ในกรุงเทพฯ ที่มีผู้คนอาศัยอยู่นับหลายล้านคน แน่นอนว่าในจำนวนนั้นก็มีชาวต่างชาติอยู่ไม่น้อย และพวกเขามักจะอาศัยอยู่ร่วมกันในย่านหนึ่ง จนกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่เป็นเหมือนบ้านในแดนไกล อย่างเยาวราชที่เป็นถิ่นคนจีน หรือพาหุรัดอันขึ้นชื่อว่าเป็น Little India เมืองไทย กระเถิบมาอีกนิดก็จะเป็นพร้อมพงษ์-เอกมัย ที่คล้ายกับการยกดินแดนอาทิตย์อุทัยขนาดย่อมมาไว้ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยจำนวนร้านรวงและป้ายต่างๆ นานาที่ล้วนเป็นภาษาญี่ปุ่น
ระหว่างที่รอประเทศญี่ปุ่นเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มตัวในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 2022 นี้ EQ ก็ได้โอกาสพาทุกคนไปเดินเล่นในย่านพร้อมพงษ์-เอกมัย กับ ‘โคมะ’ (コマ) หญิงสาวสุดร่าเริงจากเมืองอาโอโมริ หนึ่งในยูทูปคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของช่อง ‘Pukuko Channel’ (ぷくこチャンネル) พร้อมพูดคุยกับเธอถึงชีวิตการเป็นคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่บริเวณนี้เช่นกัน
พวกเราเริ่มต้นวันสบายๆ ด้วยการจิบชา ทานขนมกันที่ร้าน ‘Tealily Cafe’ ณ ซอยเอกมัย 12 หนึ่งใน tea house ชื่อดังย่านนี้ ภายในร้านตกแต่งสไตล์มินิมอลที่ให้ความรู้สึกเดียวกับการเดินเขาร้านมูจิแบบไหนแบบนั้น เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้นแต่ครบฟังก์ชั่นการใช้งาน สินค้าวางไว้เท่าที่จำเป็น ให้กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นแบบคอนเทมโพรารี่โมเดิร์นได้อย่างดี มาที่ส่วนของเมนู ขึ้นชื่อว่าร้านชา ไม่ว่าจะเป็น มัทฉะ อุจิฉะ โฮจิฉะ หรือเซนฉะ ร้านนี้ก็มีพร้อมบริการ โดยมีซิกเนเจอร์เป็นการเสิร์ฟชาเขียวเข้มข้นในถ้วยเซรามิกตามฉบับดั้งเดิมของญี่ปุ่น แน่นอนว่าชาทุกถ้วยล้วนทำจากใบชาคุณภาพดี เสริมด้วยประสบการณ์ชงชามานานกว่า 7 ปีของคุณเจ้าของร้าน คอชาต้องหาเวลามานั่งพักผ่อนใจที่คาเฟ่ (ไม่) ลับแห่งนี้ให้ได้เลย
เมนูที่เราเลือกมาสำหรับวันนี้ ‘มัทฉะลาเต้’ ชาเขียวร้อนผสมนมแบบคลาสสิกเพื่อบูสต์ความกระปรี้กระเปร่า และ ‘อุจิมัทฉะ กรานิต้า’ ไอศกรีมชาเขียวเกล็ดน้ำแข็ง ที่บาลานซ์รสขมด้วยความนวลกำลังพอดีของไอศกรีมนมฮอกไกโด อีกจุดหนึ่งที่จะทำให้ใครหลายๆ คนหลงเสน่ห์ Tealily Cafe มากขึ้นก็คือเจ้า ‘โมจิ’ แมวพันธุ์สก็อตติชโฟลด์ตัวอ้วนกลมที่นอนแผ่พุงให้ลูกค้าลูบอย่างว่าง่าย กับของตกแต่งเล็กๆ ภายในร้านที่เป็นรูปแมว คาเฟ่เล็กๆ อันอบอุ่นนี้จึงถูกใจทั้งสายชาและทาสแมว
ระหว่างนั่งภายในร้าน เราก็ได้ชวนโคมะพูดคุยกับถึงเหตุผลที่ทำให้เธอมาปักหลักอยู่ในประเทศไทย จากที่เคยเป็นแอร์โฮสเตสและได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนมาหลากหลายประเทศ เธอบอกกับเราว่า “ตอนที่มาเที่ยวประเทศไทยเป็นครั้งแรก ฉันคิดเลยว่า “ต้องอยู่ที่นี่ได้แน่ๆ” เพราะฉันรักคนไทยมาก ทุกคนใจดีและมีน้ำใจ ที่สำคัญคือคนไทยชอบให้ความช่วยเหลือคนอื่น เพื่อนๆ คนไทยก็คอยช่วยฉันอยู่ตลอดเวลาค่ะ อย่างการสอนคำศัพท์ภาษาไทย และฉันเองก็ชอบพยัญชนะไทยมาก พวกมันดูเหมือนงู (หัวเราะ) เพราะมีหัวกับหางน่ะค่ะ”
“ไทยเป็นประเทศที่มีการผสมผสานกันของวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ นำมาผสมผสานกันได้อย่างลงตัว และอีกสิ่งที่ชอบมากๆ ก็คือ ‘ทะเล’ ส่วนตัวฉันชอบเกาะหลีเป๊ะค่ะ ที่นั่นน้ำใสมากจนเห็นตัวปลา ยิ่งปีนี้ฉันเพิ่งได้ใบอนุญาตดำน้ำมา ก็เลยเที่ยวทะเลบ่อยขึ้นไปอีก”
ในเมื่อมีสิ่งที่ชอบ ก็ย่อมมีสิ่งที่ไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา เราจึงถามถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศไทย โคมะเล่าให้ฟังว่า ช่วงแรกๆ ที่เธอมาอยู่ในประเทศไทยและยังไม่ได้เรียนภาษานั้น การใช้ชีวิตประจำวันอย่างารสั่งอาหารหรือเดินทางด้วยรถสาธารณะนั้นเป็นเรื่องยากมาก จนแอบท้อในบางครั้ง “สำหรับฉัน สิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็คือการรู้ภาษาค่ะ ถ้าพูดภาษาไทยไม่ได้เลย ก็จะทำให้การใช้ชีวิตที่นี่ค่อนข้างลำบาก” เธอเสริมต่อว่า “แต่การใช้ชีวิตในย่านพร้อมพงษ์-เอกมัยนั้นสบายมากเลยค่ะ เพราะมีป้ายที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่เยอะมาก”
ไม่ทันขาดคำ เราก็ย้ายโลเคชั่นมาบริเวณย่านที่เต็มไปด้วยป้ายร้านภาษาญี่ปุ่นในแบบที่โคมะเล่า ป้ายที่เรียงรายกันอยู่แน่นตาจนรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่เมืองไทย นั่นก็คือซอยสุขุมวิท 33/1 ซึ่งอยู่ไม่ไกลจาก BTS พร้อมพงษ์และห้างสรรพสินค้าเอมควอเทียร์ เป็นที่รู้กันว่า คนญี่ปุ่นทุกคนในกรุงเทพฯ มักจะมาจับจ่ายใช้สอยกันที่นี่ เพราะแทบทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ ทั้งร้านอาหาร ร้านหนังสือ ร้านขายของชำ ซาลอน เบเกอรี่ ไปจนถึงซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่น ได้รวมกันอยู่ที่นี่หมดแล้ว
“คนญี่ปุ่นหลายคนอาศัยอยู่แถวนี้เพราะอยากรู้สึกเหมือนได้อยู่บ้านค่ะ ในย่านพร้อมพงษ์-เอกมัยมีร้านอาหารญี่ปุ่นกับอิซากายะเยอะมาก และพนักงานของที่นั่นก็พูดภาษาญี่ปุ่นเหมือนกัน มันทำให้รู้สึกสะดวกสบายมากๆ เลยค่ะ ต่อให้พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ก็ไม่ลำบาก แถมย่านนี้ยังอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ มีทั้ง BTS และ MRT การสัญจรไปมาก็เลยง่าย”
โคมะยิ้มพลางบอกกับเราว่า “ในฐานะคนญี่ปุ่นที่อาศัยในประเทศไทย ฉันดีใจที่มีพวกร้านต่างๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ตหรือศูนย์การค้าของญี่ปุ่นเยอะขึ้นนะคะ เวลาที่อยากได้หรืออยากกินอะไรสักอย่างที่เป็นของญี่ปุ่น ก็สามารถหาซื้อได้ง่ายๆ เลยค่ะ”
ตั้งแต่หัวจนถึงท้ายซอย เราจะเห็นร้านที่แปะป้ายภาษาญี่ปุ่นแน่นขนัด จนมาถึงช่วงเกือบท้ายที่มีร้านขายของทุกอย่าง 60 บาท หรือก็คือ ‘Watts Japan by KOMONOYA’ อันกว้างขวางและโดดเด่นด้วยกระจกใสที่โชว์ให้เห็นของจิปาถะมากมายภายในร้าน มีแม้กระทั่งของเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องการ แต่เมื่อเห็นแล้วก็อยากได้ เช่น แผ่นเช็ดทำความสะอาดแบบแยกประเภทพื้นผิว ถ้วยสำหรับหุงข้าวในไมโครเวฟ บอร์ดไม้คอร์ก ของตกแต่งบ้านตามเทศกาล ฯลฯ ทำให้ได้เห็นสไตล์การช้อปปิ้งของคนญี่ปุ่นยุคใหม่ไปอีกแบบหนึ่ง ที่เน้นเลือกสินค้าจากความสะดวก รวดเร็ว และใช้งานได้ในชีวิตจริง
ที่สำคัญคือ Watts มีสินค้าที่สื่อถึงวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นเป็นจำนวนไม่น้อย อย่างราวหนีบผ้าแบบประหยัดพื้นที่ สำหรับผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ขนาดเล็ก หรือกล่องเบนโตะหลากหลายรูปทรง เราจึงสงสัยว่าคนญี่ปุ่นในไทยอย่างโคมะ เคยนำวิถีชีวิตแบบฉบับบ้านเกิดมาใช้ในบ้านหลังใหม่นี้บ้างหรือเปล่า?
“มีบ้างค่ะ อย่างเพื่อนคนญี่ปุ่นในไทยกับตัวฉันเอง บางครั้งพวกเราก็จะซื้อวัตถุดิบของญี่ปุ่นจาก Don Don Donki หรือ UFM Fuji Supermarket เพื่อทำเบนโตะไว้ทานเป็นอาหารกลางวันค่ะ เด็กญี่ปุ่นในไทยหลายคนเองก็หิ้วเบนโตะไปโรงเรียนเหมือนกัน นั่นก็เพราะพวกเราคิดถึงบ้านเกิด ยิ่งคอมมูนิตี้คนญี่ปุ่นในไทยค่อนข้างเล็ก พวกเราก็จะมาเกาะกลุ่มและหากิจกรรมทำร่วมกัน การทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่มีความเป็นญี่ปุ่นก็ช่วยให้เรารู้สึกถึงบ้านได้ค่ะ”
ตรงข้ามกันก็มี ‘Key Books’ ร้านหนังสือมือสองที่มักจะมีลูกค้าแวะเวียนมาเต็มร้านตลอดช่วงวันหยุด จนถึงขั้นต้องมีสองสาขาในซอยเดียว! สิ่งที่ทำให้ร้านนี้เป็นที่รู้จักในหมู่คนญี่ปุ่น ก็คือการมีหนังสือญี่ปุ่นทุกประเภท ตั้งแต่นิตยสารต่างๆ หนังสือสอนทำอาหาร หนังสือท่องเที่ยว การ์ตูน นิยาย และอีกมากมายในราคาย่อมเยา ที่สำคัญคือไม่ต้องห่วงว่าหนังสือเหล่านี้จะมีตำหนิ เพราะเจ้าของร้านจะไม่รับซื้อมาขายต่อเลย หากมีรอยยับ ฉีกขาด หรือขีดเขียน ทำให้มั่นใจได้ว่าหนังสือจากร้านนี้จะสภาพดีพอสมควร เหมาะเอามากๆ สำหรับใครที่กำลังหาซื้อหนังสือญี่ปุ่นราคาถูกเพื่อใช้ฝึกภาษา
“คนญี่ปุ่นหลายคนชอบร้านนี้ค่ะ ฉันเองก็เป็นลูกค้าประจำเหมือนกัน” โคมะเปรยขณะเลือกดูหนังสือมากมายที่วางอยู่บนแผงหน้าร้าน
ถ้าเดินและนั่งรถกะป๊อต่อไปสักหน่อย ในซอยสุขุมวิท 39 ก็มีตลาดปลา ‘Shinsen Fish Market’ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความพรีเมียม เพราะมีอาหารทะเลสดๆ จากน้ำให้ซื้อแบบที่ไม่ต้องบินไปกินถึงญี่ปุ่น พร้อมบริการจากเชฟหากอยากลิ้มรสที่นั่นเลย และยังมีหลากหลายชนิดให้เลือกตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ ปูทาราบะ หอยโฮตาเตะ อูนิ อาวาบิ และมิรุไก โดยทั้งหมดนี้ส่งตรงจากญี่ปุ่นมาถึงไทย แถมภายในตัวอาคารยังเป็นร้านอาหารกึ่งซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มีการตกแต่งแบบ industrial loft ทำให้ได้บรรยากาศของญี่ปุ่นสไตล์โมเดิร์น ทำให้ได้เสพทั้งอาหาร ขนม และบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเป็นญี่ปุ่นในสถานที่เดียว
ก่อนจะจากกันไปในวันนี้ พวกเราก็แวะซื้อรามูเนะ โซดาฝาลูกแก้วที่เป็นสัญลักษณ์ประจำหน้าร้อนของญี่ปุ่นกลับไปดื่มให้ชื่นใจเสียหน่อย ต้องขอบคุณโคมะที่พาเรามาเดินเล่น และสัมผัสการใช้ชีวิตแบบคนญี่ปุ่นที่อาศัยในไทย หากใครอยากเที่ยวประเทศญี่ปุ่นแบบประหยัดงบหรือมาเดินช้อปฯ ให้หายคิดถึง ย่านพร้อมพงษ์-เอกมัยหรือ ‘Little Japan’ ก็รอคอยพวกคุณอยู่เสมอ