“ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากไปเป็นผีน้อย”
“เป็นเสาหลักของครอบครัวถ้าไม่ออกมาทำงานอยู่ที่นี่ก็จะไม่มีเงินส่ง”
“ความเป็นอยู่ที่นี่ดีกว่าที่บ้าน งานก็ได้เงินเยอะ ห้องก็สวยกว่าที่บ้าน นายจ้างดี”
เสียงเหล่านี้คือ ส่วนหนึ่งจากแรงงานไทยที่เดินทางไปเกาหลี และลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือที่สังคมรู้จักในนาม ‘ผีน้อย’ พวกเขาถูกมองว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทางรัฐบาลเกาหลีและไทยต้องหาทางออกร่วมกันมาอย่างยาวนาน ในบทความนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักระบบที่สร้างผีน้อยขึ้นมากันว่า อะไรบ้างที่มีผลในการสร้างพวกเขาขึ้นมา และมันเป็นทางเลือกส่วนตัวของพวกเขา หรือระบบที่ล้มเหลวกันแน่
จากคนที่ตกหล่น เพราะระบบที่ล้มเหลว สู่ต้นกำเนิด ‘ผีน้อย’
ปัจจัยหลักที่กลุ่มแรงงานนอกระบบหลายคนเลือกจะไปเสี่ยงตาย อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ทำงานหนักในฐานะผีน้อย ก็มีสาเหตุมาจากความต้องการที่จะหาเงินให้ได้มากๆ เพื่อจะดูแลทั้งตนเอง และครอบครัว เนื่องจากการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาที่เศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพสูง และขาดรัฐสวัสดิการที่ดูแล
ทางออกของพวกเขาก็คือ ต้องไปหางานนอกระบบเพื่อมาดูแลตัวเองแทน ซึ่งถ้าหากพวกเขาอยู่ในประเทศที่ระบบสามารถดูแลพวกเขาได้ มีตลาดแรงงาน, มีโอกาสในการสร้างเนื้อสร้างตัว, มีค่าแรงขั้นต่ำที่เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงมีรัฐสวัสดิการที่ดูแลพวกเขาได้ กลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้อาจจะไม่เกิดขึ้น
ใช่ว่าเกาหลีใต้จะไม่อยากได้แรงงาน
ปี 2023 คือปีที่เกาหลีใต้มีแผนที่จะรับแรงงานต่างชาติกว่า 110,000 คน เข้ามาเป็นแรงงานในระบบ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ และงานในโรงงาน เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ไม่ต้องการจะทำงานเหล่านี้ เพราะพวกเขามองว่าเป็นงานที่สกปรก และอันตราย ทำให้นายจ้างต้องปิดตาข้างหนึ่งเพื่อรับแรงงานนอกระบบเข้ามาทำงาน เพื่อช่วยให้ธุรกิจของพวกเขารอด
อย่างไรก็ตามทางกลุ่มเจ้าของธุรกิจก็ได้ออกมาส่งเสียงกันว่า ตัวเลขของแรงงานที่รัฐประกาศจะรับเข้ามามันไม่เพียงพอต่อความต้องการแรงงานด้วยซ้ำ พวกเขาบอกว่า การออกนโยบายนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เข้าใจของทางรัฐบาลเกาหลีใต้ว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเป็นอย่างไร และตราบใดที่พวกเขายังไม่ร่วมหารือกันเพื่อออกแบบระบบจัดการแรงงานที่ได้ประสิทธิภาพมากกว่านี้ การว่าจ้างแรงงานนอกระบบที่ผิดกฎหมายก็จะดำเนินต่อไป
วังวนแห่งความล้มเหลวของระบบจัดการแรงงานข้ามชาติ
ปัญหาหลักของระบบ EPS (Employment Permit System) หรือระบบจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศเกาหลีใต้ ที่ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศต้นทาง และเกาหลีใต้ แต่ระบบนี้ก็มีข้อจำกัด และเงื่อนไขหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงานแบบที่เกาหลีใต้ต้องการ อย่างเช่น การจำกัดโควตาว่าจ้างแรงงานต่างชาติที่ไม่เพียงพอกับที่ขาดแคลนอยู่ เมื่อแรงงานที่มีไม่เพียงพอ นายจ้างก็ต้องจ้างแรงงานผิดกฎหมายเพิ่ม เพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจำกัดอายุของวีซ่าทำงานให้ไม่เกิน 39 ปี แรงงานที่อายุเกินหลายคนจึงต้องเลี่ยงออกจากระบบ ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องระบบการดูแลแรงงาน ที่ทำให้เหล่าลูกจ้างไร้อำนาจต่อรองกับนายจ้าง และไม่สามารถพึ่งพานายจ้างได้ เมื่อหมดช่วงวีซ่าพวกเขาเลยเลือกออกจากระบบ นี่แหละคือ ปัญหาที่วนเวียนไม่จบสิ้นของเหล่า ‘ผีน้อย’
‘ผีน้อย’ ที่อายุไม่น้อย การดิ้นรนเมื่อสังคมผู้สูงอายุ ถูกเพิกเฉยโดยรัฐ
การตัดสินใจไปเป็นแรงงานนอกระบบในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากสังคมสูงอายุ ที่ทำให้ในตลาดแรงงานมีแรงงานสูงอายุมากขึ้น แต่ในเมืองไทยกลับไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา ยิ่งอายุมาก ยิ่งหางานยาก ยิ่งอายุมาก ยิ่งเข้าถึงทรัพยากรยาก ยิ่งอายุมาก ยิ่งขาดรัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุหลายคนที่ไม่ได้มีคนดูแล ต้องดูแลกันเอง ยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจย่ำแย่ทำให้แรงงานสูงอายุหลายคนตัดสินใจจะไปเสี่ยงดวงหารายได้ในต่างประเทศ เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง สร้างเนื้อสร้างตัว และดูแลครอบครัว ให้อยู่รอดในอนาคต
FYI: เบี้ยผู้สูงอายุไทยมีจำนวนเฉลี่ยที่ 700 - 1,000 บาทต่อเดือน
มีปัญหา ย่อมมีทางออก
ข้อมูลจากบทความ ‘เปลี่ยน ‘ผี’ ให้เป็น ‘คน’ : เหตุผลที่คนเลือกเป็น ‘ผีน้อย’ และปัญหาเชิงระบบของการส่งแรงงานไปเกาหลี’ โดย ‘รีนา ต๊ะดี’ นักเขียน/นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติในเกาหลีใต้ ได้เสนอแนวทางออกไว้ว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขระบบ EPS การจัดการแรงงาน และข้อกำหนดในการส่งแรงงานสู่เกาหลีใต้ อย่างเช่น การแก้ไขจำนวนโควตาให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มนายจ้าง, ลดเงื่อนไขข้อจำกัดทางอายุเพื่อรับแรงงานสูงอายุไปช่วยตลาดแรงงานที่ขาดแคลน อย่างภาคการเกษตร และปศุสัตว์ รวมทั้งเสนอให้ทางภาครัฐ เอกชน ตัวแทนแรงงานไทย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการจัดส่งแรงงานไปในประเทศเกาหลีใต้ได้หารือพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
ประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหาที่คล้ายคลึงกับเรื่องราวของกลุ่มผีน้อย ซึ่งเรารู้จักพวกเขาดีในฐานะ ‘แรงงานต่างด้าว’ ซึ่งเกิดจากระบบจัดการแรงงานที่ล้มเหลว ในอดีต นำไปสู่เหตุการณ์แรงงานต่างด้าวกลับประเทศ จนขาดแคลนแรงงานในตลาดอยู่ระยะหนึ่ง ทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของกลุ่มแรงงานข้ามชาติกันมากขึ้น และการรณรงค์เพื่อทำลายอคติภาพจำของแรงงานข้ามชาติ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด พร้อมทั้งมีกลุ่มที่เสนอนโยบายปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดแรงงาน
และการจัดการระบบแรงงานในไทย ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่คุ้มค่ากับงาน, ระบบที่ดูแลสวัสดิภาพแรงงาน, การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ไปจนถึงการปรับโครงสร้างสังคมให้เท่าเทียมขึ้นเพื่อดูแลแรงงานในไทย และแรงงานข้ามชาติ ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อยุติการสร้างผีน้อย พร้อมทั้งล้างการตราหน้าแรงงานกลุ่มหนึ่ง ด้วยคำว่า ‘ต่างด้าว’ ทำให้พวกเขากลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ทำหน้าที่แรงงานในตลาดแรงงาน อย่างมีสิทธิมีเสียง และได้รับการดูแลเท่าเทียมกัน
ถ้าระบบไม่เปลี่ยนไป ผีน้อย - แรงงานต่างด้าว ก็ยังไม่ได้เป็นคน
ท้ายที่สุดแล้วการแก้ไขที่ปลายเหตุด้วยการส่งกลับประเทศ การนำเสนอภาพของพวกเขาในแง่มุมที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือการขึ้นทะเบียนเฉพาะบุคคล อาจจะไม่ใช่ทางออกเพื่อยุติปัญหาแรงงานนอกกฎหมายได้อย่างยั่งยืน สิ่งที่จะยุติการเกิดผีน้อย และทำให้พวกเขาได้กลายเป็นมนุษย๋ที่มีสิทธิ์ทำงานอย่างชอบธรรม ก็จะต้องเริ่มจากการพิจารณาแก้ไขระบบการจัดการแรงงาน โครงสร้างของสังคมที่ตัดตัวเลือกในการใช้ชีวิต และสร้างพวกเขาขึ้นมา เพราะตราบใดที่ระบบไม่ถูกเปลี่ยนแปลงผีน้อยก็จะยังไม่หายไป