เวลาเรานึกถึงกะเทยกับเพลงลูกทุ่งหรือเพลงหมอลำ เรามักจะนึกถึงการไปม่วนหน้าฮ่านของเหล่ากะเทยเวลามีการจัดแสดงโชว์ของศิลปินหมอลำ ที่มักจะปรากฏออกมาเป็นคลิปไวรัลให้เราได้ดูกัน กับลีลาการเต้นทั้งม้วนหน้า ตีลังกา ในแบบที่ไม่มีใครยอมใคร
เพลงที่กะเทยไปม่วนหน้าฮ่านก็มักจะเป็นเพลงลูกทุ่งหรือหมอลำที่มีจังหวะสนุกสนาน มีลูกเล่นให้ได้ออกท่าออกทาง ครีเอทสิ่งต่างๆ แต่จะมีเพลงไหนบ้างที่เป็นตัวแทนของเหล่ากะเทยจริงๆ แน่นอนว่าไม่มีเพลงไหนจะมาแย่งชิงตำแหน่งเพลง ลมพัดตึ้ง พัดตึ้ง พัดตึ้ง ตึ้งๆๆๆๆ (สาวเลยยังรอ) ไปได้
ในวงการลูกทุ่งที่มีแต่นักร้องชายและหญิงเป็นส่วนใหญ่ ยังคงเป็นโลกที่กะเทยแทรกตัวเข้าไปยืนอยู่ได้ยาก หากเปรียบเทียบกับวงการแพลงแนวอื่นๆ มีเพลงลูกทุ่งไม่กี่เพลงที่มีเนื้อหาแสดงถึงชีวิตกะเทย แต่นั่นใช่ตัวและสิ่งที่กะเทยอยากจะบอกผ่านออกมาเป็นเนื้อเพลงจริงๆ ไหม?
ในปี 2547 ปอยฝ้าย มาลัยพร (ที่หลายคนอาจจะรู้จักเขาในเพลง ‘จั่งซี่มันต้องถอน’ ในเวลาต่อมา) มีผลงานอัลบั้ม ‘วอนฟ้า’ โดยหนึ่งในเพลงดังของอัลบั้มนั้นก็คือ ‘กะเทยประท้วง’ ซึ่งมีเนื้อหาสื่อถึงความภูมิใจที่เกิดมาเป็นกะเทย หลายคนอาจจะคิดว่าปอยฝ้าย มาลัยพร เป็นกะเทย หากดูจากมิวสิควิดีโอเพลงนี้ แต่ที่จริงเขามีภรรยาและลูก เพลง ‘กะเทยประท้วง’ เป็นเพียงการแสดงเท่านั้น เหมือนที่เขามักแสดงเป็นหญิงชราบนเวทีคณะหมอลำเสียงอีสานของนกน้อย อุไรพร
https://www.youtube.com/watch?v=4DlEHie90Wc
แม้จะเรียกได้ว่าเพลง ‘กะเทยประท้วง’ เป็นเพลง empower กะเทย แต่มันกลับมาจากการแสดงของนักร้องชายเสียมากกว่า
จากความโด่งดังของเพลง ‘กะเทยประท้วง ของปอยฝ้าย มาลัยพร เราก็จะเห็นโมเดลคล้ายๆ กันก็คือ นักแสดงตลกชายที่แสดงเป็นหญิงบนเวทีหมอลำออกเพลงเกี่ยวกับกะเทยออกมา หนึ่งในนั้นก็คือ ยายจื้น เสียงอีสาน (ที่แสดงเป็นหญิงชราตลกคล้ายกับปอยฝ้าย มาลัยพร) ที่ในชีวิตจริงเป็นผู้ชายมีภรรยาและลูกเช่นกัน
ยายจื้น เสียงอีสาน มีเพลงดังที่เกี่ยวกับกะเทยสองเพลงก็คือ ‘กะเทยชนบท’ และ ‘กะเทยก่อม็อบ’ โดยในเพลงแรกนั้นมีเนื้อหาของความน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดเป็นกะเทยชนบท เมื่อเปรียบเทียบกับกะเทยในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ฐานะ ไปจนถึงการได้ ‘ผู้ชาย’ ส่วนเพลงต่อมา ‘กะเทยก่อม็อบ’ มีเนื้อหาประท้วงทัศนคติและการเลือกปฏิบัติของสังคมต่อกะเทย ซึ่งมีทั้งเรื่องการจดทะเบียนสมรส การใส่กระโปรงในสถานศึกษา แต่ก็มีการอยากเกณฑ์ทหารเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องนั้นด้วย
ไม่เพียงแค่เพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกะเทยที่ถูกร้องโดยผู้ชายที่สวมบทบาทเป็นกะเทย ยังมีอีกหลากหลายเพลงลูกทุ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกะเทยแต่ร้องโดยศิลปินชายเช่นเดียวกัน อย่างเพลง ‘กะเทยศรีอีสาน’ ของก้อง ห้วยไร่ ที่มีเนื้อหาบรรยายลักษณะ ไลฟ์สไตล์ ของกะเทยอีสานในแต่ละจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นกะเทยอุบลราชธานี ที่มักแย่งผัวชาวบ้านไปนอนกกกอด กะเทยยโสธรแต่งหน้าผิดเบอร์ หน้าขาวแต่คอดำ กะเทยอุดรธานีคือกะเทยที่สามารถสลับบทบาทเป็นได้ทั้งผัวและเมีย กะเทยสายเปย์คือกะเทยร้อยเอ็ด กะเทยโคราชคือกะเทยที่ไม่สนว่าผู้ชายจะแก่หรือเด็ก ฟาดหมด หรือแม้กระทั่งการพูดถึงกะเทยมหาสารคามกับเหตุการณ์ ‘ขี้แตก’ บนที่นอน ที่สามารถอุปมาไปได้ว่ามันคือเรื่อง ‘การแถมทอง’
แม้เพลง ‘กะเทยศรีอีสาน’ ของก้อง ห้วยไร่ จะมีสำเนียงหยอกล้อ พูดเล่น สนุกสนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันช่างเป็นการเหมารวม นำเอามุมมองและทัศนคติจากพฤติกรรมที่ถูกตีตราของกะเทยมาผลิตซ้ำ ด้วยการตีตราซ้ำย้ำๆ อีกรอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่กะเทยหรือกลุ่ม LGBTQ+ ในไทยถูกกระทำเรื่อยมาในการตีตราและสร้างภาพลักษณ์ที่บิดเบี้ยวในสื่อ และที่สำคัญมันมาจากการบอกเล่าของศิลปินชาย
นอกจากนี้ยังมีเพลง ‘มักกะเทยหน้าฮ้าน’ ของ ชาติชัย ชัยกมล มุมมองของ ‘ผู้ชาย’ ที่อกหักจาก ‘ผู้หญิง’ (ที่ไม่จริงใจ) และหันมามอง ‘กะเทย’ แทน โดยให้ความเห็นว่าอยู่กับกะเทยมีแต่ความสนุกสนานเบิกบาน โดยเชื่อมโยงความเป็นกะเทยกับความที่กะเทยชอบไปเต้นม่วนหน้าฮ่าน และยังมีเพลงชื่อคล้ายๆ กันอีก คือ ‘กะเทยหน้าฮ้าน’ ของ แมน มณีวรรณ อาร์ สยาม ที่พูดถึงลักษณะของกะเทยที่มักไปเต้นหน้าฮ่าน ที่เต้นแรงเต้นเยอะกว่านักร้อง นางเอกหมอลำ หรือแดนเซอร์ ซึ่งหน้าจะเป็นการต่อยอดจากความโด่งดังของคลิปไวรัลกะเทยหน้าฮ่านและเพลงสายเลยยังรอ (ลมพัดตึ้ง) ที่มีการหยิบท่อนลมพัดตึ้ง พัดตึ้ง มาใช้ในเพลงนี้ด้วย
และดูเหมือนว่าปรากฏการณ์กะเทยหน้าฮ่าน ยังส่งอิธิพลให้เกิดเพลงลูกทุ่งหมอลำตามมาอีกหลายเพลง หนึ่งในนั้นก็คือเพลง ‘กะเทยแล่นไม้’ ของศิลปินหญิง แพรวพราว แสงทอง ที่มีเนื้อหาพูดถึงความสนุกสนานของชีวิตกะเทยกับการเต้นหน้าฮ่านคล้ายกับเพลง ‘กะเทยหน้าฮ้าน’ ของ แมน มณีวรรณ อาร์ สยาม
ชีวิตกะเทยยังถูกถ่ายทอดด้วยศิลปินหญิงอีกหลายเพลง หนึ่งในนั้นก็คือเพลงหมอลำ ‘ย่ารับบ่ได้สะใภ้กะเทย’ ของราชินีหมอลำซิ่ง บัวผัน ทังโส ที่ชื่อเพลงแม้จะดูโศกแต่นั้นเป็นลำเต้ยเอาไว้สนุกสนานหน้าเวทีเช่นเดียวกัน เนื้อเพลงว่าด้วยกะเทยกับการไม่ได้รับการยอมรับจากแม่ผัว ทั้งๆ ที่สามารถทำงานหนักก็ได้ เป็นแม่ศรีเรือนก็ได้
https://www.youtube.com/watch?v=dDvOsdQf648
แม้จะเห็นได้ชีวิตของกระเทยถูกขับขานโดยศิลปินชายและหญิงเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีศิลปินกะเทยที่ร้องเพลงชีวิตของตัวเองเลย เพราะเมื่อปี 2558 ก็มีศิลปินเพลงลูกทุ่งกะเทยโดยใช้ชื่อว่า ‘หญิงจี้ กะเทยลั้นลา ท็อปไลน์’ กับเพลง ‘กะเทยลั้นลา’ ที่โด่งดังด้วยเนื้อหา จังหวะดนตรีและการร้องของหญิงจี้ที่ใช้ทั้งเสียงดัดที่ฟังดูเหมือนเสียงนักร้องหญิง และเสียงห้าวทุ่มที่ฟังดูเหมือนนักร้องชาย โดยมีเนื้อหาพรรณนาถึงลักษณะกะเทยทั้ง รักใครรักจริง ไม่เคยนอกใจ มีแต่ให้ เต็มใจให้เขาหลอก ชอบสร้างสีสัน หรือแม้กระทั่ง กะเทยเป็นเพศที่อ่อนแอ อย่ารังแก
เสียดายที่เราไม่ได้เห็นผลงานเพลงของหญิงจี้อย่างต่อเนื่องจนพอที่จะได้เห็นว่าเรื่องราวของกะเทยหากถูกถ่ายทอดเป็นเพลงลูกทุ่งหมอลำโดยกะเทยเองนั้น จะเป็นอย่างไรบ้าง มีเนื้อหาครอบคลุมถึงเรื่องอะไรบ้าง และมีมุมมองทัศนคติต่อเรื่องอื่นๆ อย่างไร (แม้สุดท้ายคนแต่งเนื้อร้องอาจจะเป็นชายก็ได้)
เพราะที่ผ่านมาเรื่องราวของกะเทยในเพลงลูกทุ่งนั้น เป็นได้เพียงแค่ส่วนประกอบให้ศิลปินหญิงหรือชายนำไปร้อง นำไปขยาย นำไปขาย หรือเป็นได้เพียงตัวประกอบ ตัวตลกในมิวสิควิดีโอ