขาแชร์เอง ถ้าเนื้อหาเราดีจริง เขาก็ตามเองและชอบเองแหละ

ติดตามรีวิวเพลงจากเลเล่ได้ที่

Facebook: เลเล่เล้ - แนะนำเพลงไทยและสากล