สำหรับยุคนี้ที่เศรษฐกิจถดถอย และประเทศไทยของเราก็เป็นแหล่งนำเข้าเศษขยะพลาสติกอย่างต่อเนื่องปริมาณนับแสนตัน สัญญาณของภาวะโลกร้อนเองก็แสดงให้เห็นมากขึ้น ผู้คนจึงพากันรณรงค์ลดใช้พลาสติก แต่เมื่อพูดถึงสินค้าพลาสติกที่ถูกใช้และทิ้งเป็นจำนวนมหาศาลในชีวิตประจำวัน ‘ผ้าอนามัย’ ก็ยังถือว่าเป็นขยะที่ลดปริมาณให้น้อยลงได้ยาก เพราะเป็นการใช้งานที่จำเป็น และตัวเลือกอื่นๆ อย่างถ้วยอนามัยหรือ Menstrual Disc อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้มีประจำเดือนที่กลัวการสอดใส่
’จอย – วิริญา มานะอนันตกุล’ ก็เป็นหนึ่งในคนที่อยากจะอนุรักษ์และสร้างโลกไร้มลภาวะให้กับคนรุ่นหลัง จากที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์และได้เคยทำงานในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าออนไลน์หรือฟาสต์แฟชั่น ซึ่งใช้พลาสติกเยอะเอามากๆ เธอก็ได้ออกมาสร้างแบรนด์ผ้าอนามัยซักได้ ‘Little Loulou House’ ตั้งแต่ปี 2019 ผ่านการทดลองเย็บ ทดลองใช้มามาก กว่าจะได้วางขายอย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2020 ภายใต้สโลแกน “ซื้อแต่พอดี ใช้เท่าที่มี” โดยตั้งใจไว้ว่าจะทำเป็นธุรกิจเล็กๆ ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย ไร้ซึ่งความทะเยอทะยาน หากแต่เต็มไปด้วยความจริงใจที่มีให้ลูกค้าทุกคน
(จอย – วิริญา มานะอนันตกุล)
ความสนใจต่อผ้าอนามัยซักได้ ที่เริ่มต้นมาจากการรักษาสิ่งแวดล้อม
“จอยเริ่มทำตรงนี้เพราะความสนใจส่วนตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม เวลาไปซื้อของกินที่ตลาด จอยก็จะใช้ทัพเพอร์แวร์แทนห่อพลาสติก และใช้แก้วกับหลอดแบบรียูส มีการแยกขยะเองที่บ้าน พอเริ่มใส่ใจตรงจุดนี้ในระดับหนึ่ง ก็มานั่งคิดว่ามันยังมีอะไรบ้างที่เราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะได้มากกว่านี้อีก แล้วก็นึกถึงผ้าอนามัย ซึ่งเป็นอะไรที่รู้สึกว่าน่าสนใจ จอยเลยลองรีเสิร์ชเกี่ยวกับผ้าอนามัยในแบบต่างๆ ดู และลองซื้อมาใช้ แต่ยังไม่เจอยี่ห้อที่ชอบจริงๆ ก็เลยลองทำขึ้นมาเอง โชคดีที่มีเพื่อนเป็นช่างตัดเย็บ ซึ่งรู้จักกันตอนสมัยจอยไปเรียนเรื่องแพทเทิร์นเสื้อผ้ากับศูนย์ฝึกอาชีพ ทำให้มีเขาคอยช่วยเย็บให้จนถึงทุกวันนี้ค่ะ”
“จากเริ่มแรกที่อยากทำไว้ใช้เอง จอยก็คิดว่ามันสามารถเอามาพัฒนาเป็นแบรนด์ได้ เพราะเราอยากสร้างตัวเลือกอื่นให้กับคนไทยที่มีประจำเดือน”
ไม่ได้ต้องการผลักดัน แค่อยากให้ผ้าอนามัยซักได้เป็นตัวเลือกในสายตา
ตลอดการสนทนา คุณจอยย้ำกับเราอยู่เสมอว่าเธอไม่ต้องการจะกดดันหรือโฆษณาให้คนใช้ผ้าอนามัยซักได้แทนแบบพลาสติกกันทั้งหมด แค่อยากให้มันได้เป็นหนึ่งในตัวเลือกสำหรับหลายๆ คน เผื่อว่าจะมีใครหันมาลองใช้ผ้าอนามัยที่ช่วยลดการใช้ขยะและอ่อนโยนต่อผิว
“ส่วนตัวจอยไม่ได้ผลักดันการใช้ผ้าอนามัยแบบซักได้ขนาดนั้น แต่เป็นเชิงให้ข้อมูลมากกว่าว่ามันมีข้อดีหรือข้อเสียยังไงบ้าง ปล่อยให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน เพราะรู้สึกว่าทุกคนมีปัจจัยและตัวเลือกในการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน บางคนก็อาจจะไม่ชอบ อย่างเพื่อนจอยบางคนที่ไม่ใช้ผ้าอนามัยซักได้ ตอนแรกๆ ที่รู้ว่าจอยใช้ เขาก็อาจจะรู้สึกอี๋ แต่พอเห็นว่าใช้ได้จริงก็กลับมามองใหม่ว่ามันน่าสนใจอยู่เหมือนกัน ทั้งที่จอยไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษ แค่ใช้และเล่าให้เขาฟังบ้างว่ามันไม่ได้ยากหรือสกปรกอย่างที่คิด”
Little Loulou – ชื่อนี้มีแต่ความรักและความหวังดี
“ตอนแรกคิดชื่อเอาไว้เยอะมาก จนได้ไปเที่ยวประเทศฝรั่งเศสก็เพิ่งรู้ว่าคนที่นั่นเรียกคนที่ตัวเองรักหรือเด็กๆ ว่า ‘ลูลู่’ (Loulou) จอยรู้สึกว่ามันน่ารัก และสอดคล้องกับความตั้งใจของจอยที่ว่าอยากให้แบรนด์นี้สร้างอนาคตให้กับเด็กรุ่นใหม่ เราไม่อยากให้การใช้ชีวิตที่สร้างขยะเยอะกระทบกับชีวิตของพวกเขา ซึ่งอาจทำให้เกิดมามีตัวเลือกน้อย จอยอยากเห็นเด็กเจเนอเรชั่นถัดๆ ไปมีตัวเลือกมากขึ้น ได้ใช้ชีวิตอย่างที่อยากใช้ ก็เลยมองว่าเขาเป็นเหมือนกับลูลู่ตัวน้อยของเรา”
พอมีผ้าอนามัยแล้ว ก็ตามมาด้วย ‘ทิชชู่ซักได้’
“มีลูกค้าหลายคนแนะนำให้จอยทำแพมเพิร์สสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนตัวมองว่าตลาดมันค่อนข้างกว้างขวางแล้ว อยากลองทำอะไรที่ยังไม่ค่อยมีคนทำและเราเองก็ใช้ด้วยดีกว่า ก็เลยเกิดเป็นทิชชู่ซักได้ขึ้นมา จริงๆ แล้วทิชชู่เป็นอะไรที่คนเราใช้กันกระหน่ำเลยนะ บางคนก็ใช้ซับหลังล้างหน้าเสร็จ พอมีตัวนี้มาแทน ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายๆ กับผ้าเช็ดหน้า มันก็จะช่วยลดปริมาณทิชชู่ที่ใช้ลงได้ แถมยังประหยัดเงินด้วย (หัวเราะ)”
วัสดุที่ใช้ทำผ้าอนามัยของ Little Loulou House
“ส่วนใหญ่เป็นผ้าฝ้ายค่ะ แต่จะเป็นผ้าฝ้ายหลายๆ แบบ ชั้นบนสุดที่ต้องสัมผัสกับอวัยวะของเราก็จะใช้ผ้าที่เนื้อสัมผัสดีหน่อย เป็นเกรดที่ใช้ตัดชุดสำหรับเด็ก จะได้ไม่ระคายเคืองเวลาที่มันถูไถกับผิวส่วนบอบบาง ส่วนชั้นต่อๆ ไปจะเป็นผ้าฝ้ายปนกับผ้าดิบ แล้วก็มีผ้าฝ้ายเคลือบโพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติกันน้ำและระบายอากาศได้ดี ซึ่งตรงนี้ต่างจากผ้าอนามัยแบบพลาสติกที่ค่อนข้างอับชื้น พอเป็นผ้าที่ระบายอากาศแล้ว การสะสมของแบคทีเรียจะน้อยลง กลิ่นของเลือดประจำเดือนก็ลดลงไปด้วยค่ะ อาจจะไม่ได้หายไปแบบ 100% แต่มันก็ไม่มีการหมักหมมของแบคทีเรีย ก็เลยกลิ่นเหมือนเลือดทั่วๆ ไป”
ถึงจะไม่ใช้แล้วก็ยังนำไปทำประโยชน์ต่อได้
“ถ้าเกิดว่าแผ่นด้านหน้ามันยุ่ยหรือขาดแล้ว ร้านของจอยมีบริการรับเปลี่ยนให้ค่ะ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนไปใช้อันใหม่หรือทิ้งอันเก่า จอยจะแนะนำให้ลูกค้าส่งไปที่ N15 Technology เพราะเขาจะนำเอาขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลทั่วไป แต่ยังสามารถย่อยสลายโดยการเผา ไปเข้ากระบวนการแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงแทน หรือจะส่งมาให้จอยรวบรวมไปให้ทางนั้นอีกทีก็ได้ เพราะทางสตูดิโอของเราทำแบบนี้เป็นประจำค่ะ”
ข้อดีและข้อเสียของผ้าอนามัยซักได้
ข้อดี
- เหมาะสำหรับคนที่แพ้ผ้าอนามัยแบบพลาสติก เพราะจะไม่ก่อให้เกิดอาการคันหรือแพ้จากสารเคมีที่มีในผ้าอนามัยทั่วไป
- ประหยัดเงิน – ผ้าอนามัยซักได้ 1 แผ่นสามารถใช้ได้นานถึง 5 ปี และหากรักษาดีๆ หรือเปลี่ยนเฉพาะผ้าด้านหน้าก็จะใช้ได้ 10 ปี ซื้อเพียงหนึ่งครั้งก็นับเป็นการลงทุนระยะยาว
- ได้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของตัวเองในระหว่างการซัก เพราะจะได้สังเกตสีและกลิ่นของเลือดประจำเดือน แถมยังได้ก้าวข้ามผ่านมุมมองที่ว่าเลือดประจำเดือนเป็นของเสีย
- ช่วยลดจำนวนขยะ โดยเฉลี่ยแล้ว ในชีวิตของผู้มีประจำเดือนคนหนึ่งจะใช้ผ้าอนามัยประมาณ 16,000 ชิ้น แต่ถ้าหันมาใช้ผ้าอนามัยซักได้ นอกจากจะลดปริมาณผ้าอนามัยแล้วก็ยังลดจำนวนถุงขยะที่ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะกลิ่นอับด้วย
ทั้งนี้ คุณจอยย้ำว่าผ้าอนามัยซักได้ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการลดขยะ เนื่องจากมีตัวเลือกอื่นอย่างถ้วยอนามัยกับ Menstrual Disc ที่ตอบโจทย์มากกว่า เพียงแต่ว่าผ้าอนามัยซักได้จะเหมาะสำหรับคนที่ไม่ต้องการสอดอะไรเข้าไปในช่องคลอด และมันก็ทำให้รู้จักกับร่างกายของตัวเองมากขึ้น ส่งผลดีไปยังเรื่องอื่นๆ เช่น จิตใจ เพราะระหว่างการซักก็จะได้ใช้เวลากับตัวเอง รวมถึงใส่ใจสุขภาพ จากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเลือดประจำเดือน
ข้อเสีย
- ใช้เวลาซักเยอะ ต้องล้างและแช่น้ำให้เลือดออกจากตัวผ้าอนามัยก่อน ถึงจะนำไปซักต่อได้ (จะซักในทันทีเลยก็ได้ แต่คราบอาจจะไม่ออกจนหมด ขึ้นอยู่กับวิธีการซัก)
- อาจจะไม่เหมาะสำหรับคนที่มีประจำเดือนมากผิดปกติ เพราะถ้ามามากก็ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ควรลองสำรวจไลฟ์สไตล์ของตัวเองว่าสะดวกเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยและซักในจำนวนมากได้ไหม
ใครๆ ก็ใช้ได้ เพียงแต่ขึ้นอยู่กับปัจจัย ไลฟ์สไตล์ และมุมมอง
“จอยเข้าใจได้ว่าทำไมบางคนถึงไม่เลือกใช้ผ้าอนามัยแบบผ้า มันขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและมุมมองด้วย ส่วนตัวจอยเปรียบผ้าอนามัยเป็นการแพทย์แต่ละแขนง ซึ่งมีรูปแบบการรักษาที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นการรักษาด้วยยาตามโรงพยาบาลทั่วไปก็เหมือนกับผ้าอนามัยพลาสติกที่สะดวก ทันสมัย ส่วนผ้าอนามัยซักได้เหมือนกับหมออายุรเวทที่รักษาด้วยวิธีธรรมชาติ เน้นใช้พืชและสมุนไพร สุดท้ายก็อยู่ที่เรามองว่าแบบไหนดีต่อร่างกายของตัวเองมากที่สุด จอยคิดว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละคนด้วยค่ะ”
“ส่วนถ้าใครยังไม่ใช้ผ้าอนามัยซักได้เพราะมองว่าเลือดประจำเดือนเป็นของเสีย จอยก็ไม่ได้ต้องการจะเปลี่ยนความเชื่อของเขา ทุกอย่างมีเวลาของมัน และเด็กยุคใหม่เปิดกว้างด้านความคิดกันมาก ข้อมูลความรู้ก็มีให้เสพเต็มไปหมด ในอนาคตอาจจะมีคนใช้ทางเลือกอื่นนอกจากผ้าอนามัยพลาสติกกันเยอะขึ้น ถ้าใครมองว่าผ้าอนามัยซักได้ดี เหมาะกับวิถีชีวิต และสามารถเข้าถึงได้ เขาก็จะเลือกใช้มันเอง”
การเข้าถึงผ้าอนามัย คือสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ
เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา มีกระแสหลายระลอกที่เรียกร้องให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการจากรัฐ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรยกเลิกภาษีของสินค้าประเภทนี้ เพราะมันคือสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับทุกคนที่ยังมีประจำเดือน ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากเสียด้วย หากใครมีรายรับไม่เพียงพอก็อาจจะเข้าไม่ถึงผ้าอนามัยไปเลย เราจึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกกับคุณจอยว่า ผ้าอนามัยซักได้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ของผู้มีรายได้น้อยหรือเปล่า
“จริงๆ แล้วผ้าอนามัยซักได้ก็แพงเหมือนกันนะคะ ชิ้นหนึ่งราคาประมาณ 300-400 บาท เคยมีน้องนักเรียนทักมาเหมือนกันว่ากำลังเก็บเงินซื้อ ซึ่งถ้าจะให้เพียงพอต่อการใช้ก็คงต้องซื้อ 5-10 ชิ้น บางคนอาจจะเอื้อมไม่ถึง จอยก็เลยไม่แน่ใจว่ามันเหมาะสำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้เขาลองใช้ดู เพราะมันยั่งยืนและช่วยประหยัดได้ในระดับหนึ่ง อยากให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงผ้าอนามัยค่ะ”
“ตอนที่จอยทำโปรเจกต์ ‘Loulou Big Sister’ เอาผ้าอนามัยซักได้ไปแจกให้กับน้องๆ และคุณครูตามท้องที่ห่างไกล จอยก็เห็นว่าพวกเขาต้องนั่งรถลงดอยไปซื้อของมาตุนไว้ทีละเยอะๆ รวมถึงผ้าอนามัยด้วย เป็นเพราะสาธารณูปโภคที่ไม่ทั่วถึง มันก็ทำให้คิดว่าถ้าเขาใช้ผ้าอนามัยซักได้ ภาระในการซื้อและขนของก็จะลดลง การเปลี่ยนแปลงนี้คงช่วยชีวิตเขาไว้ได้มาก ถ้าเป็นไปได้จอยก็อยากช่วยมากกว่านี้ เท่าที่คนๆ หนึ่งจะทำได้”
ความคาดหวังของคนทำผ้าอนามัย ที่อยากให้ผ้าอนามัยเป็นรัฐสวัสดิการ
“ถ้ามีผ้าอนามัยแจกฟรีสำหรับทุกคนก็คงจะดี ต่อให้ต้องปิดแบรนด์ไปก็ยินดีค่ะ เพราะจอยรู้สึกว่าไม่มีใครเลือกที่จะเกิดมามีประจำเดือน เราต้องเสียเลือด เสียค่าใช้จ่ายเพราะมันทุกเดือน แทนที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปทำอย่างอื่น อีกอย่างคือจอยเคยเห็นคนที่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ได้ในช่วงวันนั้นของเดือน เพราะเขาเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย ถ้าเกิดว่ารัฐบาลสามารถทำให้มันเป็นของฟรีได้ จอยก็สนับสนุนเต็มที่ค่ะ แจกเป็นถ้วยอนามัยหรือผ้าอนามัยซักได้เพื่อสิ่งแวดล้อมก็ยิ่งอยากสนับสนุน จะให้ไปช่วยผลิตหรือสอนวิธีการใช้ก็ยินดี”
“จอยอยากให้ผ้าอนามัยเป็นของฟรี เพราะมันเป็นปัจจัยพื้นฐาน ที่ช่วยให้ผู้มีประจำเดือนได้ออกไปใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น”
คุณจอยทิ้งท้ายกับเราเอาไว้ว่า เธออยากให้หลายๆ คนมองผ้าอนามัยเป็นตัวเลือกที่ไม่ได้ดีแค่กับตัวเอง ไม่ใช่แค่การใช้ของที่ประหยัดหรือเลิกนำสารเคมีเข้าร่างกาย แต่เป็นการช่วยเหลืออะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น มันดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีข้อดีอีกเยอะมากที่จะได้เรียนรู้จากการใช้ ซึ่งพอได้ลองดูแล้ว มันก็อาจจะเป็นการเปิดทางให้ได้ลองตัวเลือกอื่นๆ อย่างพวกถ้วยอนามัย ซึ่งช่วยลดขยะลงไปได้อีก ทั้งนั้นทั้งนี้เธอก็ไม่ได้กดดัน เพียงแค่อยากให้เปิดใจลองพิจารณาดู
เชื่อว่าพออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ก็คงจะมีบ้างที่อยากทดลองใช้ผ้าอนามัยซักได้ แม้แต่ตัวผู้เขียนเองก็�